ฤๅ ‘ชาติ’ นั้นจะเป็นเพียงความฝัน : รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลายเป็นรัฐชาติ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ฤๅ ‘ชาติ’ นั้นจะเป็นเพียงความฝัน : ทบทวน วิเคราะห์ คลี่คลาย วาทกรรม ว่าด้วย ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย (4)

 

ดังได้กล่าวแล้วว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุโรปนั้นเกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่านจากระบบฝรั่งศักดินา (ฟิวดัล) มาเป็นระบบทุนนิยม เกิดขึ้นในยุโรปเป็นแห่งแรกและเป็นตัวแบบในการศึกษาถึงระยะเปลี่ยนผ่านการเข้าสู่สังคมทุนนิยมไปทั่วโลก แม้ในความเป็นจริงตัวแบบหรือโมเดลดังกล่าวนี้แทบไม่เคยปรากฏเป็นจริงได้ในโลกและประเทศนอกตะวันตกเลย ยกเว้นประเทศเดียวคือญี่ปุ่น แต่โดยทั่วไปอธิบายอย่างไม่ใช้ทฤษฎีมากนักก็กล่าวว่า คือการเปลี่ยนจากระบบสังคมแบบจารีตหรือโบราณมาสู่ระบบสังคมสมัยใหม่ พูดอย่างหลังนี้พอรับได้มากกว่า

ข้อคิดที่ผมสังเคราะห์จากประวัติศาสตร์รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุโรปเพราะเห็นว่ามีบางรูปแบบและการคลี่คลายที่รัฐสยามไทยสมัยปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 ที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบได้ ทำให้ได้ความรับรู้แบบวิพากษ์ได้ระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามได้เลย เพราะมีอยู่เฉพาะแห่งเดียวในโลก

ประเด็นในตอนนี้คือการเปลี่ยนรูปแบบของอาณาจักรจารีตได้แก่ระบบกษัตริย์ที่ถือว่ารัฐคือตัวตนของกษัตริย์ ได้รับความชอบธรรมจากพระเจ้าที่ทำให้กษัตริย์มีอำนาจเทวสิทธิ์เหนือผู้อยู่ใต้การปกครอง ในกรณีของอาณาจักรไทย ความชอบธรรมนี้มาจากบุญและบารมีของกษัตริย์ ไปสู่การสร้างรัฐที่ไม่ใช่ตัวตนของกษัตริย์อีกต่อไป หากแต่วางอยู่บนการดัดแปลงให้เข้ากับการเกิดชนชั้นใหม่

กระทั่งในที่สุดหลายประเทศก็สลายระบบกษัตริย์ไปเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญหรือมหาชนรัฐ (Republic) ไปเลย

 

เมื่อระบบและโครงสร้างการผลิตแบบสมัยใหม่คือทุนนิยมเริ่มก่อตัวและเติบใหญ่ขึ้นในอาณาจักรต่างๆ องค์ประกอบของประชากรและการทำมาหากินก็เปลี่ยนไปเป็นระบบที่รวมศูนย์กิจกรรมทั้งหลายเข้ามาด้วยกัน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

การผลิตที่มันสามารถสร้างความเป็นสังคมขึ้นมาได้ เมื่อองค์ประกอบในอาณาจักรก่อรูปเป็นสังคมของชาวบ้านมากขึ้น ผู้ปกครองจำเป็นต้องหาวิธีการและอุดมการณ์ใหม่ที่สามารถสื่อสารและรักษาฐานะครอบงำของตนเองไว้ให้ได้ต่อไป

นั่นคือที่มาของการที่กษัตริย์และรัฐที่เป็นตัวตนกษัตริย์ หันเข้าหาองคาพยพใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นและมีพลังเชื่อมโยงผู้คนจำนวนมากในหลากหลายพื้นที่และอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติศาสนาและภาษาที่ต่างกันเข้ามาอยู่ด้วยกันได้

ในอาณาจักรและแว่นแคว้นต่างๆ มีชุมชนและหมู่บ้านไปถึงที่ดินของขุนนางเจ้าที่ดินเล็กและใหญ่ เมื่อการค้าขยายตัวชุมชนเหล่านั้นเริ่มเกาะเกี่ยวและสร้างสังคมของพวกเขาบนพื้นฐานของเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและอาชีพ

ก่อนเกิดระบบทุนนิยม เมืองในยุโรปมีสมาคมช่างฝีมือที่แข็งขันและทำการผลิตอย่างมีระบบของการร่วมมือกันทำนองใช้แรงงานรวมหมู่ในเขตเมืองของพวกเขา พวกนี้คือฐานสำคัญของการพัฒนาระบบทุนนิยมแบบโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคต เป็นฐานทางการเมืองให้แก่ชนชั้นกระฎุมพีนายทุนในการต่อรองและต่อสู้กับชนชั้นฟิวดัลเจ้าที่ดินเพื่ออิสรเสรีภาพในการผลิตและในฐานะของช่างฝีมือ

ชุมชนของคนเหล่านี้เป็นที่มาของการเกิด “ชาติ” อันเป็นมิติทางวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ของพวกเขากันเอง

ในยุโรปน่าสนใจว่าชาติและชาตินิยมเกิดก่อนในท้องถิ่นและเป็นของชาวบ้าน ประชาชนสร้างความเป็นชาติจากชาติพันธุ์วรรณาของแต่ละชนชาติเชื้อชาติภาษา

ยิ่งมีการพิมพ์เกิดขึ้น มีการใช้ภาษาพูดของท้องถิ่นไม่ใช่ละตินของรัฐ มีตลาดเสรีไปทั่วทั้งภูมิภาคและออกไปทั่วโลก ความเป็นชาติของชาวบ้านก็สถาปนาไปทั่ว คติชาติจึงเป็นอำนาจทางความคิด อำนาจละมุน (soft power) ก่อนที่รัฐและชนชั้นปกครองจารีตจะเข้ามาสร้างชาติในภายหลัง

 

ในระยะการปฏิรูปประเทศ รัชกาลที่ 5 ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างชาติขึ้นมา เฉพาะหน้านั้นการสร้างรัฐและกลไกของมันในการปกครองและปราบปรามมีความสำคัญมากกว่า แม้จะเห็นความสำคัญของการให้ความคิดและความรู้แก่ราษฎร แต่ระบบโรงเรียนและระบบการศึกษายุคแรกก็ทำอย่างจำกัด เพื่อตอบสนองลูกหลานข้าราชการคนชั้นสูงก่อน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงมีการเริ่มระบบการศึกษาทั่วไปทั้งพระราชอาณาจักร รวมทั้งก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกในปี 1917 ช้ากว่าญี่ปุ่นที่ตั้งมหาวิทยาลัยโตเกียวในปี 1877 ไปถึง 40 ปี

ที่ผ่านมาเรามีการศึกษาถึงสภาพความเป็นชุมชนและชาติของชาวบ้านไทยสมัยโบราณน้อย จากหลักฐานที่สุจิตต์ วงษ์เทศ นำเสนอใน “คนไทย ร้อยพ่อพันแม่ พูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง” (มติชนสุดสัปดาห์ 21 กรกฎาคม 2566) กล่าวได้ว่ามีชุมชนคนไทยเป็นลูกผสมหลายชาติพันธุ์แต่พูดภาษาไทยร่วมกัน ทำมาหากินในดินแดนสยาม ที่อาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางมานานนับกว่าหนึ่งศตวรรษ

หมายความว่าความเป็นชาติของชาวบ้านไทยนั้นมีมานานแล้ว แต่บดบังอยู่ใต้ความคิดทางการเมืองของชนชั้นปกครองจารีต ที่สร้างคติความชอบธรรมของธรรมราชามากกว่าการสร้างจิตสำนึกของชาวบ้านนอกจากทำงานทางด้านวัฒนธรรมที่จำกัด อันนี้ก็สืบเนื่องจากระบบศักดินาที่สร้างพันธนาการให้ไพร่ทาสขึ้นต่อนาย

ความเป็นชุมชนจึงไม่มีฐานะและบทบาทในพระราชอาณาจักร แม้ระบบช่างฝีมือที่อิสระก็ไม่เกิด นักคิดนักประดิษฐ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

 

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามสร้าง “ชาติ” เพื่อมาเป็นเครื่องมือและพลังทางสังคมในการต่อกรและจัดการกลุ่มชาตินิยมชาวบ้านที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในกรุงสยามในต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะในหมู่คนจีนที่ถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานจ้างที่ไม่เสรี ในต้นรัตนโกสินทร์ เพื่อทำงานสร้างท่าเรือ ทางรถไฟ คลอง และทำการเกษตรเพื่อการค้าและส่งออก

เป็นแบบแผนเดียวกับที่รัฐราชการอาณานิคมฝรั่งในสิงคโปร์ อินโดนีเซียใช้ และสยามก็เลียนแบบมา

แต่ที่สยามทำได้ดีกว่าคือไม่นำเอาเงื่อนไขทางสังคมของแรงงานรับจ้างมาด้วย เพราะจะเป็นการเปิดหนทางให้แก่การเกิดระบบการผลิตนายทุนขึ้น ตรงกันข้ามเราพยายามรักษาระบบแรงงานกึ่งศักดินาไพร่ทาสไว้ ด้านหนึ่งให้แรงงานไปบุกเบิกจับจองที่ดินได้ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ส่วนตัวบนที่ดิน แรงงานไทยจึงไม่เป็นแรงงานรับจ้างที่ไร้ปัจจัยการผลิต ทำให้รัฐเก็บภาษีจากแรงงานเหล่านี้ได้

รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างลัทธิชาตินิยมขึ้นเพื่อกำราบและควบคุมขบวนการชาตินิยมจีนในกรุงสยาม อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติในจีนและการเคลื่อนไหวของมวลชนในสยามที่มีปฏิสัมพันธ์กับทุนตะวันตกและแนวความคิดใหม่ทางการเมืองได้แก่ระบบมหาชนรัฐ

โดยทั่วไปลัทธิชาตินิยมมักมีเป้าหมายที่ต่างชาติที่มาเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดคนในประเทศ แต่ชาตินิยมของรัฐสยามขณะนั้นกลับพุ่งเป้าไปที่คนจีนในสยาม แทนที่จะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ดัตช์ และอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์จากการควบคุมการค้าในสยามจำนวนมาก

นักวิชาการจึงตั้งชื่อให้แก่ลัทธิชาตินิยมของผู้นำรัฐว่า “ชาตินิยมทางการ” (Official Nationalism) อันเป็นคำที่เหน็บแนมและเสียดสี เนื่องจากชาตินิยมทั่วไปมักเป็นของชาวบ้านและของชุมชนไม่ใช่รัฐและราชการ

ชาตินิยมไทยจึงเป็นขบวนการชาตินิยมที่แปลกประหลาดกว่าใครในโลก ด้วยเหตุที่มันแทบไม่มีพลังและแหล่งที่มาทางความคิดจิตวิญญาณของชาวบ้านและชุมชนในนั้นเลย มีแต่จุดหมายอุดมการณ์และเป้าประสงค์ของรัฐเพื่อรัฐแต่ประการเดียว