มองไทยใหม่ : ที่มาของการมี”วรรณยุกต์” เอก-โท-ตรี-จัตวา

สองสมเด็จฯ “คุยกัน” เรื่องวรรณยุกต์ (๓)

ย้อนอ่าน ตอน (๒)  (๑) 

ต่อมา สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็มี “สาส์น” ฉบับวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ทรงให้ความเห็นว่า แต่เดิมมานั้นคนไทยคงใช้หนังสือขอมตามเขมร แต่ต่อมาได้ดัดแปลงให้เป็นแบบของไทยเอง และเพิ่มเครื่องหมายเอกโทขึ้นมา ส่วนเครื่องหมายตรีจัตวานั้นอาจจะเติมขึ้นมาภายหลัง หรืออาจจะมีมาพร้อมกันแต่มิได้กล่าวถึงในตำราก็เป็นได้

ทรงตั้งข้อสังเกตว่า ไทย เขมร มอญ พม่า แม้จะใช้รูปตัวหนังสือต่างกัน แต่ต่างก็เลียนเอาแบบหนังสือในประเทศอินเดียมาด้วยกันทั้งสิ้น

ไทยใช้เครื่องหมายแสดงเสียงก็เพราะใช้ความหมายต่างกัน เพื่อมิให้เข้าใจผิด

ดังเรื่องเล่าจากแม่ฮ่องสอนว่า มีไทยเงี้ยวใจบุญคนหนึ่งไปขุดบ่อน้ำไว้ริมทางในป่าเปลี่ยวเพื่อสงเคราะห์คนเดินทาง แต่บ่อน้ำนั้นอยู่ในที่ลับตา จึงเขียนป้ายไว้ริมทางว่า “ทีนีมีนำ” เพราะไม่มีเครื่องหมายแสดงเสียงสูงต่ำ คนเดินทางบางคนก็อ่านว่า [ที่นี่หมีหนำ] ก็ตกใจหนีไปเพราะกลัว “หมี” จึงทรงเห็นว่าจำเป็นต้องมีเครื่องหมายแสดงเสียง

เครื่องหมายผันเสียงอักษร อาจจะใช้ไม่ได้ทั้งแผ่นดินไทย เพราะว่าต่างถิ่นไปเสียงก็แปร่งไป จะใช้เครื่องหมายเสียงอย่างเดียวกันไม่ได้ อาจจะเป็นไปได้ว่า เมื่อคิดเครื่องหมายแสดงเสียงขึ้นมาใช้ในครั้งแรกนั้น ใช้กันในวงแคบๆ เช่น ใช้ในหมู่ชาวสุโขทัยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม

“…ความแปลกกันนี้หาเป็นไรไม่ เพราะว่าทุกเขตต์แขวงย่อมพยายามที่จะพูดและจะเขียนให้เหมือนเมืองหลวง เราชาวเมืองหลวงเขียนอย่างไรพูดอย่างไรเขาก็ตาม โรงเรียนก็ตั้งแผ่กว้างออกไปทุกที ในไม่ช้าก็จะพูดจะเขียนเหมือนกันหมด”

จะเห็นได้ว่าทั้ง ๒ ท่านมีความเห็นตรงกันอย่างหนึ่งคือ เครื่องหมายวรรณยุกต์เป็นเครื่องหมายแสดงเสียงเพื่อแสดงว่าคำนั้นออกเสียงต่างจากคำที่ไม่มีเครื่องหมายกำกับ

สิ่งที่ต่างกันก็คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า “ใครจะอ่านออกเสียงอย่างไรก็ตามใจหรือตามสำเนียงของชาวอาณาเขตนั้นๆ” ส่วนที่มาถือกันว่าแต่ละเครื่องหมายกำหนดเสียงที่แน่นอนเป็นเรื่องที่กำหนดขึ้นในภายหลัง

ส่วน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเห็นว่าการกำหนดเสียงที่แน่นอนเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่า “เครื่องหมายผันเสียงอักษร อาจจะใช้ไม่ได้ทั้งแผ่นดินไทย เพราะว่าต่างถิ่นไปเสียงก็แปร่งไป”

แต่ก็ทรงเชื่อว่า เมื่อการศึกษาแพร่หลายไปทั่วประเทศ “ในไม่ช้าก็จะพูดจะเขียนเหมือนกันหมด”