ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น
รัฐบาลใหม่ไทยกับวิกฤตพม่า
เมื่อคุณดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศบอกว่าได้พบกับออง ซาน ซูจี ที่พม่า แต่ไม่มีรายละเอียดว่าจะนำไปสู่การเจรจาระหว่างฝ่ายทหารและพลเรือนหรือไม่ ก็แปลว่ายังไม่มีอะไรคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม
บทบาทของไทยในวิกฤตจึงยังน่าคลางแคลงว่าจะนำไปสู่ความคืบหน้าในการทำตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนหรือไม่
ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่าเราจะเป็นผู้ “ประสาน” ระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับอาเซียน
หรือจะกลายเป็น “ปัจจัยที่ทำให้อาเซียนปริแยก” มากขึ้นหรือไม่
และรัฐบาลไทยชุดนี้จะส่งเรื่องนี้ต่อให้กับรัฐบาลชุดใหม่อย่างไรจึงจะมีความต่อเนื่อง
เพราะต้องยอมรับว่ากรณีพม่านี้ ทำให้อาเซียนบางประเทศเกิดความคลางแคลงเกี่ยวกับบทบาทของไทยพอสมควร
จำเป็นที่ไทยจะต้องประเมินบทบาทในเรื่องนี้เพื่อผนึกกำลังอาเซียนให้เหนียวแน่น
และกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าต้องยอมเดินตามแนวทางของอาเซียน
ไม่ใช่ทิศทางที่ทำให้ไทยถูกเพื่อนอาเซียนมองว่าเราถูกพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับอาเซียนอย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้
เพราะแม้คุณดอนจะอ้างว่าการได้พบกับออง ซาน ซูจี ด้วยความกรุณาของรัฐบาลทหารพม่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะสามารถหลุดพ้นจากข้อหาและคำสั่งของศาลทหารให้จำคุกรวมแล้วถึง 33 ปี
เพราะแม้แต่ลูกชายของเธอที่เพิ่งจะเรียกร้องอย่างเปิดเผยผ่านวิดีโอคลิปเนื่องในโอกาสวันเกิดของแม่ ให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยเธอ ก็ยังไม่ได้ผลอะไรเลยแม้แต่น้อย
ถ้าคนในครอบครัวของเธอเรียกร้องถึงขนาดนี้แล้ว รัฐบาลทหารพม่ายังนิ่งเฉย ก็น่าสงสัยว่าคุณดอนจะสามารถน้าวโน้มให้มิน อ่อง ลาย ผ่อนคลายการคุกคามต่อเธอและประชาชนคนพม่าจำนวนมากที่กำลังถูกปราบปรามอย่างหนักได้อย่างไร
ออง ซาน ซูจี มีอายุครบ 78 ปีวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ลูกชายคนเล็กของเธอเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนการปล่อยตัวเธอมากขึ้น
Kim Aris ใช้ชีวิตอยู่ในสหราชอาณาจักร ก่อนถึงวันเกิดแม่ของเขา เขาปล่อยวิดีโอข้อความผ่านสำนักข่าวอิสระในเมียนมา
ในคลิปนั้น คิม อะริส กล่าวว่า “นี่เป็นข้อเรียกร้องประการแรกต่อกองทัพพม่าให้ปล่อยตัวแม่ของผมและนักโทษการเมืองทั้งหมด และให้ยอมหยุดยิงในขณะที่เปิดการเจรจาเพื่อมอบอำนาจคืนให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย”
ออง ซาน ซูจี ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564
คิม อะริส บอกว่าเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พบเธอและยังไม่มีการบอกว่าเธอถูกกักตัวไว้ที่ไหนและภายใต้เงื่อนไขใด
คิมบอกว่าเขาเคยใช้ชีวิตวัยเด็กที่ญี่ปุ่นและอินเดียซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย
โดยเฉพาะอินเดียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลกกลับมีบทบาทสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า
“เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่ประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นและอินเดีย ซึ่งควรจะเป็นประชาธิปไตยที่สำคัญของโลกกลับมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล…”
คิมเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศใช้ “แรงกดดันอย่างมีประสิทธิภาพ” ต่อรัฐบาลทหาพม่าเพื่อยุติสิ่งที่เขาเรียกว่า “การปฏิบัติที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมต่อประชาชนของตน”
หากรัฐบาลทหารพม่าจะจริงใจกับรัฐบาลไทยที่อุตส่าห์เปลืองตัวปกป้องพวกเขาจนเพื่อนเราในอาเซียนมีความระแวงเรา ก็ควรจะต้องทำให้มีความคืบหน้าในการสร้างสันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม
แต่เปล่าเลย
มิน อ่อง ลาย อาจจะให้คุณดอนพบออง ซาน ซูจี เพื่อเอาใจรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยเพื่อจะได้ใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง
แต่ผลที่ตามมานั้นทำให้ไทยเราถูกมองในแง่ลบจากคนพม่าที่กำลังถูกปราบปรามอย่างหนักเพราะยังเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไม่เกรงกลัวกระสุนและอำนาจของรัฐบาลทหารพม่า
หลังจากคุณดอนแจ้งกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าได้พบออง ซาน ซูจี รัฐบาลเงาของพม่า หรือ National Unity Government (NUG) ออกมาวิจารณ์ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไทยเล่นเกมการเมือง
แถลงการณ์ของ “รัฐบาลคู่ขนาน” ของพม่านี้ท้าว่าถ้าคุณดอนบริสุทธิ์ใจจริง ต้องเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองกว่าหมื่นชีวิต
แถมยังจี้ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ประชุมที่กรุงจาการ์ตาเมื่อเร็วๆ นี้ให้ซักถามพฤติกรรมของไทยในกรณีนี้
ด้วยคำถามว่าทำไมจึงปล่อยให้รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่กำลังจะลงจากอำนาจเข้ามาแทรกแซงในเรื่องที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศพม่าเช่นนี้
นอกจากนี้ กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ายังขอให้คุณดอนแสดงหลักฐานชัดๆ ว่าได้พบออง ซาน ซูจี จริงหรือไม่อย่างไร
เพราะการจะสร้างความน่าเชื่อถือได้นั้น คุณดอนจะต้องนำเสนอเนื้อหาสาระของการพบปะกับผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยของเขา
และต้องแจ้งกับชาวโลกด้วยว่า ออง ซาน ซูจี ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าทำอะไรเพื่อประชาชนคนพม่าที่รอคอยให้บ้านเมืองกลับไปสู่การเลือกตั้งที่สะท้อนถึงความมีสิทธิมีเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
“ถ้อยแถลงของนายดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเกี่ยวกับนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เป็นกลยุทธ์ทางการเมือง” นายจอ ซอ โฆษกรัฐบาล NUG กล่าวในแถลงการณ์ฉบับนั้น
ซ้ำร้าย ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่ายังบอกว่าความเคลื่อนไหวของคุณดอนยังเป็นเสมือนกับ “การเหยียบย่ำนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง”
คุณดอนถูกมองว่าทั้งหมดนี้เป็นแค่ “ยุทธวิธีทางการเมือง” ที่รัฐบาลทหารพม่ากระทำกับรักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยเท่านั้น
เขาเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น “ความพยายามที่ไม่สุจริตใจ”
“NUG สนับสนุนให้ประเทศในอาเซียนในการช่วยเหลือปัญหาเมียนมา โดยต้องสะท้อนเจตจํานงและทัศนคติของสาธารณชน ไม่ควรพยายามทําให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น และนอกจากนี้ ยังต้องเป็นไปตามข้อตกลงฉันทามติห้าข้อของอาเซียน”
โฆษก NUG ระบุ
ทั้งนี้ หลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าได้พยายามขัดขวางไม่ให้ออง ซาน ซูจี พบกับนักการทูตระหว่างประเทศ
เธอได้รับอนุญาตให้พบปะกับสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ได้แค่บางคนเท่านั้น
ที่ทำให้ประเทศไทยเราเกิดภาพที่ไม่สวยงามนักก็เพราะคนพม่าและนักการทูตหลายชาติกลับมองว่าการที่คุณดอนภายใต้การนำของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกองทัพพม่า
หนีไม่พ้นที่จะทำให้นักวิเคราะห์บางสำนักมองว่าไทยกับพม่ามีอะไรละม้ายกันตรงที่ผู้นำกองทัพของทั้งสองประเทศได้ใช้วิธีรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ทำให้ไทยถูกมองว่ากองทัพไทยยังมีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศไทยในอันที่จะไม่ทำให้รัฐบาลทหารพม่าต้องเสียอำนาจ
ทั้งๆ ที่เราอ้างว่าเราต้องการจะให้เพื่อนบ้านทางตะวันตกของเราแห่งนี้กลับสู่ภาวะปกติ
รัฐบาลไทยพยายามอ้างว่าปัญหาพม่าเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน” ที่ประเทศอาเซียนอื่นไม่เข้าใจหรือไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเหมือนไทย
แต่ในความเป็นจริงนั้น เมื่อไทยได้ใช้ “การทูตเงียบ” มายาวนาน แต่ไม่สามารถทำให้รัฐบาลทหารพม่ายอมทำตามฉันทามติของอาเซียนที่ไทยเราเป็นสมาชิกที่สำคัญ
แม้เราจะขอร้องให้ทหารพม่าหยุดถล่มโจมตีประชาชนชาวพม่าที่ต้องหนีเข้ามาไทยเป็นจำนวนมาก
ทั้งๆ ที่เราขอให้เปิดการพูดคุยระหว่างทหารกับพลเรือน แต่มิน อ่อง ลาย ก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอมผ่อนปรนแม้แต่น้อย
ตราบที่การทูตไทยไม่ปรับไม่เปลี่ยนให้เป็น “อิสระ” จากอำนาจเก่า เราก็มิอาจปกป้องผลประโยชน์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทยได้จริงๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022