โรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ : ประวัติและความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ

: ประวัติและความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ (จบ)

 

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าไว้ในหนังสือ “ตำนานโรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ” ว่าจำนวนเด็กที่มีอยู่ในโรงเลี้ยงเด็กฯ ได้ลดลงอย่างมากในช่วงราวทศวรรษ 2440 โดยอธิบายสาเหตุว่าเกิดจากจำนวนเด็กยากไร้อนาถาอย่างแท้จริง ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ไม่ค่อยมีมากนัก เพราะประเทศสยาม ความยากจนในระดับที่เดือดร้อนรุนแรงจนต้องอดตายไม่ค่อยมีให้เห็น ไม่เหมือนกับประเทศอื่น

ส่วนมากของเด็กในโรงเลี้ยงเด็กฯ จึงเป็นเด็กนอกเกณฑ์ที่ไม่ได้อนาถาจริง ส่วนใหญ่พ่อแม่ส่งเด็กเข้ามาเพราะเห็นว่าการมาอาศัยที่โรงเลี้ยงเด็กฯ จะทำให้เด็กมีอนาคตที่ดีกว่า บางกรณีถึงขึ้นว่าเป็นผู้ดีมีตระกูลก็อยากส่งลูกเข้ามาที่นี้ ซึ่งต้องปฏิเสธไปหลายราย

เด็กที่เข้าเกณฑ์จริง มีเพียงไม่ถึง 10 ราย ซึ่งทำให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เห็นว่า โดยแท้จริงแล้ว โรงเลี้ยงเด็กฯ มีลักษณะเป็นโรงเรียนเด็กเล็กมากกว่าที่จะเป็นโรงเลี้ยงเด็กอนาถา

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความสิ้นเปลือง จึงได้มีการกวดขันเรื่องเกณฑ์การรับเด็กมากขึ้น ส่วนเด็กที่รับมาแต่เดิมก็ค่อยๆ โตจนพ้นเกณฑ์และออกไปประกอบอาชีพ

ซึ่งทำให้จำนวนเด็กลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ภาพตึกสายสวลีสัณฐาคาร มองจากถนนบำรุงเมือง สมัยเมื่อเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชวิทยาลัย ที่มาภาพ : เพจ Sawaphol Suwanich (หนุ่มรัตนะ ภาพเก่าเล่าเรื่อง)

 

น่าเชื่อว่าจำนวนเด็กในครั้งหลังของทศวรรษที่ 2440 คงจะลดน้อยลงมาก อาคารสถานที่ต่างๆ ภายในโรงเลี้ยงเด็กฯ ก็คงจะใหญ่โตเกินความจำเป็น

ทำให้ในปี พ.ศ.2447 ทาง “โรงเรียนราชวิทยาลัย” (King’s College) ได้มาขอเช่าที่เพื่อใช้เป็นสถานศึกษา

แต่เดิมราชวิทยาลัยอาศัยที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นโรงเรียน แต่ในราวปี พ.ศ.2447 ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดจนต้องปิดโรงเรียน รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้ย้ายมาเช่าที่โรงเลี้ยงเด็กฯ เป็นการชั่วคราวแทน โดยมีการจ่ายค่าเช่าที่เป็นเงิน 12 บาทต่อปี

ในช่วงนี้ พื้นที่โรงเลี้ยงเด็กฯ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยพื้นที่ส่วนหน้าติดถนนบำรุงเมืองในกลุ่มอาคารที่เคยเป็นโรงเลี้ยงเด็กหญิง จะใช้เป็นพื้นที่สำหรับโรงเลี้ยงเด็กฯ ส่วนพื้นที่ตอนในตั้งแต่ตึก “สายสวลีสัณฐาคาร” ยาวไปจนจรดคลองมหานาค คือพื้นที่ของโรงเรียนราชวิทยาลัย

จากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450 เราจะมองเห็นการแบ่งพื้นที่ดังกล่าว และเห็นชัดว่าพื้นที่โรงเลี้ยงเด็กถูกลดขนาดลงอย่างมาก เหลือเพียงราว 1 ใน 10 ของพื้นที่เดิม

ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของราชวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานของอาจารย์ใหญ่ อาจารย์ และเจ้าหน้าที่โรงเรียน รวมถึงโรงอาหารหลังใหญ่เดิม ก็ถูกยกให้มาเป็นของราชวิทยาลัยแทน

นอกจากนี้ พื้นที่ครึ่งหนึ่งที่ติดถนนบำรุงเมืองยาวไปจนจรดตึกสายสวลีสัณฐาคารก็ถูกปรับให้เป็นสนามฟุตบอลของโรงเรียน

แผนผังโรงเรียนราชวิทยาลัยและโรงเลี้ยงเด็กฯ จากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450

ผมอยากออกนอกเรื่อง โดยตั้งข้อสังเกตย้อนกลับไปถึงประเด็นจำนวนเด็กของโรงเลี้ยงเด็กฯ ที่ลดลงมาก หลังจากที่เปิดโครงการเพียงแค่ราว 10 ปี

จากคำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เรื่องเด็กยากไร้อนาถาของสังคมสยามที่มีน้อย เพราะสังคมสยามมีคนจนในระดับที่ต้องอดตายแท้จริงไม่มากนัก ผมค่อนข้างจะเห็นต่างอยู่บ้าง

แม้โดยเทียบเคียงอาจจะจริงที่สังคมสยามมิได้ย่ำแย่ถ้าเทียบกับอีกหลายประเทศ แต่ปัญหาเรื่องเด็กยากไร้ ถูกทิ้งขว้าง และกำพร้า เป็นปัญหาร่วมที่ทุกสังคมมีเหมือนกัน แม้จะมีในระดับที่มากน้อยต่างกัน แต่สังคมสยาม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองหลวง จะมีปัญหาระดับนี้ที่น้อยมากๆ จนมีเพียงแค่ไม่ถึง 10 คน (ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กล่าวไว้) ไม่น่าจะจริงนะครับ

ผมออกจะสงสัยว่า อาจเป็นเพราะสาเหตุอื่นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่น่าจะสูงมากพอสมควร ซึ่งประเมินจากวิธีการเลี้ยงเด็ก สภาพสถานที่และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอาหารการกิน ที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆ จนทำให้ต้องลดจำนวนนักเรียนลง

หรืออาจเกิดจากปัญหาการผลักดันในเชิงโครงสร้างเพื่อให้โครงการนี้กลายเป็นนโยบายหนึ่งของรัฐที่อาจจะยังไม่ชัดเจนมากพอ

จึงอาจทำให้โครงการนี้มีลักษณะเป็นเรื่องของความต้องการส่วนบุคคลของพระอัครชายาเธอฯ เพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งในระยะยาวย่อมไม่มีความยั่งยืน อย่างน้อยก็ในแง่ของงบประมาณสนับสนุนรายปี

แผนผังบริเวณพื้นที่โรงเลี้ยงเด็กฯ จากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475

แนวคิดโรงเลี้ยงเด็กอนาถา ต้องยอมรับนะครับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ล้ำสมัยทีเดียว

แม้การทำบุญทำทานกับคนด้อยโอกาสจะเป็นหนึ่งในหลักการทางพุทธศาสนาที่สังคมสยามยึดถือมายาวนาน

แต่การส่งเสียเลี้ยงดูและให้การดูแลระยะยาว เพื่อเป้าหมายในการเปลี่ยนคนยากไร้ให้ได้รับโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการคิดในเชิงแก้ปัญหาระดับโครงสร้างใหญ่ที่เน้นลงมาที่คนด้อยโอกาสชั้นล่างสุดในสังคมเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่คุ้นชินนักสำหรับสังคมสยาม โดยเฉพาะบนฐานโลกทัศน์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้อุปถัมภ์หลักเสียชีวิตลง (พระอัครชายาเธอฯ เสียชีวิตในปี พ.ศ.2472) จึงไม่แปลกที่โครงการจะไม่ได้รับการสานต่อและถูกยุบเลิกไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบแน่ชัด (อาจจะมีหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้อยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่ผมยังหาไม่เจอ) ว่า โรงเลี้ยงเด็กฯ ถูกยกเลิกไปเมื่อไร อาจจะตั้งแต่หลังการเสียชีวิตลงของพระอัครชายาเธอฯ ซึ่งทำให้ขาดผู้อุปถัมภ์หลัก

หรือเป็นเพราะนโยบายใหม่ของรัฐบาลภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็เป็นได้ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องตามต่อไปในอนาคต

แผนผังบริเวณพื้นที่โรงเลี้ยงเด็กฯ จากแผนที่กรุงเทพฯ ทศวรรษ 2490

ย้อนกลับมาที่โรงเรียนราชวิทยาลัยอีกครั้ง

โรงเรียนอาศัยเช่าที่โรงเลี้ยงเด็กฯ ราว 7 ปี ก็ย้ายออกในปี พ.ศ.2453 อันเนื่องมาจากรัชกาลที่ 6 โปรดให้โอนย้ายโรงเรียนไปขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม และมีการสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ให้แทน ณ บริเวณบางขวาง จ.นนทบุรี (ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า)

แต่หลังจากราชวิทยาลัยย้ายออกไปไม่ถึง 1 ปี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งถูกตั้งขึ้นโดย “สมาคมนารีชาวสยาม” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 5 ก็เข้ามาขอเช่าใช้พื้นที่ต่อ ตั้งแต่ พ.ศ.2454 โดยจากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2460 จะมองเห็นชื่อโรงเรียนเบญจมราชูทิศในตำแหน่งโรงเลี้ยงเด็กฯ อย่างชัดเจน

เราไม่ทราบแน่ชัดอีกเช่นกันว่า โรงเรียนได้ย้ายออกไปหรือยุบเลิกไปเมื่อใด แต่อย่างน้อยในปี พ.ศ.2472 อันเป็นปีที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้เขียนหนังสือ “ตำนานโรงเลี้ยงเด็กฯ” ขึ้น โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ยังคงตั้งอยู่ ณ พื้นที่นี้

ส่วนโรงเลี้ยงเด็กฯ นั้น น่าเชื่อว่าอย่างน้อยจนถึงในปี พ.ศ.2472 ซึ่งเป็นปีที่พระอัครชายาเธอฯ เสียชีวิต ก็น่าจะยังคงดำเนินกิจการอยู่ แม้ว่าจำนวนเด็กจะลดน้อยลงมากแล้ว

และจากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475 ก็พอจะช่วยยืนยันได้อีกทางหนึ่ง เพราะสภาพทางกายภาพของพื้นที่ยังปรากฏในลักษณะเดิมทั้งหมด

 

แต่จากแผนที่กรุงเทพฯ ทศวรรษ 2490 ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่โรงเลี้ยงเด็กฯ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ตึกสายสวลีสัณฐาคารถูกรื้อลงไปแล้วพร้อมกับอาคารเกือบทั้งหมดในพื้นที่ ที่ดินถูกซอยเป็นแปลงย่อย บ่อน้ำถูกถม มีการสร้างอาคารทั้งแบบคอนกรีตและไม้ขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากพิจารณาดูจากแผนผัง น่าเชื่อว่าหลายแปลงถูกออกแบบให้เป็นบ้านเรือน และตึกแถวร้านค้า

ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โรงเลี้ยงเด็กฯ รวมถึงโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้ถูกยกเลิกไปหมดสิ้นแล้วในช่วงกลางทศวรรษ 2490

และจากภาพถ่ายทางอากาศในปี พ.ศ.2501 พื้นที่โรงเลี้ยงเด็กฯ เดิมก็เปลี่ยนสภาพกลายไปเป็นที่ดินแปลงย่อยๆ ตึกแถว บ้านเรือน และร้านค้า เต็มแน่นพื้นที่ จนไม่หลงเหลือสภาพเดิมอีกต่อไป

ร่องรอยความทรงจำเพียงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ มีเพียงถนนผ่านกลางพื้นที่เส้นเดิม ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพกลายมาเป็นตรอกโรงเลี้ยงเด็ก

แต่กระนั้น ประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 50 ปีของโรงเลี้ยงเด็กฯ ก็ยังคงเป็นที่จดจำและส่งผ่านไปยังพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ เช่นต่อมาได้มีการสร้างตลาดขึ้นในบริเวณใกล้เคียง ชื่อที่คนละแวกนั้นใช้เรียกตลาดก็คือ “ตลาดโรงเลี้ยงเด็ก”

และแม้ตัวตลาดจะถูกรื้อทิ้งไปจนหมดสิ้นแล้วเช่นกัน แต่ชื่อโรงเลี้ยงเด็กก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนในพื้นที่นี้ตราบมาจนถึงปัจจุบัน