ปฏิรูปรัฐสภา จังหวะและโอกาสที่ต้องเร่งกระทำ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 และนำไปสู่การได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาชาติ และรองประธานคนที่ 1 และ 2 จากพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ในการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2566 เป็นสิ่งบ่งบอกว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรที่แตกต่างไปจากเดิม

ในสมัยที่พรรคการเมืองเหล่านี้มีสถานะเป็นฝ่ายค้าน ความอึดอัด คับข้องใจ และข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อสภาผู้แทนราษฎรในหลายต่อหลายเรื่อง

อาทิ การขาดการประชุมจนทำให้สภาล่ม ความไม่โปร่งใสในการทำงานของกรรมาธิการชุดต่างๆ และการขาดประสิทธิภาพการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

ดังนั้น นี่คือจังหวะและโอกาสในการปฏิรูปการทำงานของสภาให้มีประสิทธิภาพจากประธานและรองประธานใหม่ที่มาจากฝ่ายซึ่งเคยอึดอัดกับการทำงานเดิม

 

1) ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วย ส.ส. ต้องเปิดต่อสาธารณะ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคน สามารถมีตำแหน่งช่วยเหลือได้ 8 ตำแหน่ง คือ ผู้เชี่ยวชาญ 1 ตำแหน่ง อัตราเงินเดือน 24,000 บาท ผู้ชำนาญการ 2 ตำแหน่ง เงินเดือนคนละ 15,000 บาท ผู้ช่วย ส.ส. 6 ตำแหน่ง เงินเดือนคนละ 15,000 บาท

ส่วนตำแหน่งประธานสภา มีตำแหน่งที่ปรึกษา 4 คน เงินเดือนคนละ 16,000 บาท รองประธานสภา มีที่ปรึกษา 3 คน เงินเดือนคนละ 16,000 บาท และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ก็มีตำแหน่งที่ปรึกษาเช่นกัน เงินเดือนคนละ 10,000 บาท รวมถึงการมีตำแหน่งอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เป็นคณะทำงานทางการเมืองเพื่อสนับสนุนการทำงานของแต่ละตำแหน่ง

แม้จะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง เช่น วุฒิการศึกษา ประสบการณ์การทำงานของแต่ละตำแหน่ง แต่การแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวมักเป็นไปในลักษณะตอบแทนบุคลากรที่มาสนับสนุนทางการเมืองตน หรือแต่งตั้งบุคคลที่เป็นญาติพี่น้องมากกว่าจุดประสงค์ในการให้มีบุคลากรที่เหมาะสมมาสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

ในบางกรณีถึงขนาดขอเพียงแค่ตำแหน่งให้มีหน้ามีตา แต่ยกเงินเดือนให้ตัว ส.ส. หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจบางคนขอให้มีตำแหน่งที่ปรึกษาแต่ยอมจ่ายเงินก็มี

การเปิดเผยชื่อบุคคลให้สาธารณะทราบทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ถือเป็นความโปร่งใสขั้นต้น เพื่อให้สังคมได้ร่วมตรวจสอบและทำให้ได้บุคคลที่มีความสามารถเข้าไปสนับสนุนการทำงานในสภาอย่างแท้จริง

 

2) การประชุมกรรมาธิการ ไม่ควรตรงกับวันประชุมสภา

คณะกรรมาธิการ เป็นกลไกสำคัญของรัฐสภาในการศึกษา ตรวจสอบในเชิงลึกของปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินในแต่ละด้าน ซึ่งปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรมีคณะกรรมาธิการสามัญ จำนวน 35 ชุด ที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ จำนวนชุดละ 15 คน ส่วนคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้นมีไม่จำกัดจำนวน แล้วแต่ความจำเป็นที่สภาให้ความเห็นชอบและสามารถเสนอแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกได้ด้วย

การประชุมคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่ผ่านมา (ยกเว้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ) มักจะใช้วันประชุมตรงกับการประชุมรัฐสภา คือวันพุธและวันพฤหัสฯ เพื่อสะดวกแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเดินทางมาประชุมพร้อมกันในคราวเดียว

ผลที่เกิดขึ้นของการทับซ้อนเวลาดังกล่าว คือ สมาชิกสภาผู้แทนฯ ไม่สามารถปฏิบัติงานในภารกิจได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสภาผู้แทนฯ หรือการประชุมคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ

ยิ่งมีการกำหนดให้สมาชิกสภาสามารถประชุมได้ 2 คณะต่อวัน เราจะเห็นภาพการเดินเข้าประชุมเพื่อรับเบี้ยประชุม ครั้งละ 1,500 บาท และนั่งพอเป็นพิธี 5-10 นาที แล้วย้ายไปประชุมคณะกรรมาธิการคณะอื่น หรือภาพขณะประชุมคณะกรรมาธิการแล้วต้องหยุดประชุมหนี่งชั่วโมงเพื่อวิ่งไปลงมติในสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นภาพที่เกิดขึ้นประจำ

หากสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ จะแยกวันประชุมคณะกรรมาธิการให้เป็นคนละวัน หรือเหลื่อมวันกับการประชุมสภา ก็อาจเป็นคำตอบหนึ่งเพื่อให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

3) การถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการชุดสำคัญ

การประชุมคณะกรรมาธิการ ไม่ควรเป็นเรื่องลับ ควรเปิดเผยให้ประชาชนมีส่วนได้รับรู้ โดยเฉพาะในคณะกรรมาธิการชุดสำคัญ เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี เนื่องจากเป็นการพิจารณาความเหมาะสมของการใช้จ่ายเงินที่แต่ละหน่วยรับงบประมาณ หรือหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนต่างๆ ที่ต้องเสนอแผนและเหตุผลของการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีต่อสภาผู้แทนราษฎร

ในทุกปีที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ฝ่ายค้าน เช่น พรรคก้าวไกล มักจะเป็นฝ่ายเสนอให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการ ในขณะที่มักจะได้รับการคัดค้านและลงมติด้วยเสียงข้างมากของฝ่ายที่เป็นรัฐบาลให้ไม่มีการถ่ายทอด

ดังนั้น ในโอกาสที่ฝ่ายค้านเดิมได้กลายเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและดำรงตำแหน่งทั้งประธานและรองประธานสภา เราจึงมุ่งหวังที่จะเห็นการถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการของสภา ในชุดที่มีความสำคัญ

 

4) การเข้าชื่อเสนอ กม. โดยประชาชน

แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 133(3) ให้สิทธิประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ชื่อสามารถเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย หรือมาตรา 256(1) ให้สิทธิประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ เข้าชื่อกันเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม

แต่ภายใต้กติกาที่เป็นอยู่ สร้างความยากลำบากของประชาชนให้แก่ประชาชนที่เข้าชื่อดังกล่าวไม่ใช่น้อย แม้ว่าทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะมีกลไกต่างๆ เพื่อช่วยอำนาจความสะดวกให้แก่ประชาชนในบางส่วนแล้วก็ตาม

การเข้าชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถทำได้ แต่ประชาชนยังต้องเป็นฝ่ายพัฒนาโปรแกรมเองซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่าย

เมื่อเข้าชื่อได้ครบถ้วนตามจำนวน ยังต้องจัดพิมพ์แบบฟอร์มเข้าชื่อในรูปเอกสาร หมื่นชื่อคือหมื่นใบ ห้าหมื่นชื่อคือห้าหมื่นใบ ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายของประชาชน และแม้ดำเนินการได้ก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสิ่งที่เสนอจะได้รับการเหลียวแลจากการลงมติสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือที่ประชุมของรัฐสภา ไม่รวมถึงการถูกจัดลำดับความสำคัญของวาระที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนน้อยสุด เรียงจากกฎหมายที่ถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยการเข้าชื่อการเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

กฎหมายที่เสนอโดยประชาชนถูกจัดความสำคัญเร่งด่วนในอันดับท้ายๆ เสมอ

 

5) การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในการใช้ประโยชน์จากรัฐสภา

รัฐสภาที่มูลค่าการก่อสร้างนับหมื่นล้านบาท ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในฐานะแหล่งเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชนด้วย

การให้ประชาชนสามารถรับรองตนเองในการขอเข้าฟังการประชุมของรัฐสภาโดยไม่ต้องถึงขนาดทำหนังสือขอเข้าฟังเป็นหมู่คณะจากหน่วยงานที่เป็นการขอใช้สถานที่เพื่อการจัดกิจกรรมทางวิชาการที่ควรเปิดกว้างและมีค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด

ควรมีพิพิธภัณฑ์รัฐสภาในอาคารรัฐสภาที่รวบรวมหลักฐานต่างๆ ทางประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้คนทั่วไปได้เห็นและเรียนรู้ถึงสิ่งที่ผ่านมาในอดีต

ห้องสมุดรัฐสภาที่รวบรวมหนังสือการเมืองการปกครองที่ครบถ้วนจากในประเทศและต่างประเทศ มีรายงานการประชุมรัฐสภา รายงานการประชุมกรรมาธิการต่างๆ ที่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้าไปศึกษาเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งให้มีระบบในการสืบค้นทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย และเปิดกว้างสำหรับการเข้าถึงเพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่จะให้ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นผู้ริเริ่มแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ผู้เป็นประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติควรแสดงถึงเจตจำนงในการพัฒนาและให้การสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังด้วย

อย่าจบลงด้วย เมื่อไม่มีอำนาจอยากเปลี่ยน และเมื่อมีอำนาจกลับไม่คิดเปลี่ยน