อนุรักษนิยม : สามประเภทหลัก (2)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

อนุรักษนิยม : สามประเภทหลัก (2)

 

ในหนังสือเล่มล่าสุดเรื่อง Mitte/Rechts : Die internationale Krise des Konservatismus (กลาง/ขวา : วิกฤตสากลของอนุรักษนิยม)

โธมัส บีบริคแฮร์ ศาสตราจารย์ด้านความคิดทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมันแห่งมหาวิทยาลัยเกอเธ่ ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต อัมไมน์ ได้จำแนกกลุ่มก้อนความคิดอนุรักษนิยมทางการเมืองและวัฒนธรรมร่วมสมัยออกเป็น 3 ประเภทหลัก โดยเน้นเกณฑ์จำแนกที่ว่าแต่ละประเภท จัดการกับข้อความจริงของการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

ได้แก่ : พวกมองโลกแง่ร้ายทางวัฒนธรรม, พวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลัก และพวกปฏิกิริยาตกขอบ

ผู้นำอนุรักษนิยมทางการเมือง & วัฒนธรรมของไทย : สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ธานินทร์ กรัยวิเชียร

1)พวกมองโลกแง่ร้ายทางวัฒนธรรม (cultural pessimists)

พวกนี้มองโลกรอบตัวแล้วเห็นแต่ความเสื่อมถอยฟอนเฟะชนิดย้อนรอยถอยกลับมาฟื้นคืนดีอย่างเก่าไม่ได้

ท้ายที่สุดแล้ว จุดยืนทีทรรศน์ของพวกเขาคือการไว้ทุกข์โศกาลัยต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่สูญสลายไปตามกาลเวลา พร้อมทั้งคร่ำครวญหวนไห้ในทางส่วนตัวต่อความเป็นจริงที่ได้เกิดขึ้นแล้วและผ่านลับไปไม่หวนคืนมาอย่างเหลือวิสัยที่จะทำอะไรกับมันได้อีกต่อให้เพียรพยายามระดมพลังเข้ากอบกู้อย่างไร้เดียงสาก็ตาม

อย่างดีที่พวกเขาจะนึกปลอบประโลมใจตัวเองได้คือการที่ตนมองเห็นความจริงแท้ว่าโลกกำลังเสื่อมถอย อีกทั้งตระหนักด้วยว่าการดิ้นรนดื้อรั้นที่จะเปลี่ยนแปลงมันล้วนเสียเปล่าและเปล่าประโยชน์เพียงใด

นับเป็นวิธีคิดที่ค่อนข้างมืดมนหม่นหมองซึ่งพวกอนุรักษนิยมแบบมองโลกแง่ร้ายทางวัฒนธรรมต้องประสบพบผ่านทุกเมื่อเชื่อวัน

 

2)พวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลัก (mainstream moderate conservatives)

พวกนี้เป็นกระแสหลักของอนุรักษนิยมที่กำหนดรูปโฉมสังคมการเมืองในยุโรปตะวันตกหลังสงคราม โลกครั้งที่สองจวบจนถึงเมื่อไม่นานมานี้ จึงนับเป็นประสบการณ์สำคัญโดดเด่นของกลุ่มก้อนความคิดอนุรักษนิยมด้วยกัน

บุคลิกแบบฉบับของอนุรักษนิยมประเภทนี้คือเมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งหลายแหล่ รวมทั้งสิ่งต่างๆ ซึ่งพวกเขาเองเคยต่อสู้คัดค้านเรื่อยมาด้วยซ้ำไป ทว่า พอสิ่งเหล่านั้นดันเกิดขึ้นจริงๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาพดังที่เป็นอยู่เดิม (status quo) แล้ว

ข้อที่น่าตื่นตาตื่นใจก็คือบ่อยครั้งพวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักนี่แหละได้หันมาทำใจยอมรับยอมอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นกลับตัวกลับลำ พลิกเปิดหน้าใหม่ แล้วเดินหน้าต่อไป

เทียบกับพวกแรกที่มองโลกแง่ร้ายทางวัฒนธรรมแล้ว วิธีคิดอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักจึงน่าหลากใจตรงที่มันสามารถปรับตัวผ่านพ้นสภาพ cognitive dissonance (ความขัดแย้งในการรู้คิดหรือการรู้คิดที่ไม่กลมกลืน) มาได้

แม้จะไม่เสมอไปแต่ก็บ่อยครั้งที่พวกเขาสามารถปรับตัวจากการต่อสู้ปัดป่ายบ่ายเบี่ยงบางสิ่งบางอย่างมาสู่ –> การทำใจปรับตัวยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสภาพดังที่เป็นอยู่เดิมได้

 

ตัวอย่างในกรณีเยอรมนีหลังสงครามโลกก็เช่นพวกอนุรักษนิยมเยอรมันเก่ามีข้อสงวนความเห็นอย่างแรงกล้าต่อระบอบประชาธิปไตย เสรีนิยมและเทคโนโลยี ค่าที่ในอดีตอันใกล้เคยอยู่ใต้ระบอบราชาธิปไตยของพระเจ้าไกเซอร์และเผด็จการเบ็ดเสร็จนาซีมา

แต่พอเข้าคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 พวกอนุรักษนิยมเยอรมันก็ทำใจหยุดรบราต่อต้านสิ่งที่ว่าทั้งหมด แน่นอนพวกเขายังมีข้อสงวนความเห็นต่อสิ่งอื่นๆ ข้างเคียงอยู่บ้าง แต่กระนั้นระบอบประชาธิปไตยแบบแทนตนที่ตีกรอบกำกับด้วยหลักนิติรัฐรวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีก็กลายเป็นที่ยอมรับกระทั่งสมาทานอย่างกระตือรือร้นของพวกเขา

หรือตัวอย่างรูปธรรมอย่างเช่น การแต่งงานของเพศเดียวกันก็เป็นสิ่งที่พวกอนุรักษนิยมทั่วไปเคยระดมกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านมานานนม แต่ก็สังเกตเห็นได้ว่าในหลายประเทศพอมีกฎหมายใหม่ออกมารองรับเรื่องนี้

พวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักก็ทำใจยอมรับได้ว่ามันกลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาพดังที่เป็นอยู่เดิม แล้วเดินหน้าไปคัดค้านต่อต้านส่วนอื่นประเด็นอื่น ตอบโต้รับมือกับการท้าทายใหม่ๆ ต่อไป เช่น คัดค้านสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกันในการรับลูกบุญธรรมมาเลี้ยง หรือต่อต้านการปฏิสนธินอกร่างกาย/ปฏิสนธิเทียมในหลอดแก้ว (in vitro fertilization) ของคู่สมรสเลสเบี้ยน เป็นต้น

 

3)พวกปฏิกิริยาตกขอบ (reactionaries)

ถึงบีบริคแฮร์จะยังรวมพวกนี้อยู่ในอนุรักษนิยม แต่ก็สุดโต่งจนเรียกได้ว่าตกขอบอนุรักษนิยมออกไปแล้ว

พวกปฏิกิริยาตกขอบมองดูโลกที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาแล้วปลงใจไม่ตกที่จะยอมรับยอมอยู่กับมัน พวกเขาเห็นสภาพดังที่เป็นอยู่เดิมตอนนี้แล้วรับไม่ได้ ตรงกันข้ามพวกเขาอยากทำลายมันลงให้ราบคาบเหี้ยนเตียนเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นของเก่าของแท้อันดีงามในอดีตตามค่านิยมอนุรักษนิยมแท้จริงขึ้นมาบนซากปรักหักพังนั้น

ฉะนั้น ก่อนอื่นภาระหน้าที่เฉพาะหน้าสำหรับพวกปฏิกิริยาตกขอบคือโค่นระบบเดิม/สภาพดังที่เป็นอยู่เดิมในปัจจุบันตอนนี้ลง

หากมองพวกปฏิกิริยาตกขอบในมุมมองขั้วแก่นสารสาระ (substantive pole) ของอนุรักษนิยมแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าพวกนี้เชื่อคุณค่าเก่าบางอย่างอยู่จริง เช่น ค่านิยมครอบครัวแบบเดิม หรือระบบลำดับชั้นฐานันดรเหลื่อมล้ำต่ำสูงแบบศักดินาเดิม เป็นต้น

แต่ถ้ามองพวกเขาในมุมมองขั้ววิธีดำเนินการ (procedural pole) ของอนุรักษนิยมแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าแนวทางการเมืองของพวกปฏิกิริยาตกขอบนั้นเอาเข้าจริงต่อต้านอนุรักษนิยมอย่างยิ่ง เพราะมีลักษณะก่อการกำเริบ (insurrectionary) หรือแทบจะเรียกได้ว่าปฏิวัติ (revolutioanry) แต่ในทิศทางปฏิกิริยาถอยหลังกลับเลยทีเดียว

 

บุคลิกลักษณะของพวกปฏิกิริยาตกขอบช่วยขับเน้นข้อแตกต่างอันเป็นลักษณะเฉพาะของพวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักให้เด่นถนัดชัดเจนขึ้นว่า

เอาเข้าจริงสาเหตุเบื้องลึกที่ฝ่ายหลังทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงอันกลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาพดังที่เป็นอยู่เดิมได้ (ขณะที่พวกปฏิกิริยาตกขอบรับไม่ได้) นั้นก็เพราะพวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักให้ค่าเสถียรภาพ (stability) อย่างสูงสุดถึงขั้นที่ว่ามันแทบจะกลายเป็นเครื่องรางของขลังเลยทีเดียว

ดังนั้น แนวโน้มทางการเมืองการปกครองของพวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักจึงสอดคล้องกับระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism) ซึ่งยึดมั่นให้ค่าเสถียรภาพทางการเมืองเหนืออื่นใดเหมือนกันนั่นเอง

เมื่อมองจากมุมอนุรักษนิยม 3 ประเภทนี้แล้ว ก็อธิบายได้ว่าวิกฤตประชาธิปไตยในโลกตะวันตกปัจจุบันเกิดจาก

1) พวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักประสบภาวะหดเล็กถดถอยแรงสนับสนุนในหมู่มวลชนลงไป หรือมิฉะนั้นก็

2) พวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักกำลังขยับเคลื่อนออกห่างเสรีประชาธิปไตยไปทาง –> เผด็จการอำนาจนิยมยิ่งขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมเอาไว้ท่ามกลางโลกที่กำลังปั่นป่วนสับสนไม่แน่นอนขึ้นทุกทีนั่นเอง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)