คณะราษฎรพลิกบทบาทกองโฆษณาการ : จากต่อต้านสู่เผยแพร่ประชาธิปไตย (1)

ณัฐพล ใจจริง

กองโฆษณาการตั้งขึ้นโดยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ โดยได้แนวคิดจากพรรคนาซีภายหลังการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 และการปราบปรามคณะราษฎรเกือบแล้วเสร็จ

เป้าหมายเมื่อแรกตั้งกองโฆษณาการ

สำนักงานโฆษณาการ (2476-2483) ที่อาคารแบดแมนสมัยรัฐบาลคณะราษฎร

“กองโฆษณาการ” ก่อตั้งเมื่อ 3 พฤษภาคม 2476 โดยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ภายหลังการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 และการปราบรามคณะราษฎรด้วยการรัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกา (1 เมษายน 2476) เกือบแล้วเสร็จ ด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงทบวง กรม 2476

ต่อมา รัฐบาลคณะราษฎรคุมสภาพการเมืองได้แล้วได้ยกฐานะกองขึ้นเป็น “สำนักงานโฆษณาการ” ( 9 ธันวาคม 2476) เทียบเท่ากรม และเป็น “กรมโฆษณาการ” (5 กรกฎาคม 2483) และ “กรมประชาสัมพันธ์” (8 มีนาคม 2495) ตามลำดับ

เมื่อครั้งแรกตั้งกอง มีสำนักงานตั้งที่ชั้น 2 ของอาคารกรมศิลปากร ตรงข้ามประตูวิเศษไชยศรี มีลักษณะเป็นกรมอิสระที่ขึ้นกับคณะรัฐมนตรี มีจัดระเบียบการบริหารภายในแบ่งเป็นแผนก แต่ยังไม่มีประกาศพระราชกฤษฎีกา แบ่งเป็นแผนกกลาง แผนกเอกสาร แผนกหนังสือพิมพ์ แผนกวิทยุกระจายเสียงและแผนกเสริมความรู้มหาชน

ภายหลังประกาศ พ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงทบวงกรมแล้ว ต่อมา รัฐบาลพระยามโนฯ แก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้เพิ่มส่วนราชการระดับกระทรวงสำหรับกิจการราชสำนักขึ้น ชื่อ ศาลาว่าการพระราชวัง มีกรมใต้บังคับถึง 10 กรม

จากนั้น กองโฆษณาการถูกย้ายจากอาคารกรมศิลปากรเข้ามายังศาลาลูกขุน ในพระบรมมหาราชวัง (กรมประชาสัมพันธ์, 2506, 23-24; ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, 2517, 66)

โดยลำดับแล้ว กองโฆษณาการถูกตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารด้วย พ.ร.ฎ.และปิดสภาผู้แทนฯ งดใช้รัฐธรรมนูญเพื่อมิให้สภาผ่านสมุดปกเหลืองปฏิวัติทางเศรษฐกิจ โยกย้ายการคุมกำลังออกจากมือคณะราษฎร และเนรเทศนายปรีดี พนมยงค์

พระยามโนปกรณ์ฯ และที่ตั้งกองโฆษณาการเมื่อแรกตั้ง ณ อาคารกรมศิลปากร

ยาตาเบ ทูตญี่ปุ่นบันทึกว่า จากนั้น รัฐบาลจัดตั้งกองโฆษณาการขึ้นด้วยอ้างว่า เพื่อจัดระเบียบข่าว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจำกัดเสรีภาพของการนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์ รวมทั้งจำกัดการแสดงออกซึ่งความเห็นของประชาชน รวมทั้งเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่เคยกำหนดให้มีกลางเดือนเมษายนนั้นเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าเตรียมการไม่ทัน

ทำให้เกิดความสงสัยในหมู่ชนอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลกำลังเตรียมรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาอีกครั้ง (ยาตาเบ, 92)

จากบริบทข้อสังเกตจากทูตญี่ปุ่น และความสงสัยของสังคมที่เชื่อว่า การกระทำต่างๆ ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นเตรียมการรื้อฟื้นระบอบเก่าให้กลับขึ้นมาใหม่ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ภารกิจหน้าที่ของกองโฆษณาการที่ก่อตั้งขึ้นเป็นไปเพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนจำนวนมากเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรื้อฟื้นระบอบเก่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำด้วยความเร่งด่วนในการก่อตั้ง นั่นคือ การขาดแคลนงบประมาณและกำลังคน นับแต่สภาหมดหน้าที่ลงจากการถูกปิดลงอย่างฉับพลัน รัฐบาลโอนข้าราชการสำนักงานเลขาฯ สภาผู้แทนฯ ที่ตกงานจากการปิดสภา ให้มาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานใหม่ของรัฐบาลแทน

โดยรัฐบาลอนุรักษนิยมโอน ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ (2431-2496) ปลัดกระทรวงเกษตรพนิชการ เจ้านายผู้สนับสนุนคณะราษฎรและเห็นใจนายปรีดี กรณีสมุดปกเหลืองให้มาเป็นเพียงหัวหน้าหน่วยงานใหม่ชื่อ กองโฆษณาการ อันเป็นระดับกองเท่านั้น (สกลวรรณากร, 2499, 5-6)

สมุดปกเหลืองของนายปรีดี และสมุดปกขาวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

การลดตำแหน่งของ ม.จ.สกลฯ จากระดับปลัดกระทรวงมาเป็นเพียงหัวหน้ากองนั้น ไพโรจน์ ชัยนาม ข้าราชการชุดแรกของกองเห็นว่า

“เพราะเหตุผลทางการเมืองสมัยนั้น” แต่ ม.จ.สกลฯ เป็นนักประชาธิปไตยมาก เขาเล่าว่า เมื่อร่วมงานกับท่านเพียงหนึ่งถึงสองวัน ท่านเรียกประชุมข้าราชการทุกคนและบอกว่า จะไม่ยุ่งกับความคิดทางการเมืองของเหล่าข้าราชการหนุ่มที่นิยมระบอบประชาธิปไตย แต่ขอให้ทุกคนร่วมมือทำงานใหม่นี้ “เพราะเป็นงานของชาติ ไม่ใช่ของบุคคลใด” (ไพโรจน์, 2538, 23)

ทั้งนี้ ข้าราชการจากสำนักงานเลขาธิการสภา ที่ถูกโอนไปกองโฆษณการที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ รุ่นแรกจำนวน 7 คน คือ ทวี ตะเวทิกุล (2451-2492) สมประสงค์ หงสนันทน์ (2453-2554) ปราโมทย์ พึ่งสุนทร (2448-2524) บุญช่วย ศรีชุ่มสิน ตุ๊ แหลมหลวง เปรื่อง ศิริภัทร (2444-2520) และไพโรจน์ ชัยนาม (2454-2537) และต่อมาอีกไม่กี่วัน หลวงสารานุประพันธ์ (2439-2497) ถูกส่งมาจากกระทรวงกลาโหม มาเป็นหัวหน้าแผนกหนังสือพิมพ์

ที่ตั้งใหม่ของกองโฆษณาการสมัยพระยามโนปกรณ์ฯ ณ ศาลลูกขุน พระบรมมหาราชวัง
เครดิตภาพ : Thailand Heritage

ต่อมา เมื่อคณะราษฎรทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนฯ ลง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 เพื่อยุติการขัดขวางความเปลี่ยนแปลงและความพยายามพลิกฟื้นระบอบเก่าให้กลับมาลง พร้อมคืนการปกครองระบอบประชาธิปไตย คืนรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม คืนการแบ่งแยกอำนาจสู่ระบอบประชาธิปไตย

คณะราษฎรจึงเข้ากุมสภาพการเมืองไทยได้อีกครั้ง แต่ความพยายามต่อต้านของคณะเจ้าไม่จบสิ้นลง ในที่สุด พวกเขาเลือกใช้กำลังทางทหารก่อกบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) อันเป็นสงครามกลางเมืองครั้งแรกที่เกิดขึ้นจากการระดมทหารหัวเมือง ปลุกระดมข้าราชการและประชาชนที่ยังภักดีกับระบอบเก่าให้เข้าร่วมการก่อกบฏ

เมื่อรัฐบาลพระยาพหลฯ ปราบกบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) ลงได้แล้ว รัฐบาลยกฐานะจากกองโฆษณาการขึ้นเป็นสำนักงาน มีฐานะเทียบเท่ากรม มี 3 กอง กองสำนักงานเลขานุการ มี 2 แผนก แผนกสารบรรณ แผนกคลัง กองเผยแพร่ มี 5 แผนก แผนกเอกสาร แผนกวิทยุกระจายเสียง แผนกปาฐกถา แผนกภาพยนตร์ และแผนกการแสดงเบ็ดเตล็ด และกองหนังสือพิมพ์ (สุวิมล พลจันทร์, 19-20)

ต่อมา รัฐบาลพระยาพหลฯ ให้ย้ายหน่วยงาน ย้ายออกจากสภาพแวดล้อมแบบจารีตในศาลาลูกขุน พระบรมมหาราชวัง มายังอาคารใหม่ที่ห้างแบดแมนหรือโรงเรียนกฎหมาย

สร้างพลเมืองใหม่งานใหม่ของสำนักงานโฆษณาการ

ม.จ.สกลวรรณากร และหลวงสารานุประพันธ์

รัฐบาลคณะราษฎรต้องการส่งเสริมให้พลเมืองมีความผูกพันและตระหนักในคุณค่าระบอบประชาธิปไตยเพื่อร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตยให้มั่นคง

ครั้งนั้น รัฐบาลประเมินการรับรู้ของผู้คนในปี 2477 ขณะนั้นยังอยู่ในภาวะแกว่งไกวว่า คนที่ “พอใจและนิยมชมชอบ” ในระบอบประชาธิปไตยมีร้อยละ 25 คนที่ไม่พอใจร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 นั้น “ไม่รู้ไม่ชี้อะไรด้วยเลย”

ดังนั้น รัฐบาลตระหนักดีถึงความจำเป็นในการเผยแพร่การปกครองใหม่ให้พลเมืองตามชนบทที่ให้รู้และตระหนักในสิทธิเสรีภาพและความเป็นเจ้าของประเทศให้กว้างขวาง

ข้อเสนอจากหลวงรณสิทธิพิชัย (2442-2515) สมาชิกคณะราษฎร ผู้ปฏิบัติงานสำนักงานโฆษณาการว่า

“ฝ่ายบริหารซึ่งน่าจะจัดการให้ประชาชาติอีก 60 ในร้อยนั้นได้รู้ว่า เขามีส่วนได้อะไรในระบอบการปกครองใหม่นี้บ้าง… เพราะหากไม่กระทำดั่งนั้น จะบังเกิดการต่อต้านระหว่างพวกที่นิยมกับไม่นิยมขึ้น แม้พวกที่นิยมจะมีมากกว่าพวกไม่นิยม อันหวังผลชนะได้ก็จริง แต่ถ้าเราเป็นพวกที่มีกำลังน้อย เราจะต่อต้าน [พวกไม่นิยมระบอบประชาธิปไตย] ไปตลอดได้หรือ เราย่อมหากำลังพรรคพวกให้มากขึ้น พวกนั้นจะได้มาจากไหน ก็ได้มาจากพวก 60 ในร้อยซึ่งยังไม่รู้อะไรเลย เมื่อถูกปั่นไปทางไหน ใครมาพูดก่อน ย่อมไปทางนั้นแน่ๆ”

“ดังนั้น ฝ่ายบริหารจะต้องพยายามหาโอกาสชี้แจงกับพวกเขาเสมอเนืองๆ แล้ว พวกเขาย่อมคล้อยมาด้วยกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายที่ต่อต้านเมื่อไม่สามารถหาพวกได้แล้ว ก็จำต้องระงับความคิดในการต่อต้าน และนานๆ ไปอาจกลับใจ หมดทิฏฐิมานะในการต่อต้านลงก็ได้” (หลวงรณสิทธิพิชัย, 2477, 5-7)

หน้าที่ใหม่ของสำนักงานในปี 2478 สมัยคณะราษฎรแล้ว คือ ทำให้เกิดความแน่นแฟ้นต่อระบอบการปกครอง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่ไว้วางใจในนานาอารยประเทศ เพื่อประชาชนรู้ความเป็นไปในการบริหารของรัฐบาล และเพื่อให้ข้าราชการรับผิดชอบต่อตนเอง (สุวิมล, 22)

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลคณะราษฎรเปลี่ยนบทบาทกองโฆษณาการที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลอนุรักษนิยมเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ 2475 และปลุกกระแสสังคมไทยให้กลับไปนิยมระบอบเก่า กลายเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนประชาธิปไตยแทน

คณะราษฎรรัฐประหารล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมลง 20 มิถุนายน 2476
เมื่อหน่วยงานมีฐานะเป็นกรมโฆษณาการที่อาคารแบดแมน