เกษียร เตชะพีระ : ตาสว่าง-การจดจำ (อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ)

อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (จบ)

ในบรรดาข้อคิดสำคัญอันแปลกพิศวงที่ผมได้เรียนรู้จาก ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ครูผู้ช่วย “เบิกเนตร” ให้ผม “ตาสว่าง” ทางปรัชญานั้น ที่ตรึงใจอันหนึ่งก็คือคำอธิบายของแกเกี่ยวกับ “การจำ”

อาจารย์แนะให้คิดถึงศัพท์คำว่า “การจำ” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งก็คือ “remember” แล้วอธิบายต่อว่านัยทางแนวคิดที่ซ่อนแฝงอยู่เบื้องหลังคำคำนี้ในทางปรัชญาก็คือ :

“Remember = Reconstitute oneself as a member of a community of memory”

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในทางความคิดเวลาเราทำการจำ (remember) ได้แก่ เราประกอบสร้างอัตลักษณ์ตัวตนของเราขึ้นใหม่ในฐานะสมาชิกของชุมชนแห่งความทรงจำหนึ่งๆ

การจำที่มีความหมายสำคัญทางสังคมและการเมือง (เช่น จดจำการปฏิวัติ 2475, จดจำเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516/6 ตุลาฯ 2519/พฤษภาคม 2535/เมษายน-พฤษภาคม 2553, จดจำการเข้าป่าจับปืน ฯลฯ) พูดให้ถึงที่สุดจึงไม่ใช่อะไรที่คุณทำคนเดียวโดดๆ แต่เป็นสิ่งที่คุณทำแบบรวมหมู่ร่วมกับคนอื่นๆ ผู้ให้คุณค่าเกี่ยวเนื่องสืบทอดแก่ชุดความทรงจำเดียวกันนั้น ราวกับคุณและพวกเขาสังกัดชุมชน (แห่งความทรงจำ) เดียวกันนั่นเอง

และสำหรับชุมชนในจินตนากรรมที่เรียกว่า “ชาติ” (imagined national community) อุปกรณ์แห่งการจำรวมหมู่ของชุมชนดังกล่าวย่อมได้แก่ประวัติศาสตร์แห่งชาติ (national history) – ซึ่งช่วยให้สมาชิกชุมชนร่วมชาติทั้งหลายสามารถจินตนากรรมถึงอดีตร่วมกัน (imagined common past) ได้ ไม่ว่าในทางเป็นจริงพวกเขาจะได้เคยเข้าร่วมประสบพบเห็นอดีตดังกล่าวด้วยตัวเองจริงหรือไม่ก็ตาม

ดังที่เบียร์ยี่ห้อหนึ่งเคยแพร่คลิปโฆษณาทางทีวีเมื่อหลายปีก่อน เป็นฉากจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้แก่ นายจันหนวดเขี้ยว ณ บางระจัน ถูกยิงด้วยธนูเสียบติดทั่วร่างราวเม่น, ขบวนการพยัคฆ์ร้ายไทยถีบก่อวินาศกรรมรถไฟขนสินค้าของญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง, ยุทธนาวีเกาะช้างระหว่างเรือรบไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ.2484 ฯลฯ พร้อมคำขวัญโฆษณา

“เมืองไทยของเรา เบียร์ไทยของเรา”

ประเด็นก็คือ ถึงแม้ผู้ชมส่วนใหญ่จะเกิดไม่ทันเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ดังกล่าว (อย่าว่าแต่เข้าร่วมหรือประสบพบเห็นด้วยตนเองเลย) แต่ถ้าท่านผู้ชมรู้สึก “อิน” (internalized) หรือมีอารมณ์พลุ่งพล่านไปกับภาพจำลองฉากเหตุการณ์เหล่านั้น และนับเนื่องเอาอดีตในจินตนากรรมดังกล่าว (imagined common past) มาเป็นอดีตของตน ท่านก็นับเป็นเพื่อนพี่น้อง “คนไทย” ผู้เป็นสมาชิกสังกัดชุมชนแห่งความทรงจำของชาติไทยด้วยกันได้อย่างเต็มภาคภูมิ

และฉะนั้น จะให้ท่านดื่มเบียร์ยี่ห้ออื่นใดได้เล่า นอกจาก… เบียร์ไทยของเรา หุๆ

ประวัติศาสตร์แห่งชาติในจินตนากรรม (“เมืองไทยของเรา”) จึงมาเชื่อมต่อเข้ากับตัวเรา (อัตลักษณ์ตัวตนของเรา) และ “เบียร์ไทยของเรา” ได้ด้วยประการฉะนี้

ทั้งหมดที่เกริ่นนำมาข้างต้นเกี่ยวเนื่องกับ Siam Mapped ของธงชัยตรงที่หลังราชอาณาจักรสยามเผชิญวิกฤตการณ์พิพาทกับฝรั่งเศสและเสียดินแดนเมื่อ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) ก็จำเป็นที่นักประวัติศาสตร์แห่งชาติต้องวางโครงเรื่อง (plot) ให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์แห่งชาติ หรืออัตชีวประวัติแห่งภูมิกายาสยามที่เพิ่งจุติขึ้น (the autobiography of the newly-born geo-body of Siam) เสียใหม่ ให้ช่วยสมานแผลปิดรอยปริแยกแตกหักใหญ่ดังกล่าวจนสนิทแนบเนียน

โดยแปร [โศกนาฏกรรมแห่งการสูญเสียดินแดนอย่างไม่สมเหตุสมผลของชาติ] ผ่าน [เรื่องราวของภัยคุกคามจากต่างชาติ + นำมาสู่การปฏิรูปบ้านเมืองให้เข้มแข็งขึ้น] จนกลายเป็น -> [มหากาพย์แห่งการเอาประเทศชาติอยู่รอด + ธำรงรักษาเอกราชและอิสรภาพของชาติไว้สืบไปได้]

ภัยคุกคามจากต่างชาติภายนอกจึงถูกให้ความหมายใหม่ว่าเป็นทั้งวิกฤตแห่งการเสียดินแดนและโอกาสแห่งการปฏิรูปไปในคราวเดียวกัน (Siam Mapped, pp. 144 – 46)

โครงเรื่อง (plot) แห่งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวิกฤตการณ์พิพาทกับฝรั่งเศสและเสียดินแดน ร.ศ.112 ดังกล่าวได้คลี่คลายขยายตัวผ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์ในชั้นหลัง รวมทั้งละครอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่องของหลวงวิจิตรวาทการ จนกลายเป็นโครงเรื่องแม่บทของประวัติศาสตร์ชาติไทย (The Master Plot of Thai History) ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ด้าน คือ :-

– ด้านหนึ่ง มันเป็นเรื่องของการพัฒนา เปลี่ยนแปลง ก้าวหน้า

– อีกด้านหนึ่งมันก็เป็นเรื่องของภัยคุกคามจากภายนอกกับการต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชและอิสรภาพไว้ (Siam Mapped, p. 160)

จะเป็นตำราประวัติศาสตร์กี่เล่ม ละครอิงประวัติศาสตร์กี่เรื่อง รวมทั้งที่เพิ่งเขียนและเพิ่งจัดแสดงแพร่ภาพทางทีวีเท่าทุกวันนี้ก็ยังคงย้ำเล่าย้ำแสดงวนเวียนอยู่ในกรอบโครงเรื่องดังกล่าวข้างต้น ด้วยเหตุผลดังที่ธงชัยอ้างอิงข้ออธิบายของ เอ็ดมุนด์ ลีช นักมานุษยวิทยาทางสังคมชื่อดังชาวอังกฤษ (ค.ศ.1910-1989) มาว่า :

“ในความคิดของผู้ที่ศรัทธา… ความซ้ำซากของปกรณัม (myth) กลับทำให้ข้อเท็จจริงน่าเชื่อจนสนิทใจ ปกรณัมใดที่แยกออกมาอยู่เป็นเอกเทศก็เหมือนกับสารใส่รหัสที่เต็มไปด้วยคลื่นรบกวน แม้แต่สาวกที่มีความเชื่อมั่นมากที่สุดก็ยังไม่แน่ใจนักว่าสารนั้นหมายถึงอะไรกันแน่ ขณะที่ความซ้ำซากของปกรณัมสามารถทำให้ผู้มีจิตศรัทธารู้สึกได้ว่า ปกรณัมต่างสำนวนแม้ว่าจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็ยืนยันถึงความเข้าใจของเขาและช่วยตอกย้ำสารัตถะหลักของปกรณัมทุกฉบับ” (คัดจาก กำเนิดสยามจากแผนที่ น.255)

และเมื่อประวัติ “เมืองไทยของเรา” ตามโครงเรื่องแม่บทนี้ มาเชื่อมต่อเข้ากับ “ตัวเรา” และเพื่อนคนไทยทั้งหลาย (อัตลักษณ์ตัวตนเของเรา) ในฐานะสมาชิกร่วมชุมชนแห่งความทรงจำของชาติผู้มี “อดีตร่วมกันในจินตนากรรม” (imagined common past) เข้าแล้ว

ก็ไม่แปลกแต่อย่างใดที่เราจะมองชุมชนคนไทยเป็นกลุ่มก้อนเอกภาพเนื้อเดียวกัน (the monolithic We-self), มองคนเห็นต่างและความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องของคนไม่ไทย ไม่รักชาติ หรือรับใช้รับจ้างต่างชาติ (เช่น รับใช้รับจ้างจีนแดงในอดีต, เอ็นจีโอฝรั่งต่อมา และอเมริกา/ยุโรปในปัจจุบัน), ว่าคนเหล่านี้และความขัดแย้งทำนองนี้เป็นตัวสกัดขัดขวางการพัฒนา ถ่วงความเจริญของชาติ, ดังนั้น ถ้าไม่รักชาติ ก็ออกไปจากที่นี่ซะ เป็นต้น

ด้วยเดชานุภาพแห่งปกรณัมหรือตำนานฐานราก (foundational myth) ที่ตั้งอยู่บนโครงเรื่องแม่บทว่าด้วยอัตชีวประวัติแห่งภูมิกายาสยาม (ประวัติศาสตร์แห่งชาติ) นี้แหละที่ธำรงรักษาและปลูกฝังชาติไทย ความเป็นไทยและเอกลักษณ์ไทยไว้ในจิตไร้สำนึกทางวัฒนธรรม (the cultural unconscious) อย่างมั่นคงสืบมา

โดยมีคนไม่ไทยหรือคนอื่นที่อยู่ข้างใน (the others within ทั้งที่จริงๆ พวกมันควรอยู่ข้างนอก) คอยเป็นภัยคุกคาม ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” ในอดีต หรือ “โจรใต้” และ “เสื้อแดง” ในปัจจุบัน

ในวาระ Siam Mapped ตีพิมพ์ออกมาครบรอบ 20 ปี กลุ่มนักวิชาการได้เชิญอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ผู้เขียนมาร่วมสนทนาเกี่ยวกับหนังสือสำคัญเล่มนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2558 (https://www.youtube.com/watch?v=Xf1UTjih1Zc) ในโอกาสนั้น ธงชัยได้เผยว่านอกจากอ่านเอาความสนุกเพลิดเพลินในฐานะเรื่องเล่าที่ดีเรื่องหนึ่ง และอ่านเอาเรื่องเพื่อประเทืองปัญญาทางวิชาการแล้ว ก็อาจอ่าน Siam Mapped ในฐานะ allegory ด้วยก็ได้

Allegory หรือ “อุปมานิทัศน์” ตามศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถานนั้น หมายถึง “เรื่องเล่าหรือภาพที่เห็นได้รูปแบบหนึ่ง ซึ่งความหมายที่ตรงตัวหรือชัดแจ้งของมันนั้นบดบังความหมายอื่นอย่างหนึ่งหรือมากกว่าเอาไว้ โดยบ่อยครั้งมักมีเป้าหมายเพื่อสอนใจ…” (อ้างและแปลจาก David Macey, The Penguin Dictionary of Critical Theory, p. 8)

เมื่อผู้เขียนแนะแนวการอ่านแบบอื่นให้ โดยไม่ได้เฉลยไว้ ผมก็ลองนึกอ่าน Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation แบบอุปมานิทัศน์ดูเอง

คิดตรองใคร่ครวญทั้งวันยังไม่ออก จนเมื่อเข้านอน ผมพลันผวาลุกขึ้นมากลางดึกเพราะนึกอ่าน Siam Mapped แบบอุปมานิทัศน์อย่างหนึ่งขึ้นมาได้ ผมรู้สึกตกตะลึงพรึงเพริดไปกับการอ่านของตัวเองจนอุทานออกมา (ถึงแก่นึกอยากหันไปปลุกผู้บัญชาการทางบ้านที่นอนอยู่ข้างๆ ให้ลุกมาฟังความ แต่เอะใจว่าเธออาจไม่ตื่นเต้นด้วยและผมอาจถูก “ซ่อม” เสียเปล่าๆ) ว่าถ้ามันจริงและถ้าผมเดาถูก นี่ก็เป็นงาน “เอาคืน” ทางปัญญาของคนรุ่น 6 ตุลาฯ ที่ถึงที่สุดและเหนือกว่างานอื่นประดามีของคนร่วมรุ่นเราอย่างแท้จริงว่ะ…ไอ้อ่าเอ๊ย

ผมไม่ทราบหรอกครับว่าผมเดาถูกหรือเปล่า และก็ยังไม่มีโอกาสถามไอ้ธงซึ่งหน้ากันจริงๆ แต่จะถามไปไยเล่า? ถูกหรือผิดอยู่ที่ไหนใครจะรู้? อุปมานิทัศน์ของหนังสือดีๆ น่ะมีไว้ให้เราอ่านหาความหมายไปเรื่อยๆ มิใช่หรือ?