เมื่อ ‘ดอน’ เจอ ‘ซูจี’ : ระวัง ‘มิน อ่อง ลาย’ ใช้ไทยต่อรองอาเซียน | สุทธิชัย หยุ่น

คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ แจ้งว่าได้พบกับ “ออง ซาน ซูจี”

และมีความหวังว่าจะเป็นความคืบหน้าทางบวกสำหรับความพยายามแสวงหาสันติภาพในประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของเราแห่งนี้

ประเด็นที่ตามมาก็คือมีรายละเอียดการสนทนาที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทยบอกว่า “ยาวกว่าหนึ่งชั่วโมง” ที่จะเปิดเผยกับประชาชนคนไทยอย่างไร

เพราะข่าวนี้ไปเปิดที่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่อินโดนีเซียระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

รายละเอียดที่ว่านี้มีความสำคัญสำหรับการที่จะส่งต่อให้กับรัฐบาลใหม่ของไทยในการประสานกับอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะเจ้าภาพอินโดนีเซียเพื่อจะได้ให้รัฐบาลทหารพม่าได้ตระหนักว่าต่อไปนี้จะต้องทำงานร่วมกับอาเซียน

…มิใช่เพียงกับประเทศไทยเท่านั้น

เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะการที่ไทยเราทำหน้าที่เป็น “สะพาน” เชื่อมระหว่างเมียนมากับอาเซียนนั้นถูกต้องแล้ว

แต่ท้ายที่สุดเราต้องหลีกเลี่ยงภาพที่ผู้นำทหารพม่าสามารถจะต่อสายได้เฉพาะกับรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่จะไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการของอาเซียน

แบบนี้จะถูกมองว่าเป็น “การทูตแบบงุบงิบ” ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และสถานภาพในอาเซียนสำหรับประเทศไทย

เพราะยังมีภาพว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมให้ “ทูตพิเศษอาเซียนว่าด้วยกิจการเมียนมา” ทำหน้าที่ดั่งที่ระบุไว้ใน “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียน

การที่คุณดอนได้พบออง ซาน ซูจี ถือว่าเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่ได้พบเธอตั้งแต่รัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

คุณดอนแถลงข่าวนอกรอบการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศที่อินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจากที่ได้พบซูจีนั้นยืนยันว่า

เธอ “มีสุขภาพดี”

หลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน คุณเกา คิม โฮร์น เลขาธิการอาเซียนบอกสื่อว่าคุณดอนได้รายงานว่าจากการพบกับออง ซาง ซูจี นั้น

“เธอมีสุขภาพแข็งแรงดี และแน่นอนว่าเธอสนับสนุนการเจรจาแบบมีส่วนร่วม”

ข่าวบอกว่าคุณดอนแจ้งกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าการพูดคุยกับออง ซาน ซูจี “เป็นการพัฒนาในเชิงบวกและเป็นก้าวย่างไปในทิศทางที่ถูกต้องในการหาข้อยุติอย่างสันติต่อสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมา”

 

ข่าวกระแสอื่นแจ้งว่าที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา คุณดอนได้พบกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง ลาย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

จึงมีการสันนิษฐานว่าคุณดอนคงได้พบกับออง ซาน ซูจี วันเดียวกับที่พบมิน อ่อง ลาย

คุณดอนบอกนักข่าวหลังการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่า “แนวทางอื่น” ที่รวมถึงการมีส่วนร่วมดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประการ

นั่นหมายความว่าความพยายามของอาเซียนในการเรียกร้อง, กดดันและหว่านล้อมให้รัฐบาลทหารพม่ายอมทำตามฉันทามติ 5 ข้อที่ผ่านมาล้มเหลว

หนึ่งใน 5 ข้อนั้นรวมถึงการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงโดยทันที

ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นได้

ตรงกันข้าม การปราบปรามกลุ่มต่อต้านและผู้เห็นต่างโดยกองทัพพม่ายังเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อาเซียนบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย, สิงคโปร์และมาเลเซียมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารพม่าโดยขอไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับผู้นำทหารพม่าจนถึงวันนี้

 

อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ยืนยันว่าได้พยายามยื่นมือไปยังรัฐบาลทหารพม่ามาตลอด

โดยมีการติดต่อกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพม่ามากกว่า 110 ครั้งในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา

เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ “ไม่ใช่ปฏิบัติการที่ง่าย แต่กลับเป็นการเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก”

เธอกล่าวว่า งานนี้อินโดนีเซียในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนปีนี้ควรมีบทบาทเป็น “บันไดขั้นแรก” เพื่อนำไปสู่ “การเจรจาที่ครอบคลุม” ในเมียนมา

และเพื่อ “วางแนวทางปิดช่องว่างของความแตกต่าง”

เธอย้ำว่า “ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศเน้นความเป็นเอกภาพ”

เพราะรู้ดีว่ามีคนมองจากข้างนอกว่าประเด็นพม่าทำให้สมาชิกอาเซียนมีความระหองระแหงกันในหลายมิติ

ทับซ้อนด้วยความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจีนและสหรัฐในภูมิภาคนี้ที่ทำให้สมาชิกอาเซียนเลือกยืนอยู่คนละข้างกันในหลายๆ กรณี

 

คุณดอนไม่ได้ระบุว่าได้พบกับออง ซาง ซูจี ที่ไหนและเมื่อไหร่

และไม่ได้บอกว่าฝ่ายทหารพม่ามีเงื่อนไขอะไรสำหรับการพบปะพูดคุยกับอดีตหัวหน้าพรรค NLD ที่ถูกนายพลอาวุโส มิน อ่อง ลาย โค่นและตั้งข้อหามากมายจนวันนี้มีโทษจำคุกหลายสิบปีแล้ว

ออง ซาน ซูจี วัย 78 ปี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่ต้องโทษจำคุก 33 ปี จากความผิดหลายกระทง หลังถูกจับกุมหลังรัฐประหาร

คุณดอนไม่ได้บอกว่าเธอจะต่อสู้คดีต่างๆ อย่างไร

และไม่ได้เล่าว่าเมื่อพรรคของเธอถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้านี้ จะมีโอกาสเจรจาสันติภาพกับฝ่ายทหารอย่างไร

หรือเธอมีเงื่อนไขอะไรที่จะเสนอผ่านประเทศไทยไปยังอาเซียน

ซูจีถูกควบคุมตัวอยู่ที่อาคารเสริมของเรือนจำในกรุงเนปิดอว์ และถูกห้ามเยี่ยมที่รวมทั้งทีมกฎหมายของเธอด้วย

แต่คุณดอนไม่ได้บอกว่าได้พบเธอที่นั่นหรือไม่และมีคนของรัฐบาลทหารพม่ามาร่วมในการสนทนาด้วยหรือไม่

คุณดอนอ้างว่าการพบกับซูจีเป็นไปตามแผนสันติภาพของอาเซียน

แต่ไม่ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่ามีความคืบหน้าในการทำตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนอย่างไร

เพราะตราบเท่าที่ยังไม่มีอะไรใหม่อาเซียนก็ยังมีมติห้ามบรรดานายพลของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูง

ออง ซาน ซูจี ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดหลายข้อหา ตั้งแต่การยุยงปลุกปั่นและการทุจริตการเลือกตั้ง ไปจนถึงการคอร์รัปชั่นและการละเมิดกฎหมายความลับของทางราชการ

แต่เธอยืนยันว่าเป็นข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ และจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

คุณดอนได้ใช้แนวทาง quiet diplomacy หรือ “การทูตเงียบ” ในการช่วยแก้ปัญหาระหว่างอาเซียนกับพม่า

ขณะที่สมาชิกอาเซียนบางชาติเห็นว่าการทูตแบบเงียบนั้นหากใช้แล้วได้ผลก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี

แต่เมื่อผู้นำทหารพม่าไม่ทำตามฉันทานุมัติ 5 ข้อของอาเซียนที่มิน อ่อง ลาย ไปร่วมประชุมและยอมรับในมตินั้นไม่ขยับไปในทิศทางที่เห็นผลเลย ก็จำเป็นต้องมีการทูตเชิงรุก หรือ proactive diplomacy เพื่อให้เห็นว่า “อาเซียนไม่ใช่เสือกระดาษ”

คุณดอนยืนยันว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพม่าหนักกว่าประเทศอื่นๆ จึงมีสิทธิที่จะพยายามหาทางออกผ่าน “ช่องทางไม่เป็นทางการ”

เช่น การจัดให้มีการพูดจาอย่างไม่เป็นทางการที่เรียกว่า Track 1.5 โดยเชิญนักวิชาการและเจ้าหน้าที่มาตั้งวงคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออก

โดยนอกจากคนจากอาเซียนแล้วก็ยังเชิญตัวแทนจากประเทศเพื่อนบ้านพม่า เช่น จีนและอินเดียมาร่วมวงด้วย

จัดที่ประเทศไทยและอินเดียสองครั้ง

ครั้งหลังสุดจัดที่พัทยาโดยเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่ามาเป็นแขกพิเศษ

กลายเป็นข่าวร้อนแรงเพราะคุณดอนเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมดมาด้วยเวลาค่อนข้างฉุกละหุก

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย, สิงคโปร์และมาเลเซียออกมาประกาศไม่มาร่วมเพราะเกรงว่าจะเป็นการส่งสัญญาณผิดไปยังประชาคมโลกว่าอาเซียนยอมอ่อนข้อต่อการก่อรัฐประหารและการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างอย่างรุนแรง

กลายเป็นประเด็นน่ากังวลว่าอาเซียนจะปริแยกเกินแก้

 

ล่าสุดเมื่อคุณดอนรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าได้พบออง ซาน ซูจี และมี “ข่าวดีมาบอก” แล้วก็ต้องต่อยอดและส่งลูกไปให้กับอาเซียนเพื่อจะได้พิสูจน์ว่า

ไทยไม่ถูกรัฐบาลทหารพม่าใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม แต่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการอาเซียน

เพราะอย่างไรเสีย คุณดอนก็ต้องส่งมอบ “ข่าวดี” นี้ไปให้กับรัฐบาลไทยชุดใหม่

…ที่จะต้องจัดระบบการทำงานร่วมกับเพื่อนเราในอาเซียนให้สอดคล้องต้องกับเป้าหมายร่วมกันให้จงได้