คนไทย ‘ร้อยพ่อพันแม่’ พูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ความเป็นไทยและประเทศไทยสมัยเริ่มแรกหรือเก่าสุด อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง

คนเรียกตนเองว่าไทยพบบริเวณนี้ ไม่พบที่อื่น ดังนั้น คนไทยมีความหมายดังนี้

(1.) ลูกผสมหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ทั้งในอุษาคเนย์และในโลก (2.) พูดภาษาไทย (สำเนียงเหน่อ ลุ่มน้ำโขง) (3.) เรียกตนเองว่าคนไทย (4.) มีวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบมอญ, เขมร, ลาว, มลายู (5.) พบเก่าสุดภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากนั้นแผ่ขยายไปภาคอื่นๆ

อำนาจของภาษาไทย

ลักษณะสำคัญเบื้องต้นของคนไทย คือพูดภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษามีอำนาจบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนี้ (1.) เริ่มมีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมือง ในรัฐอโยธยา (2.) มีอำนาจเต็มที่ในรัฐอยุธยา แผ่นดินเจ้านครอินทร์ ตั้งแต่ราว พ.ศ.1950 (ก่อนหน้านั้นอยู่ในอำนาจของภาษาเขมร)

“ไทย” เป็นชื่อทางวัฒนธรรมที่ถูกสมมุติขึ้นเรียกคนกลุ่มหนึ่ง จึงพิสูจน์ไม่ได้ด้วยดีเอ็นเอ หรือกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ทั้งปวง

“เชื้อชาติไทย” สายเลือดบริสุทธิ์ ไม่มีในโลก เพราะ “เชื้อชาติ” หรือ Race ในโลกนี้ไม่มีจริง แต่ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในยุโรป แล้วแพร่หลายถึงไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ปลายแผ่นดิน ร.5 ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในโลกยกเลิกเชื้อชาติหมดแล้ว

คนเรียกตนเองว่า “ไทย” พบเก่าสุดบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากหลักฐานดังนี้

(1.) พูดภาษาไทย เพราะพบวรรณกรรมภาษาไทยเก่าสุดอยู่ในรัฐอโยธยา เรือน พ.ศ.1700

วรรณกรรมไทยเก่าสุดสมัยอโยธยา เขียนบนสมุดข่อยเป็นภาษาไทย ด้วยอักษรเขมร แต่เรียกอักษรขอม แล้วเรียก “ขอมไทย” (ครั้นนานไปก็ปรับอักษรเขมรเป็นอักษรไทย)

(2.) เรียกตนเองว่าไทย พบหลักฐานเก่าสุดในรัฐอยุธยา เรือน พ.ศ.2000

ก่อน พ.ศ.1700 ไม่พบหลักฐานคนเรียกตนเองว่าไทย

นอกลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่พบคนเรียกตนเองว่าไทย

 

ภาษากลางทางการค้าดินแดนภายใน

ภาษาไทยมีต้นตอรากเหง้าจากตระกูลภาษาไท-กะได หรือ ไท-ไต บริเวณรอยต่อระหว่างภาคใต้ของจีนที่มณฑลกวางสี (จ้วง) กับภาคเหนือของเวียดนาม (ผู้ไท) ราว 3,000 ปีมาแล้ว

จ้วง (กวางสี) และผู้ไท (เวียดนาม) พูดภาษาตระกูลไท-ไต แต่ไม่เรียกตนเองว่าไทย หรือคนไทย จึงไม่ใช่คนไทย หรือ “ไม่ไทย” (ในความหมายปัจจุบัน)

อำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไตแผ่ไปกว้างขวางตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป หนุนด้วยพลังการค้านานาชาติที่เข้ามาทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในที่สุดภาษาไท-ไตเติบโตเป็นภาษาไทยแล้วเป็นภาษากลางของรัฐ และท้ายที่สุดเป็นภาษาราชการของอาณาจักร

เผ่าพันธุ์กับภาษาในทางสากลไม่จำเป็นต้องผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป เพราะภาษาแพร่กระจายไปอย่างมีประสิทธิภาพตามพลังผลักดันทางสังคมและเศรษฐกิจ-การเมืองของประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องถูกทำให้ย้ายถิ่นในฉับพลันอย่างทารุณโหดร้ายตาม “การอพยพถอนรากถอนโคน” ของคนพูดภาษานั้นๆ ซึ่งพบในประวัติศาสตร์แห่งชาติ “เพิ่งสร้าง” ของไทย

อักขรวิธีภาษาไทยง่ายต่อการใช้งานสื่อสาร จึงถูกใช้เป็นภาษากลางทางการค้าของคนที่อยู่ดินแดนภายในแถบ “โซเมีย” ทางตอนใต้ของจีน ทำให้ภาษาไทยเคลื่อนไหวไปบนเส้นทางการค้าภายในถึงลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบเบาะแสในตำนานเรื่องขุนบรม (บูฮม) สะท้อนความเคลื่อนไหวของภาษาไทย (ตระกูลไท-ไต) จากโซเมีย ผ่านลุ่มน้ำโขง-สาละวิน ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สำเนียง ภาษาไทยสำเนียงลุ่มน้ำโขง ผสมสำเนียงภาษามอญ-เขมร เป็นสำเนียงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลักษณะปัจจุบันเรียก “เหน่อ” แบบสำเนียงโคราช, สำเนียงสุพรรณ

ภาษาไทย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นลูกผสมของภาษามอญ, เขมร, มลายู และลาว เพราะมีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ปะปนกัน เช่น ทองคำ มาจาก ทอง (มอญ, เขมร) คำ (ลาว) ดั้งจมูก มาจาก ดั้ง (ลาว) จมูก (เขมร) ฝาละมี มาจาก ฝา (ลาว) ละมี (มอญ) แม่ มาจาก เม (เขมร, มอญ) โจรสลัด มาจาก โจร (บาลี, สันสกฤต) สลัด (มลายู)

แผนที่แสดงการเคลื่อนไหวของภาษาไทยจากเมืองแถนและเมืองเครือญาติบนเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีปตามตำนานเรื่องขุนบรม (แผนที่โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ มิถุนายน 2564)

เส้นทางขุนบรม

ผู้ไท หรือไทดำ มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญมากในความเคลื่อนไหวโยกย้ายไปมาของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไตจากเมืองแถน (ในเวียดนาม) ถึงเมืองไทย (รัฐอยุธยา) ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป (ทางบก) พบหลักฐานเป็นร่องรอยอยู่ในความทรงจำคำบอกเล่ารูปตำนานนิทานเรื่องขุนบรม

เส้นทาง (ในความทรงจำเรื่องขุนบรม) เหล่านั้น ไม่ระบุตายตัวเรื่องยุคสมัย แท้จริงแล้วคือเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีปตั้งแต่สมัยดั้งเดิมเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องถึงสมัยหลังๆ โดยเฉพาะสมัยการค้าสำเภากับจีนราวหลัง พ.ศ.1500 พบหลักฐานการเคลื่อนไหวโยกย้ายของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในลงลุ่มน้ำท่าจีน ทางฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เนื้อหาเรื่องขุนบรมและลูกชายทั้ง 7 คนล้วนสมมุติขึ้นทั้งหมด แต่ตำแหน่งบ้านเมืองและชื่อบ้านนามเมืองอาจใกล้เคียงความจริงตามภูมิประเทศที่เป็นจริงบริเวณ “โซเมีย” ตั้งแต่มณฑลกวางสี-จ้วง ทางตอนใต้ของจีน ต่อเนื่องพื้นที่เดียวกันกับวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น ทางตอนเหนือของเวียดนาม แล้วเคลื่อนไหวโยกย้ายไปตามเส้นทางบกถึงลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าดินแดนภายใน เชื่อมโยงทางใต้ของจีนกับดินแดนคาบสมุทรระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ.1

หลักฐานสนับสนุนเท่าที่พบมีหลายอย่าง แต่อย่างสำคัญมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งในไทยและในเวียดนาม (รวมภาคใต้ของจีน) ได้แก่ พูดตระกูลภาษาไท-ไต, นับถือแถน, ความเชื่อเรื่องขวัญ, ทำนาทดน้ำ, ประเพณีทำศพครั้งที่ 2, เทคโนโลยีโลหะสำริด เป็นต้น

เทคโนโลยีโลหะสำริดเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะจากการขุดค้นทางโบราณคดีโนนหนองหอ (บ้านนาอุดม ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร) ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ มีรูปแบบคล้ายคลึงใกล้เคียงอย่างเดียวกับที่พบในกลุ่มวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น จากเวียดนามเหนือ (เอกสาร โนนหนองหอ แหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย จัดทำโดยสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไม่บอกปีที่พิมพ์) ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณหลักแหล่งของผู้ไท หรือไทดำ ลุ่มน้ำแดง-ดำ

[นอกจากนั้น ยังมีเส้นทางการค้าเลียบชายฝั่งจากทางใต้ของจีนกับทางเหนือของเวียดนามเข้าถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงพบวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น เช่น เครื่องรางรูปสัตว์มีสองหัวเรียก “ลิง-ลิง-โอ” ในเขตเมืองอู่ทอง ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง

ดินแดนภายในภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวแผ่กระจายของภาษาไทยหลายพันปีมาแล้ว มีขอบเขตเหนือสุดอยู่บริเวณโซเมียลุ่มน้ำแยงซีทางภาคใต้ของจีน ส่วนทางใต้สุดอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางของไทย และคาบสมุทรตอนบน

คนหลายเผ่าพันธุ์ต่างมีภาษาแม่เป็นภาษาพูดของตนเอง แต่เมื่อต้องพูดจาค้าขายกับคนกลุ่มอื่นจึงต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง แล้วค่อยๆ เติบโตขยับขยายแผ่กว้างไป ครั้นนานไปก็คุ้นชินในชีวิตประจำวันทำให้ภาษาไทยมีอำนาจและมีอักษรไทย ดึงดูดให้คนหลายเผ่าพันธุ์เหล่านั้นกลายตนแล้วเรียกตนเองว่าไทยหรือคนไทย

อำนาจของภาษาไทยบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความเป็นมายาวนานมากกว่า 1,500 ปีมาแล้ว แต่หลักฐานคลุมเครือ ต่อมาจึงพบหลักฐานชัดขึ้นราว 1,000 ปีมาแล้ว •