‘นายกฯ ก็ตั้ง-ทักษิณก็กลับ’ ต้นสิงหาคมร้อนฉ่า | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องเลื่อนมาโหวตในเดือนสิงหาคม เนื่องจากการเลื่อนประชุมวันที่ 27 กรกฎาคม ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ รอคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งเรื่องให้พิจารณา ปมมติสภาเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ครั้งที่ 2 เป็นการยื่นญัตติซ้ำ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยพ่วงให้มีคำสั่งชะลอการโหวตนายกฯ คนใหม่ไปก่อนอีกด้วย

อีกเหตุผลคือ ภายในพรรคเพื่อไทยเอง มีการสะกิดเตือนให้กระบวนการดึงเสียง ส.ว. และ ส.ส.มาเพิ่ม เพื่อโหวตนายกฯ คนใหม่ ต้องนุ่มนวล รอบคอบ และละเอียดมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเกิดภาพทำอย่างเร่งร้อนบุ่มบ่าม

เหมือนจะเร่งเอา 5 พรรค ที่นัดพูดคุยเข้ามาร่วมรัฐบาลแน่ๆ และเตรียมผลักไสพรรคก้าวไกลออกไปแล้วแน่ๆ จนทำให้เกิดปฏิกิริยาจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ว่าเพื่อไทยกำลังละทิ้งหลักการพรรคประชาธิปไตย

จะไปดึงพรรคขั้วเดิมเข้ามากันหมด ไม่ว่าจะเป็น ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา

โดยเฉพาะคำว่าพรรคลุงๆ เป็นประเด็นปัญหาต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก

จึงต้องการให้คณะพูดคุยเจรจาปรับเปลี่ยนท่าที ไม่ต้องการให้เกิดภาพว่า ทั้ง 5 พรรคที่นัดพูดคุย เข้าร่วมรัฐบาลทั้งหมด และมีท่าทีถนอมรักพรรคก้าวไกลมากกว่านี้ ต้องนำเสียงของพรรคต่างๆ ดังกล่าว มาพูดคุยให้ก้าวไกลรับไปพิจารณา ร่วมกันหาทางออก

เพื่อให้สุดท้าย หากสถานะของพรรคก้าวไกลจะออกมาด้านไหน ต้องเป็นไปอย่างมิตรภาพ ให้เกียรติกัน เนื่องจากในสายตาประชาชน พรรคอันดับ 1 จากการลงคะแนนของประชาชน ไม่ควรโดนกระทำเช่นนี้

นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเลื่อนการโหวตนายกฯ วันที่ 27 กรกฎาคม ออกไป

นอกเหนือจากเหตุผลรอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่าจะ รับคำร้องดังกล่าวหรือไม่ จะมีคำสั่งชะลอการโหวตนายกฯ หรือไม่

ขณะเดียวกัน ดูเหมือนสูตรการจัดขั้วรัฐบาลใหม่ของเพื่อไทย เพื่อเป้าหมายให้ได้เสียง ส.ว. และ ส.ส.มาเติม เพื่อให้ชื่อของเศรษฐา ทวีสิน ผ่านการโหวตเป็นนายกฯ คนใหม่อย่างราบรื่นนั้น

น่าเชื่อว่าสุดท้ายจะไม่ใช่การรับพรรคการเมืองจากขั้วเดิมมาทั้งหมด มีการกลั่นกรองรับเข้ามาเฉพาะบางพรรค ที่ไม่ขัดสายตาประชาชนคนเลือกตั้งมากเกินไป!!

 

พร้อมๆ กัน สถานการณ์การเมืองต้นเดือนสิงหาคม เริ่มคึกคักเร้าใจมากขึ้นไปอีก เมื่ออุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ออกมายืนยันแล้วว่า ทักษิณ ชินวัตร จะกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคม โดยบินมาลงที่สนามบินดอนเมือง

ฝ่ายตำรวจก็ต้องเตรียมพร้อมทันที เตรียมเส้นทางรับตัวจากสนามบินไปยังศาลเพื่อรับหมายขัง แล้วส่งเข้าเรือนจำ

ฝ่ายกรมราชทัณฑ์ก็จัดเตรียมเรือนจำห้องขังไว้รอรับ

เป็นอันว่าชัดเจนเสียที สำหรับคำประกาศจะเดินทางกลับไปเพื่อมาเลี้ยงหลานของทักษิณ โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยระบุวันเวลาที่แน่นอน มาหนนี้อุ๊งอิ๊งยืนยันเอง จึงไม่ต้องสงสัยอะไรกันอีก

คำถามก็คือ การเลือกวันที่ 10 สิงหาคมนั้น กำหนดจากอะไร

เป็นที่รู้กันว่า สถานการณ์บ้านเมืองหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม มีช่องทางบางอย่างที่ทำให้ทักษิณได้รับสัญญาณดี สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ หลังจากรอคอยมานาน และต้องลี้ภัยไปต่างแดนถึง 17 ปี

แต่การเดินทางกลับ จะต้องรอให้การตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะมีพรรคเพื่อไทยร่วมด้วย เสร็จสิ้นเสียก่อน เพื่อไม่ให้การกลับของทักษิณ มาเป็นภาระของเพื่อไทย

จำเป็นอย่างยิ่งต้องกลับในช่วงที่ยังเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการอยู่ เพื่อให้หมดข้อครหาว่า กลับได้เพราะเพื่อไทยมีอำนาจ แต่เป็นการกลับในยุคประยุทธ์ ซึ่งจะต้องมาเข้ากระบวนการยุติธรรม ต้องเข้าคุมขังในเรือนจำ

พูดง่ายๆ ว่า ต้องกลับเมื่อตั้งนายกฯ ใหม่แล้ว แต่ต้องเป็นช่วงก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเข้าบริหาร ต้องเป็นช่วงที่ประยุทธ์ยังคุมอำนาจอยู่ จะได้หมดข้อสงสัยต่างๆ อย่างสิ้นเชิง

เป็นไปได้ว่า คงคำนวณแล้วว่า การตั้งนายกฯ คนใหม่ซึ่งจะเป็นแคนดิเดตของเพื่อไทยอีกด้วย ต้องเสร็จก่อน 10 สิงหาคม

แต่ถ้าหากกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญทำให้การกำหนดวันโหวตนายกฯ ล่าช้าเกินกว่า 10 สิงหาคม ก็น่าจะมีการขยับวันกลับของทักษิณออกไปอีกสักหน่อย ถึงอย่างไรก็ต้องรอให้โหวตนายกฯ เสร็จ

อีกทั้งการกำหนดวันแบบไม่เกินครึ่งเดือนสิงหาคม อาจจะบ่งบอกถึงความมั่นใจว่า โหวตนายกฯ ใหม่เสร็จ สถานการณ์จะราบรื่นแน่นอน

นั่นก็หมายความว่า สูตรรัฐบาลใหม่ที่เพื่อไทยเป็นแกนนำ จะต้องจัดออกมาอย่างน่าพึงพอใจของทั้งฝ่ายประชาชน ฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายอนุรักษนิยม

ต้องไม่ใช่บรรยากาศเหมือนที่ถูกประชาชนวิจารณ์และต่อต้านอื้ออึง ในช่วงที่พบปะกับ 5 พรรคขั้วเก่า

 

สถานการณ์ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ที่จะต้องจับตากันอันดับแรกก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเช่นไร ต่อคำร้องเรื่องการโหวตพิธารอบ 2 ที่ฝ่าย ส.ว.อ้างว่าเป็นญัตติซ้ำ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถัดจากนั้นก็จะนำมาสู่การกำหนดวันโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งคงเป็นชื่อของนายเศรษฐา พรรคเพื่อไทย

จะโหวตผ่านหรือไม่ ซึ่งถ้าหากยังยึดกติกาที่ ส.ว.วางเอาไว้ว่า โหวตได้ครั้งเดียว ก็หมายความว่าก่อนจะถึงวันประชุมเพื่อลงมติเห็นชอบนายเศรษฐาหรือไม่ จะต้องผ่านการรวบรวมเสียงให้ได้อย่างครบถ้วนมั่นใจได้

แต่แรงต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองและ ส.ว. ต่อนายเศรษฐาและเพื่อไทย เป็นคนละระดับกับแรงต้านนายพิธาและก้าวไกลอย่างแน่นอน

เพียงแต่การดึงเสียงจาก ส.ว.และจาก ส.ส.พรรคอื่นๆ นั้น ติดเงื่อนไขชัดเจนคือ ไม่เอาพรรคก้าวไกล

พรรคเพื่อไทยจะต้องคลายปมเงื่อนนี้ให้ได้ และต้องทำอย่างนุ่มนวลรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมจนเกิดกระแสต่อต้านรุนแรงจากประชาชน

ท่าทีต่อพรรคก้าวไกลที่มีประชาชนถึง 14 ล้านเสียงเลือกเข้ามา จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

ความผิดพลาดในช่วงที่เปิดพูดคุยกับพรรคขั้วเก่า 5 พรรค จนโดนม็อบบุกมาถึงพรรคเพื่อไทย จะต้องเป็นบทเรียน และจะต้องคลี่คลายภาพความขัดแย้งและผลักไสพรรคก้าวไกลให้ได้

สุดท้ายถ้าพรรคก้าวไกลจะต้องวางตัวอยู่ด้านไหนในยุครัฐบาลใหม่ ก็ต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของก้าวไกลด้วย

รวมทั้งต้องหาเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาเติมให้ได้ หมายถึงการเพิ่มพรรคเข้ามาในสูตรรัฐบาล ก็ต้องไม่ใช่พรรคที่ประชาชนร้องยี้อย่างอื้ออึง

เท่ากับการจัดสูตรรัฐบาลใหม่ จะต้องนุ่มนวลที่สุด คลาสสิคที่สุด

ที่สำคัญต้องทำให้ก้าวไกลรู้สึกดีที่สุด เพราะจะส่งผลต่อมวลชนกว่า 14 ล้าน และประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

ไม่เช่นนั้นการโหวตนายเศรษฐาและการตั้งรัฐบาลใหม่คงไม่ราบรื่นแน่นอน

แต่ก็นั่นแหละ เมื่อทักษิณเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า กำหนดวันกลับไทยเช่นนี้แล้ว อาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าทุกอย่างลงตัวแล้วก็ได้