จีนไม่โตเหมือนเดิม : มองมุมอาจารย์เซินลี่ผิง (2) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

เซินลี่ผิง ศาสตราจารย์สังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซินหัวของจีนได้บรรยายวิเคราะห์สภาพปัญหา เศรษฐกิจจีนที่กำลังถดถอยในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะหดตัวระยะยาวแก่ที่ประชุมสุดยอดผู้ประกอบการเชียนไห่ปี 2023 ณ นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันที่ 20-21 เมษายนศกนี้

โดยชี้ให้เห็นโครงสร้าง ทวิภาคใหม่ทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งประกอบไปด้วยภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับรัฐ (国计) กับภาคการดำรงชีพของประชาชน (民生 ดูแผนภาพด้านบนประกอบ) ต่อจากตอนที่แล้วดังนี้ :

“ส่วนล่างของโครงสร้างที่ว่านี้ (เศรษฐกิจการดำรงชีพของประชาชน) กำลังอยู่ในภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม ส่วนบนของโครงสร้าง (เศรษฐกิจที่เกี่ยวกับรัฐ) กลับมีปริมาณเงินล้นหลาม หากเราใช้ศัพท์แสงว่า ‘เย็น’ กับ ‘ร้อน’ มาบรรยายเศรษฐกิจจีนแล้ว ก็จะเป็นว่าส่วนล่างกำลังเย็นแต่ส่วนบนกำลังร้อน”

โครงสร้างทวิภาคนี้ช่วยอธิบายความสับสนที่เกิดขึ้นว่าทำไมทั้งที่มีปริมาณเงินมหึมา แต่ผู้คนกลับไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย นั่นก็เพราะเงินส่วนใหญ่หมุนเวียนอยู่แต่ภายในวงกลมด้านบนเท่านั้นเอง

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลกับบริษัทต่างๆ มีเงินเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 14 ล้านล้านหยวน (รวมทั้งเงินที่พิมพ์ออกใช้) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ปรากฏว่าเหล่าบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตที่ก้าวหน้าเอาเงินไปราว 70% ของทั้งหมดขณะที่รัฐบาลเอาไป 12.6% เพื่อชำระหนี้เก่าของตัว

เราจึงได้เห็นการเพิ่มปริมาณเงิน M2 (ปริมาณเงินในความหมายกว้าง ดู https://www.investopedia.com/terms/m/m2.asp#toc-understanding-m2) ขนานใหญ่แต่จำกัดอยู่ภายในวงกลมส่วนบนเท่านั้น

กราฟแสดงการเติบโตเปรียบเทียบของจีดีพีจีน (เส้นทึบ) กับรายรับการคลังของรัฐบาลจีน (เส้นประ) จากยุคก่อนปฏิรูป -> ยุคซื้อหาข้าวของเครื่องใช้จำเป็น -> ยุคซื้อสามชิ้นใหญ่ -> ยุคการเคหะและรถยนต์ -> ยุคหลังการจับจ่ายใช้สอย

เราสามารถเรียนรู้ได้สามประเด็นจากข้อมูลนี้ :

1. ภาวะเงินฝืดที่เรารู้สึกไม่ใช่ภาวะเงินฝืดธรรมดาสามัญของเศรษฐกิจปกติ เพราะเรากำลังอยู่ในโครงสร้างทวิภาคทางเศรษฐกิจ

2. วิธีดั้งเดิมในการรับมือภาวะเงินฝืด อาทิ เพิ่มปริมาณเงินหรือลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงอาจใช้การไม่ได้ในกรณีนี้ ปัญหาที่เป็นจริงคือเงินวนติดลูปปิดอยู่ในวงกลมส่วนบนแล้วไม่หมุนวนลงมาในวงกลมส่วนล่าง ผมเรียกสภาพแบบนี้ว่า “ภาวะเงินฝืดแบบชะงักงัน”

3. ถ้าเรามัวเพ่งเล็งรวมศูนย์อยู่แต่กับภาวะเงินฝืด (ที่วงกลมส่วนล่าง) มากเกินไป เราอาจพลัดเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อหรือกระทั่งภาวะชะงักงันพร้อมเงินเฟ้อ (ในวงกลมส่วนบน) ได้

หัวข้อที่สอง : เผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวที่ไม่ใช่ระยะสั้นต่อไปข้างหน้า

แทนที่จะใช้คำว่า “ภาวะเงินฝืด” ผมชอบใช้คำศัพท์ที่กำกวมกว่าว่า “เศรษฐกิจหดตัว” มาบรรยายสภาพเศรษฐกิจจีนอันเนื่องมาจากโครงสร้างทวิภาค

ผมคิดว่าเราจะมีระยะหดตัวทางเศรษฐกิจอยู่พักใหญ่ทีเดียวในหลายปีถัดไปนี้

สาเหตุหนึ่งก็คือยุคสมัยการบริโภคอย่างเป็นเอกภาพขนานใหญ่หมดสิ้นลงแล้วสำหรับจีน

 

เพื่อความเข้าใจ ผมใคร่ชี้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอาจแบ่งแยกออกได้เป็นสี่ขั้นด้วยกัน

ขั้นแรก (ต้นทศวรรษที่ 1980) เป็นขั้นที่ผู้คนซื้อหาข้าวของเครื่องใช้จำเป็นประจำวัน ภายหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม จีนขาดแคลนอุปทานสินค้าจำเป็นประจำวัน ดังนั้น เมื่อเริ่มใช้นโยบายเปิดประเทศ ผู้คนจึงแห่ซื้อสินค้าจำเป็นประจำวันกันระเบิดเถิดเทิงเพื่อไล่ให้ทันกับความต้องการ

ขั้นที่สอง (ปลายทศวรรษที่ 1980) คือขั้นการซื้อ “สามชิ้นใหญ่” ได้แก่ โทรทัศน์สี ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า นี่ขับดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจรอบใหม่ขึ้นในจีน

ถึงปลายทศวรรษที่ 1990 (เมื่อขั้นที่สามเริ่มต้นขึ้น) คนส่วนมากมี “สามชิ้นใหญ่” เรียบร้อยแล้วและอุตสาหกรรมการผลิตผลผลิตพวกนั้นตกลงเหลือแค่ 30% ของสมรรถภาพการผลิตที่มีอยู่

จากนั้นจีนจึงเริ่มการปฏิรูป “ภูเขาใหญ่สามลูก” อันได้แก่ ปฏิรูปการเคหะ การศึกษาและระบบดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อให้คนหันไปใช้เงินของตัวเองในเรื่องเหล่านั้น (ในอดีตรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายเรื่องเหล่านี้ไปทั้งหมด)

เป็นอันว่าจีนเข้าสู่ระยะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการเคหะและรถยนต์ โดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีเป็นเลขสองหลัก

มาบัดนี้ (ขั้นที่สี่) การบริโภคการเคหะและรถยนต์ได้บรรลุขีดจำกัดของมัน ตอนนี้ยุคสมัยการบริโภคอย่างเป็นเอกภาพขนานใหญ่สิ้นสุดลงแล้ว มันหมายความว่าอะไร?

ประการแรก ก่อนหน้านี้มีอุตสาหกรรมนำที่ครองฐานะครอบงำเสมอ ทว่าในอนาคต แม้ยังอาจจะมีอุตสาหกรรมเครื่องร้อนอยู่บ้าง แต่จะไม่มีอุตสาหกรรมใดครองฐานะครอบงำอีกต่อไป

ประการที่สอง ก่อนหน้านี้ตราบใดที่บริษัทหนึ่งจับกระแสได้ (เคลื่อนเข้าสู่อุตสาหกรรมถูกแขนง) มันก็ย่อมทำเงินได้ กรณีจะไม่เป็นเช่นนี้อีกต่อไป

 

บางคนบอกว่าคนจีนชอบอดออมแต่ไม่ใช้จ่ายเงิน ฉะนั้น เราต้องคิดหามาตรการต่างๆ นานาสารพัดมาสร้างความอยากบริโภคและส่งเสริมการใช้จ่าย

ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดข้างต้นนี้ ก่อนหน้านี้คนจีนจะออมเงินอยู่แรมปีเพื่อซื้อโทรทัศน์สีสักเครื่อง หรือซื้อบ้านสักหลังซึ่งแพงกว่ารายได้ต่อปีของพวกเขาหลายสิบเท่าตัว พวกเขาก็ใช้จ่ายมากโขอยู่ไม่ใช่หรือ?

ในทศวรรษที่ 1980 รายรับการคลังของรัฐบาลเติบโตด้วยอัตราต่ำกว่าการเติบโตของจีดีพี มันหมายความว่าสัดส่วนก้อนโตกว่าของการเติบโตของจีดีพีเข้าไปอยู่ในกระเป๋าชาวบ้านซึ่งช่วยขับดันการบริโภคให้รุดหน้าไป

มาภายหลังปรากฏว่าการเติบโตของรายรับการคลังกลับแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าหากรัฐบาลใช้รายรับการคลังที่โตเร็วกว่านั้นมาสร้างระบบป้องกันทางสังคมที่ดี ผู้คนย่อมยังจะเต็มใจใช้จ่ายตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ได้ดึงเอาเงินไปจากประชาชน แต่กลับไม่มีการสร้างเสริมระบบประกันสังคมขึ้นมามากพอ ฉะนั้น ผู้คนจึงยังจะต้องออมเงินไว้เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

(ต่อสัปดาห์หน้า)