นโยบายเศรษฐกิจในฝัน (1)

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ท่ามกลางการเลือกนายกรัฐมนตรีท่านที่ 30 ของไทย ขณะเขียนบทความฉบับนี้ผู้เขียนยังไม่ทราบผลการลงคะแนนเลือกแต่อย่างใด กระผมขอแสดงความยินดีแก่นายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกมาล่วงหน้า ณ ที่นี้ และขอแสดงความยินดีแก่ทุกพรรคการเมืองที่มีโอกาสร่วมรัฐบาลได้รับใช้ประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง 70 ล้านคนครับ

แน่นอนว่าตำแหน่งที่ได้รับย่อมมาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง ซึ่งหนีไม่พ้นหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รวมอยู่ในหน้าที่ของรัฐบาลอย่างแน่นอน

สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือที่หลายท่านให้นิยามว่า Stagflation คือภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและภาวะเงินเฟ้อในขณะเดียวกัน

ประเทศไทยซึ่งสภาวะเศรษฐกิจขึ้นกับการส่งออกและการท่องเที่ยวมากถึงร้อยละ 70 ของ GDP จึงอยู่ในภาวะถดถอยเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

 

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตำราเศรษฐศาสตร์ทุกตำรากล่าวไว้ตรงกันเสมอว่าต้องใช้นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) ในการแก้ไขปัญหา

การใช้นโยบายการคลังในการแก้ไขปัญหามิได้หมายความว่าใช้แต่นโยบายการคลังโดยไม่สนใจนโยบายการเงิน (Monetary Policy) หากแต่ต้องใช้นโยบายการคลังนำและนโยบายการเงินสนับสนุนตาม

หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจเหมือนรถยนต์ที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า นโยบายการคลังเปรียบเสมือนคันเร่ง นโยบายการเงินเปรียบเสมือนเบรค ภาษีอากรคือเชื้อเพลิงซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด แม้รัฐบาลจะเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจมากเพียงใด หากธนาคารแห่งประเทศไทยเหยียบเบรกไว้ เศรษฐกิจก็ไม่อาจขยายตัวได้

ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องสามารถควบคุมได้ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ขาดอำนาจการควบคุมหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเสียมิได้

 

ภาพในฝันของข้าพเจ้า ภาพแรกที่เข้ามาในหัว อยากเห็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ GDP เติบโตในอัตราร้อยละ 5-7 ต่อปี แม้เป็นฝันกลางวันของข้าพเจ้า แต่ก็เป็นความฝันอันยิ่งใหญ่

เศรษฐกิจไทยขาดการเติบโตมาตลอด 9 ปีเต็มภายใต้รัฐบาลทหาร จึงเป็นโอกาสดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตทดแทนโอกาสที่ขาดหายไปเกือบทศวรรษที่ผ่านมา หลังปี 2549 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลากว่า 15 ปีเต็ม ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ฐานของเศรษฐกิจมีขนาดเล็กกว่าประเทศพัฒนาแล้ว การเติบโตเพียงร้อยละ 3 ต่อปีเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว จึงเท่ากับว่าประเทศไทยพัฒนาช้ากว่าประเทศในภูมิภาค

การกระตุ้นให้ GDP เติบโตในอัตราร้อยละ 5-7 ต่อปี ติดต่อกันตลอด 4 ปีตามอายุของรัฐบาลนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องวางแผนแม่บทเศรษฐกิจให้ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เลยซะทีเดียว

จากสมการ GDP = C + I + G + (X – M)

C คือ การบริโภคภาคครัวเรือน (Consumption)

I คือ การลงทุนภาคเอกชน (Investment)

G คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ แบ่งเป็น GC คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ และ GI คือ การลงทุนของภาครัฐ

X – M คือ การส่งออก ลบด้วย การนำเข้า หรือ Net Export

จากสมการ GDP จะเห็นว่า C และ I เป็นเรื่องของภาคครัวเรือน (ภาคเอกชน) รัฐบาลทำได้เพียงสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดบรรยากาศการบริโภคและการลงทุน

จึงเหลือ GC, GI และ X – M ที่รัฐบาลพอจะสามารถผลักดันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

 

ในฝันของข้าพเจ้า GI หรือการลงทุนภาครัฐเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในภาวะเศรษฐกิจถดถอยตรงตามทฤษฎีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ ของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ แต่ให้ผลช้า ซึ่งในปีแรกของรัฐบาล การผลักดันให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Project) ทำได้ยาก และอาจทำได้เพียง 1-2 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ควรต้องลงทุนให้ได้อย่างน้อยปีละ 6 แสนล้านบาท และต่อเนื่องทุกปี

เมื่อโครงการขนาดใหญ่ขับเคลื่อนได้ช้า การเพิ่มรายจ่ายของรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่การเพิ่มรายจ่ายของรัฐนั้นต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ต้องใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปจะไม่เหลืออะไรเลยในภายภาคหน้า ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนของรัฐที่ยังเหลือถนนหนทาง เหลือสิ่งปลูกสร้าง ให้รุ่นต่อๆ ไปใช้งาน

ถึงตรงนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจคงหนีไม่พ้น โครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในเวทีนานาชาติ ทำให้ชีวิตในชนบทกับชีวิตในเมืองใกล้เคียงกัน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับการใช้ชีวิตในต่างจังหวัดให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่เช่นเดียวกันกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร ลดต้นทุนการคมนาคมและการขนส่ง เพิ่มโอกาสทางการค้า

ตัวอย่างโครงการ เช่น โครงการยกระดับน้ำประปา 77 จังหวัดให้ทัดเทียมกรุงเทพมหานคร โครงการเพิ่มโรงเรียนแพทย์ทุกภูมิภาค โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าภูมิภาค โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการป้องกันน้ำท่วม โครงการขยายทางหลวงสายประทาน โครงการท่อส่างน้ำภาคตะวันออกเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

 

ส่วนฟากการเพิ่มรายจ่ายของภาครัฐนั้น ในความฝันของข้าพเจ้า ข้าราชการมิได้มีการปรับฐานเงินเดือนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจมานานมากแล้ว จึงควรปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 7-15% ทันที เพื่อเพิ่มรายจ่ายภาครัฐอย่างหนัก เป็นการอัดฉีดเงินลงไปทั่วทุกพื้นที่ทั้งประเทศ

แน่นอนว่าเมื่อข้าราชการมีรายได้เพิ่มขึ้นย่อมเกิดการใช้จ่ายและการบริโภคเพิ่มขึ้น เหนี่ยวนำให้การบริโภคภาคครัวเรือนทั้งระบบปรับเพิ่มสูงขึ้นทั้งระบบ และเมื่อฐานเงินเดือนของข้าราชการปรับสูงขึ้น ฐานเงินเดือนของภาคเอกชนก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามโดยอัตโนมัติ

ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว แถมประหยัดกระสุน นโยบายนี้ใช้งบประมาณไม่ถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี แต่ผลักดันค่าแรงทั้งระบบได้

การเพิ่มรายจ่ายของรัฐในด้านอื่น รองลงมา คงหนีไม่พ้น รายจ่ายด้านสาธารณสุข การเพิ่มจำนวนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวภายในเมือง การขยายเวลาทำการของโรงพยาบาลรัฐให้เปิดทำการทุกวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ครอบคลุมทุกแผนก เพราะความเจ็บป่วยของประชาชนรอไม่ได้

ซึ่งนโยบายนี้สอดคล้องในแง่มุมเศรษฐศาสตร์ที่จำเป็นต้องเพิ่มรายจ่ายภาครัฐขนาดใหญ่ การกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านหลักประกันสุขภาพของประชาชนหรือหลักประกันด้านอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จะถูกต่อต้านจากการเมืองน้อยที่สุด และจะมีความยั่งยืนมากกว่าการใช้จ่ายด้านอื่นๆ เพราะเมื่อเพิ่มหลักประกันสุขภาพแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่สามารถยกเลิกโครงการได้

นี่เป็นเพียงส่วนแรกของความฝันของข้าพเจ้าในขณะที่กำลังหลับใหล พบกับความฝันส่วนที่เหลือในบทความถัดไป 2 สัปดาห์หน้าครับ ราตรีสวัสดิ์ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

“ความฝันนี้อีกยาวไกล”