เสถียร โพธินันทะ : ปฏิมา ฆราวาสมุนี [ดังได้สดับมา]

หากอ่านคำไว้อาลัยของ “คณะกรรมการนักศึกษา ม.ม.ร.” ต่อ จะยิ่งเข้าใจ เสถียร โพธินันทะ ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

นั่นก็คือ

พวกเราทุกรุ่นที่เข้าเรียนในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยไม่เคยเห็นฆราวาสมุนีผู้นี้แต่งกายหรูหรา ไม่เคยเห็นสวมเสื้อนอก ผูกเนกไท หรือนาฬิกาข้อมือเลย แต่งกายปอนๆ แต่สะอาด ถึงกระนั้นเราก็มักจะเห็นรอยขาดที่ขากางเกงบ่อยๆ

วันหนึ่งเราถามท่านว่า “ทำไมอาจารย์ไม่ผูกนาฬิกาข้อมือหรือแต่งกายหรูหรา”

พอโดนสัมภาษณ์แบบนี้ อาจารย์ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ก็จะยิ้มน้อยๆ พร้อมกับพูดว่า

“ไม่ไหวละครับ ผมไม่ต้องการประชุนสังคม เขามีอะไรก็มีไปเถอะ สิ่งใดที่ไม่จำเป็นจริงๆ ผมจะสลัดออกไปให้หมด ถึงแม้ว่าผมไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมก็ไปชุดนี้”

พร้อมกับชี้ให้พวกเราดูเสื้อฮาวายลายพร้อย กางเกงขายาวสีมอๆ และรองเท้าหนังเก่าๆ “ใครจะว่าอะไรผม”

ตอนหนึ่งท่านพูดต่อหน้าพวกเราเหมือนกับจะเอือมระอาต่อระบอบหน้ากากและหัวโขนของสังคมว่า “ผมเคยถูกประณามว่าเอาแต่ใจตัวเหมือนกัน แต่ผมก็ให้เหตุผลว่า ผมเป็นคนประพฤติธรรม ผมเป็นฆราวาสมุนี

“ขอใช้ชีวิตโดดเดี่ยวและให้วิทยาทานเรื่อยไป”

ลักษณะแห่ง “ฆราวาสมุนี” ของเสถียร โพธินันทะ เมื่อมองผ่านข้อเขียน “คุณเสถียร โพธินันทะ เท่าที่ผมรู้จัก” ของ ศักดิ์ รัตนชัย

จะมองเห็นอีกด้านของ เสถียร โพธินันทะ ผ่านบทสรุป “บุคคลผู้ซ่อนบุคลิกลักษณะ”

อุปสรรคประการหนึ่งเกี่ยวกับโรคประจำตัวบางอย่างของ เสถียร โพธินันทะ คือการรับประทานอาหารต่างบ้านไม่ค่อยจะได้ จึงไม่ปรากฏในงานสังคมบ่อย และการเผยแพร่ไปไม่ได้ไกลนอกเมืองหลวง

งานเขียนเหมาะกับนักคิดซึ่งก็แพร่หลายอยู่ในคนกลุ่มน้อยกว่านักเผยแพร่บางท่านที่คนทั่วๆ ไปทุกชั้นได้รู้จัก

เสถียร โพธินันทะ รักความงามด้านการตกแต่งภายในมากกว่าการตกแต่งภายนอกจึงไม่นิยมความโก้เก๋ รักความละเอียดอ่อนแห่งการตกแต่งทางความคิด สติปัญญาและความจำ นิสัยรักการตกแต่งภายในได้สะท้อนถึงวิธีรับประทานอาหารมีความระมัดระวังความสะอาดเป็นพิเศษ

จนไม่อาจรับประทานอาหารนอกบ้านได้

คุณสมบัติพิเศษหลายประการ เช่น มีความจำเป็นเลิศและมีความคิดเป็นเลิศ และมีการเจรจาเป็นเลิศในการถ่ายทอดความคิดต่างๆ ออกมาจากงานเผยแพร่ เป็นอัจฉริยภาพโดยเฉพาะ

คือ มิใช่นักจำที่ถือแต่ตำรา

แต่มีทัศนะอย่างกว้างขวางในการเป็นนักคิดและนักค้นคว้า การเป็นผู้แตกฉานในการอ่านพระไตรปิฎกภาษาจีนอีกด้วย ทำให้มีโอกาสถ่ายทอดสิ่งน่าสนใจเพิ่มขึ้นจากพระไตรปิฎกภาษาไทยโดยกว้างขวางขึ้นอีกมิใช่น้อย

ผมเคยเห็นและฟัง เสถียร โพธินันทะ ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลเชิงอรรถให้แก่ พระสมณะอินเป่ยแห่งไต้หวัน และเห็นทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ในการนำชมโบราณสถานในพระนคร รู้สึกว่าท่านเป็นผู้สนใจและแตกฉานในหลายๆ ทาง

เสถียร โพธินันทะ เป็นบุคคลที่ทำให้คนสนใจน้อยโดยทางบุคลิกลักษณะภายนอก แต่หากได้เห็นผลงานของท่านในเบื้องหน้าบัลลังก์พูดอัจฉริยภาพอันวิเศษของท่านก็หลั่งไหลออกมาเสมือนหนึ่งลำธารทิพย์

ย่อมบรรเทาความกระหายแก่ผู้ใคร่ในรสธรรมได้อาบได้กินตามอัธยาศัย

จากนี้จึงเห็นได้ว่าเสน่ห์ของ เสถียร โพธินันทะ มิได้อยู่เป็นองค์ปาฐกหรือนักปาฐกถาที่มีแฟนให้ความนิยมเป็นอย่างสูง

หากบทบาทในฐานะ “ล่าม” บทบาทในฐานะ “มัคคุเทศก์” ก็โดดเด่น

รายละเอียดของเรื่องราวอันเป็นเครื่องถนิมพิมพาภรณ์แห่งชีวิตเหล่านี้นอกเหนือจากที่ สุชีพ ปุญญานุภาพ นำมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบแล้ว

บรรดาคนที่เคยร่วมงาน และบรรดาศิษย์ต่างประสบมาด้วยตนเอง