สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูลาว เพื่อการศึกษา ชวนพ่อค้าทำบุญ (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีครูไทยพบครูอาเซียน ของกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดำเนินต่อไป

ครูคูนวิไล เคนกิตติศักดิ์ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ คนที่ 2 เข้ามาสมทบ ยกมือไหว้ ทักทาย สบายดี สวัสดี คณะผู้มาเยือนอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง ก่อนเริ่มบทสนทนาของเธอ

ว่าด้วย ระบบการศึกษาและการพัฒนาครูของลาว

“การจัดการศึกษาของพวกเฮาเป็นระบบ 5 4 3 ประถมต้น 5 ปี ป. 1-5 มัธยมต้น 4 ปี ม.1-4 มัธยมปลาย 3 ปี ตารางเวลาเรียนแต่ละวันแบ่งเป็นสองภาค ภาคเช้า 8-11.25 น. ภาคบ่าย 13.35-16.30 น. ปีละ 2 เทอม เทอมต้น เปิดเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ปิดเทอม มิถุนายนถึงสิงหาคม เทอมปลายเปิดกันยายนถึงมกราคม” คำเว้าภาษาลาวไม่เป็นอุปสรรคกับคณะคู่สนทนา

“โฮงเฮียนขนาดใหญ่ สอนตั้งแต่ระดับ ม.ต้น ถึง ม.ปลาย มีนักเฮียน 3,500 คน ครู ผู้ช่วย 200 คน

กระทรวงศึกษาธิการจะเขียนกฎระเบียบเกี่ยวกับครู จะเชิญครูไปฟัง ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ระดับเมือง ระดับแขวง ที่บัญญัติออกมานี้เหมาะสมกับครูไหม

“หลักสูตรการศึกษาให้ความสำคัญกับภาษาประจำชาติ นักเฮียนต้องเขียนเรียงความภาษาลาว เรียนวรรณคดี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมถ้าคะแนนสูงได้เข้ามหาวิทยาลัยเลย

การจัดสอบแข่งขันจะจัดระดับกลุ่มโรงเรียนก่อน 15 โรงใช้ข้อสอบร่วม จากนั้นก็ระดับต่อไประดับเมือง ระดับแขวง จนถึงระดับชาติ

“เป็นครูประถมต้องสอนครบทุกวิชาให้ได้ เพิ่มภาษาอังกฤษเข้าไป ยากขึ้น ครูในไทยมีจอช่วย จึงต้องให้ครูเฮาเอาเทคโนโลยีมาใช้สื่อให้ทันสมัย ใช้โทรภาพ”

การสอนอ่านเขียนภาษาลาวก็ทำไปตามลำดับของนักเฮียน หัดแต่งเป็นประโยคก่อนแล้วหัดเขียนข้อความ ให้การบ้านก็ต้องดูระดับของเด็ก อย่าง ป.1 ป.2 ให้เขียนคำตอบ ที่บ้านมีควายกี่ตัว ป.3 ป.4 ก็ยากขึ้น ควายมีไว้ใช้ทำอะไรบ้าง ป.5 ป.6 ก็เพิ่มรายละเอียดมากขึ้นให้เด็กได้คิดหาคำตอบ

“โรงเรียนมีปัญหาบ้างไหม เช่นเด็กเรียนไม่จบ ต้องออกก่อน” คำถามหนึ่งจากฝ่ายคู่สนทนาดังขึ้น

“เด็กมีปัญหาต้องออกกลางคัน ครูจะไปพบพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน จากนั้นไปหานายบ้าน ติดตามประสานงานว่าเด็กไปไหน หาทางช่วยให้กลับเข้ามาเรียน”

“แล้วการลงโทษ หากเด็กทำผิดล่ะ” อีกคำถามตามมา

“การลงโทษนักเรียนทำผิดหลายแบบ” ครูเล่า เริ่มจากให้เขียน ให้ทำความสอาดห้อง ให้ล้างห้องน้ำ เป็นเวร เด็กดื้อต้องการความรัก”

เธอทิ้งท้ายให้คิด

 

รายการเว้าหลายยังไม่จบ นักธุรกิจไทยมาถึง เข้าร่วมวงสมทบ คุณวันเฉลิม จิระประพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-ลาว คุณอภิชาติ วรรณกูล สมาคมนักธุรกิจไทยใน ส.ป.ป.ลาว และทูตทหารไทย ที่ปรึกษาสมาคมนักธุรกิจไทย-ลาว เข้าร่วมวงสมทบ

กรรมการมูลนิธิและครูรางวัลทั้งสองคน เชิญชวนให้พ่อค้า นักธุรกิจ ร่วมกิจกรรม ทำบุญทางการศึกษาให้โรงเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานให้สูงขึ้น สนับสนุนให้ไปดูงาน ไปอบรม ทำให้ครู โรงเรียนอื่นๆ ได้คิด พัฒนา ครูก็ได้ เด็กก็ได้ โรงเรียนก็ได้ ประเทศก็ได้

ได้รับคำตอบว่า สภาธุรกิจยินดีช่วย จะพูดคุยกับครู ผู้บริหารโรงเรียน บริจาคคอมพิวแตอร์ เสื้อกีฬา อุปกรณ์กีฬา พร้อมไปพบที่โรงเรียนช่วยครูให้ขยายผลงานกว้างขวางขึ้น

ครูคำสร้อยชวนไปเยี่ยมเยียนโรงเรียน เสนอให้ช่วยโรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นการช่วยโรงเรียนอื่นๆ ในประเทศไปด้วย ครูทุกแขวงมาฝึกอบรม การพัฒนานักเรียน มีแผนร่วมกัน เด็กๆ มีพรสวรรค์แต่ยากจน

ทั้งสองฝ่ายรับปากว่าจะร่วมมือช่วยกันต่อไป

 

ระหว่างเวทีพูดคุย สื่อมวลชนจากสถานีวิทยุ โทรภาพลาว และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เวียงจันทน์ไทม์ 2 คน มาร่วมขอสัมภาษณ์ครู นักธุรกิจ

เสียดายมากันน้อย แทนที่จะเผยแพร่ได้หลากหลายมากกว่านี้ ต่างกับที่พนมเปญ มานับสิบคน ครบทุกสื่อ

เจ้าหน้าที่สถานทูตบอกว่าทางการลาวเข้มงวดเรื่องสื่อ เกรงจะเกิดปัญหา การเชิญจึงเป็นไปอย่างจำกัด

ครับ เป็นเรื่องของวิธีคิด ของเราหรือของเขา ผมไม่แน่ใจ ทั้งๆ ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไทยก็ได้ ลาวก็ได้

วันต่อมา สถานีวิทยุ โทรภาพลาวก็ออกอากาศให้เต็มที่ ได้ชม ได้ฟัง โฆษกผู้สาวเว้าลาวแล้วน่าดู น่าฟังทีเดียว

ทำให้เรื่องราวของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทั้งสองท่าน และการดำเนินโครงการของมูลนิธิ เป็นที่รับรู้กว้างขวางทั่วประเทศลาว คุ้มกับการเชิญสื่อมาร่วมพูดคุยและรายงานจริงๆ

โลกยุคดิจิตอล 4.0 การสื่อสารไร้พรมแดน แนวคิดและการปฏิบัติของภาคราชการทั้งไทยและลาวเกี่ยวกับบทบาทสื่อจะปรับตัวต่อไปอย่างไร จึงต้องติดตาม

 

จบรายการเป็นทางการวันแรก คนนำทางพาตระเวนตลาดนัดคนเดินริมโขงยามเย็นยาวเยียด ผู้แก่ ผู้หนุ่มผู้สาวนับร้อย พากันมาออกกำลังกายเต้นแอโรบิคเต็มลานซีเมนต์ แม่ค้าตั้งแผงขายหวยพัฒนา 2 ตัว 3 ตัว นักเสี่ยงโชคอยากรวยทางลัดไม่ว่าชาติไหนๆ ไม่ต่างกัน ควักเงินกีบปึกใหญ่เลือกตัวที่กะเก็งไว้ ก่อนเดินหน้าอิ่มออกไปด้วยความหวัง

ใกล้ค่ำไปจบที่ร้านอาหารฝรั่งเศส รสชาติดั้งเดิม กิจการเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวฝรั่งตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมลาวเมื่อครั้งก่อน พบอ้ายสมสนุก ลาวเชื้อสายฝรั่งเศส อดีตนายกสมาคมนักข่าวลาว ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเล่มแรกในลาว “เวียงจันทน์ไทมส์” หลังลาวเปลี่ยนแปลงนโยบายเปิดประเทศ หันมาสู่เศรษฐกิจระบบตลาดมากขึ้น ปลุกปั้นหนังสือพิมพ์เพื่อสื่อข่าวสารของทางการลาวเป็นที่นิยมอ่านมาจนถึงขณะนี้ เกษียณอายุ ทำหน้าที่ที่ปรึกษา และเป็นรองนายกสมาคมนักข่าวลาว

ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง แม้หลายปีจะพบกันทีก็ตาม เลยฝากอ้ายสมสนุกต่อถึงผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรภาพลาว สำนักข่าวฯ ไปร่วมสังเกตการณ์การพบปะกับคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาและกีฬาของลาว เช้าวันรุ่งขึ้น และต่อไปเยี่ยมยามโรงเรียนของครูคูนวิไล บ่ายวันเดียวกัน