ภารกิจสุดท้ายรัฐบาล ‘ตู่’ ตรึงดีเซล โยนภาระกองทุนน้ำมันอุดหนุนต่อ

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ “รับทราบ” แนวทางการดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันดีเซล จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางภาษีด้วยการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาท/ลิตร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนมาอย่างยาวนานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565

โดยกระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงพลังงานมีความเห็นร่วมกันว่า มาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นั้น จะไม่มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวอีกจากเหตุผล 4 ประการคือ

1. หากจะมีการดำเนินการต่ออายุอีก ผลของการดำเนินการจะก่อให้เกิดข้อผูกพันกับรัฐบาลในอนาคต เนื่องจากในขณะนี้อยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีการยุบสภา ประกอบกับการดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ในข้อที่ว่า การอนุมัติงานหรือโครงการหรือการกระทำใดๆ ที่จะมีผลผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 169(1)

2. สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่นในประเทศลดลงตามไปด้วย โดยกระทรวงพลังงานมีความเห็นว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่จะให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศได้ โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส ณ วันที่ 19 กรกฎาคม อยู่ที่ 75.75 เหรียญ/บาร์เรล เบรนท์ 79.63 เหรียญ/บาร์เรล และดูไบ 79.63 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ 98.44 เหรียญ/บาร์เรล

3. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นมาก โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิล่าสุด ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ปรากฏ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบลดลงเหลือ -49,829 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการติดลบจากบัญชีน้ำมัน -4,316 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ยังติดลบสูงถึง -45,513 ล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเคยติดลบสูงสุดถึง 130,000 ล้านบาทมาแล้ว

และ 4. ตลอดระยะเวลา 1 ปี 5 เดือนที่รัฐบาลปรับลดอัตราจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลลงทั้งหมด 7 ครั้งเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตรนั้น ปรากฏรัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตคิดเป็นเงินประมาณ 156,000 ล้านบาท

แต่หลังจากวันที่ 20 กรกฎาคม เมื่อรัฐบาลจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตามปกติแล้ว รัฐบาลก็จะกลับมามีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท

 

ผลจากการที่รัฐบาลรักษาการไม่ยอม “ต่ออายุ” การลดภาษีสรรพสามิตหลังวันที่ 20 กรกฎาคม ออกไปอีก แต่ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้กลไกของกองทุนในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ประมาณ 32 บาท/ลิตรนั้น

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า การจัดการให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 32 บาท/ลิตรจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยระยะเวลาที่จะรักษาระดับราคาดีเซลดังกล่าวจะยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับ “สภาพคล่อง” ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะดำเนินการได้

โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบลดลงเฉลี่ย 97-98 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลคาดการณ์เดือนกรกฎาคม 2566-มิถุนายน 2567 อยู่ที่ 93.2 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งระดับราคานี้กองทุนยังสามารถรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตรได้

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะมีราคาพุ่งขึ้นสูงจากความต้องการเชื้อเพลิงที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นไปถึง 110-125 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว

“กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องทบทวนสถานะกองทุนว่า ยังอยู่ในฐานะที่จะรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลที่ 32 บาท/ลิตรต่อไปได้หรือไม่” นายวิศักดิ์กล่าว

 

ขณะที่ นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สกนช.) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันมี “รายรับ” จากน้ำมันทุกประเภทประมาณ 10,000 ล้านบาท/เดือน โดยมีรายรับจากการเรียกเก็บเงินในส่วนของ LPG กิโลกรัมละ 0.67 บาท หรือเดือนละ 729 ล้านบาท ทำให้มีเงินเข้ากองทุนน้ำมันรวม 10,729 ล้านบาท/เดือน ที่จะนำมาบริหารจัดการเพื่อดูแลราคาน้ำมันดีเซล

ทั้งนี้ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 มีการจัดเก็บเงินจากน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 4.04 บาท/ลิตร และชดเชย 1.65 บาท/ลิตร แต่ภายหลังวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ก็จะใช้วิธีลดอัตราเงินที่นำส่งเข้ากองทุนทั้งหมด พร้อมกับนำเงินที่สะสมของกองทุนมาชดเชยเพื่อตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตร หรือทุกๆ 1 บาท/ลิตร จะต้องใช้เงินอุดหนุนประมาณ 65 ล้านบาท/วัน ซึ่งตรงนี้จะขึ้นอยู่กับ “สภาพคล่อง” ของกองทุน

อย่างไรก็ตาม การนำ “สภาพคล่อง” ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมารักษาระดับราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตรนั้น จะส่งผลให้ระยะเวลาการใช้หนี้เงินกู้ของกองทุนน้ำมันยาวนานขึ้นจากที่เคยประมาณการกันไว้ โดยขณะนี้กองทุนชำระหนี้ให้ผู้ค้ามาตรา 7 ไปแล้วประมาณ 55,000 ล้านบาท

ซึ่งเป็นผลมาจากการอุดหนุนราคาดีเซลไปก่อนหน้านี้ ทำให้เหลือเงินกู้อีกประมาณ 55,000 ล้านบาทที่สามารถนำมาใช้อุดหนุนราคาน้ำมันได้จากเงินกู้ที่บรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 110,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้อย่างน้อยน่าจะเพียงพอที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลไว้ได้ 1-2 เดือน หรือจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเดือนตุลาคมนี้ก็ได้ โดยยังเหลือวงเงินกู้ที่ยังไม่บรรจุเป็นหนี้สาธารณะอีกประมาณ 40,000 ล้านบาทจากกรอบวงเงินกู้ทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท

ล่าสุด ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถเก็บเงินในส่วนของน้ำมันดีเซลเข้ากองทุนได้ 3.82 บาท/ลิตร ดังนั้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาจจะนำเงินที่เก็บได้ในส่วนของดีเซลนี้ไปช่วยเป็น “ส่วนลด” ทดแทนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่จะหมดอายุลงด้วย

โดยปัจจุบันโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลเรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 1.34 บาท/ลิตร เนื่องจากได้รับส่วนลดภาษีประมาณ 4.65 บาท/ลิตรจากอัตราภาษีก่อนได้รับส่วนลดอยู่ที่ 5.99 บาท นั้นหมายความว่า การคืนภาษีสรรพสามิต 4.65 บาท/ลิตร โดยไม่มีการอุดหนุนใดๆ ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป ราคาขายปลีกดีเซลจะปรับขึ้นทันที 4.65 บาท/ลิตร

หรือมาอยู่ที่ 36.59 บาท/ลิตร หรือเกือบ 37 บาท/ลิตร จากปัจจุบันราคาขายปลีกดีเซลหน้าปั๊มอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร

 

ส่วนผลกระทบหากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ใช้กลไกของกองทุนในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตรนั้น นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์ขนส่งประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลยกเลิกมาตรการช่วยเหลือน้ำมันดีเซล ที่ 32 บาท/ลิตรนั้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าขยับขึ้นตามไปด้วย โดยราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นทุกๆ 1 บาทจะทำให้ค่าบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้น 3% ดังนั้น ถ้าราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นถึง 5 บาท/ลิตร ก็จะทำให้ค่าบรรทุกเพิ่มเป็น 15% ส่งผลกระทบต้นทุนของผู้ประกอบการรถบรรทุกทั้งระบบที่คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 2 ล้านคัน รวมถึงรถกระบะอีกกว่า 10 ล้านคัน ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย

“เวลาน้ำมันปรับขึ้น สินค้าปรับขึ้น แต่เวลาน้ำมันลง ราคาสินค้าไม่ได้ลง แต่กลับกันถ้าเป็นรถบรรทุกมีการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งเมื่อน้ำมันราคาแพง แต่เมื่อราคาน้ำมันราคาถูกลงก็ต้องปรับลดลง ในฐานะที่ทำธุรกิจกับคู่ค้าซึ่งเป็นพันธมิตรกันย่อมต้องพยายามพยุงราคาให้เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้ามีการขยับราคาน้ำมันขึ้นไปอีก ผมเกรงว่าราคาสินค้าในท้องตลาดจะปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ประชาชนอาจจะไม่กล้าใช้เงิน ส่งผลให้ไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบ แล้วสุดท้ายประเทศชาติจะเดินต่อไปได้อย่างไร”

ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลรักษาการจำต้อง “โยนภาระ” การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 32 บาท/ลิตร โดยส่งผ่านไปยังกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ใช้สภาพคล่องของกองทุนมาบริหารจัดการภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ราคาน้ำมันดิบจะต้องไม่ขยับขึ้นไปมากกว่านี้ อย่างน้อยก็ยังประวิงเวลาการปรับขึ้นราคาดีเซลไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ตัดสินใจจะดำเนินการอย่างไรกับราคาน้ำมันในอนาคต