ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
พลันที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2566 เหยียบระดับสูงสุดที่ 90.6% ของจีดีพี หรือคิดเป็น 16 ล้านล้านบาท จาก 15.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง หากเทียบกับระดับที่ยั่งยืนที่ 80% ต่อจีดีพี อันเป็นระดับที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้โดยไม่สะดุดภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้!
เสาหลักอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไม่รีรอเดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือนที่เป็นหนี้เรื้อรัง โดยได้ออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลหนี้ 4 กลุ่ม ได้แก่
1. หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้
2. หนี้เรื้อรัง ให้มีทางจบหนี้ได้
3. หนี้ใหม่ที่เร่งตัวสูงขึ้น ให้มีคุณภาพและไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต
4. หนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสเข้ามากู้ในระบบได้
ทั้งนี้ มาตรการที่จะเร่งบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent debt: PD) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567
สำหรับแนวทางการแก้ไขหนี้เรื้อรัง ปัจจุบันมีอยู่ราว 5 แสนบัญชี โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ลูกหนี้ที่มีสัญญาณเป็นหนี้เรื้อรัง (General PD) หรือลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน แนะนำให้ชำระหนี้ต่อเดือนให้มากขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปิดจบหนี้เร็วขึ้น
และ 2. ลูกหนี้เรื้อรัง (Severe PD) เป็นลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจ มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และลูกหนี้ของนอนแบงก์และอื่นๆ มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน โดยจะได้รับอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี จากเดิม 25%
และต้องจบหนี้ภายใน 5 ปี
มาตรการดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
หัวเรือใหญ่อย่าง นายวิทัย รัตนากร ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ให้ความเห็นว่าการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง โดยการลดดอกเบี้ยจาก 25% มาอยู่ที่ 15% ไม่เป็นผลกระทบต่อการบริหารงานธุรกิจการเงิน ซึ่งประโยชน์จะมีต่อลูกหนี้ที่มาตรการนี้จะช่วยปิดจบหนี้เร็วขึ้น ด้วยระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการใน 5 ปี สอดคล้องกับนโยบายของออมสินในการสร้างแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและเป็นธรรมที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเวลานี้ จะทำให้หนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่จะลดลงเช่นกัน
“อีกขาหนึ่งก็ต้องเพิ่มรายได้ให้ประชาชนหลายสิบล้านคนอย่างจริงจัง ด้วยการผลักดันเป็นภารกิจในระดับประเทศที่ต้องทำผ่านนโยบายออกโดยรัฐบาล ขณะเดียวกัน สิ่งที่หน่วยงานเกี่ยวกับการให้สินเชื่อต่างๆ ช่วยได้คือการเข้าไปช่วยลดภาระด้านดอกเบี้ยในจุดที่อยู่สูงเกินจริง เช่น ที่ผ่านมา 5 ปี เก็บดอกเบี้ย 25% ก็ได้เงินต้นคืนแล้ว ที่เหลือก็เป็นกำไร เพราะฉะนั้น ก็ต้องลดลดดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยลูกหนี้” นายวิทัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการดังกล่าว ดูจะช่วยลูกหนี้ปลดล็อกภาระได้ หากมองในภาพใหญ่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนอาจลดลงได้ไม่มากนัก
สะท้อนจาก น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวถึงการดำเนินมาตรการแก้หนี้เรื้อรังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นความช่วยเหลือที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การแก้หนี้กลุ่มดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มหนี้ก้อนใหญ่ เพราะการกำหนดเงื่อนไขของผู้เข้าร่วมมาตรการ ทั้งด้านรายได้อยู่ที่ 1-2 หมื่นบาท และต้องได้รับความยินยอมจากทั้งเจ้าหนี้-ลูกหนี้ เพื่อร่วมปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจังตลอดระยะเวลา 5 ปี
“โดยระยะแรกการแก้หนี้เฉพาะกลุ่มยังไม่ใช่การแก้หนี้ก้อนใหญ่ หรือจะทำให้ในภาพใหญ่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลงทันที ขณะเดียวกัน มาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะเป็นมาตรการที่ดีที่จะช่วยให้ลูกหนี้เข้าใจเรื่องการชำระเงินเพื่อช่วยลดการเป็นหนี้เรื้อรังได้ “น.ส.กาญจนากล่าว
สอดคล้องกับ นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง เอาเข้าจริงนโยบายนี้เหมาะในททฤษฎี แต่ทางปฏิบัติจะให้คนเข้ามาอยู่ในโครงการนี้น่าจะมีน้อย หากประเมินด้วยเงื่อนไขให้ลูกหนี้ในกลุ่มรายได้ 1-2 หมื่นบาท หรือกลุ่มรายได้น้อย และมีการใช้จ่ายด้านค่าครองชีพเป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมการชำระหนี้เสื่อมถอยลง ดังนั้น ในแง่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะลดลงไม่มากนัก
“หากมองแง่ธุรกิจ เมื่อลดกำไรของสถาบันการเงิน ทำให้เสียผลประโยชน์ และสุดท้ายก็มีกระทบต่อธุรกิจ มองว่าอาจเป็นที่มาของสาเหตุที่มีการกำหนดเงื่อนไขลูกหนี้ที่ทำได้ในบางกลุ่มเท่านั้น” นายจิติพลกล่าว
กลับกันกลุ่มที่เป็นหนี้เยอะที่สุด คือ หนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ (Corporate) ที่มีน้อยราย แต่มีหนี้ก้อนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่สถาบันการเงินทำได้คือการเจรจากันในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่จะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนมากกว่า อีกทั้งถ้าบริษัทปลดหนี้ หรือมีหนี้น้อยลงอาจเกิดการจ้างงานมากขึ้น หากเทียบกับการลดประโยชน์ของธนาคาร แต่เพิ่มมาตรการที่มีผลประโยชน์ต่อหนี้ของผู้ประกอบการรายใหญ่เพิ่มขึ้น เช่น หากบริษัทใดๆ สามารถเพิ่มการจ้างงานอีก 100 คน จะมีสิทธิรับดอกเบี้ยลดลง 0% ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งถ้ามีนโยบายแบบนี้ก็มีลุ้นว่าจะได้รับการตอบสนองจากกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่
“ที่ผ่านมา ปัญหาของลูกหนี้ ไม่ใช่ว่าไม่อยากจะคืนหนี้ แต่ส่วนใหญ่ปัญหามาจากรายได้ สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจยังอ่อนแอ และการเพิ่มรายได้คือทางแก้ของผู้เป็นหนี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นโจทย์ระดับรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศอยู่รอดได้ในทุกความเสี่ยง เพราะนโยบายการเงินทำได้แค่เปลี่ยนราคา และไม่สามารถเพิ่มคุณภาพการชำระหนี้คืนของลูกหนี้ได้” นายจิติพลกล่าวทิ้งท้าย
‘หนี้ครัวเรือน’ ยังเป็นจุดอ่อนใหญ่ที่ยากจะกำจัด หากทำในวงแคบคงสำเร็จยาก เพราะเป็นปัญหาระดับวาระแห่งชาติที่ ‘รัฐบาลใหม่’ ต้องสุมหัวคิดครั้งใหญ่ เพราะถ้าลูกหนี้รอด เศรษฐกิจไทยก็รอดเช่นกัน!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022