ฤๅ ‘ชาติ’ นั้นจะเป็นเพียงความฝัน : ว่าด้วย ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย (2)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ฤๅ ‘ชาติ’ นั้นจะเป็นเพียงความฝัน : ทบทวน วิเคราะห์ คลี่คลาย วาทกรรม ว่าด้วย ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย (2)

 

แล้วรัฐชาติสมัยใหม่เกิดเมื่อไรเพราะอะไร

หลายปีก่อนโน้น เวลาที่คุยกับ อ.เบน เรื่องการเมืองจิปาถะในห้องครัว วรรคหนึ่งที่มักออกมาจากปากของแกบ่อยคือ “อะไรที่บอกว่าเก่า จำไว้เถิดว่า แท้จริงแล้วมันเป็นของใหม่ทั้งนั้น”

เรื่องรัฐชาติก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่าประเทศหรือรัฐชาติ (ประชาชาติ) ในความเข้าใจของคนปัจจุบันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มาจากแนวความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ของชนชั้นนำและผู้มีอำนาจในรัฐแบบจารีตทั้งหลาย จุดเริ่มต้นมาจากยุโรป

ทำไมอะไรที่สมัยใหม่และล้ำหน้ามักต้องเกิดมาจากยุโรปหรือโลกตะวันตกแทบทั้งสิ้นเลย

ตอบอย่างสั้นๆ และตรงประเด็นคือเพราะยุโรปได้ “ตะเกียงวิเศษ” ในราวศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา นั่นคือระบบการผลิตแบบใหม่ต่อมารู้จักกันในนามทุนนิยมซึ่งเกิดในตะวันตก แล้วถึงขยายออกไปครอบงำทั่วโลก

ระบบเศรษฐกิจนายทุนและการเมืองเสรีนิยมผลักดันให้รัฐและชนชั้นปกครองปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกลไกการทำงานของระบบการปกครองแบบจารีตและเป็นไปเองให้กลายมาเป็นระบบที่รวมศูนย์การทำงานและการจัดการวางแผนทั้งหลายให้เป็นองคาพยพเดียวกัน เพื่อตอบสนองจุดหมายของระบบทุนนิยมที่มีวัตถุประสงค์ใหญ่อันเดียวเช่นกันคือการสร้างกำไร ทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมยุโรปทำงานและใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพได้สำเร็จ

ผมมีข้อสังเกตต่อความเปลี่ยนแปลงในประเทศและสังคมยุโรปที่ไม่เหมือนใคร ได้แก่ การที่ชาวยุโรปคิดก่อนทำ เกิดนักคิดและปรัชญาที่สร้างความคิดในเรื่องสังคมก่อนที่คนอื่นๆ จะลงมือสร้างและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประเทศ หมายความว่าพวกนั้นคิดอะไรอยู่ก่อนที่จะลงมือทำ ไม่ใช่ทำเพราะอยากเลียนแบบคนอื่น แล้วหลังจากทำได้ก็กลับมาปรับปรุงความคิดเดิมให้ถูกต้องมากขึ้นต่อไปอีก ทางวิชาการเรียกว่าการสร้างทฤษฎี

ขณะนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำลังส่งเสริมและผลักดันให้รัฐไทยมีทฤษฎีในการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวผ่านกับดับรายได้ปานกลางไปเสียที

อันนี้ก็ต่างจากประสบการณ์ของยุโรปคือของเขาให้ภาคสังคมและสมาคมวิชาการต่างๆ ลงมือทำกันเองเป็นหลัก รัฐเป็นฝ่ายเสริม

แต่ของไทยเรารัฐบาลผ่านหน่วยงานรัฐเป็นผู้ลงมือทำเองโดยออกทุนให้นักวิจัยมาสมัครทำความรู้ให้ ประเด็นนี้จะกระจ่างชัดขึ้นเมื่อพูดถึงลักษณะการสร้างรัฐชาติไทยต่อไป

 

ความคิดทางการเมืองจึงกำเนิดก่อนการสร้างระบบและการเมืองของรัฐ แนวความคิดทางการเมืองสำคัญคือการให้ความสำคัญแก่สังคมหรือชุมชนการเมือง (political society) ว่ามีอาญาสิทธิ์และสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองนั้น เป็นความคิดอันปฏิเสธคำสอนและความเชื่อทางการเมืองแบบจารีตที่วางอยู่บนคำสอนของศาสนจักรคริสเตียน เรียกว่าลัทธิ “ดาบสองเล่ม” หรือทางจิตวิญญาณกับทางโลก นั่นคือระหว่างอำนาจของพระเจ้าในทางศาสนา กับอำนาจของจักรพรรดิในทางโลก

ความขัดกันและวิวัฒนาการทางการเมืองและสังคมที่เปิดกว้างขึ้น มีส่วนในการทำให้ความคิดการเมืองยุโรปวิวัฒนาการไปสู่ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ (separation of power) ซึ่งความคิดแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในมโนทัศน์เรื่องอำนาจของคนเอเชียทั้งหลาย การเกิดสังคมการเมืองในยุคนั้นจึงเป็นเครื่องหมายของการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นของมนุษย์ เป็นการตีความที่ต่างไปจากของนักคิดเก่า ผลจากการที่ทำให้สังคมการเมืองนี้มีอาญาสิทธิ์ ทำให้มันก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความชอบธรรม (legitimacy) จากศาสนจักรเสมอไป

ความเป็นอิสระและปกครองตนเองได้เช่นนี้เอง ที่ทำให้มโนทัศน์เรื่องเสรีภาพของปวงชนเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมายอย่างมากต่อระบบการเมืองยุโรป

เมืองแรกที่ต่อมาใช้คำและความหมายของรัฐอย่างใหม่นี้คือในอิตาลีนั่นเอง ดังที่รู้กันทั่วไปว่านิพนธ์การเมืองที่เป็นแบบสมัยใหม่เล่มแรกของยุโรปคือเรื่องเจ้าของมาเคียเวลลี

 

การก่อรูปและพัฒนามาเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ในยุโรป (ทั้งตะวันตกและตะวันออก) เกิดขึ้นในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึง 18 หรือจากยุคกาฬโรค (Black Death) ระบาดใหญ่ในปี 1348 ถึงปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศสและอเมริกาในศตวรรษที่ 18

ลักษณะสำคัญของรัฐสมัยใหม่นี้ที่รู้จักกันดีในศัพท์ “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (Absolutism) ว่าเป็น “การจัดวางและใส่พลังให้แก่กลไกเครื่องมือในการครอบงำของระบบฟิวดัลที่ออกแบบมาเพื่อบีบบังคับชาวนาจำนวนมากที่หลุดจากระบบพันธนาการศักดินาเก่าให้กลับเข้าไปอยู่ตำแหน่งแห่งที่แบบจารีตของพวกนั้นอีกต่อไป” (Perry Anderson, Lineages of the Absolutist State, 1974) มีการสร้างสถาบันการปกครองใหม่ๆ มากมาย เช่น ระบบราชการ ระบบกฎหมาย ระบบการคลังและภาษี

และที่สำคัญยิ่งคือการสร้างระบบกองทัพประจำการและอาวุธยุทโธปกรณ์

แน่นอนทั้งหมดนี้ดำเนินไปภายใต้ระบบการเมืองรวมศูนย์ที่ลิดรอนสิทธิอำนาจจารีตของขุนนางและเจ้าหัวเมืองรวมถึงอำนาจศาสนจักรลงไปด้วย

ประเด็นที่ถกเถียงกันมากในลักษณะของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุโรป ได้แก่ มูลเหตุที่มาและปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลในการกำหนดรูปแบบและเนื้อหาของรัฐดังกล่าวว่ามาจากอะไร

นักประวัติศาสตร์ทั่วไปอธิบายว่ามันก็วิวัฒนาการมาจากระบบกษัตริย์และระบบขุนนาง ต่างแย่งอำนาจผลประโยชน์กันนำไปสู่การเกิดอาณาจักรที่ใหญ่ขึ้น เข้าทำสงครามระหว่างกันมากขึ้น มุมมองนี้คล้ายกับประวัติศาสตร์ราชวงศ์หรือพงศาวดาร

อีกสำนักที่มาแรงและวิพากษ์มากกว่าคือประวัติศาสตร์ลัทธิมาร์กซ์ที่ใช้ทฤษฎีชนชั้น อธิบายว่ามันเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นขุนนาง (รวมกษัตริย์ด้วย) กับชนชั้นกระฎุมพี ในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบฟิวดัลเข้าสู่ระบบทุนนิยม

ปัญหาทางประวัติศาสตร์ของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุโรปเกิดขึ้นจากการที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงและสร้างองค์ประกอบใหม่ๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งหมดนั้นปฏิเสธยากว่าไม่ได้มาจากอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ดูดเอาทรัพยากรจากทุกมุมโลกเข้ามายังศูนย์กลางเมืองแม่ในยุโรป ทั้งทรัพยากรที่เป็นวัตถุและธรรมชาติกับวัตถุที่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ชีวิตประจำวัน รวมๆ แล้วคือความรู้ของท้องถิ่น ที่ถูกทำให้เป็นระบบเรียนรู้แบบตะวันตกเรียกว่า “บุรพคดีศึกษา” (Orientalism)

คำถามคือลักษณะสังคมยุโรปช่วงเปลี่ยนผ่านนี้คืออะไร ยังเป็นระบบฟิวดัล (ศักดินา) หรือเป็นทุนนิยมแล้ว อำนาจการเมืองบัดนี้อยู่กับใคร แสดงออกอย่างไร

นักประวัติศาสตร์ลัทธิมาร์กซ์สายเคร่งคัมภีร์จะตอบว่าก็อยู่ที่ชนชั้นกระฎุมพี (นายทุน) เรียบร้อยแล้ว

แต่ก็มีนักลัทธิมาร์กซ์สายวิพากษ์ที่แย้งว่า ยังก่อน สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอีกรูปแบบที่ต่างไปของราชาธิราชแบบเดิมที่มีก่อนหน้านี้ แต่ชนชั้นปกครองยังคงเหมือนเดิม

กล่าวคือ ไม่ว่าเป็นมหาชนรัฐ กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญหรือเผด็จการฟาสซิสต์ ทั้งหมดนี้สามารถเป็นรูปแบบของการปกครองของกระฎุมพีได้ทั้งสิ้น

อำนาจการเมืองยังอยู่กับชนชั้นขุนนางที่ไกล่เกลี่ยให้กับชนชั้นกระฎุมพีอีกนานหลายปี แม้ในประเทศที่อำนาจรัฐราชวงศ์ถูกโค่นล้มไปอิทธิพลของระบบฟิวดัลในทางเศรษฐกิจเกษตรกรรม ทางวัฒนธรรมและแบบการเมืองก็ยังดำรงอยู่

การเกิดระบบทุนนิยมแบบสัมบูรณ์ที่ไร้ซากเดนของระบบเก่านั้นไม่เป็นความจริง เพราะโดยพื้นฐานพวกชนชั้นปกครองทั้งหมดยังต้องการขูดรีดเอาเปรียบมวลชนชาวนาคนชั้นล่างอยู่

ในขณะที่ระบบการผลิตแบบนายทุนค่อยๆ เข้ามาทำลายความสัมพันธ์แบบฟิวดัลลงไป ด้วยการทำให้ชาวนาสูญเสียปัจจัยในการผลิตของตนไปเป็นแรงงานรับจ้างเสรี ปมปัญหาเรื่องลักษณะสังคมระยะเปลี่ยนผ่านว่าเป็นอะไร จะเป็นปัญหาต่อนักประวัติศาสตร์ไทยทั้งฝ่ายจารีตและก้าวหน้าด้วยเหมือนกัน

 

แนวคิดและรูปแบบสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อการเมืองระหว่างประเทศได้แก่ รัฐชาติที่เป็นรัฐเดี่ยวเพื่อให้แต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตยของตนเองเต็มที่ในดินแดนอาณาเขตที่แน่นอนของตน เป็นการเปลี่ยนรัฐจารีตยุโรปจากรัฐราชสมบัติที่อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือและร่างของกษัตริย์หรือจักรพรรดิ หมายความว่าก่อนนี้อำนาจอธิปไตยก็คืออำนาจของกษัตริย์ รัฐคือกษัตริย์ และกษัตริย์คือรัฐมาสู่อำนาจอธิปไตยของรัฐ

แรงบันดาลใจที่ทำให้พวกนั้นตกลงในหลักการเวสต์ฟาเลียในปี 1648 นี้มาจากการทำสงครามระหว่างอาณาจักรและรัฐทั้งหลายในยุโรปด้วยกันเองอย่างยาวนาน

เช่น สงครามสามสิบปี สร้างภาระทางการคลังให้แก่กษัตริย์ จนเกิดความขัดแย้งภายในอาณาจักร ในที่สุดทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรยุติสงครามเพื่อสันติภาพ เป็นที่มาของการดำเนินนโยบายทางการทูตอันเป็นเครื่องมือหลักของยุโรปต่อมา

บทเรียนที่ได้ในการประชุมสันติภาพครั้งนั้นคือหลักการใหญ่ๆ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของรัฐ การไม่แทรกแซงรัฐอี่นและความเท่าเทียมกันของรัฐทั้งหลายเรียกว่าบูรณภาพเหนือดินแดน

เป็นครั้งแรกที่รัฐไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างมีความเท่าเทียมกัน ไม่อาจนำไปสู่การอ้างในการรุกรานได้อีกต่อไป

หลักการใหญ่ของเวสต์ฟาเลียคือทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของรัฐ (State sovereignty) พัฒนาการมาจากปรัชญาการเมืองของจัง โบแดง แต่หลังจากมติเวสต์ฟาเลียสร้างรัฐที่เป็นอธิปไตยไม่ใช่ในตัวกษัตริย์อีกต่อไป อำนาจอธิปไตยก็เริ่มรับความหมายใหม่ที่ทรงพลังต่อมา ด้วยการให้ความชอบธรรม (หรืออาญาสิทธิ์) แก่ประชาชนว่าเป็นผู้ทรงอำนาจนี้แทน แม้ในทางปฏิบัติอาณาจักรส่วนใหญ่ยังคงมีราชวงศ์หรือตระกูลทรงอำนาจปกครองเหนือรัฐบาลก็ตาม

แต่ระบบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยเริ่มทำงานแล้ว