ชัยชนะของตุลาการธิปไตย! บนเส้นทางการเมืองที่เปราะบาง | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“โลกนี้เต็มไปด้วยกฎหมาย; ทุกอย่างและไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งสิ้น ล้วนสามารถตัดสินได้โดยศาลยุติธรรม”

ผู้พิพากษา Aharon Barak
ประธานองค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงของอิสราเอล

 

หากพิจารณาจากพัฒนาการของประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แล้ว เราจะเห็นได้ว่าพลังของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยที่ผสานเข้ากับพลังของจารีตนิยมมีพลังในทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย จนเป็นฝ่ายที่กุมความได้เปรียบในการเมืองไทยมาโดยตลอด

ซึ่งหากเรียกในภาพรวม เราอาจกล่าวได้ว่าพลังในส่วนนี้คือ “พลังปีกขวา” ในการเมืองไทย อันเป็นพลังที่ควบคุมทิศทางการเมืองของประเทศมาอย่างยาวนาน

แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างใดก็ตาม แต่พลังเช่นนี้ก็สามารถเป็นผู้กุมชัยชนะได้ในแทบทุกครั้ง

สำหรับในอดีตแล้ว ชัยชนะของฝ่ายนี้ด้านหนึ่งคือ การใช้พลัง “เสนาธิปไตย” (Militocracy) ในการควบคุมการเมืองด้วยการรัฐประหาร และในอีกด้านของการเมืองสมัยใหม่นั้น พลังสำคัญในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม กลับไม่ใช่พลังทางทหาร แต่เป็นการใช้พลัง “ตุลาการธิปไตย” (Juristocracy) เพราะเป็นการจัดการปัญหาการเมืองด้วยกระบวนการทางกฎหมาย และไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารในแบบเดิม

จึงอาจเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า หรือดู “แนบเนียน” กว่าในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม

 

พลังค้อนทางการเมือง!

แนวคิดเรื่องบทบาทของ “ตุลาการธิปไตย” อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ในความเป็นจริงในทางการเมืองแล้ว บทบาทเช่นนี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในหลายประเทศ ซึ่งมีความหมายถึงการโอนอำนาจทางการเมืองออกไปจากนักการเมือง โดยนำไปไว้ในมือของฝ่ายตุลาการ

หรือโดยนัยคืออำนาจในการชี้ขาดอนาคตหรือทิศทางของนโยบายแห่งรัฐ จะอยู่กับคำตัดสินของสถาบันตุลาการ ซึ่งเป็นเสมือนกับการเข้ายึดกุมอำนาจของฝ่ายตุลาการในทางการเมือง หรือในส่วนหนึ่งก็คือ ภาวะของการขยายบทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการ

ดังที่กล่าวแล้วว่า การมีบทบาทในทางการเมืองของสถาบันตุลาการเช่นนี้ เห็นได้จากปัญหาการต่อสู้ในการเมืองไทย เช่นที่เห็นใน “ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหม่” (The New Democracies) ซึ่งหมายถึงประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

และในภาวะเช่นนี้สังคมอาจมีความไว้วางใจกับสถาบันตุลาการมากกว่าสถาบันพรรคการเมือง อันทำให้เกิดความพยายามในการสร้างสถาบันตุลาการให้มีความเข้มแข็งอย่างมาก ทั้งยังนำไปสู่การขยายบทบาทในทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะของการเป็น “ผู้ชี้ขาด” ปัญหาทางการเมืองของประเทศ

การขยายขอบเขตของสถาบันตุลาการเช่นนี้สอดรับกับแนวคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมในตัวเอง เนื่องจากกลุ่มปีกขวาในแทบทุกสังคมมีชุดความคิดคล้ายคลึงกันในการต้องอาศัยสถาบันตุลาการในการจัดการกับปัญหา “ด้านลบ” ของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะความเชื่อว่าการขยายบทบาทในการเป็น “ตุลาการธิปไตย” ของสถาบันนี้ จะเป็นเครื่องมือในการจัดการกับรัฐบาลเลือกตั้งที่ “ฉ้อฉล”

และในบริบทของการเมืองไทย อำนาจเช่นนี้ยังขยายไปสู่องค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรงในการตัดสินปัญหาทางการเมืองอื่นๆ ที่สำคัญด้วย และเป็นที่รับรู้กันในทางอุดมการณ์ว่าตุลาการธิปไตยนั้น อยู่ข้างเดียวกับปีกขวาในการเมืองไทย

ดังนั้น สำหรับการต่อสู้ในการเมืองไทยด้วยเงื่อนไขที่กล่าวแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมักจะเป็นผู้ชนะ

เนื่องจากกลุ่มการเมืองปีกนี้สามารถจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองได้อย่างง่ายดายด้วยการใช้พลัง “ตุลาการธิปไตย” ซึ่งพลังเช่นนี้ได้ถูกพิสูจน์ถึงชัยชนะมาหลายต่อหลายครั้งในการจัดการกับฝ่ายที่เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคดีความผิดทางการเมือง

และที่สำคัญคือ การตัดสินคดียุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม อันทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความชะงักงันทางการเมือง

แต่ชัยชนะด้วยพลัง “ตุลาการธิปไตย” ที่เกิดขึ้นก็เป็นความเปราะบางในตัวเอง เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจนว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ต้องการการปรับตัว และไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงข้อเรียกร้องจากฝ่ายตรงข้ามแต่ประการใด

คำตัดสินในมิติทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนกับการ “ประกาศชัยชนะ” ต่อฝ่ายที่เห็นต่างอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้กระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” ถูกมองจากฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นการใช้กฎหมายเป็นอาวุธ

กล่าวคือ กฎหมายกลายเป็น “อาวุธที่ทรงอานุภาพ” ในการจัดการผู้เห็นต่าง แต่ไม่ใช่เป็นการใช้กฎหมายเพื่อ “อำนวยความยุติธรรม” ในทางการเมือง

หรือดังที่สถาบันตุลาการไทยในช่วงเวลาหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเป็น “สองมาตรฐาน” เป็นต้น

 

ด้านกลับของชัยชนะ

ในเงื่อนไขทางการเมืองเช่นนี้กลุ่มปีกขวามักเชื่อเสมอว่ากระบวนการตุลาการธิปไตยจะทำให้พวกเขาชนะในการต่อสู้ทางการเมืองได้

แต่ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็คือ คำตัดสินดังกล่าวอาจจะกลายเป็นต้นทางของกระแสความรุนแรงในอนาคตได้ไม่ยาก เพราะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งมองไม่เห็นทางออกอื่น

เนื่องจากคำตัดสินในทางกฎหมายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และเป็นสิ่งที่สามารถตอบโต้กลับได้ยาก อันเป็นผลจากสภาวะบังคับทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากคำตัดสินนั้น

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนของฝ่ายอนุรักษนิยม ที่นับวันยิ่งทวีความเป็น “จารีตนิยม” มากขึ้นนั้น ทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ดูจะตีบตันมากขึ้น เท่าๆ กับที่การแสวงหาทางออกจากวิกฤตก็ถูกบีบให้แคบลงด้วย เนื่องจากความเห็นต่างถูกขยายให้เกิดมี “ช่องว่างทางความคิด” มากขึ้น จนยากที่จะหา “ฉันทานุมัติร่วมกัน” ในความเห็นต่างเหล่านั้น

และในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นภาพสะท้อนชัดเจนของความเป็น “ขั้วทางการเมือง” (political polarization) ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของความไร้เสถียรภาพของสังคมการเมือง

ในกรณีเช่นนี้ เนื่องจากชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีอำนาจทางการเมืองมักเชื่อเสมอว่า พวกเขายังสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างไว้ในมือได้ตลอดไป และเชื่อมั่นเสมอว่า พวกเขาจะดำรง “สถานะเดิม” ของสังคมไว้ โดยไม่จำเป็นต้องปรับตัวไปกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวแต่อย่างใด และพลังของ “ตุลาการธิปไตย” จะจัดการเรื่องเช่นนี้ได้

แต่ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์การเมืองโลกอาจมีคำตอบในแบบที่เห็นแย้ง กล่าวคือ ในหลายกรณีนั้น เราได้เห็นถึงความพยายามของปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมที่คุมอำนาจรัฐ และใช้ทุกวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้สังคมดำรงอยู่แบบสถานะเดิม…

แน่นอนว่าพวกเขาพร้อมที่จะใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อ “สร้างความกลัว” อันจะทำให้สังคมยอมจำนนไม่ต่อสู้ เช่น การจับกุมพร้อมกับคำตัดสินที่มีโทษสูง ซึ่งจะทำให้คนในสังคมอยู่โดยไม่กล้าที่จะเรียกร้องหาความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขณะเดียวกันก็อยู่โดยยอมรับต่อการใช้อำนาจของผู้ปกครองอย่างไม่ต่อต้านด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การใช้อำนาจเช่นนี้กลับมีข้อจำกัดในตัวเอง เพราะหากฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองตัดสินใจที่จะก้าวข้ามผ่าน “ความกลัว” ที่ถูกสร้างด้วยการใช้กฎหมายเป็นอาวุธแล้ว พลังนี้จะไม่เหลือมากพอที่จะใช้ยับยั้งการลุกขึ้นเรียกร้องของผู้เห็นต่างได้แต่อย่างใด

แม้ในด้านหนึ่งจะเห็นถึงการต้องคดีของผู้เห็นต่างที่มีจำนวนมากขึ้น แต่ภาพสะท้อนของปริมาณ “นักโทษการเมือง” ที่เพิ่มมากขึ้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองของประเทศแต่อย่างใด

 

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชุดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียที่นำโดยเลนิน การปฏิวัติประชาธิปไตยในจีนที่เปิดการเคลื่อนไหวโดย ดร.ซุนยัตเซ็น หรือการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านที่ขับเคลื่อนโดยท่านโคไมนี ล้วนเป็นข้อเตือนใจให้แก่กลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมอย่างดีว่า อำนาจในการปราบปรามและจับกุมทางกฎหมายของรัฐบาลเดิมนั้น แม้จะเข้มแข็งเพียงใด แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดใที่จะหยุดยั้งกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมได้จริง

การใช้อำนาจรัฐปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทั้งในแบบของการใช้กำลังทางกายภาพและในทางกฎหมาย บนพื้นฐานของ “สายเหยี่ยว” ด้วยความเชื่อว่ากำลังและอำนาจทางกฎหมายที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการชี้ขาดชัยชนะนั้น ถูกพิสูจน์มาหลายครั้งว่าชุดความคิดแบบ “อำนาจคือผู้ชนะ” และพร้อมที่จะใช้อำนาจและกฎหมายจัดการกับปัญหาทางการเมืองอย่างสุดโต่ง อาจจะเป็นปัญหาในตัวเอง

ฉะนั้น การสร้างอำนาจของชัยชนะผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ทำให้ผลที่เกิดขึ้นอาจเป็นดังชัยชนะใน “โลกเสมือนจริง” เพราะแม้จะสามารถจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้จริง แต่สิ่งนี้กลับเป็นเพียง “ภาพลวงตา” และไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้สถานการณ์ในอนาคตอยู่ในความควบคุมของฝ่ายรัฐได้ในระยะยาว

ทั้งยังอาจส่งผลให้การยอมรับต่อการใช้กฎหมายของรัฐมีปัญหาตามมาด้วย

 

ปฏิรูป vs ความท้าทาย

หากพิจารณาด้วยความใคร่ครวญแล้ว จะเห็นเสมอว่าสิ่งที่เกิดเช่นนี้เป็นเพียง “ชัยชนะทางยุทธวิธี” และมักจบลงด้วย “ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์” เสมอ ดังนั้น ยิ่งฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งใช้อำนาจจัดการกับการเรียกร้องของผู้เห็นต่างมากเท่าใด แรงต่อต้านก็จะยิ่งมีมากขึ้นไปตามลำดับ และผู้เห็นต่างก็จะยิ่งถูกผลักให้เอียงไปหาการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่าปลายทางของสถานการณ์เช่นนี้คือ การขยายโอกาสของการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ และในบางกรณี อาจขยับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดของการเป็น “ความรุนแรงขนาดใหญ่” ได้ด้วย

ดังนั้น คำตัดสินในทางกฎหมายอาจถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมในทางนิติศาสตร์ แต่ในทางรัฐศาสตร์แล้ว ปัญหาที่น่ากังวลอย่างมากคือ ชัยชนะเช่นนี้สะท้อนถึงภาวะอนุรักษนิยมสุดขั้วที่ไม่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง

ลักษณะเช่นนี้เป็นบทเรียนที่สอนนักรัฐศาสตร์ในทุกยุคว่า การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำในรัฐอนุรักษนิยมนั้น ล้วนนี้จบลงด้วยการต่อต้านและความรุนแรงทั้งสิ้น

บางทีการหันกลับมาคิดเรื่อง “การปฏิรูป” ที่ชนชั้นนำทั่วโลกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงมาแล้ว อาจจะเป็นทางเลือกที่ควรนำมาพิจารณาด้วยความใคร่ครวญ เพราะการปฏิรูปเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะตอบโต้กับข้อเรียกร้องต่างๆ ที่อาจมีลักษณะสุดโต่งได้อย่างดี

วันนี้ “รัฐอนุรักษนิยมไทย” กำลังเผชิญกับความท้าทายจากกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ในวันนี้ ถ้าฝ่ายรัฐอาจจะชนะด้วยกระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” ได้อีกครั้ง

แต่คงต้องยอมรับสัจธรรมสำคัญว่า ชัยชนะเช่นนี้ไม่สามารถหยุดยั้งกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ในวันหน้า และอาจกลับกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกต่อต้านด้วยความรุนแรง หรืออย่างน้อยก็เกิดความแตกแยกทางความคิดมากขึ้นด้วย!