อุษาวิถี (39) บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (39)

บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

 

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาตามนัยนี้โดยผิวเผินแล้วเราก็จะพบว่า ไม่ว่าใครจะสังกัดวรรณะหรือชนชั้นใดก็ตาม หากมีสำนึกต่อหน้าที่อย่างจริงจังแล้ว ทุกคนก็คล้ายกับไม่มีความต่างในทางสูงต่ำตามที่ระบบวรรณะและชนชั้นกำหนดให้

เพราะทุกคนสามารถบรรลุซึ่งสันติสุขในเชิงที่เกื้อกูลต่อกันและกัน

เช่น ชนชั้นปกครองจะไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ราษฎรจะไม่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี พ่อจะเป็นผู้นำครอบครัวที่ดี แม่จะเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ลูกจะกตัญญูต่อพ่อแม่ สามีจะไม่นอกใจจากภรรยา และภรรยาจะเป็นแม่บ้านที่ดี ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า สันติสุขที่บังเกิดขึ้นอย่างเสมอกันนี้เป็นไปโดยชนในวรรณะหรือชนชั้นหนึ่งกระทำหน้าที่ต่อชนในอีกวรรณะและชนชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมาจากการที่ชนในวรรณะและชนชั้นเดียวกันกระทำหน้าที่ต่อกันและกันอีกด้วย

ที่สำคัญ การปฏิบัติ “หน้าที่” อย่างเคร่งครัดดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่งจึงคือ การนำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิ” ของแต่ละคนไปด้วย

เช่น ชนชั้นปกครองมีสิทธิที่จะใช้อำนาจ (โดยธรรม) ซึ่งชนชั้นอื่นอาจจะไม่มีหรือมีไม่เท่า ราษฎรมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลูกมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่ หรือพ่อแม่มีสิทธิที่จะได้รับการดูแลที่ดีจากลูกในยามชรา ฯลฯ

ภายใต้สำนึกที่ว่านี้เองที่ทำให้พบต่อไปว่า ไม่ว่าสำนึกในหน้าที่นี้จะดูเป็นอุดมคติ หรือมีผลในทางปฏิบัติอย่างไร สิ่งที่จะเห็นได้ในประการแรกก็คือ ภายในวรรณะหรือชนชั้นที่ทำหน้าที่ต่อกันนี้จะปรากฏคู่ปฏิสัมพันธ์ทั้งในทางปัจเจกหรือทางส่วนรวมเป็นคู่ๆ กันไป

เช่น ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง สามีกับภรรยา พ่อกับแม่ บุพการีกับลูกหลาน พี่กับน้อง หญิงกับชาย เป็นต้น

 

ในประการต่อมา หากกล่าวในทางปัจเจกแล้ว บุคคลหนึ่งคนย่อมสังกัดฐานะได้มากกว่าหนึ่งฐานะขึ้นไป

เช่น ในครอบครัว บุคคลอาจเป็นพ่อหรือแม่เมื่อมีลูกอยู่ด้วยกัน และเมื่อลูกไปโรงเรียนแล้ว พ่อกับแม่ก็จะกลายเป็นสามีกับภรรยา และเมื่อสามีหรือภรรยาออกนอกบ้านไปติดต่องานราชการ ฐานะก็จะกลายเป็นราษฎรที่อยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นผู้ปกครอง ส่วนลูกที่ไปโรงเรียนก็จะเปลี่ยนฐานะกลายเป็นนักเรียน เป็นต้น

จากนี้ไปก็จะพบว่า คู่ปฏิสัมพันธ์ข้างต้นที่ดูเหมือนมีความเสมอภาคภายใต้สำนึกในหน้าที่นี้ ลึกลงไปในความเป็นจริงแล้วจะไม่เสมอภาคกันอย่างแท้จริง

เพราะในทางปฏิบัติแล้ว ทั้งศาสนาพราหมณ์และลัทธิขงจื่อต่างก็กำหนดให้มีฝ่ายหนึ่งในคู่ปฏิสัมพันธ์มีฐานะที่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ

กล่าวอีกอย่างคือ มีฝ่ายหนึ่งที่ต้อง “ขึ้นต่อ” กับอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ราษฎรขึ้นต่อชนชั้นปกครอง ขุนนางผู้น้อยขึ้นต่อขุนนางผู้ใหญ่ ภรรยาขึ้นต่อสามี ลูกขึ้นต่อพ่อแม่ นักเรียนขึ้นต่อครู น้องขึ้นต่อพี่ หญิงขึ้นต่อชาย ลูกจ้างขึ้นต่อนายจ้าง ฯลฯ

ภาวะเช่นนี้แท้ที่จริงแล้วก็คือ ภาวะการดำรงอยู่ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ โดยที่ฐานะของบุคคลสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งฐานะ ดังนั้น เมื่อกาลเทศะเปลี่ยนไป ฐานะของผู้ถูกกระทำก็เปลี่ยนไปเป็นผู้กระทำได้ด้วยเช่นกัน

ภาวะเช่นนี้จึงเป็นภาวะที่ไม่อาจปฏิเสธได้สำหรับศาสนาพราหมณ์และลัทธิขงจื่อ เพราะทั้งสองหลักคิดนี้เชื่อว่า ภาวะดังกล่าวจะถูกกำกับด้วยจริยธรมที่แสดงผ่านขนบจารีตอีกชั้นหนึ่งอย่างเคร่งครัด

ศาสนาพราหมณ์และลัทธิขงจื่อจึงสนับสนุนส่งเสริมเรื่องสำนึกในหน้าที่ ที่แต่ละคนของแต่ละวรรณะและชนชั้นพึงถือปฏิบัติ และยืนยันว่า คู่ปฏิสัมพันธ์ภายใต้ภาวะที่มีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอยู่ในส่วนต่างๆ ของสังคมนั้น เป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

และทั้งหมดนี้จะดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างของสถาบันทางการเมืองทุกระดับ

เหตุฉะนั้น หากสถาบันทางการเมืองดำรงอยู่ได้ก็แสดงว่า คู่ปฏิสัมพันธ์ได้ทำ “หน้าที่” ของตนอย่างถูกต้อง และพึงได้รับ “สิทธิ” จากสิ่งที่ตนได้ทำไปอย่างเหมาะสมแล้วนั้นเอง

และหากเป็นไปในทางตรงกันข้าม สถาบันการเมืองก็จะล่มสลาย

ประเด็นสำคัญก็คือว่า เงื่อนปัจจัยด้านสถาบันการเมืองดังที่กล่าวมานี้เมื่อตั้งยืนอยู่ในอินเดียและจีนได้ ก็กลายเป็นเงื่อนปัจจัยที่มีผลในทางปฏิบัติสืบเนื่องมายาวนาน

และแม้จะมีการปรับเปลี่ยนท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของโลกบ้างก็ตาม แต่ลึกลงไปแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก

ในแง่นี้จึงเท่ากับว่า เงื่อนปัจจัยนี้ได้กลายเป็นสำนึกทางการเมืองของคนในสองแผ่นดินนี้ และที่ซึ่งต่อมายังได้ขยายไปยังที่อื่นๆ อีกด้วย

 

ข. 2 สถาบันทางวัฒนธรรม

โดยทั่วไปแล้ววัฒนธรรมมีนิยามที่หลากหลาย แต่การศึกษาในที่นี้เลือกที่จะใช้นิยามที่ว่า คือแบบแผนของพฤติกรรม ความเชื่อ รสนิยม และค่านิยม

ฉะนั้น พฤติกรรมต่างๆ ของบุคคลตามแบบแผนดังกล่าว จึงมิใช่สิ่งที่ต่างคนต่างคิดและต่างกระทำขึ้นมาเองทั้งหมดตามใจชอบ ในขณะเดียวกัน แบบแผนเหล่านี้ก็เป็นเครื่องมือของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอีกด้วย

ทั้งนี้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นสิ่งจำเป็น แบบแผนของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมจึงเกิดขึ้นเพื่อจรรโลงสังคมนั้นเอาไว้

และแบบแผนของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนี้ก็คือ วัฒนธรรม ซึ่งก็คือระบบความสัมพันธ์ของบุคคลกับบุคคล และบุคคลกับธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ บุคคลเกิดมาก็จะถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรม

เหตุฉะนั้น จึงมีผู้กล่าวว่า เราทุกคนขีดเส้นชีวิตของเราได้ในระดับหนึ่ง แต่ขีดทั้งหมดตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตนั้น วัฒนธรรมได้ขีดไว้ให้แล้ว

เมื่อวัฒนธรรมคือแบบแผนของความสัมพันธ์ทางสังคมเช่นนี้ วัฒนธรรมจึงต้องมีสถาบันทางสังคมเข้ามาจัดระบบความสัมพันธ์ที่ว่า

และสถาบันทางการเมืองก็เป็นหนึ่งในสถาบันนั้น