ประเทศไทย ‘ขวานหิน’ ถึง ‘ขวานทอง’  | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ประเทศไทยมีความเป็นมาแยกกันเรื่องชื่อและพื้นที่ (ดินแดน) ตั้งแต่รูปร่างคล้าย “ขวานหิน” จนถึงคล้าย “ขวานทอง”

ชื่อ ได้ชื่อ “ประเทศไทย” ครั้งแรก 84 ปีที่แล้ว พ.ศ.2482 เป็นชื่อทางการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” ยกชาติพันธุ์ไทยเป็นใหญ่เหนือชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ “ไม่ไทย” (ซึ่งมีมากกว่า)

พื้นที่ หรือ ดินแดน มีพัฒนาการหลายพันปีมาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งอย่างแยกไม่ได้ของอุษาคเนย์และของโลก

2,500 ปีมาแล้ว (ราว พ.ศ.1) บริเวณแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ ถูกเรียกจากพ่อค้าอินเดียว่า สุวรรณภูมิ หมายถึงดินแดนทองแดง (ไม่ใช่ทองคำ) เนื่องจากพ่อค้าอินเดียเดินทางผจญภัยมาซื้อทองแดงไปถลุงและขายต่อถึงกรีก-โรมัน แหล่งทองแดงสมัยนั้นมีมากบริเวณลุ่มน้ำโขง ดินแดนสุวรรณภูมิจำแนกกว้างๆ 3 ตอน

ตอนบน อยู่ทางใต้ของจีน บริเวณมณฑลยูนนาน มีหลายชาติพันธุ์ปะปนกัน (จีนเรียกรวมๆ ว่า “เยว่” แปลว่าคนป่าเถื่อน) พูดหลายชาติภาษา และมีภาษาไทย (ไท-ไต) รวมด้วย

ตอนกลาง บริเวณลุ่มน้ำโขงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รอบอ่าวไทย) เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของคนพูดตระกูลภาษามอญ-เขมร และมลายู

ตอนล่าง บริเวณคาบสมุทร และกลุ่มเกาะ เป็นถิ่นฐานของคนพูดภาษามลายู

1,500 ปีมาแล้ว (ราว พ.ศ.1000) สมัยการค้าโลก ทำให้ศาสนาพราหมณ์-พุทธ แผ่ถึงสุวรรณภูมิ กระตุ้นให้เกิดบ้านเมืองใหญ่โตระดับรัฐ มีหลายรัฐ พบชื่อในเอกสารจีน เรียกรัฐทางตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนั้นยังมีรัฐน้อยๆ กระจายทั่วไป

1,000 ปีมาแล้ว (ราว พ.ศ.1500) พื้นที่สองฝั่งโขงถูกเรียก สยาม มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเวียงจันท์ ชุมทางการค้าข้ามภูมิภาคถึงอ่าวตังเกี๋ย (เวียดนาม), น่านเจ้า (จีน) และลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สยามที่เวียงจันท์เป็นเครือญาติใกล้ชิดราชสำนักกัมพูชา มีภาพสลักขบวนแห่ชาวสยาม (จีนเรียก “เสียมก๊ก” เขมรเรียก “เสียมกุก) อยู่ปราสาทนครวัด (ราว พ.ศ.1650) ในพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องการส่งเสด็จสุริยวรรมันที่ 2 เสวยสวรรค์เป็นพระวิษณุที่บรมวิษณุโลก

สยาม หมายถึงบริเวณดินดำน้ำชุ่ม มีรากจากคำลาวว่า ซำ หรือซัม หมายถึงตาน้ำ, น้ำผุด, น้ำพุ (คำอธิบายจาก จิตร ภูมิศักดิ์) แล้วกลายคำเป็น คร่ำ, ครำ, คำ เช่น นาคำ หมายถึง นาที่มีตาน้ำ (ไม่ใช่นามีทองคำ)

คนในดินแดนสยามมีหลายชาติพันธุ์ผสมปนเป “ร้อยพ่อพันแม่” ถูกเรียกจากคนอื่นอย่างรวมๆ ว่าชาวสยาม พูดหลายชาติภาษาที่แตกต่างกัน จึงต้องมีภาษากลางเพื่อการสื่อสารเข้าใจตรงกัน คือภาษาไทย

900 ปีมาแล้ว (ราว พ.ศ.1600) ภาษาไทยเคลื่อนไหวตามเส้นทางการค้าจากลุ่มน้ำโขง-ลุ่มน้ำสาละวิน ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาทางฟากตะวันตก (ส่วนทางฟากตะวันออกเป็นถิ่นฐานของคนพูดภาษาเขมร) ทำให้บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองถูกเรียกว่า สยาม หลังจากนั้นขยายลงไปลุ่มน้ำเพชรบุรี ถึงพื้นที่คาบสมุทรตอนบน (นครศรีธรรมราช)

800 ปีมาแล้ว (ราว พ.ศ.1700) ชาวสยาม-สุพรรณภูมิจากลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ร่วมกับชาวละโว้ขยายอำนาจสถาปนา เมืองอโยธยา ทำให้ภาษาไทยเริ่มมีอำนาจ

นับเป็นตั้งต้นความเป็นไทยและประเทศไทย จำกัดแคบๆ อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ไม่มีภาคอื่น) รูปร่างเหมือน “ขวานหิน”

ก่อนสมัยอยุธยาไม่มี “อาณาจักร” แต่มีรัฐอิสระขนาดเล็กไล่เลี่ยกันอยู่กระจายทั่วไป โดยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองลักษณะต่างๆ เช่น แบบเครือญาติทางการแต่งงาน, แบบเจ้าพ่อ-ลูกน้อง, แบบเครือข่ายทางการค้า เป็นต้น

เหนือสุด อุตรดิตถ์, ตาก (เหนือขึ้นไปเป็นลาว-ล้านนา)

ใต้สุด เพชรบุรี (ใต้ลงไปเป็น “ชาวนอกชาวเทศ” แขก-มลายู)

ตะวันตก สุพรรณบุรี (พ้นออกไปเป็นมอญ-พม่า, ละว้า-กะเหรี่ยง)

อีสาน นครราชสีมา (พ้นออกไปเป็นลาว, เขมร และ “ข่า” ต่างๆ)

[ดินแดนไทยและความเป็นไทยเริ่มแรกตามหลักฐาน เป็นความรับรู้ตั้งแต่สมัยอโยธยาสืบเนื่องถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พบหลักฐานการรับรู้อยู่ในเอกสารสมัย ร.4 เรียก “สยามแท้” มีบอกในหนังสือราชอาณาจักร และราษฎรสยาม โดย เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง (โครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547 หน้า 42-43) แผ่นดิน ร.5, ร.6, ร.7 เรียกดินแดน “ประเทศไทยแท้” มีบอกในพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พ.ศ.2403-2464) เรื่อง “ตำนานประเทศไทย” (หนังสือ ประมวลพระนิพนธ์ ประวัติศาสตร์-โบราณคดี พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2514 หน้า 15-16)]

อโยธยาเป็นเมืองตั้งต้นความเป็นประเทศไทยในความทรงจำของชนชั้นนำสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สอดคล้องกับหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี ซึ่งพบว่าเกิดจากการรวมกันของรัฐละโว้กับรัฐสุพรรณภูมิ

ละโว้ (จ.ลพบุรี) มีเครือญาติและเครือข่ายการค้า ดังนี้ (1.) ลุ่มน้ำมูลตอนต้น ที่เมืองเสมา (นครราชสีมา) (2.) ลุ่มน้ำป่าสัก ตอนกลาง ที่เมืองศรีเทพ (เพชรบูรณ์) (3.) “เมืองเหนือ” ตระกูลศรีนาวนำถม ที่อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, สุโขทัย, ตาก, พิจิตร, นครสวรรค์ (4.) ชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออก ที่ลุ่มน้ำบางปะกง, พานทอง, ระยอง, ประแส, จันทบุรี

สุพรรณภูมิ (จ.สุพรรณบุรี) มีเครือญาติและเครือข่ายการค้า ดังนี้ (1.) “เมืองเหนือ” ตระกูลพระร่วง รัฐสุโขทัย (2.) ลุ่มน้ำท่าจีน เส้นทางออกอ่าวไทย (3.) ลุ่มน้ำแม่กลอง เส้นทางด่านเจดีย์ 3 องค์ ออกอ่าวเมาะตะมะ (เมืองทวาย) (4.) ลุ่มน้ำเพชรบุรี เส้นทางช่องสิงขร ออกทะเลอันดามัน (เมืองมะริด, เมืองตะนาวศรี), เครือญาตินครศรีธรรมราช, เครือข่ายการค้ากับมลายู (ปัตตานี, จาม)

การรวมกันของละโว้กับสุพรรณภูมิ เท่ากับเชื่อมโยงเข้าด้วยกันระหว่างดินแดนภายในแม่น้ำลำคลองกับทะเลสมุทร โดยผ่านคน 2 กลุ่ม คือ ขอม-สยาม กับ มลายู-จาม

พบหลักฐานสำคัญเฉพาะมลายู-จาม ในบทอัยการตำแหน่งนาพลเรือนกรมท่าขวา (จุฬาราชมนตรี) และอาสาจาม (พระราชวังสัน, หลวงศรีมหาราชา, หลวงลักษมานา) “ศรีมหาราชา” ตำแหน่งมลายู-จาม ยังพบตกค้างในชื่อเมือง ได้แก่ แพรกศรีราชา (อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท), ศรีราชา (อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี)

700 ปีมาแล้ว (หลัง พ.ศ.1800) กาฬโรค (Black Death) ระบาด แก้อาถรรพ์ด้วยการย้ายศูนย์กลางอำนาจไปอยู่บริเวณหนองโสน (ปัจจุบันเรียกบึงพระราม) และสถาปนาชื่อเมืองใหม่ว่า อยุธยา

500 ปีมาแล้ว (ราว พ.ศ.2000) ชาวยุโรปเรียกรัฐอยุธยาว่า “ราชอาณาจักรสยาม” ส่วนชาวสยามในอยุธยาเรียกตนเองว่า คนไทย เรียกประเทศว่า เมืองไทย

250 ปีมาแล้ว (หลัง พ.ศ.2310) กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์ ขยายอำนาจผนวกดินแดนอื่นเข้ามาเป็นระยะตั้งแต่ล้านนา, ล้านช้าง, มลายูปัตตานี

หลังจากนั้นต้องทยอยคืนดินแดนที่ได้มาให้นักล่าอาณานิคม และกรณีอื่นๆ จนเหลือดินแดนคล้ายรูปขวาน เรียกต่อมาว่า “ขวานทอง”

166 ปีมาแล้ว (ราว พ.ศ.2400) ร.4 เรียก กรุงสยาม หรือ ประเทศสยาม

84 ปีมาแล้ว (พ.ศ.2482) จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อกรุงสยาม เป็นประเทศไทย สืบเนื่องจนปัจจุบัน •