คณะราษฎรพลิกบทบาทกองโฆษณาการ : จากต่อต้านสู่เผยแพร่ประชาธิปไตย (3)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

คณะราษฎรพลิกบทบาทกองโฆษณาการ

: จากต่อต้านสู่เผยแพร่ประชาธิปไตย (3)

 

คณะราษฎรความพยายามเผยแพร่การปกครองใหม่

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรพยายามเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตย ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการปฏิวัติ คณะราษฎรส่งตัวแทนไปปาฐกถาชี้แจงยังโรงเรียนมัธยม เช่น ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา และโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทย์ศิริราชและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ (ศรัญญู เทพสงเคราะห์, 2566, 130-134)

แต่เมื่อพระยามโนฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกได้ ความเป็นอนุรักษนิยมของรัฐบาลชุดแรกปรากฏผ่านการแปรเปลี่ยนสาระสำคัญของเนื้อหารัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (ฉบับคณะราษฎร) ที่ให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนและสภาผู้แทนฯ มีอำนาจสูงสุดไปสู่รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว โดยรัฐบาลไม่ส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้แก่สังคมเกี่ยวกับการปกครองใหม่อีกต่อไป ตลอดจนพยายามรอนอำนาจและปรามปรามคณะราษฎร จนกระทั่งคณะราษฎรรัฐประหารล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมนี้ลง (20 มิถุนายน 2476)

กรมโฆษณาการที่อาคารแบดแมนหรือโรงเรียนกฎหมายเดิม

ภายหลังที่คณะราษฎรปกป้องการปฏิวัติ 2475 จากรัฐบาลพระยามโนฯ ที่พยายามโต้ปฏิวัติและก่อกบฏบวรเดชแล้ว

รัฐบาลใหม่ของพระยาพหลฯ ตระหนักในการเผยแพร่ความรู้เรื่องการปกครองใหม่ รวมทั้งความตระหนักในสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนในชนบทพื้นที่ห่างไกล

รัฐบาลสนใจการเผยแพร่ความรู้การปกครองใหม่แก่ประชาชน ในต้นเดือนตุลาคม 2476 เกิดแนวคิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้รัฐธรรมนูญมั่นคง

ต่อมา ปรีดี พนมยงค์ มีแผนการที่จะเผยแพร่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงโครงการส่งหน่วยโฆษณาการลงพื้นที่ทุกตำบลเพื่อเผยแพร่การปกครองใหม่ (silpa-mag.com/history/article 51893)

ทว่าในกลางเดือนตุลาคม 2476 นั้นเอง เกิดกบฏบวรเดช กลุ่มอนุรักษนิยมยกกองทัพจากหัวเมืองเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อปราบปรามคณะราษฎรเสียก่อน ส่งผลให้โครงการชะงักลง

ภายหลังการปราบกบฏบวรเดชแล้ว เมื่อเดือนธันวาคมปี 2476 นั้นเอง รัฐบาลเดินหน้าการเผยแพร่ความรู้การปกครองใหม่และสร้างองค์กรปกป้องระบอบประชาธิปไตยขึ้น ด้วยการก่อตั้งสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ มีจุดประสงค์ 4 ประการ คือ

1. สนับสนุนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

2. ปลูกความสามัคคีในระหว่างชนชาวสยามด้วยกัน

3. ช่วยรัฐบาลและประชาชนในอันจะยังความเจริญให้บังเกิดแก่ชาติและราษฎรทั่วไปตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ

และ 4. อมรบสมาชิกให้มีคุณลักษณะที่สามารถทำประโยชน์แก่ชาติยิ่งขึ้น (silpa-mag.com/history/article 51893)

สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ มีสาขาทั่วประเทศ โดยปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกสมาคม กรุงเทพฯ

ภารกิจสร้างความรู้ความเข้าให้ประชาชน

ภายหลังจากคณะราษฎรปราบกบฏบวรเดชลงแล้ว รัฐบาลมุ่งวางรากฐานและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในชนบทเป็นอย่างมาก จึงขอความช่วยเหลือจากเหล่า ส.สที่อยู่ในพื้นที่ช่วยปาฐกถาเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนด้วย

เมื่อสิ้นสุดสมัยประชุมสภาในปีนั้น (2476) มี ส.ส.เข้าร่วมงานเผยแพร่จำนวน 24 คน โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าพาหนะให้ (สุวิมล, 24-25)

ต้นปี 2477 จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ส.ส.น่าน เรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำรัฐธรรมนูญจำลองให้แก่จังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่า การปกครองใหม่นั้น หาใช่การยึดถือตัวบุคคลตามแบบเดิม แต่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักของบ้านเมือง

ต่อมารัฐบาลจัดสร้างรัฐธรรมนูญจำลองแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม ปี 2477 โดยส่งไปตามจังหวัดต่างๆ 69 ชุด อีก 1 ชุด สำหรับที่ทำการใหญ่ของสมาคมที่พระราชอุทยานสราญรมย์ (silpa-mag.com/history/article 51893)

สัญลักษณ์การปกป้องรัฐธรรมนูญบนสมุดเล็กเชอร์

ข้าราชการอีสานสนับสนุนระบอบใหม่

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ปรากฏว่า มีราชการมหาดไทยตามหัวเมืองให้สนับสนุนการปฏิวัติด้วยการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน

ดังเช่นข้าราชการมหาดไทยอีสาน ชื่อ ขุนพรมประศาสน์ (วรรณ พรหมกสิกร) นายอำเภอเขื่องใน อุบลราชธานี เขาแต่งหนังสือคำกลอนอีสานเรื่อง เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม (ตุลาคม 2475) และอีกเล่ม คือ คำกลอนพากย์อีสานบรรยายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (2478) ขึ้น

ด้วยงานเขียนของขุนพรมฯ ต้องการบอกชาวอีสาน จึงใช้รูปแบบ “กลอน” และแต่งโดยใช้ภาษาถิ่น หากเป็นศัพท์เฉพาะ เช่น รัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ เขาจะขยายความศัพท์เหล่านี้ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ด้วยยกตัวอย่างเปรียบเทียบในชีวิตประจำวัน เช่น หน้าที่ของผู้แทนราษฎรเปรียบเหมือนผัวไปทำหน้าที่เจรจาความต่างๆ แทนเมีย ว่า

“เฮาบ่อไปผู้แทนนั้นขันไปแทนก็หากแม่น เทียมดังผัวแล่นเว้าความถ้อยแก้ต่างเมีย” หรือเปรียบเปรยการทำงานของคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรว่าเหมือน “รัฐบาลเป็นผู้ไส้สับคั่วลาบก้อย แล้วจั่งหามหาบให้สภาได้รสชิม ยามเมื่อชิมจางจืดให้เอาเกลือลงตื่ม จนให้นัวแซบดีแล้วจั่งค่อยเอา” (ประวิทย์ สายสงวนวงศ์, 2562, 420)

นอกจากนั้น เขาใช้ผญาและฮีตคองอีสานสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้อ่าน ผู้ฟัง ขณะที่กลอนพาผู้อ่านหรือผู้ฟังไปสู่เนื้อหาสาระทางการเมืองและวีรกรรมของคณะราษฎร ดังว่า

“บัดนี้ ข้าจักเล่าพากย์พื้นเปลี่ยนการปกครอง ตามทำนองปกครองประเทศ สยามเขตต์บ้านถิ่นเมืองไทย…มิถุนาวันที่ซาวซี่ จำให้ถี่ปี วอกวันศุกร์…ท่านผู้กล้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งผองมีรวมกันหลายเหล่า…พร้อมพ่า หน้าข้าราชการ มีทหารพลเรือนหลายหลั่น นอกว่านั้นยังมีชาวนา กรรมกรชาวสวนส่วนน้อย บ่อต่า ต้อยล้วนแต่คนดี ล้วนแต่มีวิชชาความฮู้”

จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ส.ส.น่าน และรัฐธรรมนูญจำลอง ลำปาง เครดิตภาพ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน, Egalite Bookshop

“เฮาทุกคนเจ้าของอำนาจ”

เมื่อจุดมุ่งหมายของการปฏิวัติของคณะราษฎรคือการเปลี่ยนอำนาจการปกครองจากพระมหากษัตริย์มาสู่ราษฎรและให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองเช่นเดียวกับชาติอื่นๆ จึงขอให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ดังความว่า

“กฎหมายว่าอำนาจสูงสุด จุดที่หมายเป็นของไพร่ราษฎร เป็นอำนาจทั่วๆ กันไป บ่อมีไผได้อำนาจลื่น”

ขุนพรมฯ อธิบายสาเหตุของการปฏิวัติว่าเป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ใช่เพราะว่าคณะราษฎรจะแย่งชิงพระราชอำนาจหรือลดทอนพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นเพราะระบอบเก่าอำนาจสิทธิขาดอยู่ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ย่อมไม่อาจจะปกครองดูแลทุกข์สุขของไพร่ฟ้านับล้านคนได้ทั่วถึง

ขุนพรมประศาสน์กับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม (2475)

ระบอบเดิม “บ่อฟังเสียงปากกบปากเขียด”

ขุนพรมฯ เห็นว่า แม้จะมีเสนาบดี ข้าหลวงช่วยราชการก็ตาม แต่ก็มีหลายคนที่ประพฤติมิชอบ ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ คนพวกนี้นั้น “บ่อฟังเสียงปากกบปากเขียด” ไม่สนใจทุกข์สุขของราษฎร

เวลานี้ประเทศเปลี่ยนแปลง ราษฎรมีการศึกษามากขึ้น ประชากรมีมากขึ้น ปัญหาของบ้านเมืองก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ระบอบเก่าจึงไม่อาจตอบสนองได้อีกต่อไป สถานการณ์เช่นนี้นามาสู่ความจำเป็นในการปฏิวัติของคณะราษฎร

การปกครองใหม่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดดีกว่าระบอบเก่าเพราะการปกครองไม่ขึ้นกับบุคคลเพียงคนเดียว แต่แบ่งแยกอำนาจปกครองออกเป็น 4 ชั้นได้แก่

ชั้นที่ 1 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของบ้านเมือง

ชั้นที่ 2 สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของพลเมือง ซึ่งราษฎรจะเป็นผู้เลือกผู้แทนตำบล จากนั้น ผู้แทนตำบลก็จะไปเลือกผู้แทนจังหวัด เขาย้ำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังตระหนักว่า “เฮาทุกคนเจ้าของอำนาจ”

ชั้นที่ 3 คณะกรรมการราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินรับผิดชอบต่อสภา

และชั้นที่ 4 ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีต่างๆ รวมถึงพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคกัน

ดังนั้น ระบอบรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการของคณะราษฎรจึงเป็นของดีของสูงที่พี่น้องทุกคนต้องช่วยกันรักษา ด้วยการสนับสนุนรัฐบาล ตั้งใจทำมาหากิน ปฏิบัติตนตามกฎหมายเพื่อให้ระบอบรัฐธรรมนูญสถิตสถาพรต่อไป (ประวิทย์, 223-224)

กล่าวโดยสรุปแล้ว สาระหนังสือของขุนพรมฯ พยายามอธิบายว่า การปกครองแบบใหม่นั้นมิได้ยึดถือบุคคลเป็นหลัก แต่ยึดถือกฎหมายเป็นสิ่งสูงสุด การปกครองใหม่ให้มีอำนาจสูงสุด ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ใดมีอำนาจเหนือผู้อื่น ดังนั้น การปกครองใหม่ให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุด และมีรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจของกษัตริย์ให้อยู่ใต้กฎหมาย (ศรัญญู, 2562, 30-31)

ชีวิตเด็กและสตรีในอีสาน ปี 2479
เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton