ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
ไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่เส้นทางที่ราบรื่นแต่อย่างใด
ความร่วมมือระหว่างชนชั้นนำทั้งองคาพยพ ไม่ปล่อยให้พรรคก้าวไกลเดินหน้าสู่แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งอย่างว่าง่าย
การกีดขวางทุกอย่างจะเป็นระบบและผ่านการตระเตรียมยิ่งกว่าปี ช่วงปี 2562-2566 ที่ผ่านมา ดังนั้น หากพรรคก้าวไกลต้องการที่จะเอาชนะคลื่นกระแสของฝั่งอนุรักษนิยม มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนาพรรคการเมืองสู่ความเป็นสถาบันทางการเมือง
ดังนี้
- หลักการทางนโยบายว่าด้วยรัฐสวัสดิการ สิทธิแรงงาน ปากท้องของประชาชน
ต้องชูเป็นนโยบายหลักสื่อสารประเด็นดังกล่าวให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าถึง ปรับความเข้าใจของ ส.ส.ที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายให้มีความเข้าใจต่อประเด็นด้านรัฐสวัสดิการ แรงงาน ให้ชัดเจนมากขึ้น
เหตุใดจุดยืนด้านรัฐสวัสดิการจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะ “รัฐสวัสดิการ” คือรูปธรรมที่จับต้องได้ของประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยที่ผู้คนสามารถจับต้อง รู้สึก อิ่มท้อง ปลอดภัย อบอุ่นได้ และเป็นแกนสำคัญที่ทำให้เข้าใจและปกป้องประชาธิปไตยในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาคทางเพศ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต่างๆ
ทั้งหมดคือเนื้อเดียวกันอย่างที่แยกกันไม่ออก
การที่พรรคใช้แนวคิดรัฐสวัสดิการเป็นตัวชูโรง เพื่อเชื่อมโยงประเด็นเชิงโครงสร้างอื่นๆ จะทำให้ประเด็นด้านประชาธิปไตยอื่นๆ ได้รับการสนับสนุนไปพร้อมกัน
2. การเชื่อมั่นในพลังของประชาชนผ่านการต่อสู้ของประชาชนในชีวิตประจำวัน
ความจำเป็นสำคัญที่พรรคก้าวไกลต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการเจรจาทางการเมืองในอดีตทั้งในระดับสากลและในไทย ว่าแท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างไม่ได้เกิดขึ้น ผ่านสนามเลือกตั้งเพียงสมัยเดียว หรือการเจรจาบนโต๊ะเจรจาไม่กี่ครั้ง
แต่เกิดขึ้นผ่านการรวมตัวกดดันของขบวนการแรงงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนชนชั้นนำจำเป็นต้องค้อมหัวยอมรับข้อเสนอ
มักมีข้อวิพากษ์ว่า แรงงานปัจจุบันมีการกระจายตัวไม่สามารถรรวมตัวกันได้ และมีลักษณะปัจเจกนิยมสูง
แต่งานเขียน “เราไม่มีอะไรต้องเสียนอกจากโซ่ตรวน” โดย เจน ฮาร์ดี ( Nothing to Lose But Our Chains Work and Resistance in Twenty-First-Century Britain by Jane Hardy) ได้ระบุว่าแม้ระบบทุนจะพยายามแยกแรงงานออกจากกันผ่านระบบการจ้างรูปแบบต่างๆ แต่การต่อสู้ยังเกิดขึ้นเสมอทุกที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแรงงานอพยพ กลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ กลุมแรงงานตามแพลตฟอร์ม ก็มีการรวมตัวกัน นัดหยุดงาน และสร้างแรงสะเทือนอันนำสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอดเวลา
ดังนั้น จึงไม่มี “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย”
แต่เป็นการต่อสู้ครั้งแรก ต่อวันที่เหลืออยู่ อยู่เสมอ
พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องทำให้เป็นพรรคมวลชน ของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแรงงานอุตสาหกรรมแบบที่คุ้นชินเท่านั้น
แต่การขยายสู่คนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานสร้างสรรค์ แรงงานภาครัฐ บุคลากรสาธารณสุข ที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคอยู่แล้ว
แต่การเพิ่มบทบาทให้กลุ่มคนทำงานสามารถกำหนดทิศทางของพรรค ซึ่งจะสามารถแลกด้วยการสนับสนุน การกดดันทางสังคมต่อกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษนิยม ที่มีระบบแบบแผน แบบที่ประสบความสำเร็จในทางสากล และมีประสิทธิภาพคาดหมายได้มากกว่า การเจรจาบนโต๊ะเจรจาที่เหล่าชนชั้นนำคุ้นชิน
3. การเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นพรรคมวลชนโดยสมบูรณ์
แม้พรรคก้าวไกลจะนับว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีการเปิดกว้างสำหรับคนธรรมดาเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งโดยเปรียบเทียบกับพรรคอื่น
แต่แน่นอนว่าเมื่อพรรคมีขนาดใหญ่มากขึ้น ทั้งจำนวน ส.ส. และผู้สนับสนุน ย่อมทำให้การบริหารจัดการพรรคเป็นสิ่งที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น จึงเป็นทางสองแพร่งว่า พรรคจะเน้นการบริหารแบบเอกชน ใช้ระบบบริหารทรัพยากรมนุษย์แบบเน้นประสิทธิภาพ หรือการขยายความเป็นประชาธิปไตยในพรรค
แต่การจัดการอาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่าแบบแรก แต่หากมุ่งแบบแรกนั้นก็มีความเสี่ยง ที่คนมีฐานะ มีชื่อเสียง จะมีบทบาทในพรรคมากขึ้นและกีดขวางคนธรรมดาไม่ให้มีบทบาท
ดังนั้น การเลือกแนวทางที่สองจึงเป็นรากฐานของการสร้างพรรคมวลชนระยะยาว
แต่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ ที่ต้องทำผ่านการกระจายอำนาจการบริหารทรัพยากรของพรรค สู่ระดับพื้นที่มากขึ้น
ให้กระบวนการการต่อสู้ทางการเมืองเป็นกลไกระยะยาว โดยดึงทรัพยากรจากพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนมาก กระจายสู่พื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น พื้นที่ที่ยากจน พื้นที่ที่ขาดแคลนทรัพยากร
พร้อมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยภายในพรรคให้เป็นตัวอย่างที่สำคัญสำหรับการเป็นพรรคการเมืองที่นำการเปลี่ยนแปลง
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้มีการรวมตัวในรูปแบบสหภาพต่างๆ ของผู้ปฏิบัติงานให้กับพรรคการเมือง ตามแนวทางอนุสัญญา ILO 87-98
เช่นนั้นจะทำให้การทำงานการเมืองระยะยาวสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตส่วนบุคคลของคนธรรมดาสามารถไปด้วยกันได้
ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอเบื้องต้นต่อช่วงเวลาที่ยากลำบากของขบวนการฝ่ายประชาธิปไตย
แต่แม้จะไม่ได้ทุกอย่างที่หวัง เราต้องอย่าลืมว่าประชาชนชนะมาแล้วครึ่งทางจากการเลือกตั้ง มันยังไม่เป็นสูตรสำเร็จว่าเราจะได้ทุกอย่าง
จากนี้คือการทำงานทางความคิดและการจัดตั้งมวลชน
เพื่อขยายสู่การเป็นพรรคมวลชนของประชาชนโดยสมบูรณ์ที่จะเป็นอำนาจต่อรองต่อชนชั้นนำอนุรักษนิยมในอนาคต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022