คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เยือนเมียนมา ในช่วงเวลาพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

การเดินทางไปกับเพื่อนต่างศาสนิกที่เขามีน้ำจิตน้ำใจไมตรี เป็นอะไรที่สนุกและได้เรียนรู้ ควรลองดูหากมีโอกาส

หลังลงจากดอยหลวงเชียงดาวได้วันเดียว ผมและภรรยาก็เดินทางไปประเทศเมียนมากับพี่ๆ (ที่จริงควรเรียกป้าๆ ลุงๆ) ร่วมคณะกับสื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อร่วมรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ประเทศเมียนมา

ดูเหมือนผมและภรรยาจะเป็นเพียงสองคนในทริปนี้ที่มิใช่คาทอลิก กระนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรเพราะเราคุ้นเคยกับพิธีกรรม คติความเชื่อและศัพท์แสงของพี่น้องชาวคาทอลิกเป็นอย่างดี เนื่องจากภรรยาเคยเรียนโรงเรียนที่มีซิสเตอร์ดูแล ส่วนผมเองก็เคยศึกษาและมีเพื่อนพ้องที่เป็นคาทอลิกอยู่บ้าง

ที่สำคัญเราแอบหวังว่าจะได้ชมบารมีสมเด็จพระสันตะปาปาแม้สักนิดก็ยังดี เนื่องจากมีความเคารพชื่นชมในองค์ท่านอย่างมาก ครั้นจะไปถึงกรุงโรมก็เกินกำลังทรัพย์

 

เหตุที่ผมชมชอบพระสันตะปาปาพระองค์นี้ เพราะท่านเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติหลายอย่างในพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก รวมทั้งพระอุปนิสัยและกิจวัตรส่วนพระองค์ด้วย

พระสันตะปาปาพระองค์นี้ได้ชื่อว่า “พระสันตะปาปาของปวงชน” (people”s Pope) เนื่องจากทรงมีพระเมตตาธิคุณหลายด้าน เป็นต้นว่า เน้นการช่วยเหลือคนยากคนจน การให้ความเมตตาแก่ผู้ทุพพลภาพและพิการ ทรงเป็นกันเองกับทุกผู้คน ทรงเน้นความสำคัญของสตรีและเยาวชน และแม้จะเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาแล้ว ยังคงมีพระจริยวัตรและข้าวของเครื่องใช้อย่างแต่ก่อน อย่างประหยัดเรียบง่าย

ว่ากันว่าที่ทรงเลือกพระศาสนนาม “ฟรานซิส” อันเป็นนามของนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซีนั้น ก็เพราะเมื่อทรงได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา พระคาดินัลรูปหนึ่งได้เข้ามาและบอกพระองค์ว่า “อย่าลืมคนยากจน” พระองค์จึงทรงเลือกนามแห่งนักบุญที่เน้นความยากจนท่านนี้เป็นเครื่องเตือนพระทัย

สำหรับผม ใครก็ตามที่เน้นความเมตตากรุณาและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะอยู่ในศาสนาไหนหรือไม่มีศาสนา ผมก็เคารพนับถือครับ จึงเห็นควรไป “ทัศนา” อันแขกฮินดูถือว่าเป็นบุญกิริยาอย่างหนึ่ง ได้เห็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นพร เป็นแรงกายแรงใจ และจะได้โอกาสไปเรียนรู้เพื่อนต่างศาสนิกด้วย

 

คณะที่เราไปมีกันถึงห้ารถบัส ล้วนแต่ผู้สูงวัย (คิดดูสิครับว่าคนหนุ่มสาวสุดคือผมและภรรยา) ไปครานี้ ไฮไลต์อยู่ที่การได้เข้าร่วมพิธีมิสซาที่พระสันตะปาปาจะทรงเป็นประธาน ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ สนามกีฬา Kyaikkasan Ground ในกรุงย่างกุ้ง

ทั้งๆ ที่ชาวพม่าที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด และส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฯลฯ แต่โป๊บยังทรงเลือกมาเยือนพม่า ซึ่งเข้าใจได้ไม่ยากว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญาอย่างแน่นอน

เพราะนอกจากจะทรงเยือนพม่าแล้ว ยังทรงมีกำหนดการเยือนบังกลาเทศต่อทันที

การเสด็จเยือนครั้งนี้ มีคำโปรยในสัญลักษณ์ว่า “Love and Peace” ด้วยรักและสันติ เพราะทรงต้องการนำสารแห่งสันติและความรักมาสู่ชาวเมียนมา

 

วันที่พวกเราเข้าไปร่วมพิธีบูชามิสซานั้น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงนั่งรถโป๊ปโมบิล ที่ดัดแปลงจากรถกระบะสีขาว เติมหลังคากระจกใส เพื่อจะทรงยืนโบกพระหัตถ์ทักทายผู้คนได้อย่างใกล้ชิด

รถคันนั้นผ่านหน้าพวกเราช้าๆ พร้อมรอยพระสรวลน้อยๆ อันน่าประทับใจยิ่ง

ทำให้ผู้คนที่รายรอบผม ทั้งคนไทยกลุ่มเล็กๆ ชาวเมียนมาและใครต่อใครมีความสุข ความปีติ มีความเอิบอิ่มของใบหน้าแววตาอย่างเห็นได้ชัด

ผมรู้สึกยินดีเหลือเกินที่ได้มาอยู่ท่ามกลางผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์ผู้เปี่ยมด้วยความศรัทธาและมิตรไมตรี และได้พบบุรุษผู้อ่อนโยนเมตตาท่านนี้แม้เพียงแวบเดียวก็เป็นพร

พิธีมิสซาดำเนินไปโดยภาษาอังกฤษ (ซึ่งไม่ทรงถนัดนัก) กับบางช่วงที่ใช้ภาษาละติน และบทเทศน์ที่ทรงใช้ภาษาสเปนโดยมีบาดหลวงแปลเป็นภาษาเมียนมาอีกที

บทเทศน์ของพระองค์เน้นสอนให้ระลึกถึงปรีชาญาณของพระเยซูซึ่งใช้ความรักและการอภัยรับมือกับการกดขี่ข่มเหง และให้คริสตชนเมียนมาระลึกถึงสิ่งนี้เสมอ

 

สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจงานมิสซานี้อย่างยิ่ง นอกจากองค์ผู้เป็นประธานแล้ว คือการจัดที่นั่งพิเศษให้กับบุคคลสำคัญยิ่งกว่า vvip

ผู้ที่สามารถนั่งใกล้ชิดองค์พระสันตะปาปาที่สุด ยิ่งกว่าแถวที่นั่งของ vvip ไม่ใช่ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางศาสนาหรือนายทหาร แต่คือผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยทุพพลภาพ ซึ่งได้รับเกียรติให้อยู่ในแถวหน้าสุดของผู้คนทั้งหมด และนี่คือสิ่งที่โป๊ปทรงให้ความสำคัญอยู่เสมอ ดังเราจะเห็นได้จากพระจริยวัตรประจำวัน

สมกับท่าทีขององค์พระเยซูคริสต์ ผู้มีใจยากจนและผู้ที่ได้รับความทุกข์ทั้งหลายควรได้รับเกียรติก่อน และใกล้ชิดพระเป็นเจ้ามากกว่าใครๆ

ผมว่านี่คือสิ่งที่เราควรเรียนรู้จากเขาอย่างยิ่ง การให้เกียรติและให้ความสำคัญต่อผู้พิการทุพพลภาพที่ควรจะได้รับเป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ ผมยังประทับใจในการงานที่เข้มแข็งของอาสาสมัครคนหนุ่มสาว รวมทั้งการมาออกร้านโรงทาน เพื่อดูแลผู้เข้าร่วมงานด้านอาหารการกิน ต่างคนต่างให้ มีน้อยให้น้อย มีมากให้มาก

ขนาดชาวบ้านซึ่งไม่ได้ออกร้าน ยังมายืนถือถุงใส่ขนมใส่ชาซองมาคอยแจกที่ประตูทั้งเข้าทั้งออก

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้คนรอคอยและหลายคนผิดหวัง เมื่อการเสด็จเยือนเมียนมาครั้งนี้ ไม่ทรงตรัสคำ “โรฮิงญา” แม้แต่ครั้งเดียว ตามการแนะนำของผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกในพม่า โดยกลัวว่าจะสร้างความลำบากแก่ชาวคริสต์ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในพม่าเช่นกัน

คำ “โรฮิงญา” กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อสื่อและผู้นำทางศาสนาในพม่าไม่เรียกชาวโรฮิงญาเช่นนั้น แต่เรียกว่า “เบงคอลี” อันหมายถึงคนเบงกอลหรือบังกลาเทศ เพื่อเน้นว่า ชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชาวพม่า คำคำนี้จึงอ่อนไหวในทางการเมืองของพม่าพอสมควร

แต่แม้จะสร้างความผิดหวังดังกล่าว กระนั้น เมื่อโป๊ปเสด็จเยือนบังกลาเทศและได้พบกับผู้อพยพชาวโรฮิงญาสมพระทัยแล้ว พระองค์จึงได้ตรัสคำนี้ “การปรากฏของพระเจ้าที่อยู่เบื้องหน้าเราคือผู้ที่ถูกเรียกว่าโรฮิงญา” (The Presence Of God Is Also Called Rohingya) พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติแสดงจุดยืนต่อวิกฤตนี้

เราไม่ควรลืมว่า พระองค์เป็นผู้นำทางศาสนาและการเมืองพระองค์แรกที่ประณามความรุนแรงที่รัฐบาลพม่ากระทำต่อชาวโรฮิงญาในช่วงต้นๆ ที่วิกฤตการณ์นี้เกิดขึ้น

ผมคิดว่าการไม่ทรงเอ่ยคำโรฮิงญา ก็ด้วยความห่วงใยในสวัสดิภาพของชาวคริสต์ในเมียนมาด้วยประการหนึ่ง และทรงต้องรับผิดชอบต่อความยากลำบากที่ชาวคริสต์เหล่านี้อาจต้องเผชิญต่อไป

พระสันตะปาปาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า การไม่ใช้คำนี้ก็เพื่อไม่เป็นการปิดโอกาสที่จะได้เข้าพบผู้นำคนสำคัญในรัฐบาลเมียนมา เพื่อที่จะสามารถหารือการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างราบรื่น

ในแง่นี้เป็นกลวิธีทางการทูตแบบหนึ่ง ซึ่งคงวิจารณ์กันได้ ไม่แปลกอะไร

 

สําหรับผม การเสด็จเยือนพม่าและบังกลาเทศ รวมทั้งการพบผู้อพยพชาวโรฮิงญา เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดอยู่แล้ว และนอกจากองค์ทะไลลามะกับพระสันตะปาปา ก็แทบไม่เห็นผู้นำทางศาสนาไหนสนใจประเด็นนี้กันสักเท่าไหร่

ขณะที่พระสันตะปาปารอนแรมจากอีกซีกโลกหนึ่งเพื่อมาส่งสารแห่งความรักและสันติภาพ

เราผู้อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงจะมีท่าทีต่อปัญหานี้อย่างไร?