รู้หรือไม่ ? ไม้โท ( ้ ) ในอดีตไม่ใช่แบบนี้แล้วเป็นแบบไหน ? ไปหาคำตอบ!

มองไทยใหม่ : สองสมเด็จฯ “คุยกัน” เรื่องวรรณยุกต์ (๑)

ครั้งก่อนได้เล่าเรื่องหนังสือ สาส์นสมเด็จ ๒ ฉบับมาแล้ว คือ ฉบับราชบัณฑิตยสภา เล่ม ๑ (พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๖๑) กับ ฉบับฉลองพระชนมายุสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบ ๓ รอบ ชุด ๗ เล่ม (พ.ศ.๒๔๕๗ – พ.ศ. ๒๔๗๘)

ย้อนอ่าน (คลิก)

คราวนี้จะเล่าเรื่องที่สมเด็จฯ ทั้ง ๒ พระองค์ ทรง “คุยกัน” อยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่องวรรณยุกต์

ซึ่งปรากฏอยู่ใน สาส์นสมเด็จ เล่ม ๓ (พ.ศ.๒๔๗๕)

ใน “สาส์น” ฉบับวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงปรารภว่า แต่เดิมมาคนไทยพูดสำเนียงต่างๆ กันตามถิ่นที่อยู่ เช่น ชาวนครศรีธรรมราชก็สำเนียงอย่างหนึ่ง ชาวนครราชสีมาก็สำเนียงอย่างหนึ่ง แม้แต่ชาวเมืองสมุทรสงคราม ชาวเมืองเพชรบุรี และชาวเมืองสุพรรณบุรีก็มีสำเนียงต่างไปจากชาวกรุงเทพฯ เพิ่งจะมาเหมือนกันก็ต่อเมื่อมีโรงเรียนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และการคมนาคมสะดวกขึ้น ชาวเหนือเมื่อครั้งเป็นมณฑลราชธานีในสมัยสุโขทัยก็คงมีสำเนียงไปอีกอย่างหนึ่ง

ดังจะเห็นได้ว่า ในบทเสภาสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ก็ยังมีข้อความว่า “ชาวเหนือเสียงเกื๋อไก๋” แปลว่าสำเนียงไม่เหมือนชาวกรุงเทพฯ สำเนียงในกรุงเทพฯ น่าจะสืบเนื่องมาจากสำเนียงชาวพระนครศรีอยุธยา ฉะนั้น ชาวเมืองอื่นที่มีสำเนียงต่างออกไปย่อมเขียน “วรรณยุต” ตามเสียงไม่ได้

ทรงยกตัวอย่างว่า เคยถาม พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา) ว่าสำเนียงพูดไม่เหมือนชาวกรุงเทพฯ ใช้หลักอะไรในการ “เขียนหนังสือลง เอก โท” พระยาวิเชียรคิรีก็ทูลตอบว่า “จำว่าชาวบางกอกเขาเขียนคำใช้เอก โท อย่างไรก็เขียนตาม” ซึ่งตรงตามที่ทรงกล่าวไว้แต่ต้นว่า “บัญญัติวรรณยุต ให้ใช้ เอก โท ตามเสียงสูงต่ำ จะเปนของเกิดขึ้นชั้นหลังไม่นานนัก”

ข้อที่น่าสังเกตในข้อความข้างต้นก็คือ “วรรณยุต” หมายถึงอะไร

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า

วรรณยุกต์, วรรณยุต น. ระดับเสียงสูงต่ำของคำในภาษาไทย มี ๕ เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี เสียงจัตวา มีรูปเครื่องหมายบอกระดับของเสียงอยู่เบื้องบนอักษร ๔ รูป คือก ? (ไม้เอก) ? (ไม้โท) ? (ไม้ตรี) ? (ไม้จัตวา).

เช่นนี้ แสดงว่า “วรรณยุกต์” กับ “วรรณยุต” มีความหมายเดียวกัน คือ “ระดับเสียงสูงต่ำของคำในภาษาไทย”

อย่างไรก็ตาม ใน “สาส์น” ฉบับวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงให้ข้อมูลเพิ่มว่า

“อนึ่ง ได้ให้ตรวจหนังสือไทยจำพวกอื่น คือ อาหมก็ดี เงี้ยวก็ดี ลานนาก็ดี ลานช้างก็ดี หาใช้เอกโทไม่ มีวรรณยุตใช้แต่อย่างฝนทอง ” และนฤคหิต ? เขาคงใช้เป็นเครื่องหมายศัพท์หรือหมายอักษรกล้ำทำนองเดียวกัน…”

ในหนังสือเล่มเดียวกัน นายฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้ให้ตัวอย่างคำที่ใช้ “วรรณยุต” ในภาษาไทย ซึ่งมีดังนี้คือ

วรรณยุตที่ใช้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ม.ศ.๑๒๑๔ (พ.ศ.๑๘๓๕) คือ วิสัญชนี (ะ) พินเอก ( ่) พินโท ( ๋) ฟองดัน (๏) นฤคหิต (?)

วรรณยุตที่ใช้ในศิลาจารึกวัดศรีชุม ศักราชไม่ปรากฏ คือ

วิสัญชนี (ะ) พินเอก ( ่) พินโท ( ๋) ฟองดัน (๏) นฤคหิต (๐)

วรรณยุตที่ใช้ในศิลาจารึกนครชุม ม.ศ.๑๒๗๙ (พ.ศ.๑๙๐๐) คือ

วิสัญชนี (ะ) พินเอก ( ่) พินโท ( ๋) ฟองดัน (๏) นฤคหิต (๐)

วรรณยุตที่ใช้ในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ม.ศ.๑๒๘๓ (พ.ศ.๑๙๐๔) คือ

วิสัญชนี (ะ) พินเอก ( ่) พินโท ( ๋) นฤคหิต (๐)

วรรณยุตที่ใช้ในศิลาจารึกวัดป่าแดง จ.ศ.๗๖๘ (พ.ศ.๑๙๔๙) คือ

วิสัญชนี (ะ) พินเอก ( ่) พินโท ( ๋) ฝนทองและฟองดัน ( ๐ ) นฤคหิต (๐)

วรรณยุตที่ใช้ในศิลาจารึกวัดพระเสด็จ พ.ศ.๒๐๖๑ คือ

วิสัญชนี (ะ) พินเอก ( ่) พินโท ( ้) ฝนทอง () ฟองดัน (๏) นฤคหิต (๐)

ขอให้สังเกตว่า รูปพินโทหรือที่ปัจจุบันเรียกว่าไม้โทนั้นได้เปลี่ยนจากรูปกากบาทมาเป็นรูปที่รู้จักกันในปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.๒๐๖๑ ส่วนฟองดันมีอยู่ ๒ รูป คือวงกลมมีจุดกลางหรือไม่มีจุดกลาง