ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (5)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ

: บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (5)

 

องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างของแท่นบูชาคือ “โคมไฟหน้าพระ” ซึ่งสิ่งนี้มีนัยหลากหลายทั้งในแง่ความเชื่อและในแง่ของ “สัญญะ” บางอย่าง

ในแง่ความเชื่อนั้น แสงสว่างจัดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งของแท่นบูชา เป็นสิ่งแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของปวงเทพเจ้า การมองเห็น พลังชีวิต และความเป็นมงคล

ทัศนะว่าแสงสว่างเป็นคุณลักษณะของเทพนี้ เป็นความคิดที่มีอยู่ทั่วไปในแทบทุกศาสนา ดังนั้น ในทางตรงกันข้าม ความมืดย่อมแสดงถึงสิ่งชั่วร้าย ความตาย ความไม่บริสุทธิ์และไม่เป็นมงคล จึงต้องพยายามรักษาที่บูชามิให้มืดมิดอยู่เสมอ

การจัดให้มีโคมไฟหน้าพระ โดยปกติจะแขวนไว้ด้านหน้าของแท่นบูชา นิยมใช้เป็นตะเกียงน้ำมัน แต่ในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปใช้โคมหรือตะเกียงที่ให้แสงสว่างจากไฟฟ้า ซึ่งบางท่านเห็นว่าใช้แทนกันไม่ได้จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ลดลง บางท่านก็ว่าแทนกันได้เพราะเน้นการส่องสว่างเป็นสำคัญ และยังลดความเสี่ยงจากการเกิดอัคคีภัยด้วย

ผมได้ยินมาว่า บางโรงเจแขวนโคมไฟฟ้าไว้หน้าแท่นบูชา พอถึงช่วงเวลาพิธีกรรม โคมไฟฟ้าจะแกว่งเองได้ ยังให้ศาสนิกชนทั้งหลายเกิดศรัทธาปสาทะในความศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นเอกลักษณ์ของโรงเจแห่งนั้น

เรื่องนี้หากจะอธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ก็ย่อมทำได้ แต่คงไม่จำเป็นนัก เพราะอย่างไรเสียผู้ศรัทธาเขาน่าจะไม่ได้ถือเอาเรื่องนี้เป็นจริงเป็นจังกว่าเรื่องไหว้พระสวดมนต์ คงถือเป็นนิมิตหมายมงคลก็เท่านั้น

 

นอกจากเรื่องความเชื่อทางศาสนาโดยตรงแล้ว อันที่จริง โคมแขวนหน้าพระโดยเฉพาะแบบที่เป็นวงกลมแล้วมีตะเกียงตรงกลาง ยังมีนัยยะแฝงทางการเมือง เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับพระมารดาสวรรค์หรือองค์ธรรมมารดาอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของพรรคบัวขาวที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายของราชวงศ์หยวน และกลับมามีอิทธิพลอีกครั้งในปลายสมัยชิง ก่อนที่จะแตกแยกย่อยออกมาเป็นสมาคมลับหรือลัทธิพิธี “เต๋า” สายต่างๆ ซึ่งส่งผ่านมายังโรงเจหลายแห่งในเมืองไทยโดยผู้อพยพชาวจีน

พรรคบัวขาวแต่เดิมเป็นเพียงสมาคมบัวขาวที่นำเอาพุทธศาสนาสายสุขาวดีไปผสมผสานกับความเชื่อพื้นบ้าน ต่อมาถูกนำไปเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในจีน นับตั้งแต่ก่อเกิดราชวงศ์หมิงเป็นต้นมาจนถึงการกบฏต่อราชวงศ์ชิง

อันที่จริงแม้แต่ชื่อราชวงศ์หมิง (เหม็ง) อันหมายถึง “แสงสว่าง” ก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญของสมาคมลับที่เกี่ยวพันกับปณิธาน “ล้มชิง กู้หมิง” สัญญะแฝงเหล่านี้จึงแอบซ่อนอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรม ตัวพิธีกรรมเองไปจนถึงคำกลอนและบทสวดมนต์ หากไม่ได้เป็น “คนใน” ก็ยากจะรู้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอันตรายจากทางการ

แม้ไม่มีชิงไม่มีหมิงแล้วในปัจจุบัน อุดมการณ์ล้มชิงกู้หมิงก็พลอยมลายหายสูญไปด้วย กระนั้น การสืบทอดระบบสัญญะเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ในฐานะกระแสสำนึกทางประวัติศาสตร์ของพวกพ้องและการสืบต่อ “อารมณ์ความรู้สึก” ทางอุดมการณ์ของบรรพชน

แต่อย่างที่ผมบอกครับ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนในด้วยกันเท่านั้นจะเข้าใจ และพอไม่มีสถานการณ์จริงที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์นี้แล้ว ผู้คนจึงเข้าใจว่าโคมไฟประจำแท่นบูชาเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น

นอกจากโคมแขวนซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีโคมกระดาษหรือโคมผ้าประดับเพื่อบ่งบอกชื่อสถานที่หรือชื่อเทพเจ้า และมีตะเกียงน้ำมันเพื่อสักการะหรือที่ใช้สำหรับจุดธูปเทียนแยกออกไปต่างหาก

พอมีตะเกียงเหล่านี้ทั้งในศาลเจ้าและในบ้าน การเติมน้ำมันใส่ตะเกียงหรือการ “เที่ยมอิ๋ว” นั้น ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้สักการะกราบไหว้ เชื่อกันว่าเมื่อเที่ยมอิ๋วก็เท่ากับได้ “เที่ยมฮก” และ “เที่ยมสิ่ว” คือเติมวาสนาและเติมอายุไปด้วย

หลายศาลเจ้าจึงต้องติดตั้งตะเกียงน้ำมันขนาดใหญ่เพื่อรองรับผู้มาสักการะจำนวนมากๆ

 

เมื่อมีเทพเจ้าประจำแท่นบูชา มีกระถางธูปและโคมไฟแล้ว ที่เหลือก็เป็นเครื่องประกอบต่างๆ เช่น เครื่องบูชาทั้งห้า (หง่อก่ง) นอกเหนือจากกระถางธูป ได้แก่ เชิงเทียนคู่และแจกันคู่ นอกนั้นก็คือของอื่นๆ ที่ต้องใช้ เช่น เตาเผาควันหอม เตาเผากระดาษเงินกระดาษทอง ฉากหลังแท่นพระ กลอนประดับแท่นบูชา ถ้วยและป้านชา ถ้วยจานใส่ของถวาย ฯลฯ

เครื่องใช้หลักๆ เกี่ยวกับแท่นบูชาก็มีประมาณนี้ครับ นอกนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของแท่นบูชามีกิจหรือสถานะอย่างอื่นอีก เช่น หากเจ้าของแท่นเป็นฮวดกั้วหรือผู้ใช้ไสยเวทแบบจีน ก็มักมีอุปกรณ์ประกอบพิธีกรรมอย่างธงบัญชาการ ดาบพิธี แส้งู (ฮวดโส๊ะ) กระดิ่ง ฯลฯ วางที่แท่นบูชาด้วย หรือหากเจ้าของเป็นผู้สวดมนต์พิธี (ไซก้อง) ก็จะมีอุปกรณ์สวดมนต์ เช่น ปลาไม้ (บ๊อกฮื้อ) สำหรับให้จังหวะ หรือขันระฆังวางไว้ ให้ใช้งานได้สะดวกยามสวดทำวัตรเช้าเย็น

ปัจจุบันความนิยมการไหว้เจ้าแบบจีนดูเหมือนจะมีมากขึ้น คนรุ่นใหม่หลายคนพยายามกลับไปตั้งแท่นบูชา รวมทั้งคนที่ไม่ใช่คนไทยเชื้อสายจีนก็ให้ความสนใจเรื่องนี้

ในยามที่ “สายมู” เฟื่องฟู มีสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความสับสนคือการนำเครื่องโต๊ะ “กิมตึ๋ง” มาใช้ในแท่นบูชาที่เป็นทางการ

 

อันที่จริงเครื่องโต๊ะกิมตึ๋ง เป็น “ของเล่น” ของคนชั้นสูงทั้งในจีนและไทยครับ กิมตึ๋งเป็นยี่ห้อของชุดเครื่องเซรามิกตกแต่งโต๊ะ คือนอกจากจะมีกระถางธูป เชิงเทียนและแจกันแล้ว ก็ได้เพิ่มถ้วยชามและอุปกรณ์สวยๆ ที่มีลวดลายเข้าชุดกันมาประดับอีก เช่น ฉากลับแล กระบอกใส่ดอกไม้ กระบอกใส่อุปกรณ์ ตุ๊กตา เครื่องเขียน นิยมกันมากในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และสมัยรัชกาลที่ห้า

วัตถุประสงค์ก็มีไว้เป็นเครื่องเล่นบันเทิงใจ มีไว้สะสม ไว้อวดหรือประกวดประชันขันแข่งกัน แต่ในเมืองไทยได้เอาไว้ตั้งรับเจ้านายเมื่อเสด็จด้วยเพื่อแสดงความเคารพ คือใช้แบบกึ่งเล่นกึ่งจริงครับ

กิมตึ๋งเป็นนวัตกรรมกึ่งจีนกึ่งไทย ดังนั้น ในแท่นบูชาที่เป็นทางการหรือแท่นบูชาจริงๆ สำหรับเทพเจ้าและบรรพชนอย่างจีน จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องกิมตึ๋ง เพราะไม่ต้องตามระเบียบแบบแผนของพิธีกรรม บางคนใส่เพิ่มเข้ามาก็เพราะไม่รู้ และต้องการให้สวยงามหรูหราอลังการ ซึ่งรังแต่จะสิ้นเปลืองมากขึ้น บางครั้งบางงาน เจ้าภาพไปจ้างคนมาตั้งเครื่องกิมตึ๋งเสียยิ่งใหญ่ แต่เครื่องบูชาที่ต้องมีกลับขาดตกบกพร่องไปเสีย

พูดไปก็เหมือนคนแก่ขี้บ่น แต่นั่นแหละครับ ภาพสวยงามยิ่งใหญ่เป็นที่นิยมกว่าเรียบง่ายหมดจด น่าเสียดายที่ความรู้ในเรื่องการจัดเครื่องบูชาค่อยๆ เลือนไปตามความนิยมหรือกระแสความอู้ฟู่สายมูที่กำลังฮิตในเวลานี้

อันที่จริงผมมักจะบอกคนรู้จักว่า ถ้ารักจะไหว้เจ้าอย่างจีน ให้คิดแบบหยูหรือคิดตามทัศนะแบบขงจื่ออันเป็นพื้นฐานแห่งพิธีกรรมของอารยธรรมจีนด้วย คือเน้นความเรียบง่ายแต่ถูกต้องตามขนบ ในพิธีให้มีความเคารพและรักษากริยาอาการ หากไหว้บรรพชนก็เรียนรู้เรื่องความกตัญญูเป็นหลัก

หากไหว้เทพก็ได้เรียนรู้ระเบียบราชการและธรรมเนียม (โบราณ) คือมองการไหว้เจ้าในฐานะ “การฝึกตน” เพื่อจะนำตนเองไปสู่ความเป็นวิญญูชนในท้ายที่สุด

กระนั้น ความเชื่อศรัทธาและคตินิยมแบบชาวบ้านก็ไม่ต้องทิ้งไป ไหว้เพื่อฮวด (รุ่งเรือง) และเฮง (มีโชค) ก็ถือได้ไม่ผิด แต่ทั้งสองอย่างคือมโนคติแบบหยูและความเชื่อถือแบบชาวบ้านควรจะผสมผสานกันให้พอดีๆ

 

อีกสิ่งที่มักปรากฏในแท่นบูชาด้วยคือ “ฮู้” หรือแผ่นยันต์ที่ทำด้วยกระดาษหรือผ้า ที่จริงในความเชื่อแบบเต๋า ฮู้มีมากมายหลากหลายชนิด หลากหลายทั้งในแง่วัสดุ การใช้และวัตถุประสงค์ มีทั้งแบบเขียนมือและพิมพ์จากบล๊อกไม้ หรือสมัยใหม่คือพิมพ์จากโรงพิมพ์

ในฮู้มีทั้งตัวอักษรธรรมดาที่คนรู้ภาษาจีนก็อ่านออก และตัวอักษรพิเศษที่เป็นรหัสนัยหรือตัวอักขระเลขยันตร์นั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น รูปเทพเจ้า สัตว์ ผี สิ่งมงคล ฯลฯ

ฮู้สามารถใช้ทั้งสาปแช่ง ขจัดปัดเป่าภูตผีปีศาจหรือเสนียดจัญไร รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ปกป้องภยันอันตราย และทำให้สิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ได้ เช่น การทำน้ำมนต์ก็จะเผาฮู้ลงในน้ำนั้นเรียกว่าฮู้จุ้ย หรือที่เราเห็นกันบ่อยที่สุดคือการติดฮู้หน้าอาคารบ้านเรือนเพื่อปกป้องคุ้มภัย

นักพรตหรือผู้ประกอบพิธี (ฮวดกั้ว) จึงต้องเรียนรู้วิธีเขียนฮู้เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ส่วนในพิธีการตั้งแท่นบูชาก็จะใช้ฮู้อยู่หลายขั้นตอน เช่น เสกน้ำ เสกกระถางธูป ขจัดปัดเป่า ฯลฯ

นอกจากนี้ ฮู้ยังทำหน้าที่เป็นสิ่งแทนเทพเจ้าอีกด้วย ฮู้ที่มีพระนามของเทพหรือภาพของเทพจะนิยมติดไว้ที่ด้านหลังของแท่นบูชาหรือด้านหลังของรูปเคารพองค์นั้นๆ เพื่อแสดงว่ามีความศักดิ์สิทธิ์หรือพลังของเทพสถิตอยู่ แม้ไม่มีรูปเคารพก็สามารถกราบไหว้ฮู้นั้นแทนได้

เนื้อที่ของวันนี้หมดเสียแล้ว คราวหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง