ไปดูคอนเสิร์ต ‘พัลป์’ ที่ลอนดอน (2) : ‘Mis-Shapes’ หรือ ‘Common People’?

คนมองหนัง

ไปดูคอนเสิร์ต ‘พัลป์’ ที่ลอนดอน (2)

: ‘Mis-Shapes’ หรือ ‘Common People’?

 

 

เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา “Common People” ถือเป็นเพลงที่สำคัญและโด่งดังที่สุดของ “พัลป์”

นอกจากนั้น ในราว 1-2 ทศวรรษหลัง เพลงดังกล่าวยังมักได้รับการจัดอันดับให้เป็นเพลง “บริตป๊อปจากยุค 90” ที่ยอดเยี่ยมและทรงอิทธิพลสูงสุด พร้อมๆ กับการเป็น “เพลงชาติ” ของวัฒนธรรมดนตรีนี้ไปโดยปริยาย

“Common People” ถูกขับเคลื่อนด้วยภาคดนตรีอันเรียบง่าย (เล่นแค่ 2 คอร์ดสลับกันไปมา) ขณะที่เนื้อร้องเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มสามัญชนนักเรียนศิลปะชาวอังกฤษ กับนักศึกษาสาวฐานะดีที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศกรีซ มาศึกษาที่วิทยาลัยเซนต์มาร์ติน

หญิงสาวเอ่ยกับชายหนุ่มหลังได้พบกันเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ว่า เธออยากลองใช้ชีวิตแบบสามัญชนชาวอังกฤษ รวมทั้งอยากหลับนอนกับสามัญชนชนเช่นเขา

แต่วิมานรักกลับพังทลายลงไม่มีชิ้นดี เมื่อชายหนุ่มฉุดกระชากหญิงสาวออกจากจินตนาการด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด ผ่านความเป็นจริงที่ว่า คนอย่างเธอไม่มีทางจะมาเข้าใจและใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบเหมือนสามัญชนอย่างเขาได้หรอก

สารทางการเมืองที่ปรากฏชัดในเพลง “Common People” คือการมุ่งวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคมอังกฤษ ที่ถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยธุรกิจท่องเที่ยว-การศึกษาข้ามชาติ ตามกระแสโลกาภิวัตน์

ผ่านตัวละครนักศึกษา-นักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้มีอันจะกิน ซึ่งมองเห็นวิถีชีวิตยากลำบากของคนท้องถิ่น เป็นเพียงเรื่องน่าสนุก เก๋ๆ เท่ๆ คูลๆ ชวนขบขัน

นอกจากสองสถานะดังได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น หลายคนยังมีความเห็นคล้ายกันว่า “Common People” ถือเป็น “เพลงการเมือง” ที่มีเนื้อหาแหลมคมที่สุดของ “พัลป์”

ไม่เพียงแต่เป็น “เพลงชาติของบริตป๊อป” ทว่า นักวิจารณ์บางรายยกย่องให้เพลงเอกของ “พัลป์” เป็น “เพลงชาติของสามัญชน” ในสหราชอาณาจักรเลยด้วยซ้ำ

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป “Common People” ก็ถูกพิสูจน์-ท้าทายด้วยหลายๆ ปรากฏการณ์

เช่น บางคนตั้งคำถามว่า จากการเป็นเพลงที่แต่งและบรรเลงโดยคนหนุ่มสาวชนชั้นแรงงานแห่งเชฟฟิลด์ และการเป็นปากเสียงให้คนเล็กคนน้อยระดับล่างในสังคม

วิธีคิดแบบที่ปรากฏในเพลง “Common People” เมื่อกลางทศวรรษ 1990 ได้แปรผันกลายเป็นอารมณ์ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและหวาดกลัวความเป็นอื่น ซึ่งนำไปสู่การโหวตเห็นด้วยกับกระบวนการ “เบร็กซิต” หรือไม่? มากน้อยแค่ไหน?

เมื่อผมได้มาชมคอนเสิร์ตของ “พัลป์” ที่ “ฟินส์บิวรีพาร์ก” ในปี 2023 ก็ต้องยอมรับว่าความรู้สึก-ปฏิกิริยาที่ตนเองมีต่อเพลง “Common People” นั้นเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

“พัลป์” ร้อง-บรรเลงเพลงนี้เป็นลำดับรองสุดท้ายของคอนเสิร์ต โดยที่บรรดาผู้ชมจำนวนมากต่างก็มีส่วนร่วมไปกับเพลงอย่างครื้นเครงสนุกสนาน

“Common People” เวอร์ชั่นแสดงสดในปัจจุบันแทบไม่ได้บรรจุอารมณ์โกรธเกรี้ยวและสำนึกทางชนชั้นอันเข้มข้นเอาไว้อีกแล้ว สารหลักที่ถูกเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเพลงกลับกลายเป็นเนื้อร้องท่อนที่ว่า “Wanna live with common people like you” (ฉันอยากอยู่กับสามัญชนอย่างพวกคุณ)

ซึ่ง “พัลป์” มุ่งสื่อสารความปรารถนาดีไปยังแฟนเพลงเบื้องหน้าเวทีทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นสามัญชนคนอังกฤษ ผู้คนนานาชาติพันธุ์ที่กลายเป็นประชากรของสหราชอาณาจักร หรือกระทั่งนักท่องเที่ยวเช่นผม (จนบางที ผมยังรู้สึกว่ามึงจะเหยียดหรือตะคอกใส่กูบ้างก็ได้นะ)

“Common People” จึงกลายเป็นเพลงแห่งการเฉลิมฉลองและผนวกรวมความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ที่แลดูอ่อนด้อยพิษสงเขี้ยวเล็บลงไป

แฟนเพลงของ “พัลป์” อาจจะตระหนักตรงกันว่าพวกเขามิได้มี “เพลงการเมือง” แค่เพียงเพลงเดียว เพราะอย่างน้อยที่สุด ในอัลบั้ม “Different Class” เมื่อปี 1995 ก็ยังมีบทเพลงที่กล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งทางชนชั้นแบบชัดๆ อยู่อีกสองเพลง

เพลงแรก คือ “I Spy” (“พัลป์” ใช้เพลงนี้เปิดหัวคอนเสิร์ตในทัวร์ปี 2023) และ “Mis-Shapes” เพลงแรก (เพลงหนึ่งหน้าเอ) ของอัลบั้ม “Different Class” ซึ่งถูกเล่นเป็นลำดับที่สามในคอนเสิร์ตที่ “ฟินส์บิวรีพาร์ก”

และ “Mis-Shapes” ก็กลายเป็นเพลงที่ผมประทับใจมากที่สุดในคอนเสิร์ตเที่ยวนี้

แม้จะมีคำร้องที่คมคาย ดุดัน เปี่ยมอารมณ์ขัน (จริงๆ แทบจะเป็นการปราศรัยปลุกระดม) ท่วงทำนองที่คึกคักติดหู และมิวสิกวิดีโอที่ดูสนุก แต่เกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา เพลงเพลงนี้กลับถูกกลบรัศมีโดย “Common People”

“จาร์วิส ค็อกเกอร์” เคยเล่าว่า เขาเขียนเพลงนี้โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริงในเชฟฟิลด์ยุค 1980 ที่ตามสถานบันเทิงยามค่ำคืนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จะเกิดการปะทะกันระหว่างคนสองกลุ่ม

กลุ่มแรก คือ พวกผู้ชายที่ใส่เสื้อเชิร์ตแขนสั้นสีขาว กางเกงขายาวสีดำ และรองเท้าหนัง (คนงานปกขาว-พนักงานออฟฟิศ) ซึ่งแต่งกายและวางมาดคล้ายกันไปหมด

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ บรรรดาวัยรุ่นหญิงชายมาดเนิร์ดๆ ที่ดูแปลกแยกแปลกตา ทั้งด้วยบุคลิกและเครื่องแต่งกาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล จนมักโดนเขม่น เหยียด รังแกจากคนกลุ่มแรก

หากใครได้อ่านเนื้อหาของเพลง “Mis-Shapes” ที่ผม “ถอดความ” (ไม่อยากเรียกว่า “แปล”) เอาไว้ และเคยฟังเพลงเพลงนี้มาก่อน คุณย่อมสังเกตว่า “การถอดความ/พากย์ไทย” ของผมนั้นมีลักษณะ “บิดสาร” (บางคนอาจรู้สึกว่า “แปลผิด”) อยู่พอสมควร

ยกตัวอย่างเช่นเนื้อหาท่อนที่ว่า “เฮ้ย! ตรวจหวยงวดนี้รึยัง? / ถ้าถูกรางวัลขึ้นมา ชีวิตเอ็งจะพังพินาศแน่ๆ / เอ็งจะรวยไปทำไมวะ? / ถ้าเอ็งคิดไม่ออกว่าจะเอาเงินไปทำอะไร / เพราะหัวสมองเอ็งแม่งโคตรทึบฉิบหาย /เฮ่อ พวกเราทำอะไรไม่ได้สักอย่าง / เราเรียนหนังสือมามากมายในโรงเรียน /จนตอนนี้เรารู้ชัดแล้วว่า / อนาคตที่พวกคุณวางแผนไว้ / แม่งแทบไม่มีเหี้ยอะไรเลย”

คนฟังหรืออ่านเนื้อร้องภาษาอังกฤษหลายคนมักเข้าใจว่า ทั้งหมดคือคำกล่าวโต้ตอบอันเร่าร้อนรุนแรงที่บรรดาเด็กชายขอบผู้แปลกแยก มีต่อคนงานปกขาวที่ดูถูกเหยียดหยามพวกเขา ว่าสุดท้าย พวกคุณก็ไม่ได้ฉลาดไปกว่าพวกเรา และอนาคตของพวกคุณอาจกลวงเปล่ากว่าของพวกเราด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี เพื่อเพิ่มอรรถรสในการปะทะชน ผมกลับเลือกใช้สรรพนามบุรุษที่สองของเนื้อร้องท่อน “ตรวจหวย” ว่า “เอ็ง” เพื่อเพิ่มความคลุมเครือว่า ตกลงคนกล่าวเนื้อหาท่อนนี้คือผู้ใดกันแน่?

เพราะถ้าเราอยากปลดปล่อย “Mis-shapes” ให้หลุดลอยออกจากบริบทเฉพาะของเมืองเชฟฟิลด์ มาเป็นเพลงว่าด้วยความตึงเครียดระหว่าง “คนมี (อำนาจ-เงินตรา)” กับ “คนไม่มี”

เนื้อร้องท่อน “ตรวจหวย” ก็อาจถูกโยกย้ายกลายสภาพมาเป็นมุมมองของ “คนมั่งมี” ที่ดูแคลน “คนยากไร้” ว่าต่อให้พวกเอ็งถูกหวย เอ็งก็ไม่รู้วิธีจะจัดการกับชีวิตหรอก

ก่อนที่คนที่ถูกดูแคลนจะตอบโต้กลับไปว่า เฮ้ย! พวกเรามีความรู้เรื่องต่างๆ มากพอ จนตระหนักได้ว่า ชีวิตพวกคุณก็ไม่มีเหี้ยอะไรเลยเหมือนกัน

หรือในเนื้อร้องท่อนสำคัญปิดท้ายเพลงที่ว่า “We’ll use the one thing we’ve got more of / That’s our minds” ซึ่งบางคนอาจแปลความว่า “minds” หมายถึง “มันสมอง” (เด็กเนิร์ดกำลังบอกคนงานปกขาวว่า พวกข้าฉลาดกว่าพวกเอ็ง)

ทว่า ผมกลับจงใจถอดความคำว่า “minds” เป็น “หัวจิตหัวใจ” ซึ่งดูจะเป็นอาวุธสำคัญร่วมกันของพี่น้อง “ผู้ไร้อำนาจทั่วทุกมุมโลก”

ด้วยการถอดความแบบนี้ ผมจึงรู้สึกว่า การแสดงสดเพลง “Mis-Shapes” ในปัจจุบัน ยังบรรจุความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจไว้เต็มเปี่ยม และสื่อสารอารมณ์โกรธเคืองออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ห้วงเวลาที่งดงามมาก คือ ตอนที่จาร์วิสร้องว่า “Just put your hands up, it’s a raid” (หยุดยกมือของคุณขึ้น นี่คือการปล้น!) แล้วแทบทุกคนหน้าเวทีต่างก็ยกมือขึ้นพร้อมๆ กัน

ไม่ว่านั่นจะเป็นการยกมือขึ้นในฐานะผู้ยินดีปรีดากับการปล้นสะดม, ผู้ยอมจำนนเพราะถูกปล้น หรือด้วยสถานภาพอื่นใดก็ตาม (เช่น ผมที่ยกมือซ้ายของตนขึ้นพร้อมชู “สามนิ้ว”)

ต้องสารภาพว่า นับจากวันที่ 1 กรกฎาคม จนถึงช่วงกลางเดือน เนื้อหาที่ “ข้ามเวลา-ข้ามบริบท” ของ “Mis-Shapes” ก็ยังวนเวียนอยู่ในหัวผม

ผ่านการตีความที่ว่า นี่ไม่ใช่เพลงที่ “พัลป์” ขับร้องให้สามัญชนชาวอังกฤษเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนเท่านั้น แต่มันยัง “จูนติด” กับอารมณ์ความรู้สึกของโหวตเตอร์ชาวไทยกว่า 14 ล้านเสียงใน พ.ศ.2566 ได้อย่างน่าพิศวง

| คนมองหนัง