เปิดข้อกำหนดแต่งตั้งตำรวจปี ’66 ‘บิ๊กตู่’ มอบ ผบ.ตร.นั่งหัวโต๊ะเคาะ

ในที่สุดผ่านสะดวกโยธินร่างข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ

เป็น ‘กติกา’ ใช้บังคับโยกย้ายในวาระการแต่งตั้ง 2566 ที่จะมีราวปลายกรกฎาคม หรือสิงหาคมนี้ทันที

หลังจากนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน

แต่ปรากฏว่า ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน คือ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร., รศ.ปทิต สันติประภพ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ ศ.ศุภชัย ยาวะประภาษ นายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไป เพื่อจะศึกษาเอกสารให้รอบคอบ

จึงนัดประชุมวันที่ 6 กรกฎาคม โดย พล.อ.ประยุทธ์ มอบให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.เป็นประธานในที่ประชุมแทน ใช้เวลาถกกันกว่า 5 ชั่วโมงได้ข้อยุติจะเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามข้อกำหนดการแต่งตั้งตำรวจ ฉบับชั่วคราว เพื่อประกาศใช้ต่อไป

 

สําหรับร่างข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ออกตามความในมาตรา 179 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

เนื่องจากกฎ ก.ตร.เกี่ยวกับการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจที่ต้องออกตามความในมาตรา 88 ยังทำไม่เสร็จ จึงต้องมีข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ขึ้นมาใช้พลางก่อน เพื่อรักษาความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน โดยการคัดเลือกหรือแต่งตั้ง ต้องพิจารณาจากอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

สาระสำคัญข้อกำหนด ก.ตร.ระบุ การจัดลำดับอาวุโส การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง และการแต่งตั้งสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่ง

กำหนดไทม์ไลน์การแต่งตั้งโยกย้าย นั่นคือ ระดับผู้บังคับการ (ผบก.) ถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และจเรตำรวจแห่งชาติให้เสร็จ 31 สิงหาคม, ระดับสารวัตรถึงรอง ผบก.ให้เสร็จ 30 พฤศจิกายน และระดับรองสารวัตรลงให้แล้วเสร็จ 31 มกราคม

โดยให้ ตร.และหน่วยจัดทำลำดับอาวุโส แล้วประกาศให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดทราบโดยทั่วกันล่วงหน้า ก่อนที่จะดำเนินการคัดเลือกหรือแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน

ทั้งนี้ ให้ข้าราชการตำรวจที่เห็นว่าลำดับอาวุโสไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องต่อผู้มีอำนาจให้พิจารณาทบทวนได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศอาวุโส หากพ้นกำหนดให้ถือว่าข้าราชการตำรวจผู้นั้นไม่ประสงค์ที่จะโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิจากผู้บังคับบัญชา

 

สําหรับรายละเอียดวิธีการคัดเลือกหรือแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ เป็นไปตามมาตรา 82 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565

1. การแต่งตั้งรอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติลงมาถึง ผช.ผบ.ตร. และรองจเรตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส

2. ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการและจเรตำรวจลงมาถึงระดับผู้บังคับการ พิจารณาเรียบตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนตำแหน่งว่างในแต่ละระดับ

3. ระดับรองผู้บังคับการลงมาถึงระดับสารวัตรให้พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส ไม่น้อยกว่าร้อยละ 33 ของจำนวนตำแหน่งว่างในแต่ละระดับตำแหน่งของหน่วยนั้น

ส่วนสาระสำคัญเรื่องข้อกำหนดในกรณีที่มีข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับการลงมาที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งกรณีสับเปลี่ยนหมุนเวียนและเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นโดยที่ได้รับการแต่งตั้งออกไปนอกหน่วยโดยไม่สมัครใจ

ก่อนข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ หากประสงค์ขอรับการแต่งตั้งกลับต้นสังกัดหรือสังกัดเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ยื่นคำร้องต่อ ผบ.ตร.ผ่านสำนักงานกำลังพล และจะมีคณะทำงานที่รอง ผบ.ตร.ในสายบริหารเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อพิจารณาคำร้องเสนอต่อ ผบ.ตร. ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สามารถสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันได้โดยไม่กระทบกับสถานภาพกำลังพลของหน่วย เพื่อที่จะให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งดำเนินการตามกฏหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่ประชุม ก.ตร.มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การสับเปลี่ยนหมุนเวียนระหว่างหน่วยต้องให้ผู้บัญชาการ (ผบช.) คำนึงถึงหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ในกรณีย้ายสมัครใจ จะต้องไม่ย้ายปิดหัวหน่วย ไม่ทำให้หน่วยเสียหายในตำแหน่งที่ว่าง หรือย้ายไปเอาไปเอาตำแหน่งอาวุโส

ส่วนการย้ายสูงขึ้นนั้นให้คำนึงถึงสัดส่วนอาวุโส ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

 

แหล่งข่าวที่ประชุม ก.ตร. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ไฮไลต์ที่เป็นประเด็นแสดงความเห็นนาน ในที่สุดที่ประชุมเห็นด้วยคือ หลักการคือการเยียวยาสำหรับผู้ที่ถูกย้ายนอกหน่วยโดยไม่สมัครใจ ทั้งเลื่อนไปในระดับเดียวกัน และสูงขึ้น ทำให้ปฏิบัติงานได้ไม่ดี มีข้อจำกัดการเดินทาง สามารถให้ยื่นคำร้องผู้บังคับบัญชา แล้ว ผบ.ตร.ตั้งคณะกรรมการที่มีรอง ผบ.ตร.ฝ่ายบริหารขึ้นมาพิจารณาแล้วเกลี่ยตำแหน่ง เท่าที่จะทำได้ เพราะมีข้อจำกัดเยอะ หากทุกคนขอย้ายไปที่ใดที่หนึ่งแล้ว ก็ไม่มีตำแหน่งให้ คนที่จะเติบโตขึ้นมาแทนได้ก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถหมุนเวียนสับเปลี่ยน ซึ่ง ผบ.ตร.จะดูแลส่วนนี้ แต่ยอมรับว่าทำได้แค่ในระดับหนึ่ง ไม่สามารถสนองตอบความต้องการที่เป็นปัญหาสะสมมาหลายปี ไม่เช่นนั้น แต่ละคนจะแห่ย้ายกันมาหน่วยหลักๆ อย่างกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท. หรือ บช.ไซเบอร์)”

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงที่ประชุม ก.ตร.พิจารณาข้อกำหนดการแต่งตั้งตำรวจ (ฉบับชั่วคราว) เพื่อใช้ในการแต่งตั้ง วาระประจำปี 2566 ว่า

วาระนี้ที่ประชุมได้ใช้เวลาในการประชุมค่อนข้างมาก ก.ตร.โดยตำแหน่ง และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น จนได้ข้อยุติในการกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง วาระประจำปี 2566 เริ่มประชุมเวลา 10.00 น. เสร็จสิ้นการประชุมเวลาประมาณ 15.30 น. กว่า 5 ชั่วโมงเศษ โดยสรุปส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ข้อกำหนดการแต่งตั้งฉบับนี้ ใช้เฉพาะการแต่งตั้งประจำปี 2566 การแต่งตั้งโยกย้ายสับเปลี่ยนหมุนเวียนข้ามหน่วยโดยสมัครใจ ต้องคำนึงถึงไม่ไปปิดตำแหน่งคนในหน่วยหรือไปข้ามอาวุโส การเลื่อนสูงขึ้นเป็นไปตามกฎหมายพิจารณาอาวุโสความรู้ความสามารถประกอบกัน กำหนดสายงานให้นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) สามารถเจริญเติบโตเป็น ผบช.สพฐ.ได้ ตำรวจที่ถูกย้ายออกนอกหน่วยโดยไม่สมัครใจ มีโอกาสยื่นคำร้องให้ ตร.พิจารณากลับหน่วยเดิมหรือภูมิลำเนา

ถือเป็นความก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 แน่นอนการบริหารงานบุคคลไม่สามารถให้ทุกคนพอใจได้ แต่สิทธิประโยชน์ในตำแหน่งการปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับ