กลบคดีสังหารประชาชนปี ’53 ต้องรัฐประหารปี ’57 เป็นเหตุให้ต้องสืบทอดอำนาจ | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดี DSI และเจ้าหน้าที่อีก 3 คน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามมาตรา 157 และ 200 วรรคสอง

กรณีนายธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ กรณีถูกกล่าวหาฐานสั่งทำร้ายประชาชนในการสลายม็อบ นปช.เมื่อปี 2553

 

1. มีการเข่นฆ่าประชาชนกลางเมืองหลวงจริงหรือไม่?

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 7 ปีของเหตุนองเลือด ระบุว่า

…รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ และกองทัพ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุและละเมิดกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนักในการสลายการชุมนุม มีการระดมกำลังพลของกองทัพถึง 67,000 นาย มีการเบิกจ่ายกระสุนจริงถึง 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด เท่ากับมีการใช้กระสุนจริงไปทั้งสิ้น 117,923 นัด มีการเบิกจ่ายกระสุนสำหรับการซุ่มยิง (สไนเปอร์) 3,000 นัด ส่งคืนเพียง 880 นัด เท่ากับใช้ไป 2,120 นัด และมีการประกาศ “เขตกระสุนจริง” ต่อผู้ชุมนุมอย่างเปิดเผย และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 84 ราย (เจ้าหน้าที่ 10 ราย) และบาดเจ็บอีกกว่า 1,400 คน

แม้ว่ารัฐบาลและ ศอฉ .พยายามกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย และมีอาวุธร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้เสียชีวิตรายใดมีอาวุธร้ายแรงที่สามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ในระยะไกลได้

ผลการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุมโดยศาลอาญาจำนวน 18 ราย ล้วนยืนยันข้อเท็จจริงนี้

การเสียชีวิตและบาดแผลของผู้เสียชีวิตฝ่ายพลเรือน เกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืน โดยมากกว่าร้อยละ 50 พบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว อาทิ ใบหน้า ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต

จากการไต่สวนการตายของศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ในกรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำยิงอยู่ภายในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด หรือมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ศาลจึงวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คนเป็นผลจากการกระทำของทหาร

ส่วนกรณีการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่กล่าวหาผู้ชุมนุมเสื้อแดง 2 คน คือ นายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ ในข้อหาวางเพลิง ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นไปแล้ว

 

2. ไม่มีคดีความและการฟ้องร้อง
ที่จะเอาผิดผู้มีอำนาจได้

ผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจในปี 2553 คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก

เดือนตุลาคม 2556 อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าโดยเจตนา

หลังการรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ทั้ง 3 พลเอก เป็นแกนนำคณะรัฐประหาร คสช.

ต่อมามีการพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ด้วยเหตุผลว่าทั้งสองออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจพิจารณาถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉะนั้น ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจพิจารณา

ขณะที่ทางด้าน ป.ป.ช. ก็มีมติให้ข้อกล่าวหา ตกไป ด้วยเหตุผลว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ป.ป.ช.เห็นว่า หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติใช้อาวุธโดยไม่สุจริต เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ก็ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัวเท่านั้น ซึ่งต้องส่งเรื่องให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่เป็นรายบุคคลไปยังดีเอสไอเพื่อสอบสวนการกระทำผิดต่อไป

คสช. ยังได้ออกคำสั่งที่ 68/2558 เปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวนและแนวทางการสอบสวนสำหรับสำนวนคดีผู้เสียชีวิตกรณีปี 2553 ที่เหลือทั้งหมด

สรุปว่า ไม่มีใครในระดับสั่งการต้องรับผิดชอบ ต่อการสังหารกลางเมือง ถ้าจะเอาผิดต้องไปเอาผิดกับผู้ปฏิบัติการเป็นรายบุคคล

 

3. ใครแตะต้องคดีเมษา-พฤษภา 53
จะถูกฟ้องกลับและติดคุก

ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องจำเลยอื่นอีก 3 คน

นายณัทพัช อัคฮาด พี่ชายของ น.ส.กมลเกด พยาบาลซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม บอกว่าผ่านมา 13 ปี ได้พยายามเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ยิ่งเรียกร้องกลับถูกดำเนินคดีกลับ และที่ผ่านมาถูกดำเนินคดีแล้ว 44 คดี รวมทั้งมาตรา 116 ข้อหายุงยง ปลุกปั่น อีกด้วย

ก่อนขึ้นรับฟังคำพิจารณาคดี นายธาริตได้อ่านคำชี้แจง ว่าหากพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ว่าเขาผิดแล้วจะมีผล 3 ประการ คือ

1. จะเป็นการรับรองยืนยันหรือการันตีว่านายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ไปยิงทำร้ายประชาชนโดยชอบแล้วทุกประการ

2. ผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และญาติผู้ตายจะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหายอีกเลย เพราะผลจากคำตัดสินเช่นนั้นเท่ากับว่าเขาเป็นผู้สมควรตาย

3. นายธาริตบพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

 

วิเคราะห์ผลสะท้อนกลับของคดี

1.ชี้ให้เห็นว่า ระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 จนกระทั่งถึงหลังรัฐประหาร 2557 และจนถึงวันนี้ยังคงเหมือนเดิม คือผู้มีอำนาจได้เปรียบ

2. สำหรับประชาชน ผลของการตัดสินในคดีนี้ยังไม่ยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ที่มีอำนาจและผู้ที่อยู่เบื้องหลังคดี 99 ศพ ถ้าหากวันใดที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีอำนาจขึ้นมาก็จะมีการเรียกร้อง ให้รื้อฟื้นและขุดคุ้ยความจริงขึ้นมา เพื่อลงโทษคนผิด อายุความของคดีแบบนี้ไม่สามารถกำหนดได้

3. มีความพยายามจะปกปิดความผิด ในปี 2553 การที่นายธาริตบอกว่าการรัฐประหารปี 2557 เกิดขึ้นก็เพราะมีกลุ่มบุคคลที่ต้องการไม่ให้รื้อฟื้นคดี มีส่วนจริงอย่างมาก

การเลือกตั้ง การเลือกนายกฯ และการตั้งรัฐบาล ที่กำลังดำเนินการอยู่ จะมีผลต่อความยุติธรรมในอนาคต และจะมีผลต่อคดีเมษายน-พฤษภาคม 2553 วันนี้การตั้งรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตย จึงไม่ง่าย