อุษาวิถี (36) บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (36)

บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

 

ในกรณีของอินเดียนั้น การค้าที่เจริญก้าวหน้าได้ส่งผลให้รัฐใหญ่ๆ ที่ทรงอิทธิพลในทางการเมืองขณะนั้นได้ทำการตัดเส้นทางคมนาคมขึ้นมาใหม่หลายสาย เพื่อให้เศรษฐกิจการค้าที่กำลังเจริญรุ่งเรืองมีความคล่องตัว

และเมื่อถนนหนทางดีขึ้น ก็เท่ากับสนองตอบต่อความต้องการของพ่อค้าไปด้วย

การเดินทางของบรรดาพ่อค้าจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อศาสนาพุทธเกิดขึ้น หลักคำสอนที่เปิดกว้างกว่า ยืดหยุ่นกว่า

และที่สำคัญคือ การปฏิเสธขนบจารีตของศาสนาพราหมณ์ ได้เปิดโอกาสให้พ่อค้าซึ่งอยู่ในวรรณะแพศย์หันเข้ามานับถือศาสนาพุทธแทนศาสนาพราหมณ์ที่ตนเคยนับถืออยู่แต่เดิม

เพราะการปฏิเสธดังกล่าวทำให้พ่อค้าเป็นอิสระจากขนบจารีตดังกล่าว โดยไม่ต้องพะว้าพะวงหรือทำให้เกิดความสิ้นเปลืองอีกต่อไป อีกทั้งการหันไปนับถือศาสนาพุทธในขณะที่กำลังรุ่งเรืองอยู่นั้น แม้จะสวนกระแสกลุ่มชนที่ฝังใจกับศาสนาบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นอันตราย

ในแง่นี้ศาสนาพุทธจึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตของพ่อค้าตามไปด้วย ถึงแม้จะไม่สามารถดึงพ่อค้ามาได้ทั้งหมดก็ตาม

 

ผิดกับกรณีจีน ที่ซึ่งก่อนหน้ากลียุคนั้น พ่อค้า (ซาง) เป็นชนชั้นที่ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก แต่เมื่อเกิดกลียุคขึ้น ความต้องการสินค้าจำเป็นบางอย่างในยามศึกสงครามได้ทำให้พ่อค้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในฐานะที่เป็นผู้ตอบสนองความต้องการสินค้านั้นๆ

พ่อค้าจึงมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามมาด้วย

และต่อมาก็ใช้ฐานะที่ดีของตนเข้า “ซื้อ” ตำแหน่งทางการเมืองจากบรรดาขุนนางหรือกษัตริย์ของรัฐที่กำลังมีฐานะตกต่ำ และต้องการความช่วยเหลือจากชนชั้นพ่อค้า พ่อค้าในกลียุคของจีนจึงมีบทบาททางการเมืองขึ้นมา

และทำให้ขงจื่อเห็นว่า พ่อค้ามีส่วนไม่น้อยที่ทำให้กลียุคไม่ยุติลงง่ายๆ

 

จะเห็นได้ว่า กลียุคในอินเดียและจีนได้ทำให้พ่อค้ามีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น และมีบทบาทในทางสังคมมากขึ้นเหมือนๆ กัน

แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ในอินเดียนั้นถึงที่สุดแล้ว ระบบวรรณะที่ฝังรากลึกมาช้านานก็ไม่เปิดโอกาสให้พ่อค้าหรือชนวรรณะแพศย์ได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง ดุจเดียวกับชนในวรรณะกษัตริย์

แต่ฐานะที่ดีขึ้นของชนวรรณะแพศย์นี้ย่อมเอื้อต่อการใช้อามิสสินจ้าง เป็นหนทางให้ชนวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ได้ยอมรับตน

ในขณะที่ในกรณีจีน พวกพ่อค้ากลับสามารถเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองได้ และทำให้การใช้อามิสสินจ้างเพื่อการนี้ยังความสำคัญในเวลาต่อมาด้วย

 

นอกจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานะของพ่อค้าแล้ว สิ่งที่ยังความเปลี่ยนแปลงควบคู่กันมากับกลียุคก็คือ การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม

ในกรณีอินเดียก็คือ การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมเหล็ก และในกรณีจีนก็คือ อุตสาหกรรมสัมฤทธิ์

ในสิ่งที่คล้ายกันทั้งของอินเดียและจีนก็คือ การที่อุตสาหกรรมเหล็กและสัมฤทธิ์ถูกนำมาเกี่ยวพันกับสงคราม ด้วยการนำประโยชน์จากอุตสาหกรรมแขนงนี้มาประยุกต์ใช้ผลิตอาวุธที่ทันสมัย

ไม่เพียงอาวุธพื้นฐานอย่างเช่น ดาบ หอก ธนู กระบี่ ฯลฯ จะถูกปรับปรุงให้มีคุณภาพในการทำลายล้างศัตรูให้ดีขึ้นเท่านั้น หากแม้แต่อาวุธใหม่ๆ ที่ก้าวหน้ากว่านั้นก็ยังเกิดในกลียุคนี้ด้วย ทั้งอินเดียและจีนต่างได้ผลิตรถศึกเทียมม้าที่ทรงอานุภาพในการทำลายล้างสูงพอๆ กัน

เมื่อทั้งเหล็กและสัมฤทธิ์ได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของล้อ ขอบตัวรถ ตลอดจนคมมีดที่มีประสิทธิภาพในการตัดทำลายที่ติดอยู่ในบางส่วนของตัวรถหรือแกนล้อ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยเหตุที่เหล็กและสัมฤทธิ์เป็นอุตสาหกรรมใหม่ การมีผลิตผลที่มาจากอุตสาหกรรมทั้งสองที่ไม่ใช่อาวุธจึงย่อมมีราคาและคุณค่าความหมายตามไปด้วย

ผู้ที่สามารถครอบครองผลิตผลจากอุตสาหกรรมนี้จึงย่อมต้องเป็นผู้มีฐานะพอสมควร

 

ในกรณีจีนนั้น ผลผลิตจากอุตสาหกรรมนี้จะถูกนำมาใช้เกี่ยวพันกับขนบจารีตอย่างลึกซึ้ง เช่น การนำมาเป็นของบรรณาการระหว่างรัฐเล็กต่อรัฐใหญ่ เป็นรางวัลแก่ขุนนางและขุนศึกผู้มีความดีความชอบ

เป็นภาชนะราคาแพงที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมเซ่นบวงสรวง เป็นเครื่องดนตรีสำหรับบรรเลงหรือแซ่ซ้องสรรเสริญในการพิธีต่างๆ เป็นต้น

ในกรณีอินเดียแม้ไม่ชัดเจนเท่าจีน แต่ก็สันนิษฐานได้ว่ามีที่ใช้กับขนบจารีตไม่ต่างกับจีน (ดังกรณีนางสุชาดาใช้ “ถาด” ถวายอาหารแก่สิทธัตถะเป็นตัวอย่าง)

จะเห็นได้ว่า กลียุคที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็ยังผลต่อสัมพันธภาพทางอำนาจในขณะนั้นไปด้วย

โดยเฉพาะกับฐานะและบทบาทของพ่อค้าที่มีความสำคัญขึ้นมา

 

ไม่เพียงแต่เท่านั้น สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ว่านี้ ยังมีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญต่อกลียุคในขณะนั้นอีกด้วย เมื่อความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเหล็กและสัมฤทธิ์ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับสงครามและกับขนบจารีตอย่างลึกซึ้ง

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าว จึงเชื่อมโยงกับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างชั้นชนต่างๆ เข้าด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อมของพ่อค้า อำนาจทางการเมืองในฐานะผู้กระทำสงครามทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ว่าจะโดยกษัตริย์ ขุนศึก หรือขุนนาง ต่างก็มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวทั้งสิ้น

และอำนาจทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ที่กระทำผ่านขนบจารีตทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ระหว่างชนชั้นวรรณะระดับต่างๆ ของสังคมอินเดียในขณะนั้น

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนคือ กระแสพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมืองในขณะนั้นทั้งสิ้น