ประเด็นร้อน นํ้าเปื้อนกัมมันตรังสี ‘ฟูคุชิมา’ กว่า 1,300,000 ลูกบาศ์กเมตรลงสู่ทะเล

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

นํ้าเปื้อนกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมา ประเทศญี่ปุ่น กลับมาเป็นประเด็นร้อนๆ อีกครั้ง

เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนปล่อยน้ำทั้งหมดที่อยู่ในถังยักษ์กว่า 1,300,000 ลูกบาศ์กเมตรลงสู่ทะเลในเดือนสิงหาคมนี้

บรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่มีทะเลติดกันทั้งเกาหลีใต้ จีนและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกพากันโวยวาย

เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้วที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โรงไฟฟ้าฟูคุชิมา 4 เตาระเบิดหลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ และคลื่นยักษ์สึนามิสูง 10 เมตรซัดกระหน่ำใส่โรงไฟฟ้าทำให้แท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์ร้อนจัดจนระเบิด

เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นมหันตภัยนิวเคลียร์ร้ายแรงที่สุดของโลกนับตั้งแต่เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด

ระหว่างเกิดเหตุ หน่วยดับเพลิงของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก้) เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียรฟูคุชิมา ระดมกำลังฉีดน้ำใส่เตาปฏิกรณ์เพื่อดับไฟ และอัดน้ำบาดาลเข้าไปในโรงไฟฟ้าเพื่อสกัดไม่ให้น้ำที่อยู่ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไหลทะลักออกมา

น้ำเหล่านี้ปนเปื้อนกัมมันตรังสีต้องผ่านการกำจัดให้เป็นน้ำสะอาดก่อนปล่อยลงสู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

เทปโก้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการสูบน้ำทั้งหมดตกค้างในโรงไฟฟ้าไปบำบัดด้วยกระบวนการบำบัดน้ำเปื้อนกัมมันตรังสีขั้นสูงหรือที่เรียกว่า “ALPS” ( Advanced Liquid Processing System)

“เทปโก้” อ้างว่า ALPS สามารถกำจัดสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในน้ำทั้งซีเซียมและสทรอนเซียม จะเหลือแค่ทริเทียม (tritium) และคาร์บอน 14 ซึ่งเป็นกัมมันตรังสีในรูปของไฮโดรเจนและคาร์บอนที่ไม่สามารถแยกออกจากน้ำได้ แต่ปริมาณของทริเทียมและคาร์บอน 14 อยู่ในระดับต่ำมาก มีระดับปลอดภัยสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป

ตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ค่าปนเปื้อนของทริเทียมในน้ำสะอาด 1 ลิตรจะไม่เกิน 6 หมื่นเบกเคอเรล (becquerel) มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก จะอยู่ที่ 1 หมื่นเบกเคอเรล น้ำที่เปื้อนกัมมันตรังสี ทางเทปโก้อ้างว่าผ่านระบบบำบัดจนเหลือ 1,500 เบกเคอเรล

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกปล่อยน้ำปนเปื้อนทริเทียมและคาร์บอน 14 ออกสู่สิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน และมีระดับปนเปื้อนสูงกว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของเทปโก้เสียอีก” เทปโก้อ้าง

เมื่อบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีได้แล้ว ทางเทปโก้สูบเอาน้ำทั้งหมดใส่ไว้ในถังยักษ์ขนาด 1,400 ลบ.ม. จำนวนกว่า 1,000 ถัง เป็นถังทำขึ้นเป็นพิเศษเรียกว่า High Intergrity Container และอ้างถึงความจำเป็นต้องเอาน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วปล่อยสู่ทะเล เพราะน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีเต็มถังทั้งหมดแล้ว

ส่วนวิธีปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจะใช้ปั๊มน้ำดึงน้ำจากถังผ่านระบบบำบัดลงไปในท่อที่ต่อใต้ทะเลยาว 1 กิโลเตรจากชายฝั่ง การปล่อยน้ำดังกล่าวนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาราวๆ 30 ปี

ต่อมาเทปโก้และรัฐบาลญี่ปุ่นจัดทำรายงานการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้าฟูคุชิมา ยื่นให้สำนักงานพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ ( IAEA) พิจารณาตรวจสอบว่าได้มาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่

และถ้าปล่อยลงมหาสมุทรแปซิฟิกจะมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน

 

ไอเออีเอ ใช้เวลาตรวจสอบกระบวนการของเทปโก้และรัฐบาลญี่ปุ่นในการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีเป็นเวลา 2 ปี

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ทางไอเออีเอรับรองรายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นและเทปโก้แล้วว่าการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศและการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเลจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก

แต่เมื่อข่าวการรับรองผลของไอเออีเอแพร่สะพัดออกไป ปรากฏว่าเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงญี่ปุ่น และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มชาวประมงท้องถิ่นของญี่ปุ่น แสดงความกังวลกับกระบวนการปล่อยน้ำเปื้อนกัมมันตรังสีด้วยเพราะเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ชาวประมงญี่ปุ่นตั้งคำถามกับรัฐบาลและเทปโก้ว่า ตลอดเวลา 12 ปีตั้งแต่เกิดภัยพิบัติกับโรงไฟฟ้าฟูคุชิมา ทุกคนเดือดร้อนกันมากแล้ว ทำไมต้องเอาทะเลมาเป็นถังขยะทิ้งน้ำเปื้อนกัมมันตรังสีอีก

บรรดาฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ รวมตัวประท้วงเรียกร้องให้ญี่ปุ่นหยุดแผนปล่อยน้ำเปื้อนกัมมันตรังสี ขณะที่ชาวเกาหลีใต้พากันหาซื้อเกลือทะเลมาเก็บตุนไว้จนราคาเกลือทะเลพุ่งกระฉูด

ส่วนรัฐบาลจีนตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนพร้อมกับออกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารจากพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ในจุดเสี่ยงปนเปื้อนกัมมันตรังสี 10 แห่ง และจะตรวจสอบอาหารที่นำเข้าจากส่วนอื่นๆ ของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลเกาหลีเหนือ เรียกร้องให้นานาชาติกดดันรัฐบาลญี่ปุ่นหยุดปล่อยน้ำเปื้อนกัมมันตรังสีลงในมหาสมุทรแปซิฟิกพร้อมกับกล่าวหาว่า เป็นพฤติกรรมของปีศาจร้ายที่พยายามทำลายมนุษยชาติเลยทีเดียว

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ได้ย้อนถามรัฐบาลญี่ปุ่นว่าทำไมไม่เก็บน้ำเปื้อนกัมมันตรังสีไว้ในถังต่อไป เพราะหากยังไม่มีแผนยุบทิ้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมา ไม่มีความจำเป็นต้องปล่อยน้ำลงไปในทะเล เก็บไว้ก่อนไม่ดีกว่าหรือแล้วรอเวลาให้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยบำบัดน้ำเปื้อนพิษที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณของสารทริเทียมและคาร์บอน 14 ที่ยังคงตกค้างอยู่ในน้ำที่บำบัดแล้วจะมีปริมาณเล็กน้อยต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ไอเออีเอกำหนดไว้ เมื่อปล่อยลงสู่ท้องทะเลแล้ว การปนเปื้อนก็เจือจางลงมาก แต่ผู้คนยังไม่เชื่อมั่นอยู่ดีโดยเฉพาะข้อกังวลต่อผลกระทบในระยะยาวภายหลังปล่อยน้ำเปื้อนกัมมันตรังสีซึ่งไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าจะมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน

ตั้งแต่เกิดเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมา ชาวญี่ปุ่นขาดความไม่เชื่อมั่นเทปโก้และรัฐบาลญี่ปุ่นเพราะมีข่าวปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลมาตั้งแต่แรก อย่างเช่น สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดระเบิดในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หรือข้อสงสัยกรณีมีการตรวจสอบพบน้ำที่ผ่านการบำบัดด้วยระบบ ALPS มีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน

เมื่อปี 2563 มีข่าวออกมาว่ารายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำในถังบำบัดของเทปโก้พบถังเก็บน้ำเปื้อนกัมมันตรังสี 780,000 ตัน หรือ 72 เปอร์เซ็นต์ของถังทั้งหมดนั้น ในบางถังมีน้ำเปื้อน “สทรอนเซียม” สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 2 หมื่นเท่า

ข้อมูลเหล่านี้ที่หลุดออกมานี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารของ “เทปโก้” จนผู้คนเกิดความไม่ไว้วางใจและลามไปถึงความไม่น่าเชื่อถือของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย

การตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นและเทปโก้เพื่อปล่อยน้ำเปื้อนกัมมันตรังสีลงในมหาสมุทรแปซิฟิกในเดือนสิงหาคมนี้ ถือได้ว่าเป็นตัดสินใจที่อยู่บนความเสี่ยง

เสี่ยงทั้งเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านและเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม •

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]