ภาคธุรกิจอึดอัด ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อกว่าที่คิด หวั่นลงทุนสะดุด งบฯ รัฐชะงัก

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ยังมีการ “เปลี่ยนสูตร” อยู่ตลอดเวลา ทำท่าว่าจะยืดเยื้อไปมากกว่าที่คาดการณ์กัน

ล่าสุด การโหวตนายกรัฐมนตรี “รอบที่ 3” ในวันที่ 27 กรกฎาคม ก็มีอันต้องเลื่อนออกไป เพื่อรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ทำให้บรรดาภาคธุรกิจเริ่มไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไปต่ออย่างไร

เพราะทุกอย่างยังคงไม่ชัดเจนไปหมด

ซึ่งขณะนี้นอกจากการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องแล้ว กำลังซื้อในประเทศก็เริ่มแย่ลง

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้ วิเคราะห์ได้ 2 กรณีที่อาจจะเกิดขึ้น คือ

1) กรณี ส.ว.ยืนยันไม่โหวตหากมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ทั้ง 8 พรรคร่วมเดิมยังจับมือเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแทน ก็จะต้องมาพิจารณาว่า สมาชิกรัฐสภาจะให้การสนับสนุนถึง 375 เสียงได้หรือไม่

2) กรณีทั้ง 8 พรรคร่วมสลายขั้ว เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยเป็นอิสระในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใดก็ได้ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขนี้ต้องเป็นไปตามความตกลงของ 8 พรรคร่วม โดยหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จก็จะได้คนที่มีประสบการณ์เข้ามาขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็มีคณะทำงานในด้านนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี การคัดสรรชื่อต้องเป็นที่ยอมรับในทางรัฐสภา ซึ่งโอกาสในการได้รัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคม หรือช้าสุดในเดือนกันยายน

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยพลิกกลับมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะเดินตามนโยบายช่วงที่หาเสียงไว้ โดยจะเน้นไปที่รากหญ้าและ SMEs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แต่อาจจะยกเว้นไม่ดำเนินโครงการที่ใช้จ่ายเงินเยอะ อย่างเช่น ดิจิทัล wallet

และน่าจะไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใดๆ มากนัก โดยพรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายสุดโต่งเหมือนพรรคก้าวไกล

 

นายวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่และโฟรเซนโด (Dough) รายใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้แบรนด์ศรีฟ้าและสุธีรา กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชน การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี พรรคที่ได้เสียงข้างมากควรได้เข้าไปบริหารประเทศ พรรคที่มีเสียงข้างน้อยก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เป็นไปตามหลักสากล

แต่ปัจจุบันการจัดตั้งรัฐบาลไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสงบของประเทศ เกิดการไม่ยอมรับ ทั้งการสลับขั้วการเมืองเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก ก็ไม่อยากให้เกิดตุลาการภิวัฒน์อีก และควรสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคม

หากผู้มีอำนาจเดิมยังไม่ปล่อยให้เป็นไปตามครรลองคลองธรรมหรือความถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ก็จะส่งผลให้บ้านเมืองวุ่นวาย เศรษฐกิจแย่ นักลงทุนต่างชาติมีความลังเล เกิดความไม่เชื่อมั่น เพราะกฎหมายประเทศไทยบิดไปบิดมา ซึ่งมองว่าประเทศไทยจะไม่ต่างจากประเทศเมียนมา ปัจจุบันมองว่า เป็นการดึงเศรษฐกิจไทยให้ถอยหลังหรือแช่แข็งอยู่กับที่

“การจัดตั้งรัฐบาลก็อยากจะให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด เพราะนักธุรกิจจะมีความมั่นใจในเรื่องของการลงทุนมากที่สุด ถ้าเกิดการลงทุนจะมีการจ้างงาน เกิดการผลิต แต่หากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ นักลงทุนต่างชาติก็มองอยู่ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป นักลงทุนใหม่ไม่มาไม่เป็นไร แต่เกรงว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่เขามีความมั่นใจมากกว่านี้ อาทิ เวียดนามและกัมพูชา”

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า จากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล จนยังไม่รู้ว่าพรรคไหน หรือใคร จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน เพราะนอกจากรัฐบาลจะเกียร์ว่างแล้ว ภาคเอกชนก็เกียร์ว่างไปด้วย คนที่จะลงทุนก็ไม่กล้าตัดสินใจลงทุนกัน ดังนั้น ยิ่งสถานการณ์ลากยาวออกไปมากเท่าไหร่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะชะลอ เศรษฐกิจก็จะมีปัญหา

“รัฐบาลที่จะตั้งใหม่นี้คงคาดเดาได้เลยว่า อยู่ไม่ยาว เพราะมันกลายเป็นรัฐบาลผสม แบบผสมเยอะด้วย แล้วแบบนี้นโยบายของรัฐบาลหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ยังไม่มีใครรู้ ดังนั้น ปัจจัยการเมืองกับนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนเป็นเรื่องใหญ่”

นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลที่มีการหักดิบและมีการแทรกแซงอะไรกันต่างๆ อาจจะทำให้เห็น “การประท้วง” ซึ่งจะยิ่งทำให้ชีวิตรัฐบาลใหม่นั้นสั้นลงไปอีก เพราะแรงกดดันจะมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น นอกจากจะกระทบความเชื่อมั่นแล้วก็จะกระทบภาคการท่องเที่ยวด้วย

“สมมุติว่าถ้าเกิดมีม็อบทุกวัน แบบนี้นักท่องเที่ยวที่เคยคิดว่าจะมาเมืองไทย เจอแบบนี้ก็ไม่มา ซึ่งผมห่วง 2 เรื่องนี้ คือ เรื่องการตัดสินใจลงทุน การลงทุนเอกชน แล้วก็ความเชื่อมั่นที่จะกระทบถึงการท่องเที่ยวได้ เพราะนี่เป็นเครื่องจักรเครื่องสุดท้ายของเศรษฐกิจไทยแล้ว”

 

ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า กรณีหากตั้งรัฐบาลใหม่ต้องล่าช้าไปถึง 10 เดือนนั้น ซึ่งระหว่างนั้นจะต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการนั้น จะกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการจัดทำงบประมาณ และการทำงบประมาณการลงทุนที่ไม่สามารถทำได้ในส่วนที่เป็นงบฯ ลงทุนใหม่

“หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไปกว่า 10 เดือน จะกระทบกับการจัดทำงบประมาณถึง 3 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2569 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะปกติการจัดทำงบประมาณจะล่าช้าไปไม่กี่เดือนเท่านั้น”

นายดนุชากล่าวว่า สศช.ได้ประเมินวงเงินที่จะลงไปในระบบเศรษฐกิจเฉพาะ 2 ไตรมาสหลังจากที่หมดปีงบประมาณ 2566 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่มีเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ใช้งบประมาณไปพลางก่อนประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท โดยเป็นวงเงินจากภาครัฐ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากการเบิกจ่ายงบฯ ประจำ และงบฯ ลงทุนที่มีการผูกพันไว้แล้ว

ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทเป็นเม็ดเงินที่มาจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

ซึ่งหากการจัดทำงบประมาณล่าช้าออกไปก็ต้องดูว่าจะมีเม็ดเงินจากรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนได้เพิ่มหรือไม่ ส่วนเม็ดเงินการลงทุนจากภาครัฐที่เป็นรายการใหม่นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะต้องมาจากรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

นายดนุชากล่าวอีกว่า นอกจากการจัดทำงบประมาณและการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนที่ล่าช้า อีกส่วนที่จะกระทบก็คือการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ (FTA) รวมทั้งความตกลงต่างๆ ที่มีการเจรจาหารือกับต่างประเทศไว้แล้วต้องการการลงนามในสัญญาที่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการนั้นจะไม่สามารถขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เป็น ครม.รักษาการได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะกระทบการค้า การลงทุนซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่ควรจะได้รับด้วย

นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อยเลยทีเดียว หากการจัดตั้งรัฐบาลต้องยืดเยื้อออกไป เพราะยิ่งนาน ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น