เรือล่ม อะไรล่ม, ใครตาย?

คุณเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในหมวกหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้สัมภาษณ์หลังประชุม 8 พรรคร่วมเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ให้ข้อคิดว่า

“อยู่กลางทะเลกันอะนะ เรือมันล่มมีคนแก่ ผู้หญิง มีเด็ก มีอะไรต่างๆ และเราคนหนุ่ม กูจะต้องขึ้นเรือก่อนเหรอ เราก็ต้องให้เด็ก คนแก่ ผู้หญิงขึ้นไปก่อน เราก็ยอมเสี่ยงภัยไปซะก่อน ใช่ไหมฮะ เมื่อเสี่ยงภัยเดี๋ยวเรือลำที่ 2 มาเราค่อยให้ไป ไม่ใช่ไอ้หนุ่มกระโดดขึ้นเรือก่อน ตอนนี้ต้องมีผู้เสียสละ เพื่อให้ประชาธิปไตยไปได้ ถ้าไม่มีการเสียสละกันไปไม่ได้เชื่อผมเถอะ”

ใครตามการเมือง ฟังก็รู้ว่า “อุปมาเรือล่ม” นี้พุ่งตรงไปที่พรรคก้าวไกล ให้คิดทบทวนว่ายังสมควรฝืนยืนร่วมกับอีกเจ็ดพรรคหรือไม่ ทั้งที่รู้ว่าฝ่าย สว.ที่ประกาศชัดว่ามีก้าวไกลไม่มีเรา

ฟังตอนแรกผมงงเล็กน้อย พอคิดต่อแล้วสับสนมาก เพราะนึกไม่ออกว่าจะเข้าใจอุปมาของคุณเสรีพิศุทธ์อย่างไรดี

มีคำถามในใจมากมาย เช่นที่ว่า “เรือล่ม” หมายถึงอะไรล่ม?

ทำไมเรือกู้ภัยต้องทยอยมา? ถ้าไหนๆ “ลำที่ 2” ก็จะมาอยู่แล้ว ทำไมต้องมีใคร “เสียสละ” กับ “เสี่ยงภัย”?

ถ้ามีคนต้องเสี่ยงภัย ทำไมต้องแบ่งกลุ่มคนตามเพศและอายุเป็น “คนแก่,” “ผู้หญิง,” “เด็ก,” “ไอ้หนุ่ม”?

แล้วถ้าแบ่งตามนี้ หมายถึงใครในโลกจริง? เพราะพรรคไหนก็มีทั้งคนแก่ คนไม่แก่ เพศชาย เพศหญิง เป็นสมาชิกทั้งในระดับกองเชียร์และสมาชิกพรรค ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องซับซ้อนกว่านั้น ว่าถ้าเกิดที่นั่งมันไม่พอ จะให้ผู้หญิงหรือคนแก่ผู้ชายไปก่อน?

แล้วถ้าหลายคนบนเรือดันไม่ได้เป็นหญิงหรือชายล่ะ?

 

ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนวิชาจริยศาสตร์มาเกือบสิบปี อุปมาเรือล่มไม่ใช่อะไรใหม่ เพราะใช้อยู่บ่อยในการเรียนการสอน

แต่สิ่งที่คุณเสรีพิศุทธ์ว่าไปนี่ถือว่าใหม่มาก เพราะปกติแต่เดิม โจทย์ในห้องเรียนเขาจะให้ถกเถียงกันว่าเราจะช่วยฝั่งไหน คนจำนวนน้อยหรือมาก โจรกับหมอ คนป่วยกับคนไม่ป่วย ไม่เคยมีให้เลือกระหว่างเพศ และไม่ค่อยมีให้เลือกช่วยคนตามกลุ่มอายุ เต็มที่ก็ให้เลือกระหว่างเด็กเล็กกับคนวัยทำงาน ส่วนคนแก่กับไอ้หนุ่มนี่นึกยังไงก็นึกไม่ออก

ที่เขาไม่เถียงกันก็เพราะคนส่วนใหญ่มีสามัญสำนึกทางศีลธรรมค่อนข้างตรงกัน ว่าถ้าต้องเลือกจริงๆ ก็ต้องให้คนหนุ่มไปก่อน (เดี๋ยวผมกลับมาขยายความ) ดังนั้น สิ่งที่คุณเสรีพิศุทธ์เสนอ ผมว่าประเด็นเรื่องเพศนี่คุณเสรีพิศุทธ์อาจจะไม่ตั้งใจ แต่ต่อให้ยกเรื่องนี้ทิ้ง ในบริบททางวิชาการถือว่าใหม่ถึงสองระดับ ระดับแรกคือชวนคุยเรื่องที่ไม่มีใครเคยคุย สองคือเสนอให้ทำในสิ่งที่คนเขาไม่ทำกัน

ในฐานะที่ผมมีความเคารพต่อคุณเสรีพิศุทธ์สูง ผมเลยเชื่อว่าอุปมานี้ต้องนำไปสู่วิธีคิดอะไรน่าสนใจแน่ๆ เลยพยายามคิดแล้วก็คิดว่าจะเข้าใจอุปมาดังกล่าวอย่างไรดี

ผมว่าเราอาจต้องเริ่มจากการจำแนกให้ชัดก่อน ว่า “เรือล่ม” ที่ว่าหมายถึงสถานการณ์อะไร

Ship of State, satirical painting by artist Mark Bryan

ถ้าเอาตามที่เรียนกันในวิชาพื้นฐานเลย ผมนึกถึงกรณี “เรือล่ม” แบบเรือล่มจริงๆ แล้วที่ “ล่ม” ในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่แค่เรือ แต่มีใครสักคนในกลุ่มต้องตาย เสี่ยงภัยถึงตาย หรือทำลายสุขภาพตลอดชีวิต ทำนองแจ็กกับโรสที่ลอยคอในแอตแลนติกหลังไททานิกล่ม แต่คิดดูแล้วคุณเสรีพิศุทธ์ไม่น่าหมายถึงเรื่องนี้ เพราะถ้าใช่ ข้อเสนอก็ไม่น่าจะเป็นให้คนแก่ไปก่อน เพราะขัดสามัญสำนึกคนทั่วไป

คนส่วนใหญ่คงคิดคล้ายคนแก่หลายคู่ในไททานิกที่บอกให้หนุ่มสาวไปก่อน ในทางจริยศาสตร์ก็เห็นตรงกัน พวกเน้นผลลัพธ์ (consequentialism) จะบอกว่าคนหนุ่มสาวเหลืออายุมากกว่า ทำให้สามารถมีความสุขและสร้างประโยชน์ได้ยาวนานกว่าคนแก่

คล้ายกับที่โรงพยาบาลในตะวันตกออกนโยบายช่วงโควิด ว่าถ้าอุปกรณ์ไม่พอ ให้ช่วยคนหนุ่มสาวก่อนคนแก่

พวกที่คิดเรื่องความแฟร์หรือเชื่อว่าเราสามารถตัดสินความถูกผิดได้จากการกระทำ โดยไม่ต้องดูผลลัพธ์ (Deontology) คงบอกว่าทุกชีวิตสำคัญเท่ากัน การปล่อยให้ใครตายก็ผิดทั้งนั้น

ดังนั้น ถ้าทั้งสองทาง ปล่อยคนหนุ่มสาวหรือคนแก่ตายมีค่าเท่ากัน ก็ไม่มีอะไรจะพูด อาจต้องให้พวกเน้นผลลัพธ์เขาว่าไป มากที่สุดก็คงให้ทอยเหรียญ จับสลาก สุ่ม ไม่ใช่ให้คนแก่ไปก่อน

บางคนอาจบอกว่าการให้คนหนุ่มไปก่อนนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติบนฐานอายุ (Age discrimination) เรื่องนี้เป็นดีเบตใหญ่ทางจริยศาสตร์

ผมจำได้ว่าสมัยตอนย้ายไปศึกษาต่อที่อังกฤษใหม่ๆ ที่นั่นเขาเถียงกันว่ารัฐบาลสามารถจัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เด็กและคนหนุ่มสาวมากกว่าคนแก่ได้หรือไม่

แต่นักจริยศาสตร์หลายคนให้คำปรึกษากับรัฐบาลว่าทำได้ ไม่ใช่การเหยียด เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนเคยอายุน้อย ก่อนเป็นคนแก่ ดังนั้น นโยบายการช่วยเหลือเด็กก่อนจึงไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อใคร ไม่เหมือนการช่วยเหลือบนฐานเชื้อชาติ สีผิว ที่ติดตัวมนุษย์คนหนึ่งแต่เกิดจนตาย เรื่องนี้เถียงกันต่อได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องถกกัน เพราะสุดท้ายต่อให้เป็นการเหยียดด้วยอายุจริง ข้อเสนอนี้ก็บอกเพียงว่าเราไม่ควรช่วยคนโดยดูจากอายุ ไม่ใช่ว่าให้ช่วยคนแก่ก่อน ดังนั้น คุณเสรีพิศุทธ์จึงไม่น่าหมายถึงเรื่องนี้แน่ๆ

นอกจากนี้ คุณเสรีพิศุทธ์ก็รู้อยู่แล้ว ว่าเรื่องจัดตั้งรัฐบาลระดับชาติในแวดวงนักการเมืองนั้น คล้ายพวกตลกในบางแง่มุมอยู่ คือเขาไม่เล่นกันถึงตาย อย่างน้อยก็ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2530 เป็นต้นมา ถ้าจะเสียหายก็คือเงินลงทุน เครดิตพรรค มุ้ง กลุ่มการเมือง อะไรก็ว่าไป แต่ถึงที่สุดก็ไม่ถึงกับหมดเนื้อหมดตัว อย่าว่าแต่มีใครตายเหมือนไททานิก

 

แล้วหากเราเปลี่ยนมาเข้าใจว่าสิ่งที่คุณเสรีพิศุทธ์กล่าวถึงคือเรื่องตำแหน่งงานล่ะ?

เรือล่มที่ว่าก็คงหมายถึงว่าดีลตำแหน่งงานกำลังจะปิดลงหากไม่มีใครสักคนเสียสละทำอะไรสักอย่าง ถ้าเข้าใจแบบ อุปมาก็ใกล้เคียงความจริงขึ้นหน่อย เพราะคุณเสรีพิศุทธ์สนอเรื่องนี้ในบริบทการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องตำแหน่งงาน แต่ถ้าคิดแบบนี้ จะทำให้เราเข้าใจคุณเสรีพิศุทธ์ไม่ได้เลย ว่าทำไมต้องให้คนแก่ไปก่อน

ปกติตำแหน่งงานเขาแจกจ่ายกันตามความเหมาะสม อยากเป็นข้าราชการก็ต้องไปสอบ อยากทำงานเอกชนก็ต้องสมัครให้บริษัทเขาคัดเลือก อยากเป็นรัฐบาลก็ต้องลงเลือกตั้ง ใครชนะเสียงมากสุดก็ได้เป็น ไม่มีใครเขาแบ่งของแบบนี้กันตามอายุ โดยเฉพาะในตำแหน่งงานบริหารประเทศ โดยเฉพาะในยามวิกฤตที่ต้องเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าจะไม่เอาก้าวไกลด้วยเหตุผลที่ว่า ก็ควรด้วยเหตุผลความเหมาะสมต่องาน เช่น อยู่ต่อจะทำให้เสียงในสภาไม่พอ แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ อดช่วยประชาชน แล้วก็ไปเถียงกันต่อตรงนั้น ไม่ใช่มาพูดเรื่องคนหนุ่มสาว คนแก่อะไร

ผมนั่งคิดเรื่องนี้อยู่ครึ่งวันจนเจอคำตอบที่เกือบทำให้ร้อง “อ๋อ” คือผมลองสมมุติว่าสิ่งที่คุณเสรีพิศุทธ์พูดถึง คือเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องรัฐบาลประชาธิปไตย แก้รัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาชาติเลย ถ้าเข้าใจแบบนี้ ทุกอย่างจะกระจ่างขึ้น

ที่ว่า “เรือล่ม” จะหมายถึงว่าถ้าก้าวไกลไปต่อ จะไม่มีใครได้กินเค้กผลประโยชน์ชิ้นนี้จากการเข้าไปเป็นรัฐบาล

และถ้ามองเป็นเรื่องเค้กผลประโยชน์ ก็จะเข้าใจว่าทำไมเรือมันถึงจะวนมาเรื่อยๆ มีลำหนึ่ง “ลำสอง” แบบที่คุณเสรีพิศุทธ์ว่า เพราะเดี๋ยวอนาคตก็มีเลือกตั้งให้ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะอีก

ที่สำคัญ เราจะเข้าใจด้วยว่าทำไมจึงควรให้คนแก่ไปก่อน เพราะถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่วนมาเรื่อยๆ แบบนี้ ก็ไม่มีเหตุผลให้คนหนุ่มคนสาวได้ก่อน เพราะเดี๋ยวมันก็วนมา

ยิ่งเหลือายุเยอะยิ่งรอได้ ไม่ต้องคิดถึงว่าใครรอดแล้วจะสร้างประโยชน์ทางสังคมได้มากกว่า เพราะเกมผลประโยชน์แบบนี้ ล่มไปก็ไม่มีใครเสียชีวิต และก็ไม่ต้องพูดเรื่องความรู้ความสามารถ ความเหมาะสมทางการเมือง คะแนนเสียง เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องการสมัครงาน

ถ้าไม่มีปัจจัยเหล่านี้ให้คำนึง ก็ถูกแล้วที่ต้องให้คนแก่ไปก่อน เพราะเขาใกล้ตายกว่า ไม่ได้กินตอนนี้ อนาคตอาจไม่ได้กินอีก อารมณ์คล้ายๆ คนหนุ่มสาวหลายคนรีบเอาเงินไปให้ปู่ย่าตายายเที่ยว ก่อนจะไม่มีโอกาส พอเข้าใจแบบนี้ก็ลงตัวทุกอย่าง

ติดแค่อย่างเดียว คือคนอย่างคุณเสรีพิศุทธ์ไม่ใช่คนที่มองงานบ้านเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์แบบนี้แน่นอน พอติดตรงนี้ ผมก็ว่าอุปมาเรือล่มของคุณเสรีพิศุทธ์อาจจะเกินระดับสติปัญญา ผมยอมแพ้แล้วกลับไปทำอะไรมีสามระตามระดับความสามารถแทนดีกว่า