ไปดูคอนเสิร์ต ‘พัลป์’ ที่ลอนดอน (1) : ก่อนจะถึง ‘ฟินส์บิวรีพาร์ก’

คนมองหนัง

ไปดูคอนเสิร์ต ‘พัลป์’ ที่ลอนดอน (1) : ก่อนจะถึง ‘ฟินส์บิวรีพาร์ก’

 

“เหมือนสุนัขถูกต้อนไปจนตรอก

พวกเขาจะพุ่งงับคุณอย่างปราศจากคำเตือน

ระวังเถอะ พวกเขาจะฉีกกระชากร่างคุณออกเป็นชิ้นๆ

เพราะทุกคนเขาเกลียดนักท่องเที่ยว

โดยเฉพาะไอ้พวกที่คิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องขำขันไปซะหมด”

(เนื้อร้องบางส่วนจากเพลง “Common People” โดย “พัลป์”)

 

ช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อต้นเดือนกรกฎาคม มีโอกาสบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปสหราชอาณาจักรในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึงสัปดาห์

เป้าหมายหลักของการเดินทาง ไม่ใช่การทำงาน การประชุม การตระเวนท่องเที่ยว หรือการทำดีลลับใดๆ

แต่เป็นการไปชมคอนเสิร์ตของ “พัลป์” (Pulp) อีกหนึ่งวงดนตรีระดับตำนาน ที่เคยสร้างผลงานน่าประทับใจท่ามกลางกระแส “บริตป๊อป” ยุค 90 ณ “ฟินส์บิวรีพาร์ก” สวนสาธารณะทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ในวันที่ 1 กรกฎาคม

ถ้าถามว่า ทำไมผมถึงต้องเดินทางไกลและยอมใช้จ่ายเงินจำนวนไม่น้อย เพื่อไปดูคอนเสิร์ตของ “พัลป์”

คำตอบแรกก็คือ ตนเองรู้สึกชอบวงดนตรีนี้เป็นการส่วนตัว เริ่มจากการซื้อเทปอัลบั้มชุด “Different Class” แบบมั่วๆ เพราะเห็นว่าปกเทปชุดนั้นมี “เรื่องราว” บางอย่างที่น่าสนใจดี

มาสู่การเปิดเทปม้วนดังกล่าวฟังรอบแล้วรอบเล่า เพราะท่วงทำนองที่ไพเราะติดหูและคึกคักสนุกสนานของหลายๆ บทเพลงในอัลบั้ม

ครั้นพอรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้นและกลับไปอ่านคำร้องบนปกเทปอย่างจริงจัง ก็เริ่มตระหนักว่าเพลงเด่นๆ จากอัลบั้ม “Different Class” นั้นมีเนื้อหาที่ “เป็นการเมือง” อย่างยิ่ง ผ่านการมุ่งวิพากษ์ปัญหาเรื่องความแตกต่าง-เหลื่อมล้ำทาง “ชนชั้น” ในสังคมอังกฤษอย่างเกรี้ยวกราดดุดัน แต่ก็เปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์และอารมณ์ขันแบบตลกร้าย

คำตอบถัดมา คือ ในทางประวัติศาสตร์ หลังจากกระแสดนตรี “บริตป๊อป” ผ่านพ้นช่วงเวลารุ่งโรจน์ไปแล้วเรียบร้อย หลายคนมักประเมินว่าอัลบั้มชุด “Different Class” และเพลง “Common People” ของ “พัลป์” นั้นเป็นหมุดหมาย-อัตลักษณ์อันโดดเด่นสำคัญที่สุดของกระแสธารวัฒนธรรมป๊อปดังกล่าว

โดดเด่น-สำคัญยิ่งกว่าผลงานของวง “เบลอร์” และ “โอเอซิส” ที่ดูโด่งดัง จัดจ้าน และเฟื่องฟู เมื่อยามกระแส “บริตป๊อป” พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ทว่า ทั้งสองวงกลับอ่อนด้อยอิทธิพลลงเมื่อวันคืนผันผ่านไปเกือบสามทศวรรษ ตรงกันข้ามกับงานของ “พัลป์” ที่ยังคงมีความยืนยงข้ามกาลเวลา และมีนัยยะ-ความหมายให้ค้นหาหรือตีความใหม่อยู่ได้มิรู้จบ

คำตอบสุดท้าย คือ แม้ “จาร์วิส ค็อกเกอร์” ฟรอนต์แมนของ “พัลป์” จะเป็นบุคลากรทางด้านวัฒนธรรมผู้มีความกระตือรือร้นล้นเหลือ เห็นได้จากการมุ่งมั่นผลิตผลงานดนตรีและเขียนหนังสือนู่นนี่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

แต่ในนามของวงดนตรีชื่อ “พัลป์” พวกเขาออกทัวร์คอนเสิร์ตหนล่าสุดเมื่อปี 2011-2012 หรือกว่าสิบปีก่อน แถมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “สตีฟ แม็กคีย์” มือเบส ซึ่งถือเป็นสมาชิกยุคคลาสสิคไลน์อัพของวง ยังเพิ่งเสียชีวิตลง

นั่นหมายความว่า ถ้าพลาดคอนเสิร์ตของ “พัลป์” หนนี้ ก็ไม่รู้จะได้ชมการแสดงสดของพวกเขาอีกเมื่อไหร่ และในการออกทัวร์ครั้งหน้า (อาจจะในอีกทศวรรษถัดไป) สมาชิกหลักของวงจะมีชีวิตหลงเหลืออยู่กี่ราย เพราะ ณ ปัจจุบัน ทุกคนก็มีอายุ 50 ปลายๆ กันหมดแล้ว

คําถามอีกข้อที่อาจเกิดขึ้น ก็ได้แก่ ในเมื่อ “พัลป์” กลับมาตระเวนโชว์ในหลายสถานที่หลากเมือง ทำไมผมจึงเลือกไปดูพวกเขาที่ “ฟินส์บิวรีพาร์ก”

คำตอบง่ายๆ คือ ในกำหนดการชุดแรกสุด (รวมถึงการเปิดจองตั๋วออนไลน์ระยะแรก) ทางวงวางแผนจะเปิดการแสดงที่ลอนดอนแค่ครั้งเดียวเท่านั้น (ก่อนจะมีการประกาศเพิ่มคอนเสิร์ตที่ลอนดอนอีกสองรอบตอนปลายเดือนกรกฎาคม)

สำหรับคนต่างบ้านต่างเมือง การเดินทางไปชมดนตรีสดที่ลอนดอน น่าจะเป็นกระบวนการที่ง่ายและซับซ้อนน้อยที่สุดแล้ว ดังนั้น เมื่อ “พัลป์” เริ่มจำหน่ายตั๋วทัวร์คอนเสิร์ตของปี 2023 ผมจึงรีบกดจองบัตรเข้าชมการแสดงที่ “ฟินส์บิวรีพาร์ก” ทันที

อย่างไรก็ดี “ฟินส์บิวรีพาร์ก” ถือเป็นพื้นที่ที่มีนัยยะน่าสนใจมากกว่านั้น

ประการแรก “พัลป์” เคยแสดงคอนเสิร์ตที่สวนสาธารณะแห่งนี้มาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 1998 การแสดงสดที่ “ฟินส์บิวรีพาร์ก” ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2023 จึงเป็นการย้อนกลับมาเยือนสถานที่แห่งเดิมอีกครั้งในรอบเกือบ 25 ปีเต็ม

ประการต่อมา “ฟินส์บิวรีพาร์ก” เป็นสถานที่กว้างขวางอันเหมาะสมแก่การจัดการแสดงคอนเสิร์ต กล่าวคือ นี่เป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่โตมากพอจนสามารถกั้น “พื้นที่ปิด” หรือ “โลกเฉพาะใบเล็กๆ” สำหรับเวทีดนตรีขนาดมโหฬารและสนามหญ้าว่างๆ ที่รองรับคนดูเรือนหมื่น ซึ่งจ่ายเงินซื้อตั๋วเข้ามาชมได้

(ไม่ใช่ “งานดนตรีในสวน” แบบบ้านเรา ซึ่งขนาดที่ไม่กว้างใหญ่นักของสวนสาธารณะใน กทม. ส่งผลให้การแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ ต้องมีลักษณะ “เปิด” และ “ฟรี” โดยปริยาย)

 

ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ “ฟินส์บิวรีพาร์ก” ถือเป็นย่านที่พักอาศัย-ร้านค้าอันเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม

แต่อีกด้านหนึ่ง พื้นที่แห่งนี้ก็มีภาพลักษณ์เป็นย่านอันตราย ที่อัตราการก่อเหตุอาชญากรรมอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และเคยเกิดเหตุโศกนาฏกรรม “ผู้ก่อการร้าย” ชาวอังกฤษ ซึ่งมีแนวคิดเกลียดกลัวอิสลาม บุกเข้าสังหารประชากรมุสลิมที่เพิ่งเสร็จสิ้นการประกอบภารกิจทางศาสนาเมื่อปี 2017

ขณะเดียวกัน ลักษณะพิเศษของย่านนี้ยังเปิดโอกาสให้เราสามารถมองเห็น “ความเป็นไปได้” แบบอื่นๆ ที่ไม่สามารถพบเจอได้ง่ายๆ ตามแหล่งท่องเที่ยวท็อปฮิตหรูหราใจกลางกรุงลอนดอน

เช่น ทันทีที่ผมเดินออกจากสถานีรถไฟ “ฟินส์บิวรีพาร์ก” โปสเตอร์จำนวนไม่น้อยที่ถูกแปะเอาไว้ตามพื้นที่สาธารณะรายรอบสถานี ก็คือ โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานกิจกรรมของฝ่ายซ้ายชื่อ “Marxism 2023 : A festival of socialist ideas” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม

(เรื่องบังเอิญที่น่าสนใจ คือ หนึ่งในนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายที่มาร่วมงานนี้ ได้แก่ “ยานิส วารูฟากิส” นักเศรษฐศาสตร์ นักการเมือง และอดีต รมว.คลังของกรีซ ซึ่ง “ดาแน สตราตู” ภรรยาของเขา ที่เดินทางมาศึกษาศิลปะ ณ วิทยาลัยเซนต์มาร์ตินส์ รุ่นราวคราวเดียวกับ “จาร์วิส ค็อกเกอร์” เคยถูกคาดเดาจากสื่ออังกฤษบางสำนักว่า เธออาจเป็นต้นแบบของ “หญิงสาวชาวกรีก” ผู้ปรารถนาจะใช้ชีวิตประดุจ “สามัญชนชาวอังกฤษ” ในเพลง “Common People”)

ถ้าหากสาระหลักๆ ในบทเพลงสำคัญๆ ของ “พัลป์” คือ การฉายปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นในสหราชอาณาจักร ตลอดจนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ความตึงเครียด ความรุนแรง การปะทะชน อันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์

“ฟินส์บิวรีพาร์ก” ก็ถือเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่คู่ควรกับการหวนมาจัดคอนเสิร์ตใหญ่ของพวกเขา •

 

| คนมองหนัง