สองนครามหาวิทยาลัย : เด็กเกิดน้อยลง แต่การศึกษาระดับสูงกลับเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

สองนครามหาวิทยาลัย

: เด็กเกิดน้อยลง

แต่การศึกษาระดับสูงกลับเหลื่อมล้ำมากขึ้น

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งแม้จะมีโอกาสไปบรรยายให้หลายปีติดต่อกัน แต่ทุกครั้งที่สนทนากับมิตรสหายอาจารย์ ก็ได้ข้อคิดที่ชวนคิดต่อถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของการศึกษาระดับสูงในไทย ที่ล้วนเป็นทิศทางที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย

ในบทความนี้ผมจะชวนทุกท่านพิจารณาความย้อนแย้งของแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาระดับสูงในไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ทุกวันนี้เราคุยกันมาเป็นเวลานับสิบปีเรื่องจำนวนประชากรเด็กเกิดใหม่ลดลง

เรามักพบกับคำอธิบายในลักษณะ “ขู่” ถึงความน่ากลัวของสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงาน

แต่สำหรับผมแล้วมันฟังดูน่าตลก

เพราะหลายสิบปีก่อนเราบอกว่า “ประชากรไทยล้น” เราเลยไม่มีทรัพยากรพอที่จะดูแลคนของเราอย่างเพียงพอ

วันนี้เมื่อคนเกิดน้อยลงยิ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถทุ่มทรัพยากรสำหรับอนาคตของประเทศ ที่เขาจะเติบโตเป็น แรงงาน เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ

แต่สิ่งที่เราเห็นกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เราพบว่าความเหลื่อมล้ำในกลุ่มคนรุ่นใหม่กลับมากขึ้น

และตัวชี้วัดที่ชัดเจนคือการศึกษาระดับสูง หรือในระดับอุดมศึกษา

 

มหาสารคามเป็นตัวชี้วัดที่ดี

มิตรสหายเพื่อนอาจารย์บอกผม ว่ามหาวิทยาลัยรับนิสิตเข้าปีละหลายพันคน สาเหตุหนึ่งคือเด็กๆ ในพื้นที่ ที่ไม่ต้องการไปเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่

นิสิตเกือบครึ่งหนึ่ง กู้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ครอบครัวมาจากภาคเกษตร

คำนิยามง่ายๆ ที่มิตรสหายแบ่งปันให้ผมฟัง “ครอบครัวพวกเขา เป็นหนี้กันมาไม่รู้กี่ชั่วอายุคน เกิดมาก็มีหนี้ ไม่ได้เป็นหนี้จากความฟุ่มเฟือย หรือทะเยอทะยาน เป็นหนี้จากการใช้ชีวิต หนี้จากการทำนา และวันนี้พอมาถึงรุ่นลูกก็เป็นหนี้ กยศ. หรือก็คือหนี้จากนโยบายที่รัฐออกแบบให้พวกเขาเป็นหนี้”

อาจารย์ก็ทำงานหนักมาก เรื่องการสอน เพราะหากประเมินหลักสูตรไม่ผ่าน (ซึ่งก็ยากและเหนื่อยมากๆ เพราะภาระงานสอนเยอะ การประเมินก็เป็นการประเมินรอบด้าน) ก็ส่งผลให้เด็กที่กู้กยศ.อีกนับพันคนไม่สามารถกู้ได้ และหลายร้อยคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาทันที

เราอาจอธิบายง่ายๆ ว่า ถ้ามันลำบากยากเย็นนัก แล้วกู้มาเรียนทำไม ไปทำธุรกิจสิ ไปทำเรียนสายอาชีพ ไปเรียนโครงการทวิภาคี หรือเพิ่มมูลค่าในไร่นาด้วยเทคโนโลยี ฯลฯ

ทุกครั้งที่ผมได้ยินประโยคเหล่านี้ผมจะรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะอธิบายต่อ

เพราะชีวิตคน ไม่ใช่เกม “เดอะซิมส์” ที่เราจะเลือกเกิด เลือกเส้นทางชีวิตกันอย่างว่าง่าย

คนจำนวนมากไม่มีโอกาสที่จะเลือกชีวิต และการเรียนมหาวิทยาลัยแม้จะดูหนัก เหนื่อย มีต้นทุน แต่ก็เป็นหนทางที่ดูจะแน่นอนที่สุดที่พวกเขาจะสามารถยกระดับชีวิตได้

ความฝันสูงสุดของพวกเขาหลายคนคือได้ทำงานเทศบาล ดูแลพ่อแม่ได้ และไม่มีหนี้

 

กลับมาที่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผมเป็นอาจารย์ประจำอยู่ แน่นอนว่าทุกมหาวิทยาลัยเผชิญกับปัญหาเด็กลดเหมือนกัน

แต่มหาวิทยาลัยอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยมหิดล เผชิญกับปัญหาเรื่องนี้น้อยกว่า เพราะสามารถเปิดหลักสูตรใหม่ที่มีค่าเทอมที่สูงมากขึ้น งบประมาณด้านการวิจัย และเครือข่ายวิจัย ที่ผลักดันให้อาจารย์ไปสัมพันธ์กับภาคเอกชน

ผู้บริหารหลายท่านเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และถูกอธิบายว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

อาจารย์ได้ทำงานวิจัยที่ตอบสนองต่อภาคเอกชน ได้งบประมาณ และสร้างเครือข่ายให้กับนักศึกษา

ขณะเดียวกันทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ก็มีเยอะมากกว่ามหาวิทยาลัยภูมิภาค จากการสนับสนุนของสมาคมศิษย์เก่า รวมถึงภาคเอกชนที่อยากสร้างเครือข่าย

ฟังดูตรงนี้ก็ย้อนแย้งเข้าไปใหญ่ เมื่อมหาวิทยาลัยที่รองรับกลุ่มเด็กที่มีรายได้น้อยได้ทรัพยากรจากรัฐน้อย ได้จากเอกชนน้อย และเด็กๆ ส่วนมากต้องกู้ กยศ.

ส่วนมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มจะได้เด็กฐานะดีอยู่แล้วก็ได้ทรัพยากรมากขึ้นๆ นักศึกษาก็ต่อยอกสู่การทำงานระดับสากล หรือการสอบชิงทุนอะไรต่างๆ ได้มากกว่า

ถามว่าผมไม่ทราบหรือว่า ก็มีนักศึกษาจากต่างจังหวัดที่ดิ้นรน ขยัน หัวการค้า ร่ำรวย สอบชิงทุนได้ อันนี้ทุกคนทราบแต่อัตราส่วนมันต่างกันอย่างเทียบไม่ได้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจอะไรของพวกเขา แต่เพียงมีชาติกำเนิดที่ต่างกัน

“เราก็ระดมทุน จากศิษย์เก่าเราเหมือนกัน แต่ศิษย์เก่าเราก็ลำบากเพิ่งสอบบรรจุได้เงินเดือนหมื่นกว่าบาท ก็เอาเงินคนจนมาวนกัน ทุนการศึกษาที่เข้ามาก็เป็นทุนเรียนดีแต่ยากจน อาจารย์คิดดู มันจะมีด้วยเหรอเรียนดีแต่ยากจน มันมีแต่ยากจน ต้องทำงาน ขาดเรียน แล้วก็เรียนแย่ บางคนยังไม่สามารถมาสัมภาษณ์ทุนได้เลย เพราะมาสัมภาษณ์ไม่รู้จะได้มั้ย แต่ถ้าไปทำงานพิเศษก็ยังได้ 200-300 บาท”

มิตรสหายอาจารย์ที่มหาสารคามเล่าให้ผมฟัง

 

ปัญหาที่ดูเหมือนใหญ่ ที่จริงแล้วสามารถแก้ได้อย่างไม่ซับซ้อน คือการผลักดันการเรียนมหาวิทยาลัยให้ฟรี และ กระบวนการล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

เมื่อเดือนก่อนผมมีโอกาสร่วมงานระดมความคิดด้านสวัสดิการของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากที่ทางหน่วยงานได้นำข้อเสนอเรื่องการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี และการล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ขึ้นมาเป็นแผนนโยบาย

ทีแรกผมคิดว่าข้อเสนอนี้จะโดนต่อต้านและตั้งคำถาม

แต่ปรากฏว่า ผู้เชี่ยวชาญ และคนกำหนดนโยบายมองเห็นตรงกันว่า “มันล้วนเป็นมายาคติที่บอกว่า มีแต่คนที่มีฐานะที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย และควรเอางบประมาณไปทำอย่างอื่นก่อน เพราะมันเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้คน คนรวย คนจน ชนชั้นกลาง ควรได้รับโอกาสนี้หรือไม่ ควรที่จะเริ่มชีวิตอย่างเท่าเทียมหรือไม่ เพราะเราตรงนี้ต่างทราบกันดีว่า การเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นแค่การเพิ่มรายได้ มันยังเป็นการเพิ่มขอบข่ายจินตนาการในชีวิตด้วยเช่นกัน”

การทำให้มหาวิทยาลัยฟรีเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับคนทุกคน และเดินหน้าสู่กระบวนการล้างหนี้การศึกษาตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การทำงานในท้องถิ่น หรือการเป็นผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ทำแล้วในหลายประเทศ

ณ ตอนนี้สิ่งที่ผมอยากสรุปเบื้องต้นคือ ความต้องการของประชาชนมีชัดเจนแล้วมาหลายทศวรรษ ความรู้ความเข้าใจทางนโยบาย และทางวิชาการก็พร้อมแล้ว

ขาดเพียงแค่ความจริงจังของฝ่ายการเมืองที่จะผลักดันความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในสังคม