อำนาจเหนือบุคคล กับเหตุผลของชุดนักเรียน

บทความพิเศษ | ตะวัน มานะกุล

 

อำนาจเหนือบุคคล

กับเหตุผลของชุดนักเรียน

 

ข่าวเรื่องหยกกับชุดนักเรียนผ่านหูทุกคนในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เรื่องนี้ควรเป็นโอกาสให้สังคมเราได้ถกเถียงเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ แต่กลายเป็นว่าหลายคนให้ความเห็นต่อข้อถกเถียงนี้แบบง่ายๆ ว่า “ไร้สาระ” แค่ใส่ชุดนักเรียนจะยากอะไรหนักหนา

จริงนะครับ ใส่ชุดนักเรียนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผมว่าฝั่งที่เรียกร้องเขามีอะไรในใจมากกว่านั้น

ทำไมเรื่องชุดนักเรียนจึงไม่ไร้สาระ

 

ข้อโวยวายของเด็กเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความไม่ชอบชุดนักเรียน มันร้อยเรียงกันเป็นเรื่องใหญ่ได้ ภายใต้หลักข้อหนึ่ง

“ไม่มีอำนาจเหนือบุคคล (power over) โดยไม่มีเหตุผลจำเป็น”

ทำไมสำคัญ

ตอบง่ายสุด คือทำไมจะไม่สำคัญล่ะ?

อาจจะสำคัญที่สุดในหลักทั้งหลายทั้งปวง เพราะหลักนี้แหละที่แยกรัฐและสังคมทั่วไปออกจากเผด็จการ และทำให้นิติรัฐเป็นไปได้

ถ้าเราใช้อำนาจต่อกันได้โดยไม่ต้องมีเหตุผล นั่นคือบ้านป่าเมืองเถื่อน ถ้าคนใช้อำนาจที่ว่าคือรัฐบาลและบังคับใช้ในรูปกฎหมาย ก็ถือว่าเราอยู่ในรัฐทรราช ไร้นิติรัฐ

สมมุติคนเฝ้าอาคารที่ผมทำงาน บังคับว่าต่อไปผมเดินผ่านเขาตอนเช้า ผมจะต้องกระดิกนิ้วก้อยข้างซ้ายหนึ่งครั้ง

กระดิกนิ้วนี่เล็กน้อยมาก เล็กกว่าชุดนักเรียนอีก

แต่ผมคงไม่ยอม คุณก็คงฉุน เพราะมันไม่มีเหตุผล

เขาอาจถามกลับว่า แค่นี้ยังทำไม่ได้ แล้วจะทำอะไรไหว (ฮา)

ถ้าเราโอเคกับอะไรแบบนี้ก็แปลกแล้ว

เพราะนี่ไม่ใช่กฎที่มีเหตุผลแบบกฎจราจร หรือที่ตำรวจน้องใส่เครื่องแบบแสดงตัวระหว่างปฏิบัติงานคนจะได้เข้าหาถูกและแยกกับโจรออก

แล้วอะไรคือเหตุผลของชุดนักเรียน?

 

เอาเข้าจริงฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลไว้อยู่พอควรนะครับ

มีเหตุผลหนึ่งที่คนพูดกันเยอะ แต่ผมว่าไม่น่าถูก คือบอกว่านักเรียนต้องใส่เพราะ “เป็นกฎ”

คนตอบกำลังงงตัวเอง เพราะสิ่งที่เด็กกำลังถามคือ “ทำไมถึงมีกฎนี้” การตอบกลับว่าเพราะมันเป็นกฎ เป็นการตอบกลับโดยไม่ให้เหตุผล ในทางตรรกศาสตร์ นี่เรียกว่า “tautology” แปลเป็นไทยอาจจะประมาณว่าการ “พูดย้ำ” ซึ่งมีนัยยะเป็นการใช้อำนาจต่อข้อถกเถียง ประมาณว่ามันเป็นแบบนี้ เพราะมันต้องเป็นนี้แหละ

ในบริบทนี้ อาจถือว่าเป็นคำตอบที่เสียมารยาทและไม่เหมาะสมด้วยซ้ำ เพราะหลักเรื่องอำนาจเหนือบุคคลที่ว่าไปก่อนหน้า ชี้ว่าฝ่ายถือครองอำนาจเป็นฝ่ายที่ต้องพิสูจน์เหตุผล

อีกหนึ่งเหตุผลที่ฝ่ายสนับสนุนเครื่องแบบพูดกันเยอะ คือ “แค่เครื่องแบบแค่นี้ยังใส่ไม่ได้ โตขึ้นไปจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างไร”

ถ้าเรียนตรรกศาสตร์ 101 นี่คือตัวอย่างคลาสสิคของการให้เหตุผลที่ผิดในเชิงรูปแบบ และสามารถปัดทิ้งได้โดยไม่ต้องอ่านดูเนื้อหา

ความผิดพลาดรูปแบบนี่ เรียกกันแบบเท่ๆ ว่า petitio principii (ขอเรียกเท่ๆ ตาม เพราะไม่รู้จะแปลไทยว่าอะไร)

รูปแบบความผิดพลาดนี้ คือการเอาคำถามมาเป็นคำตอบ

ขออนุญาตใช้ตัวอย่างเซนซิทีฟ ที่เขาใช้กันจริงๆ ในคลาสเรียนตะวันตก คือสมมติเราถามว่ามีพระเจ้าจริงมั้ย? (Q)

แล้วมีคนตอบว่าพระเจ้ามีจริง (A)

เราถามว่ารู้ได้ไง เขาบอกเหตุผลเพราะคัมภีร์บอก (P1) เราถามต่อว่าแล้วรู้ได้ยังไงว่าไบเบิลจริง

เขาตอบว่าเพราะคัมภีร์มาจากพระเจ้า (P2)

อันนี้คือ Petitio principii เพราะคำตอบของเขา วางอยู่บนการให้เหตุผลว่าพระเจ้ามีจริง (เนื้อหาในคัมภีร์ถึงจริง เพราะพระเจ้าให้มา) ซึ่งพระเจ้ามีจริงไม่จริงนั้นเป็นคำถาม! เขาเอา (A) มาเป็น (P2) ซึ่งแปลว่าถึงที่สุดแล้ว A นั้นไม่มีเหตุผลรองรับจริงๆ

 

คล้ายๆ กัน

เด็กถามว่าทำไมต้องใส่ชุดนักเรียน หรือกล่าวอีกในหนึ่งคือชุดนักเรียนมันถูกต้องดีงามอย่างไร? (Q)

เราไปตอบว่า

A เพราะเครื่องแบบฝึกให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

เพราะ

P1 เครื่องแบบเป็นสิ่งจำลอง สะท้อน (และฝึก) เด็กให้เป็นคนดีแบบที่ว่า

นั่นหมายความว่าคำตอบนี้ (A) สร้างจากสมมุติฐาน ว่าเครื่องแบบเป็นตัวแทนของความถูกต้อง ดีและเป็นระเบียบ (P1)

ซึ่งสมมุติฐานใน P1 นั้นเป็นคำถามที่เด็กถามอยู่ เอาไปวนตอบเป็นคำตอบไม่ได้!

 

ไปๆ มาๆ เหตุผลที่ผมว่า (อาจจะ) ฟังขึ้นที่สุด ที่สุดคือเรื่องการป้องกันความเหลื่อมล้ำและแบ่งแยกชนชั้นผ่านเครื่องแต่งกาย

แต่ส่วนตัวผมยังคล้อยตามไปในทางไม่เห็นด้วยเพราะถ้ามันจะเกิดการแบ่งแยกผ่านการแต่งตัวเพราะคนมันจนรวยต่างกันสุดโต่ง มันก็เป็นปัญหาแยกอีกปัญหา ที่ต้องไปแก้กันที่เรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่มาบังคับเครื่องแบบ แล้วถ้าเด็กจะแต่งตัวเหลื่อมล้ำตาม นี่อาจเป็นโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้โลกจริง และครูมีหน้าที่ทำให้ทุกคนอยู่ด้วยกันให้ได้ หรือถ้ากลัวมาก ก็แบนเครื่องแบบหรูหรา แบรนด์เนมก็ได้ ไม่เห็นต้องใส่ชุดนักเรียน

แต่ก่อนกระทรวงศึกษาฯ เคยบังคับให้ชุดนักเรียนปักชื่อหรือเลขทะเบียน เพื่อว่าเด็กไปทำอะไรผิดข้างนอกจะได้จดไปร้องเรียนได้ โรงเรียนเตรียมอุดมฯ และโรงเรียนเก่าผมอย่างสวนกุหลาบฯ ต่อต้านไม่ทำตาม ด้วยเหตุผลว่าเด็กของเขาเรียบร้อย เก่ง ดี การบังคับให้ปักชื่อเป็นการหมิ่นเกียรติ

ในต่างประเทศ โรงเรียนที่บังคับนักเรียนแต่งเครื่องแบบแทบทั้งหมดคือโรงเรียนเอกชน และเครื่องแบบนักเรียนในอังกฤษ อเมริกา มีนัยยะไว้บอกสถานะเหนือกว่าทางสังคม ว่าพ่อแม่มีตังค์ส่งเรียนเอกชน ซึ่งแพงมาก

มันมีทัศนคติความสูงศักดิ์อะไรแบบนี้อยู่ในชุดนักเรียนเหมือนกัน

 

อ่านถึงตรงนี้ บางคนอาจบอกว่าเด็กหลายคนที่ออกมาโวยวายสนับสนุนหยกไม่ได้คิดลึกอะไรขนาดนี้หรอก ก็แค่เอาแต่ใจ

ไม่ผิดนะครับที่เขาจะไม่คิดและเอาแต่ใจ

สมมุติถ้ามีเรื่องหนึ่งเป็นสิทธิของผม แล้วใครมาใช้อำนาจไร้เหตุผลกับผม ผมไม่ใช่ฝ่ายถือครองอำนาจ จึงไม่ได้มีหน้าที่พิสูจน์ตัวเองหรือแม้กระทั่งคิดอะไรซับซ้อน ผมจะโวยวาย เอาแต่ใจ ก็ไม่ได้ผิดอะไร เหมือนผมจะก้าวขาซ้ายหรือขวาออกจากบ้านก่อน ใครมาบ่นมาบังคับอะไรคงด่ากลับแบบไม่ผ่านสมอง

เรื่องที่เป็นประเด็นต้องเถียงกันจริงๆ คือการกำหนดเครื่องแต่งกายในโรงเรียนเป็นสิทธิของใคร

ถ้าไม่มีเหตุผล การต่อต้านไม่เพียงไม่ผิด แต่เป็นหน้าที่พลเมืองด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่เป็นแท่นพิมพ์ของชาติ

และต่อให้เด็กไม่คิด เอาเข้าจริงผู้ใหญ่ที่ถืออำนาจนั่นแหล่ะ มีหน้าที่ชี้ประเด็นให้เด็กเห็น ว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ

ย้อนไปสี่ห้าปีก่อนสมัยยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยในอังกฤษ มีสัปดาห์หนึ่ง นักศึกษากลุ่มใหญ่พากันนัดป่วนคาบเรียนทุกชั้น ด้วยการนอนขวางทางเข้า

ตอนผมเป็นผู้ช่วยสอนให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้รับเมลล์จากหัวหน้าแผนกแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

หัวหน้าวัยหกสิบอธิบายถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้น และปัญหาวุ่นวายที่จะตามมา รวมถึงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับนักศึกษาโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุผลในการประท้วงอ่อนเหลือเกิน

ก่อนตบท้ายอีเมลว่า

“ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมเห็นว่าเราควรภูมิใจในตัวนักเรียน การที่พวกเขาไม่นิ่งเฉยต่อเรื่องที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญ การที่พวกเขาออกมาทำเช่นนี้ ถือเป็นการกระตุ้นสร้างข้อถกเถียงในมหาวิทยาลัย ที่อาจเป็นคุณกว่าการเข้าเรียนทั้งเทอม แม้ผมจะมองว่าข้อถกเถียงของพวกเขารอบนี้งี่เง่าก็ตาม”

ผมว่าถ้าเราเข้าหาเรื่องทำนองนี้ ด้วยท่าทีและมุมมองแบบนี้ อาจจะดีกับการศึกษาก็ได้นะครับ