ชัยชนะที่เปราะบาง ! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หากพิจารณาจากพัฒนาการของประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว เราจะเห็นได้ว่าพลังของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ผสานเข้ากับพลังของจารีตนิยมนั้น เป็นฝ่ายที่กุมความได้เปรียบในการเมืองไทยมาโดยตลอด สำหรับในอดีตแล้ว ชัยชนะของฝ่ายนี้ด้านหนึ่งคือ การใช้พลัง “เสนาธิปไตย” ในการควบคุมการเมืองด้วยการรัฐประหาร และในอีกด้านของการเมืองสมัยใหม่นั้น พลังสำคัญในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม กลับไม่ใช่พลังทางทหาร แต่เป็นการใช้พลัง “ตุลาการธิปไตย” เพราะเป็นการจัดการด้วยกระบวนการทางกฎหมาย และไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารในแบบเดิม จึงอาจเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า

ดังนั้นสำหรับการต่อสู้ในการเมืองไทยแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมักจะเป็นผู้ชนะเสมอ เนื่องจากสามารถจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองได้อย่างง่ายดายด้วยการใช้พลัง “ตุลาการธิปไตย” ซึ่งพลังได้ถูกพิสูจน์ถึงชัยชนะมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว

แต่ชัยชนะเช่นนี้ก็เป็นความเปราะบางในตัวเอง เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจนว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ต้องการการปรับตัว และไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงข้อเรียกร้องจากฝ่ายเสรีนิยมแต่ประการใด คำตัดสินในมิติทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนกับการ “ยั่วยุ” ต่อฝ่ายที่เห็นต่างอย่างเห็นได้ชัด แต่กระนั้น พวกเขามักเชื่อว่ากระบวนการตุลาการธิปไตยเช่นนี้ จะทำให้พวกเขาชนะสงครามการเมืองครั้งใหม่ได้เสมอ แต่ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็คือ คำตัดสินดังกล่าวอาจจะกลายเป็นต้นทางของกระแสความรุนแรงในอนาคตได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนของฝ่ายอนุรักษนิยม ที่นับวันยิ่งทวีความเป็น “จารีตนิยม” มากขึ้นนั้น ทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ดูจะตีบตันมากขึ้น เท่าๆกับที่ การแสวงหาทางออกจากวิกฤตก็ถูกบีบให้แคบลงด้วย เนื่องจากความเห็นต่างถูกขยายให้มี “ช่องว่างทางความคิด” มากขึ้นนั่นเอง

ในกรณีเช่นนี้ เนื่องจากชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีอำนาจทางการเมืองมักเชื่อเสมอว่า พวกเขายังสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างไว้ในมือได้ตลอดไป และเชื่อมั่นเสมอว่า พวกเขาจะดำรง “สถานะเดิม” ของสังคมไว้ โดยไม่จำเป็นต้องปรับตัวไปกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวแต่อย่างใด

แต่ดูเหมือนว่า ประวัติศาสตร์การเมืองโลกอาจมีคำตอบในแบบที่เห็นแย้ง กล่าวคือ ในหลายกรณีนั้น เราได้เห็นถึงความพยายามของปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมที่คุมอำนาจรัฐ และใช้ทุกวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้สังคมดำรงอยู่ด้วยสถานะเดิม… แน่นอนว่า พวกเขาพร้อมที่จะใช้อำนาจทุกอย่างเพื่อ “สร้างความกลัว” อันจะทำให้สังคมยอมจำนน และอยู่โดยไม่เรียกร้องหาความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขณะเดียวกันก็อยู่โดยคนในสังคมยอมรับต่อการใช้อำนาจของผู้ปกครองอย่างไม่ต่อต้าน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การใช้อำนาจเช่นนี้กลับมีข้อจำกัดในตัวเอง เพราะหากฝ่ายเสรีนิยมที่นำขบวนโดยคนรุ่นใหม่ตัดสินใจที่จะก้าวข้ามผ่าน “ความกลัว” ที่ถูกสร้างขึ้นแล้ว พลังของ “รัฐแห่งความกลัว” จะไม่เหลือพอที่จะใช้ยับยั้งการลุกขึ้นสู้ของผู้เห็นต่างได้แต่อย่างใด

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชุดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียที่นำโดยเลนิน การปฏิวัติประชาธิปไตยในจีนที่เปิดการเคลื่อนไหวโดย ดร. ซุนยัตเซ็น หรือ การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านที่ขับเคลื่อนโดยท่านโคไมนี ล้วนเป็นข้อเตือนใจให้แก่กลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมอย่างดีว่า อำนาจในการปราบปรามของรัฐบาลเดิมนั้น แม้จะเข้มแข็งเพียงใด แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดใที่จะหยุดยั้งกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมได้จริง

การใช้อำนาจรัฐปราบปรามฝ่ายตรงข้าม บนพื้นฐานของ “สายเหยี่ยว” ด้วยความเชื่อว่า กำลังที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการชี้ขาดชัยชนะนั้น ถูกพิสูจน์มาหลายครั้งว่า ชุดความคิดแบบ “อำนาจคือ ชัยชนะ” และพร้อมที่จะใช้อำนาจจัดการกับผู้เห็นต่าง ตลอดรวมถึง การสร้างอำนาจของชัยชนะผ่านกระบวนการทางกฎหมายนั้น แม้นว่าผลที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเหมือนชัยชนะจริง เพราะสามารถจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้ แต่สิ่งนี้กลับเป็นเพียงภาวะชั่วคราว และไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้สถานการณ์ในอนาคตอยู่ในความควบคุมได้ตลอดไป

หากพิจารณาด้วยความใคร่ครวญแล้ว จะเห็นเสมอว่า สิ่งที่เกิดเช่นนี้เป็นเพียง “ชัยชนะทางยุทธวิธี” และมักจบลงด้วย “ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์” เสมอ ดังนั้น ยิ่งฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งใช้อำนาจจัดการกับการเรียกร้องของฝ่ายเสรีนิยมที่เป็นผู้เห็นต่างมากเท่าใด แรงต่อต้านก็จะยิ่งมีมากขึ้นไปตามลำดับ และผู้เห็นต่างก็จะยิ่งถูกผลักให้เอียงไปหาการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่า ปลายทางของสถานการณ์เช่นนี้คือ การใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ และในบางกรณี อาจขยับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดของการเป็น “ความรุนแรงขนาดใหญ่” ได้ด้วย

บทเรียนจากประวัติศาสตร์โลกชี้ให้เห็นอีกว่า อำนาจรัฐที่ดูเข้มแข็งของจักรวรรดิ ล้วนพังลงอย่างไม่เป็นท่า บนความเชื่อพื้นฐานว่า รัฐอนุรักษนิยมสุดขั้วไม่มีความจำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมที่ล้อมรอบตัว ฉะนั้น การปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงจึงกลายเป็นคำตอบที่เป็นจุดจบในตัวเองเสมอ

ดังนั้น คำตัดสินในทางกฎหมายอาจถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมในทางนิติศาสตร์ แต่ในทางรัฐศาสตร์แล้ว กลับต้องกังวลอย่างมากกับภาวะสังคมอนุรักษนิยมสุดขั้วที่ไม่ยอมรับกับการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งภาวะเช่นนี้เป็นบทเรียนที่สอนนักรัฐศาสตร์ในทุกยุคว่า การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำรัสเซีย ชนชั้นนำจีน และชนชั้นนำอิหร่าน ล้วนนี้จบลงด้วยความรุนแรงทั้งสิ้น

วันนี้ “รัฐอนุรักษนิยม-จารีตนิยมไทย” กำลังเผชิญกับความท้าทายจากกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ฝ่ายรัฐอาจจะชนะด้วยกระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” ได้จริง แต่คงต้องยอมรับสัจธรรมประการหนึ่งที่สำคัญว่า ชัยชนะเช่นนี้ไม่สามารถหยุดยั้งกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมภายในได้เลย และอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นด้วย!