‘ปูติน’ หลังกบฏ ‘วากเนอร์’ โดดเดี่ยวและเปราะบาง

ผู้ที่คุ้นเคยกับวลาดิมีร์ วลาดิมิโรวิช ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียดี ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งหลายสิบปี ปูตินเป็นคนที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับมาตรการเพื่อความปลอดภัยส่วนตัวสูงสุด

ถึงขนาดสั่งการให้สร้างห้องทำงานที่เหมือนกันทั้งรูปแบบและการตกแต่งในหลายๆ สถานที่ เหตุผลก็คือ ป้องกันไม่ให้ภาพที่ถ่ายออกมาเผยแพร่ผ่านสื่อทั้งหลาย กลายเป็นเงื่อนงำแสดงให้ผู้อื่นรู้ถึงตำแหน่งแห่งหนที่ปูตินพำนักอยู่ในเวลานั้นๆ

อดีตองครักษ์ของผู้นำรัสเซียเปิดเผยว่า บรรดาผู้ช่วยและคนสนิทที่แวดล้อมปูตินใกล้ชิดต้องผ่านกระบวนการคัดสรรอย่างเข้มงวด ถี่ถ้วน จนถือเป็น “ชนชั้นพิเศษ” เท่านั้นที่เข้าถึงตัวปูตินได้ตลอดเวลา

นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยส่วนตัวแล้ว สิ่งที่ปูตินให้ความสำคัญสูงสุดอีกอย่างก็คือการทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้คู่แข่งทางการเมือง อาศัยกลไกและอำนาจรัฐมาจัดการกับตนเอง

 

ผู้สันทัดกรณีเรื่องรัสเซียหลายคนเชื่อตรงกันว่า หลังจากการก่อกบฏของเยฟเกนี วิคโตโรเยวิช พริโกซิน เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา กระบวนการทั้งหมดเหล่านี้ไม่เพียงเข้มข้นขึ้นเท่านั้น ยังเข้มงวดและเพิ่มความระมัดระวังจนถึงขีดสุดอีกด้วย

ข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งที่สอดรับกับข้อสังเกตดังกล่าวก็คือ จนถึงขณะนี้ ปูตินยังคงแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อบรรดา “คนทรยศ” ทั้งหลายที่ก่อการกบฏขึ้นอย่างระมัดระวัง ใช้วิธีการ “ให้รางวัล” มากกว่าการ “ลงโทษ” หลีกเลี่ยงที่จะลงมือกวาดล้างครั้งใหญ่หลังความพยายามก่อรัฐประหารครั้งนั้น

เอคาเทรินา ชุลมานน์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองการปกครองของรัสเซีย เชื่อว่า การเลี่ยงการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านดังกล่าว เป็นความพยายามเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำให้ระบบที่ปูตินวางไว้สั่นคลอนมากยิ่งขึ้นไปอีก

สิ่งที่ปูตินมุ่งเน้นในเวลานี้ก็คือ การอยู่รอดทั้งในแง่ส่วนตัวและในแง่ทางการเมือง และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายนี้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เครมลินไม่เพียงจัดพิธีเชิดชูเกียรติให้กับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านกบฏขึ้นอย่างหรูหราเท่านั้น

ยังประกาศคำสั่งประธานาธิบดี ขึ้นเงินเดือนให้กับทหาร, ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ระดับล่างของหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ถึง 10.5 เปอร์เซ็นต์

 

แม้จะมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า การจัดการกับกบฏวากเนอร์ในครั้งนี้ ส่งผลให้สถานะของปูตินแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่เพียงสามารถขจัด “ตัวปัญหา” อย่างวากเนอร์และพริโกซินได้เท่านั้น ยังบีบให้ทหาร, หน่วยงานความมั่นคงและบรรดาชนชั้นสูงที่ครองอำนาจอยู่ในรัสเซียหันมาประกาศความจงรักภักดีกับปูตินใหม่อีกครั้ง

กระนั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กลับเชื่อว่า ไม่ช้าไม่นาน ปูตินจะเผชิญกับ “ภัยคุกคาม” ใหม่อีกครั้ง ตราบเท่าที่ยังคงใช้วิธีการ “คานอำนาจ” ซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างๆ รวมไปจนถึงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพราะกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงหวังผลประโยชน์แตกต่างกันเท่านั้น ยังมีศูนย์รวมอำนาจแตกต่างกันอีกด้วย

กริกอรี โกโลซอฟ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยยูโรเปียนในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ชี้ว่า ในระยะสั้นอาจดูเหมือนว่า ปูตินคือผู้กำชัยชนะ

แต่ในระยะยาวแล้ว เหตุก่อกบฏที่เกิดขึ้น สั่นคลอนระบอบปูตินอย่างหนัก

 

บรรณาธิการประจำมอสโกของนิวยอร์กไทม์ส ชี้ให้เห็นว่า ตลอดช่วง 23 ปีที่ปูตินอยู่ในอำนาจ ล้วนอาศัย “คนวงใน” ที่มีทั้งที่เป็นมิตรเก่าแก่ยาวนาน เรื่อยไปจนถึงบุคคลที่ผ่านการพิสูจน์ถึงความจงรักภักดีมานานปี อาทิ อดีตองครักษ์ประจำตัว ด้วยการเลือกให้ทำหน้าที่ควบคุม “แหล่งรายได้” หรือ “ตำแหน่งสำคัญๆ” ในองคาพยพของรัฐบาล

ตัวอย่างเช่น การส่งอดีตองครักษ์ประจำตัวไปทำหน้าที่ควบคุม สำนักงานเพื่อการคุ้มครองแห่งรัฐ (เอฟเอสโอ) ที่หน้าที่หลักคือการอารักขาปูตินและเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของประเทศ

เอฟเอสโอ ยิ่งนานวันยิ่งเติบใหญ่ภายใต้การหนุนหลังของปูติน จำนวนเจ้าหน้าที่ประจำเพิ่มขึ้นเป็นเรือนแสน ขอบเขตหน้าที่ก็เพิ่มมากขึ้น เพราะไม่เพียงทำหน้าที่อารักขา คุ้มครองเท่านั้น ยังกลายเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการวางแผนการโค่นล้มปูตินอีกด้วย

เมื่อปีที่แล้วมีเจ้าหน้าที่เอฟเอสโอรายหนึ่งซึ่งแปรพักตร์ลี้ภัยสู่โลกตะวันตก เปิดเผยว่า เอฟเอสโอมีกระทั่งศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่มีหน้าที่หลักคือ การตรวจสอบอาหารของประธานาธิบดีปูติน ป้องกันการใช้พิษลอบสังหาร

ผู้นำรัสเซียยัง “ตบรางวัล” ให้กับหน่วยงานที่ภักดีต่อตน ด้วยการรับปากจะจัดสรรสรรพาวุธให้เพิ่มเติม หนึ่งในหน่วยงานดังกล่าวคือกองกำลังรักษาดินแดน ที่มีวิกเตอร์ โซโลตอฟ อดีตองครักษ์ของปูตินเป็นผู้บัญชาการ และเป็นผู้ให้ข่าวเองว่า ประธานาธิบดีเตรียมจัดสรรรถถังและปืนใหญ่ให้กับหน่วยงานของตน

 

ข้อที่น่าสังเกตก็คือการปรากฏตัวอีกครั้งของเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมที่เป็นเป้าหมายสำคัญของพริโกซิน ในการก่อกบฏครั้งนี้ ซึ่งหลายคนเชื่อว่า สะท้อนถึงความไว้วางใจจากประธานาธิบดีรัสเซีย แม้ว่าจะยังไม่มีวี่แววของวาเลอรี เกราซิมอฟ เสนาธิการทหารสูงสุดของรัสเซียที่ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการการบุกยูเครน และเป็นเป้าหมายอีกรายของพริโกซินก็ตามที

โกโลซอฟเชื่อว่า การตบรางวัลด้วยเงินและอำนาจของปูตินในครั้งนี้มีความเสี่ยงอยู่ในตัว เพราะอาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างหน่วยงานที่เป็นขุมกำลังขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยที่มีตัวอย่างจากพริโกซินและวากเนอร์ให้เห็นแล้วว่า การเผชิญหน้ากับปูตินนั้น “เป็นไปได้”

นิโคเลย์ เปตรอฟ นักวิชาการรับเชิญประจำสถาบันเพื่อศึกษาความมั่นคงและกิจการระหว่างประเทศแห่งเยอรมัน ชี้ให้เห็นว่า วิธีการเลือก “ความภักดี” มากกว่า “ประสิทธิภาพ” ของปูตินนั้น ใช้ได้ผลก็แต่ในยามสงบ แต่ในยามสงครามเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้จำเป็นต้องมีทั้งสองอย่าง การเลือกปูติน จึงกลายเป็นปัญหาที่จะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนจากผลของสงครามในยูเครน

ซึ่งในที่สุดก็จะสะท้อนกลับมาทำลายเสถียรภาพของระบบปูตินในรัสเซียนั่นเอง