คุยเรื่อง สว. กลุ่มอนุรักษ์ และความหวังที่ยังหลงเหลืออยู่ กับ ‘รสนา โตสิตระกูล’

“8-9 ปีที่ผ่านมาที่ทหารได้โอกาสบริหาร แต่คุณไม่สามารถซื้อใจประชาชนได้ และในบรรดาพรรคการเมืองที่มีทั้งหมด เราก็เห็นไส้เห็นพุงกันหมดแล้ว ก้าวไกลเป็นอะไรที่ยังไม่เคยเห็น ถ้าเป็นดิฉัน อยากให้เขาได้ลองบริหารจะได้ประเมินได้ไง ว่าเขาเป็นของจริงหรือของเก๊ วันนี้ประชาชนเขาเลือกมาแล้วแต่กลายเป็นว่าถูกปรับ จะกลายเป็นคนหน้าเดิมๆ มาเป็นรัฐบาล ซึ่งประชาชนจะหมดศรัทธาในระบบการเมืองเลย”

คือความในใจจาก รสนา โตสิตระกูล อดีต สว. (เลือกตั้ง) ถึงสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอน และมี สว.เป็นตัวแปรสำคัญของสถานการณ์

รสนา ชวนมองย้อนอดีตที่มา สว. ว่า ในอดีตเรามี สว. ตั้งแต่ปีรัฐธรรมนูญช่วง 2489 แต่เดิมเป็น สว.ที่มาจากการสรรหา เรามี สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง 2 ครั้ง ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับเท่านั้นเองคือรัฐธรรมนูญปี 2540 คือเลือกตั้งทั้งหมด และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีการผสมกันกึ่งหนึ่งคือมี สว.เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง สว.สรรหาครึ่งหนึ่ง

พอมีการรัฐประหาร 2557 เขาตัด สว.จากการเลือกตั้งทิ้ง จนทำให้ในตอนนี้มีคนเริ่มพูดกันว่า เอ๊ะ เราควรจะมี สว.ไหม? เราควรจะเลิกไปเลยใช่ไหม?

ซึ่ง สว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คิดว่ากระบวนการสรรหาก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะว่ามันเป็นลักษณะของการเลือกข้ามกลุ่ม มันเคยมีประสบการณ์มาแล้วตอนสมัยสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ ซึ่งก็มีการ “ซื้อกันแหลก” ก็ถือว่าจะไม่ได้คนที่มีคุณภาพ กรรมการสรรหาก็เป็นตัวปัญหา แล้วพรรคทหารเขาก็ต้องเลือกคนที่อยู่ในแนวทางความคิดอุดมการณ์แบบใกล้เคียงกัน

เพราะฉะนั้น เราก็อาจจะมองเห็นว่าก็มีแต่คนที่หน้าเดิมๆ ที่เขาใช้ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา

อดีต สว.เลือกตั้ง มอง สว.ชุดนี้ว่าเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนหลายคนมองว่า สว.เป็นเครื่องมือของกลุ่มทหาร และ คสช.ที่เขาเลือกมา เพื่อที่จะให้มีกลไกในการที่ตัวเองจะได้เปรียบในการที่จะมาอยู่ในการเมืองต่อ

เพราะฉะนั้น การที่เกิดเหตุการณ์ในปัจจุบัน เราก็ต้องคิดว่าผู้มีอํานาจเดิม (คสช.) หรือพรรคทหาร เขียนให้ตัวเองได้เปรียบอยู่โดยมี สว.เป็นกลไกสําคัญ

แต่พอผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามอย่างที่ผู้มีอํานาจเดิมออกแบบไว้มันก็เลยเกิดปัญหา เพราะประชาชนเลือก 2 พรรคหลักคือก้าวไกลกับเพื่อไทย ก็หมายความว่าเจตจํานงของประชาชนต้องการให้ 2 พรรคนี้เป็นแกนนําในการจัดตั้งรัฐบาล แต่เวลานี้ต้องยอมรับว่าพรรคฝ่ายทหารเขาออกแบบกลไกเพื่อให้ตัวเองได้เข้ามาสู่อํานาจ

เพราะถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบันคือ 91 ปี ไปดูดีๆ คนที่เป็นพวกปฏิวัติยึดอำนาจแล้วก็ปกครองนี่ยาวนานมาก ดิฉันคิดว่าไม่น่าจะเกิน 20 ปีที่มันมีส่วนของการเลือกตั้งครึ่งใบเต็มใบเข้ามาสอดแทรกอยู่ เพราะฉะนั้น การที่บ้านเมืองเสียหาย เราจะไปโทษพวกเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้

คือดิฉันเองไม่ได้เลือกก้าวไกลนะ แต่เมื่อเราเห็นว่าประชาชนเสียงข้างมากเลือก เราก็ต้องเปิดโอกาสตามกติกาให้เขาได้มีโอกาสเข้ามาบริหารใช่ไหม ส่วนบริหารแล้วจะดีหรือไม่ดียังไงประชาชนจะตัดสินเอง ประเด็นที่เขามาพูดถึงอย่างเรื่อง 112 มันเป็นประเด็นที่หลายคนคิดว่าเป็นความขัดแย้ง เป็นประเด็นอ่อนไหว มันไม่มีที่พูดที่ไหนที่ดีกว่าการมาพูดในสภา ที่สำคัญ คือวันที่โหวต มีไม่เห็นด้วย 112 เยอะแยะ ถึงวันนั้นก็ถูกตีตกอยู่แล้ว คุณจะไปกลัวอะไร ดังนั้น ควรจะตกในสภา มันควรจะมีการอภิปรายในส่วนนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยก็มาถกกัน คุณดูอย่างกฎหมายกัญชายังตกเลยขนาดผ่านการรับหลักการไปจนวาระที่ 2, 3 ตก

ทําไมคุณไม่ให้ 112 ตกในสภาดีกว่าการที่คุณจะปล่อยให้ไปพูดอะไรกันข้างนอก

รสนาบอกว่า “ดิฉันก็มีความหวังนะว่าประชาชนจะเติบโตขึ้น แต่ว่าอยากจะให้มันเกิดการเรียกว่า ประสานช่องว่างระหว่างรุ่น ให้ระวังตรงนี้ ถือเป็นเรื่องที่สําคัญ คือเรามีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่อย่าให้แตกแยก เวลานี้มีความพยายามที่ทําให้เกิดการแตกแยกเกิดการหวาดกลัวแล้วเกิดการสร้างภาพที่มันน่ากลัว ว่าถ้าปล่อยให้คนเหล่านี้เข้ามาบ้านเมืองจะฉิบหาย ล่มจม จะอย่างนู้นอย่างนี้ อันนี้ก็เกินไป”

“หรือถ้าอย่างพวกเด็กรุ่นใหม่ ก็ด่าพวกสลิ่มพวกคนแก่ทั้งหลาย เหมาว่าพวกนี้แย่หมด เป็นพวกทหารทั้งหมด อันนี้ก็มองแบบตีขลุมมากเกินไป ดิฉันยังโดนด่าอยู่ตลอดเวลาว่า ‘ป้ารสนาที่ออกมาพูด เพราะว่าตัวเองไม่มีอํานาจใช่ไหม’ คือมันไม่เกี่ยว เพราะเราเป็นประชาชน แล้วเราคิดว่าเราจะต้องตรวจสอบพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลทุกฝ่าย”

“ซึ่งดิฉันเองพูดเสมอว่าดิฉันเป็นฝ่ายอนุรักษ์ แต่เรารังเกียจการทุจริตคอร์รัปชัน รังเกียจการผูกขาดอํานาจ รังเกียจความไม่โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ทหารหรือนักการเลือกตั้ง ถ้าคุณทุจริตคุณไม่ได้ทําเพื่อประโยชน์ของประชาชนมีการผูกขาดอํานาจ เป็นอํานาจนิยม ปล่อยให้มีอำนาจผูกขาดในทางเศรษฐกิจ ประชาชนตายอย่างเดียว”

“ถ้าประชาชนทุกคนทุกฝ่าย มีความเชื่อนี้ จับหลัก 3 เรื่องนี้แล้วต่อต้าน ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะเป็นใครประเทศจะมีโอกาสพัฒนา เราอย่าไปมองว่าเราเลือกตัวแทนไปแล้วเราก็นอนหลับเลย ให้ตัวแทนไปทําอะไรก็ได้ เพราะว่าที่ผ่านมาเราเป็นแบบนี้ไงบ้านเมืองถึงได้เป็นแบบนี้ คุณควรจะมองเจตจํานงเลยว่าเวลานี้คุณกําลังสู้กับนักการเมืองที่มาจากอํานาจทหารแอบซ่อนมาโดยออกกติกาที่ตัวเองได้เปรียบ นักการเมืองหรือกลุ่มทุนก็ควรจะลดความเห็นแก่ตัวลงด้วย คุณจะร่ำรวยกันแบบไม่รู้จบ ประเทศเราไม่ควรจะติดหล่มแบบนี้”

“เราควรจะก้าวหน้าไปได้มากกว่านี้”

 

รสนาบอกว่า ที่สำคัญดิฉันอยากจะเตือนฝ่ายอนุรักษ์เดิมพรรคทหาร ดิฉันไม่อยากจะเรียกว่าพวกนี้เป็นฝ่ายอนุรักษ์ เพราะนักอนุรักษ์ที่แท้จริง คุณต้องปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น คุณต้องปฏิเสธการผูกขาดอํานาจ คุณจะต้องมีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส คือเราต้องบอกว่าสังคมไทย ความคิดของประชาชนก็เป็นอนุรักษ์ที่ฝังรากลึกมานาน แต่ว่าวันนี้อนุรักษ์จะพังเพราะว่าไส้ในเน่าเอง และพวกคุณไม่ควรไปผลักไสเด็กรุ่นใหม่ คุณต้องใจกว้าง ผู้ใหญ่ต้องมีความอดทนมากกว่าเด็กรุ่นหลัง ซึ่งเขาก็เป็นลูกหลานเราทั้งนั้น

ดิฉันเองนึกถึงบทกวีของพาโบล เนรูด้า (Pablo Neruda) กวีเอกของชิลี เจ้าของรางวัลโนเบล ที่เขาเคยเขียนบทกวีว่าคุณอาจจะตัดดอกไม้ทั้งหมดก็ได้ แต่คุณไม่อาจที่จะหยุดยั้งฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง

เช่นกันคุณอาจจะปิดสวิตช์คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คุณอาจจะปิดสวิตช์ก้าวไกลได้ แต่คุณไม่มีทางที่จะปิดสวิตช์คนรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาในอนาคตอันใกล้ได้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดระหว่างกลุ่มอนุรักษ์กับกลุ่มความคิดใหม่คุณควรจะ mind the gap ลดช่องว่างทําให้ความแตกต่างทางความคิดนี้ประสานกัน แล้วเลือกเอาแต่สิ่งที่มันมีประโยชน์เพื่อประเทศ ไม่ใช่คุณจะไปถีบคนออกไปมันเป็นไปไม่ได้

ขนาดคนในครอบครัวเรายังความคิดไม่เหมือนกันเลย คุณจะไปหวังให้คนในสังคมนี้คิดเหมือนกันจึงจะเป็นพวกเดียวกัน ถ้าคุณคิดไม่เหมือนกัน คุณก็เป็นศัตรูฉัน แบบนี้มันไม่ได้ เราไม่ควรคิดแบบนั้น นี่คือระบอบประชาธิปไตยไง แล้วก็เป็นสิ่งที่ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตผู้นำอังกฤษ เคยพูดเอาไว้ว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยเท่าที่ประวัติศาสตร์ผ่านมามันก็ดีกว่าอันอื่นๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว

เพราะฉะนั้น เราควรจะลองให้มันพัฒนาไปอย่างสร้างสรรค์

แล้วก็คนรุ่นอย่างดิฉัน ที่เป็นคนละรุ่นกับคนรุ่นใหม่ เราควรจะช่วยประคับประคองให้คนรุ่นใหม่ได้เดินไปอย่างดีแล้วก็เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ไม่เกิดปัญหาจนทําให้บ้านเมืองเสียหาย

ชมคลิปเต็ม