และแล้ว ส.ว. ก็ปรากฏ | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ตั้งชื่อบทความชิ้นนี้ด้วยการล้อหนังสือชื่อดังในวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองเรื่อง “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” ของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่ข้อเขียนนี้ไม่ได้ต้องการลงไปสำรวจปรากฏการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหมือนหนังสือเล่มนั้น

ทว่า ต้องการชวนไปแกะเปลือกการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกของไทยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 ว่ามีอะไรให้เรียนรู้บ้าง

สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. นั้นเดิมทีมีชื่อว่าสมาชิก “พฤฒสภา” ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489 ต่อมาได้การเปลี่ยนชื่อเป็น “วุฒิสภา” โดยมีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2543 มีจำนวน ส.ว. 200 คน ความน่าสนใจของการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ก็คือ

1. เป็นการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านั้นมาจากการแต่งตั้งโดยตลอดในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

2. เป็นการเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรงจากประชาชนทั้งหมด

และ 3. เป็นการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดยิบย่อยอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น เป็นการเลือกตั้งที่ห้ามหาเสียง เพื่อให้ผู้สมัครเลือกตั้งมีความเสมอภาคกันหรือไม่เกิดช่องว่างที่ต่างกันมากในเรื่องทุนทรัพย์ เป็นต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนั้นก็คือมีประชาชนสนใจมาลงคะแนนออกเสียงกันอย่างคึกคักเป็นประวัติการณ์

ถ้าพิจารณาเฉพาะที่กรุงเทพฯ อย่างเดียวจะเห็นว่าในจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 3,879,878 คนนั้น มีคนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจริงๆ มากถึง 2,760,677 คน คิดเป็น 71% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงมีหน้ามีตาในสังคมแห่แหนกันลงสมัครรับเลือกตั้งมากมาย หลายคนสอบตกทั้งๆ ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะอย่างในกรุงเทพมหานครที่มีผู้ลงสมัครมากถึง 264 คน แต่มีเก้าอี้ ส.ว.อยู่แค่ 18 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้มีคนดังสอบตกมากจนนับไม่ถ้วน เช่น ประยุทธ มหากิจศิริ, วิจิตร เกตุแก้ว, วิจิตร บุณยะโหตระ, เหวง โตจิราการ, สายสุรี จุติกุล, เกาะหลัก เจริญรุกข์, ชัยรัตน์ คำนวณ, สุตสาย หัสดิน, อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา, ชดช้อย โสภณพนิช, ยอดมนู ภมรมนตรี, อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม, รสนา โตสิตระกูล, อมร รักษาสัตย์, ยุทธ โพธารามิก, สมิทธ ธรรมสโรช, วิทยากร เชียงกูล, ไพศาล พืชมงคล, ปริญญา สุขชิต, ฉลาด วรฉัตร, กาญจนา นาคสกุล, จำนงค์ ทองประเสริฐ, เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา เป็นต้น

ที่น่าใจมากก็คือผู้ที่สอบได้ในสนาม กทม. 18 อันดับนั้น เป็นการแสดงให้เห็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงหนักแน่นในช่วงหลังพฤษภาทมิฬได้อย่างชัดแจ้ง

นั่นคืออดีตอธิบดีกรมชลประทานผู้คว้าชัยมาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 421,515 คะแนน เขาเป็นข้าราชการอาวุโสที่มีภาพลักษณ์ใสสะอาด สมถะติดดิน และจงรักภักดี นามว่า “ปราโมทย์ ไม้กลัด” ซึ่งเดิมนั้นไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก แต่ปรากฏหน้าให้เห็นจนชินตาในข่าวพระราชสำนักและภาพข่าวโครงการต่างๆ ตามพระราชดำริ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งยังทรงงานด้านการชลประทานตามที่ต่างๆ

ภาพลักษณ์นั้นได้ส่งให้ปราโมทย์ ไม้กลัด เอาชนะผู้สมัครคนอื่นไปได้สบายๆ โดยทิ้งห่างอันดับ 2 คือ ดำรง พุฒตาล ถึง 33,521 คะแนน ตามมาด้วยเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, โสภณ สุภาพงษ์, ประทิน สันติประภพ, วัลลภ ตังคณานุรักษ์, ชัชวาลล์ คงอุดม, แก้วสรร อติโพธิ, มีชัย วีระไวทยะ, ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, สัก กอแสงเรือง, และเสรี สุวรรณภานนท์ ตามลำดับ

สังเกตเห็นได้ว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีต้นทุนทางสังคมสูงในสมัยนั้นเป็นบุคคลที่มีแนวคิดโน้มเอียงฝ่ายขวาทั้งหมด

https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2016/11/payslip_20111023153830.jpg
ด้านหลัง ปราโมทย์ ไม้กลัด

ผลการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันนั้นนอกจากสะท้อนความนิยมในตัวบุคคลต่างๆ ณ ช่วงเวลานั้นแล้ว

ยังแสดงให้เห็นถึงค่านิยม กระแสทางการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้คนในสังคมในยุคสมัยนั้นด้วย การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ถือเป็นผลพวงที่ตามมาจากการปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 หลังจากที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สองผู้นำซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกันในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และปิดฉากอำนาจของ รสช.ลงอย่างสมบูรณ์

อีกแง่มุมหนึ่งที่เห็นได้จากการเลือกตั้งครั้งนั้นก็คือกระแสของการปฏิเสธนักการเมือง หรือทัศนคติที่ไม่ดีต่อนักการเมืองอย่างกว้างขวาง

คือในขณะที่กระแสความนิยมสถาบันพุ่งขึ้นสูงและต่อเนื่องเป็นสิบปี ภาพลักษณ์ของนักการเมืองยังตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้ผู้คนก่นด่านักการเมืองกันเป็นเรื่องปกติ และเมื่อใดก็ตามที่พูดถึงนักการเมืองก็มักจะคิดไปเลยว่าโกงอย่างไม่ต้องตรวจสอบหลักฐาน

การที่นักการเมืองมุ่งจะต่อสู้กันเองด้วยวิธีต่างๆ นานาจึงทำให้ภาพลักษณ์ของวิชาชีพตัวเองติดลบและตกต่ำลงไปเรื่อยๆ จนกู่ไม่กลับ นอกจากนี้ ยังมีสื่อมวลชนที่คอยตรวจสอบ ในขณะเดียวกันประชาชนก็แทบไม่มีวิธีในการเข้าถึงข้อมูลด้วยตัวเองเลยนอกจากข้อมูลผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น

ท้ายที่สุดเมื่อถูกโจมตีมากๆ เข้าอย่างต่อเนื่อง อาชีพนักการเมืองจึงถูกตราหน้าว่าผิดเสมอ ทั้งๆ ที่ความจริงในแต่ละกรณีเขาอาจจะผิดหรืออาจไม่ผิดก็ได้

ในทางกลับกันสถาบันทางการเมืองอื่นๆ กลับไม่ถูกตรวจสอบเช่นนั้น บางกรณีไม่สามารถตรวจสอบหรือแม้กระทั่งพูดถึง เมื่อใดก็ตามที่เอ่ยขึ้นมา ข้อความนั้นก็ต้องเป็นแต่ด้านดีเสมอ

นานวันเข้ากระแสสังคมจึงออกมาแบบ “extreme and absolute”

 

กระแสสังคมเช่นนี้เองที่ได้เข้ามากลายเป็นความคาดหวังของประชาชนต่อนักการเมืองที่ถูกเลือกเข้ามา

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ส.ว.ด้วย ให้เป็นผู้ที่เข้ามาควบคุม ตรวจสอบ และคัดง้างกับนักการเมืองทั้งหลายที่พวกเขาเชื่อว่าฉ้อฉล

ซึ่งในกรณีของปี พ.ศ.2543 ส.ว.เหล่านี้ได้รับเลือกเข้ามาโดยหวังว่าจะเข้ามาควบคุมและตรวจสอบบรรดา ส.ส.นั่นเอง

ในสายตาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ว.เหล่านี้จึงไม่เพียงแต่เป็นคนเก่งเท่านั้น แต่ยังเป็นคนดีด้วย ส.ว.น้ำดี ที่ใสสะอาดที่จะออกมาต้านทานการทุจริตและขจัดปัดเป่าความชั่วร้ายให้หายไป ดังจะเห็นได้จากบทความในหลายๆ สื่อ เช่น เรื่องจากปกของสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 46 ฉบับที่ 41 วันที่ 12-18 มีนาคม 2543 เรื่อง “ไม้กลัด-นักการเมือง ปราโมทย์-ประชาชน” และเรื่อง “ดีแท้หรือมายาภาพ บทพิสูจน์ ส.ว.คนดี ในการเมืองน้ำเน่า”

นอกจากนี้ พวกเขายังถูกคาดหวังว่าให้เป็นกลางทางการเมืองด้วย ซึ่งในที่นี้คือเป็นกลางจากพรรคการเมืองนั่นเอง

แต่ในความเป็นจริงนักรัฐศาสตร์ทั้งหลายย่อมทราบกันดีว่าไม่มีมนุษย์คนใดเป็นกลางโดยสมบูรณ์ หากแต่ต้องอยู่ภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างเสมอ และการที่ปัจเจกบุคคลทุกคนในสังคมการเมืองจะมีโลกทัศน์และพฤติกรรมทางการเมืองที่มาจากอุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่าง

เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่บริสุทธิ์แยกขาดเป็นอิสระจากฐานคิดหรือธงความเชื่อใดๆ จึงไม่มี

มีแต่การคิดภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาสมาทานเข้าไปแล้ว และโดยส่วนใหญ่ก็เป็นสิ่งที่ยึดครองอำนาจนำอยู่ในสังคมนั้น

 

เมื่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภามาถึงในปี 2566 หรือ 23 ปีต่อมา ส.ว.ชุดนี้จึงมีพฤติกรรมที่เป็นไปตามฐานคิดและโลกทัศน์ที่ตัวเองเชื่อว่าถูก และแม้จะดูไม่มีความชอบธรรมอันใดในการออกเสียงมติเลือกผู้นำประเทศ แต่เมื่อกฎหมายเปิดช่องให้มีสิทธิ์ทำได้เขาก็คงใช้อย่างไม่ลังเล

และการตัดสินใจนั้นก็ไม่มีหลักประกันว่าจะสอดคล้องไปกับเสียงของประชาชนที่แสดงผลมาจากการเลือกตั้ง

แน่นอนว่าหากการวินิจฉัยของ ส.ว.ชุดนี้ขัดกับกระแสมหาชน ผลที่ได้รับย่อมต่างกับสิ่งที่ ส.ว.ชุดแรกเจอในอดีตแน่ๆ แต่ถึงเขารู้ว่าต้องเจอกับอะไร การที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนพวกเขาจึงไม่ต้องสนกระแสเสียงใดๆ ทั้งสิ้น

ข้อเสนอของบทความชิ้นนี้จึงไม่มีคำทำนายว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

แต่คือคำแนะนำสั้นๆ ว่า ให้ผู้คนสนใจอ่าน “วาทกรรม” หรือวิเคราะห์ “กระแสความคิดเชิงอุดมการณ์” ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วย

ในฐานะที่เป็นหลักฐานสำคัญอันบ่งชี้ อธิบาย รู้เท่าทัน และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองได้อย่างลงลึกในอนาคต