ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ระยะเวลาผ่านมากว่า 2 เดือนครึ่ง แต่ประเทศไทยกลับยังไร้วี่แววเห็นโฉม “รัฐบาลชุดใหม่” ว่าสุดท้ายแล้วจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
แม้ผลคะแนนการเลือกตั้ง ประชาชนจะเทเสียงโหวตเลือกพรรค “ก้าวไกล” มาเป็นอันดับหนึ่ง กวาด ส.ส.ไป 151 ที่นั่ง จนสามารถเป็นแกนนำ พร้อมดึงอีก 7 พรรคการเมืองมาลงเอ็มโอยูเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง
แต่ทว่าการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วม กลับมีอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล
ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเงื่อนไขร้อนและเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไม่สามารถฝ่าด่านสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อนั่งเก้าอี้เป็นนายกรัฐมนตรีได้
โดยการลงคะแนนเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ในการประชุมร่วมของรัฐสภา ปรากฏว่า “พิธา” ได้รับเสียงโหวตเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง แบ่งเป็นเสียง ส.ส. 311 เสียง ทั้งหมดล้วนมาจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาลแบบไม่มีแตกแถว ขณะที่ ส.ว.ได้รับเพียง 13 เสียงเท่านั้น เท่ากับว่าคะแนนที่ได้นั้นไม่ถึงเป้าหมาย
แม้รอบแรกจะพ่ายแพ้ไป แต่มติ 8 พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเดินหน้าส่งชื่อ ” พิธา” ลงชิงเก้าอี้นายกฯ ในรอบ 2 อีกครั้ง ซึ่งก่อนการโหวต “พิธา” ก็ออกมาประกาศขอสู้ต่อ แต่หากท้ายที่สุด มีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ พร้อมที่จะถอยให้พรรคอันดับ 2 คือพรรคเพื่อไทย (พท.) ก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล
ทว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบสอง กลับมีการหยิบเอาประเด็น ‘ข้อบังคับการประชุมที่ 41’ ว่าการเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการโหวตนายกฯ รอบ 2 เป็นญัตติซ้ำ เป็นมติต้องห้าม ผิดข้อบังคับการประชุมสภาที่ 41 ส่งผลทำให้ญัตติต้องตกไป
ดาบสองฟันซ้ำอีก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น
พร้อมกับมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
แน่นอนว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีรอบสอง สะท้อนว่าทั้ง ส.ว. ส.ส.ขั้วรัฐบาลเดิมต่างไม่ยอมรับพรรคก้าวไกล ฉะนั้น เมื่อก้าวไกลไม่สามารถผลักดันให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ต่อไปได้ จึงส่งไม้ต่อเปิดทางและโอกาสให้พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย
ภายหลัง “เพื่อไทย” รับไม้ต่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีความเห็นว่าภายใต้ข้อตกลงของ 8 พรรคการเมืองเดิม ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่เห็นชอบ เนื่องจากมีเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่งผลให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงมีความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติม ให้ได้เสียงเกินกว่า 375 เสียง เพื่อจะได้ผ่านด่านไปจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ ตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ “ปาร์ตี้มิ้นต์ช็อก” 5 พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย ภูมิใจไทย ชาติพัฒนากล้า รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา ต่างตบเท้าหารือกับ “เพื่อไทย” ร่วมหาทางออกในการจัดตั้งรัฐบาลและหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมในการโหวตนายกรัฐมนตรี ผ่านปฏิบัติการผสมข้ามขั้ว 188 เสียง
แน่นอนว่าภายหลังการเจรจา ทุกพรรคล้วนต่างแสดงจุดยืนทำนองทิศทางเดียวกันว่ายินดีร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย
แต่ไม่สามารถร่วมงานกับพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้
ยิ่งไปกว่านั้น เช้าวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิด 74 ปีของ “เสี่ยแม้ว” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ สร้างความเซอร์ไพรส์ด้วยการออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เนื้อหานอกจากเป็นการอวยพรวันเกิดและบอกรักคุณพ่อแล้ว ประเด็นสำคัญที่สุดคือการประกาศกลับประเทศไทยในรอบ 17 ปีของ “ทักษิณ” ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่สนามบินดอนเมือง
ทั้งนี้ หากย้อนไทม์ไลน์ จะเห็นได้ชัดเจนว่า กระแสของ “ทักษิณ” ปีนี้ มีความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข่าวการกลับประเทศ ซึ่งเคยประกาศว่าจะกลับก่อนวันเกิด แต่ข่าวก็เงียบหายไป จนกระทั่ง “อุ๊งอิ๊ง” บุตรสาวคนเล็ก ได้ออกมาประกาศวันกลับที่ชัดเจนในวันเกิดของบิดาตัวเอง
อย่างไรก็ตาม จังหวะการประกาศกลับประเทศของอดีตนายกฯ คนดัง ถูกโยงเข้ากับสถานการณ์หลังจากที่ “เพื่อไทย” ได้รับไม้ต่อจาก “ก้าวไกล” ให้ทำหน้าที่เป็นแกนนำรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับกระแสข่าว “ดีลลับ สลับขั้ว” เกิดขึ้นแบบรายวัน ทั้ง “ดีลลับลังกาวี” กับกลุ่มอำนาจปัจจุบัน
โดยเฉพาะข่าวลือกลุ่มขั้วอำนาจเก่าบินไปเจรจาต่อรองกับ “ทักษิณ” ผ่าน “ดีลลับฮ่องกง” กอปรกระแสข่าวด้วยว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญของพรรคก้าวไกล เดินทางไปพบ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเจรจาต่อรองเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลที่ฮ่องกง
ผ่านข้อเสนอลดเพดานการแก้ไขมาตรา 112 ในช่วง 4 ปีของพรรค ก.ก. เพื่อจะได้เข้าร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของพรรค พท. แลกกับการได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตเลือกนายกฯ ของพรรค พท.
ฉะนั้น โจทย์การเมืองนับจากนี้ไป จึงมีความสำคัญยิ่ง แม้แกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาคอนเฟิร์มว่า การกลับประเทศของอดีตนายกฯ ไม่ใช่ตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม
แต่การเมืองเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรแน่นอนเสมอไป เพราะเมื่อได้รับภารกิจตั้งรัฐบาล “เพื่อไทย” ต้องแสวงหาเสียงสนับสนุนการโหวตนายกรัฐมนตรี แบบลงมติครั้งเดียวผ่านฉลุย ไม่มีโอกาสให้แก้ตัวในครั้งที่สอง
จึงมีการคาดการณ์กันว่าโอกาสที่เพื่อไทยจะสลายแล้วหันไปจับมือกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเพื่อตั้งรัฐบาล ก็มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง ภายใต้สูตร “ข้ามขั้ว”
ฉะนั้น หากเพื่อไทยพลิกสูตรข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาล โอกาสที่ “ก้าวไกล” ซึ่งเป็นพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่ง ท้ายที่สุดหากไม่ยอมลดเงื่อนไข ที่ได้ประกาศเป็นจุดยืนและจุดขายต่อผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลไปแล้ว อาจจะถูกผลักไปทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาแทนก็เป็นได้
ขณะที่เพื่อไทยก็จะข้ามขั้วไปจับมือกับพรรครัฐบาลเดิม เดินหน้าสู่ทำเนียบ ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร ก็มีแนวโน้มจะกลับบ้านอย่างราบรื่น ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเป็นไปตาม ‘ดีลลับ’ การเมืองที่ไม่มีใครยืนยัน แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธ?!?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022