‘ทิชา ณ นคร’ เตือนถึงคนรุ่นเดียวกัน ถ้า ‘ไม่เปลี่ยน’ เวลาจะ ‘ฆ่า’ คุณ

หมายเหตุ บทสนทนาบางส่วนระหว่างพิธีกรรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี กับ “ทิชา ณ นคร” (ป้ามล) ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งในระยะหลัง ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลตามกลไกปกติของระบอบประชาธิปไตย

 

: ทำไมป้ามลถึงออกมาให้ความเห็นเรื่อง ม.112?

คือจริงๆ เราจะเห็นว่า นอกเหนือจากผู้ใหญ่ที่โดนตั้งข้อหา ม.112 พักหลังจะมีเด็กและเยาวชนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของ ม.112 และมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนเปิดประเด็น

ในความหมายของป้า ป้าเรียกคนเหล่านี้ว่า “คนเกินเจ้า” ก็คือกลุ่มคนที่แจ้งความเพื่อที่จะเอา (โทษ) เด็กที่แสดงความคิดเห็นอะไรบางอย่างที่แหลมคม หรืออาจจะในทัศนะของสังคมบอกว่า ยังไม่ใช่เวลาของเขา

อย่างไรก็ตาม เราก็มีลูกหลานเจนอัลฟา-เจนแซดที่เป็นแบบนี้แล้ว และไม่ควรจะมีใครลากเขาเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น ป้าคิดว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องการแก้ไข ม.112 เราไม่ควรจะพูดภายใต้นิยามเดียว ก็คือ การปกป้องสถาบัน ซึ่งมันก็จำเป็นอยู่แล้วต้องมี ใครก็ตามไม่ควรจะถูกละเมิด ก็คือต้องปกป้อง

แต่ขณะเดียวกัน มันจะต้องปิดฝาโลงพวก “คนเกินเจ้า” ให้ได้ แล้วการปิดฝาโลง “คนเกินเจ้า” หรือเรียกว่า “ยิ่งกว่าเจ้า” ซึ่งคนเหล่านี้ บางทีเราไม่แน่ใจ เพราะยังไม่มีอะไรยืนยืนว่าความจงรักภักดีของเขามันเจือไปด้วยผลประโยชน์ขนาดไหน? หรือจริงๆ แล้ว มันหมายถึงการเข้าถึงโครงการ การเข้าถึงนโยบาย การเข้าถึงงบประมาณด้วย

เพราะเวลาใครก็ตามที่ออกมาปกป้องสถาบัน มันถูกปกป้องโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้มันยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง มันเป็นแค่อารมณ์ความรู้สึก ที่ค่าของมันไม่เสถียรพอสำหรับป้า ดังนั้น เวลาเขาดึงเด็กๆ เข้ามา ป้าคิดว่าถ้าไม่มีใครสักคน สักกลุ่ม ลุกขึ้นมาบาลานซ์ตรงนี้ เราจะมีเด็กอีกหลายคนตกเป็น “เหยื่อ” ซึ่งป้าคิดว่าเราไม่ควรจะปล่อยให้สถานการณ์มันเป็นเช่นนั้น

: ทำไมถึงออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างจริงจังภายหลังการเลือกตั้ง?

จริงๆ ถ้าเราถอยกลับไปดูตั้งแต่ป้าเข้าไปอยู่ในบ้านกาญจนาฯ เมื่อ พ.ศ.2546 หลังจากที่บ้านกรุณาแตกใน พ.ศ.2543 หลังจากที่ ส.ส.ร. ลุกขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 หลังจากที่ปัญหาทางบ้านเมืองมันมาอยู่ในพิกัดอันเดียวกัน ป้าก็เลยถูกเชิญให้ไปเป็นผู้อำนวยการเอาต์ซอร์สในบ้านกาญจนาพิเษก

ถ้าเราจำได้ ในปีก่อนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 อารมณ์ของเราจะอยู่ในประมาณที่ว่า “รัฐต้องเล็กลง ประชาชนต้องใหญ่ขึ้น” อันนี้เป็นวาทกรรมที่เข้ามาเป็นกระแสหลักเลย ซึ่งวาทกรรมกระแสหลักนี้มันก็ไปกระทบต่อองค์กรของรัฐ โดยเฉพาะช่วงนั้น ที่บ้านกรุณาแตก แล้วในที่สุดมันก็มาสู่การเอาต์ซอร์สคนข้างนอกให้เข้าไป ก็คือเป็นป้า

ป้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ป้าไม่ใช่คนกระทรวงยุติธรรม ป้าไม่ใช่คนกรมพินิจฯ ป้าเป็นแค่เอ็นจีโอคนหนึ่ง ซึ่งถูกขอให้ไปทำงานในคุกเด็ก

ดังนั้น ถ้าถามว่า (เคย) ส่งเสียงไหม? ป้าต้องส่งเสียง เพราะว่าก่อนหน้าที่ป้าจะไปทำงานที่บ้านกาญจนาฯ ป้าก็เป็นเอ็นจีโอทั่วๆ ไป ที่เราก็กอดความสำเร็จรายปัจเจก เราพบว่าเราทำงานเคสหนึ่งสำเร็จ เราก็มีความสุข หลายคนก็บอกว่า ขอให้สำเร็จสักเคสหนึ่งก็พอแล้ว

แต่พอป้าทำไปทำมา ป้ารู้ว่าความสำเร็จระดับปัจเจกไม่ใช่คำตอบ เพราะว่าพอเราช่วยคนนี้ได้หนึ่งคน เดี๋ยวคนใหม่ก็ออกมาอีกแล้ว “โจ๊กเกอร์” คนใหม่ออกมาอีกแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำคู่กับความสำเร็จระดับปัจเจก ก็คือ เคลื่อนไหวหรือส่งเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและเชิงระบบ

อย่างน้อยที่สุด ในสภา การเขียนกติกา การสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ มันจะต้องฟังให้มากขึ้น ถ้าถามว่าป้ามาพูดจาอะไรทำนองนี้หลังเลือกตั้งหรือเปล่า? ป้าคิดว่าคงไม่ใช่ ป้าคงจะต้องทำมาก่อน เพียงแต่ว่าในตัวเนื้อหา อาจจะมีเฉดสีที่ต่างกันออกไป

เมื่อก่อนป้าอาจจะส่งเสียง เช่น ถ้าคืนนี้มีข่าวของเด็กคนหนึ่งก่ออาชญากรรม แล้วคนก็แห่กันประณาม เกรี้ยวกราด เหยียดหยาม ให้เอาเขาเข้าคุก ป้าก็จะลุกขึ้นมาบอกทันทีเลยว่า แล้วคิดว่าพรุ่งนี้จะมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นอีกไหม? มันต้องมีอีกสิ

เพราะว่าตัวระบบใหญ่ ตัวพื้นที่สาธารณะ ตัวระบบนิเวศในประเทศไทย มันไม่ได้เอื้อเพื่อเด็กเลย ดังนั้น พรุ่งนี้มะรืนนี้มันก็มีมาอีก การเกรี้ยวกราด “นายเอ” คืนนี้ ปัญหามันไม่ได้จบ ดังนั้น ป้าจะส่งเสียงแบบนี้เสมอ แต่ว่าหลังเลือกตั้ง มันชัดเจนว่าการเมืองไทยมันมี… ภาษาที่เราพูดกัน “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” มันเกิดขึ้นจริงๆ

: ป้ามลกำลังออกมาเตือนสติว่า ความต้องการของคนในสังคมมันเปลี่ยนไปแล้วใช่ไหม?

ป้าก็เคยพูดไปนะว่า เมื่อเสียง 14 ล้านเสียงเขาเลือกใคร นั่นก็แสดงให้เห็นเลยว่า ทิศทางของการเมืองเข็มทิศน่าจะหันไปทางนั้น แต่ก็มีคนมาบอกอีกว่าคุณอย่ามาทำอวดดี คนในประเทศที่มีสิทธิ์มันมากกว่า 14 ล้านเสียงตั้งเยอะแยะ ดังนั้น 14 ล้านเสียงมันไม่ได้แปลว่าคุณมีความชอบธรรมนะ ก็จะมีคนพูดแบบนี้

ป้าก็บอกว่าในเชิงคณิตศาสตร์คุณได้เต็มนะ แต่ในเชิงของประชาธิปไตย ในเชิงของสปิริต คุณติดลบ และคุณต้องไปแก้ ร ด้วยนะ

เฮ้ย! คุณจะเอาคำนี้มาอธิบายในพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งเขาก็ต้องใช้เครื่องมือในการเลือกตั้งอยู่แล้ว แล้วมันก็ออกมาเป็นคะแนนสูงสุดแล้วไง แล้วคุณยังจะไปเทียบเคียงกับคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งตั้งเยอะเยอะ ถ้าอย่างนั้น คุณกำลังจะบอกว่าคุณไม่แพ้ใช่ไหม?

 

: กลุ่มอนุรักษนิยมที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ควรปรับตัวอย่างไร?

ป้าคิดว่าเรื่องบางเรื่องมันคงสอนกันยาก อย่างเช่นวันที่ ส.ส.ไปรายงานตัว เราจะเห็นนักเลงในคราบนักการเมืองเดินเข้ามาในสภา ซึ่งเราจะไปใช้วิธีที่เราไม่ชอบกับเขาก็ไม่ได้ เช่น ไปด่าทอเหยียดหยามเขา เมื่อกี้ป้าอาจจะหลุดไปแล้ว มันไม่ได้ไง

แต่ถึงที่สุด สังคมจะให้บทเรียนกับคนแบบนี้ว่ามัน “เอาต์” แล้วนะ เดี๋ยวพอเจนอัลฟาขึ้นมาได้เลือกตั้ง เจนแซดรอคิวเลือกแล้ว คนเหล่านี้จะเอาต์จริงๆ นะ ซึ่งแน่นอน คนที่อยู่ใกล้ตัวเขา หรือจริงๆ ในเชิงของพรรคการเมือง ก็อาจจะต้องเขย่าใหม่อีกที ให้รู้ว่า “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” มันไม่ได้ไปแค่พรรคเดียวนะ

มันหมายถึงม้วนกันหมดทุกพรรค เมื่อคุณลงเล่นการเมือง ทิศทางคนรุ่นใหม่ที่เขาเติบโตมา เขาเติบโตภายใต้สารต่างๆ ที่เขารับมาทุกช่องทาง ตั้งแต่ระดับในประเทศและข้ามดินแดนแผ่นดินกันมา ดังนั้น วิธีคิดของเขาก็อาจจะเปลี่ยนเยอะแยะไปหมด ถ้าเรายังใช้สไตล์แบบนั้น ยังคิดแบบนั้น ถ้าเราไม่เปลี่ยน เวลาจะฆ่าคุณ เพราะเวลามันไปยืนอยู่ข้างๆ คนรุ่นใหม่แล้วตอนนี้

 

: ในมุมหนึ่ง ถ้าป้ามลจะแนะนำฝ่ายอนุรักษนิยม ก็จะบอกเขาแบบนั้นหรือเปล่า?

ถ้าบางคน ป้าก็รู้จัก ค่อนข้างกันเอง ป้าก็บอกได้ว่าถ้าคุณไม่ปรับ เวลาก็จะฆ่าคุณ คุณต้องเลือก คุณจะหายไปจากเวทีการเมืองแบบที่เป็นความทรงจำไหม? หรือว่าคุณจะหายไปเพราะว่ามันหมดอายุ คุณจะหายไปแบบนั้นใช่ไหม? เหมือนยาบางตัวที่มันหมดอายุ แล้วมันต้องลงถังขยะไป หรือคุณจะเป็นตำนานจะเป็นเรื่องเล่าให้เด็กรุ่นหลังได้รู้ คุณต่อสู้อะไรมา

คุณต้องเลือก และไม่มีใครตัดสินใจแทนคุณได้ ด้วยเวลา คุณเลือก คุณต้องตัดสินใจเองว่าคุณจะอยู่แบบไหน

 

: ถ้ากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองถูกสกัดกั้นโดยอำนาจนอกระบบ อะไรจะเกิดขึ้น?

ป้าคิดว่ามันมีราคาที่ต้องจ่ายเวลาคุณทำแบบนั้น เพียงแต่ว่าราคาที่ต้องจ่ายมันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เป็นความพินาศของทั้งประเทศ หรือเป็นแค่กลุ่มคุณกลุ่มเดียวที่ไม่ยอมเดินทาง ในขณะที่คนส่วนใหญ่เขาจะเดินทางแล้ว อันนี้ไม่มีใครตอบว่า ในที่สุด มันจะเป็นความพินาศของใคร ในราคาที่ต้องจ่ายอันแสงแพงนั้น

ถ้าภาวนาได้ ขอให้เป็นความพินาศเฉพาะกลุ่ม อย่าเป็นความพินาศของคนไทยทั้งประเทศ

 

: ป้ามลเชื่อว่าราคาจะสูงกว่าเดิม?

ป้าไม่ใช่เป็นนักวิเคราะห์การเมือง

แต่ป้าคิดว่าถ้าเราไปดูการเมืองในประเทศอื่นๆ บางทีมันก็ต้องจ่ายแพง เพื่อขึ้นสปริงบอร์ดไปอีกทีหนึ่ง

บางทีมันต้องการแรงเด้งที่หนักแน่นพอสมควร เพื่อกระโดดไปอีกที่หนึ่งให้ได้