33 ปี ชีวิตสีกากี (27) | “ฝึกกระโดดร่ม” ถูกสั่งกลิ้ง-หมอบ-คลาน ทรมาน แต่ครูฝึกสนุก

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

สําหรับชีวิตของการเป็นนักเรียนชั้นปีที่ 2 นั้น ผมสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น ทั้งการฝึก การเรียน และการฝึกซ้อมกีฬาว่ายน้ำ ทำให้ผลการเรียนเมื่อสอบเสร็จได้คะแนนการสอบค่อนข้างดี

ผมสอบได้ 87.25% สมัยนั้นคิดคะแนนสอบเป็นเปอร์เซ็นต์ และได้เป็นลำดับที่ 11 จากทั้งหมด 235 คน โดยลำดับที่ 9, 10 และ 11 จำนวนเปอร์เซ็นต์เท่ากัน แต่คะแนนวิชากฎหมายและวิชาตำรวจ ผมได้น้อยกว่า

การสอบครั้งนั้นถือเป็นการสอบของผมที่ทำได้ดีที่สุดในระหว่างที่ศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจทั้ง 4 ปี

สำหรับผู้ที่สอบได้ที่ 1 ยังคงเป็น นรต.พิทยา ศิริรักษ์

สภาพร่างกายของผมในเวลานั้น ถือว่าแข็งแรงและแข็งแกร่งมาก เพราะผ่านการฝึกหนักมาทั้งปี อีกทั้งได้ฝึกซ้อมว่ายน้ำทุกวัน แต่ละวันว่ายน้ำหลายพันเมตร มีการดำน้ำแข่งขันกันไปกลับ 1 รอบสระ ระยะทาง 100 เมตร โดยไม่โผล่ แบบสบายๆ อีกทั้งได้รับการเตรียมตัวก่อนไปทำการกระโดดร่ม ด้วยการฝึกตามสถานีฝึกต่างๆ

ผมสามารถไต่เชือกมะนิลา สูงประมาณ 8 ฟุตโดยใช้แขนทั้งสองข้าง ลำตัวตั้งตรงได้อย่างไม่ยากลำบากนักเมื่อเทียบกับคนอื่น คือ สามารถไต่ขึ้นลงได้หลายรอบ บางครั้งไต่ได้ถึง 18 ฟุต

แล้ววันเวลาที่นักเรียนชั้นปีที่ 2 เฝ้ารอคอยด้วยใจระทึก ที่จะต้องไปฝึกหลักสูตรกระโดดร่ม ก็มาถึง ระยะเวลาของการฝึกตามหลักสูตร คือ 1 เดือน ช่วงที่ฝึก ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2522 ทำการฝึกที่ค่ายนเรศวร หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

แต่พักที่ค่ายมฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งอยู่ห่างไม่ไกลกันนัก

 

วันแรกที่เดินทางมาถึงก็มีพิธีต้อนรับนักเรียนพลร่มใหม่เพื่อเข้าค่าย ครูฝึกจัดการต้อนรับเริ่มต้นก่อนถึงค่าย 7-8 กิโลเมตร ตั้งแถววิ่งจากเขาตะเกียบ เรื่อยไปตามถนนจนเข้าตลาดหัวหิน ท่ามกลางประชาชนที่เฝ้ามองดูจำนวนมากมาย

อากาศในวันนั้นก็ร้อนมากเหลือเกิน ครูฝึกสั่งให้ถอดเสื้อชุดฝึกออก เมื่อมาถึงริมทะเลหัวหิน

ถูกสั่งให้ลงไปกลิ้งที่ชายหาด ทั้งหมอบ ทั้งคลานได้มีโอกาสอาบน้ำทะเล

จากนั้นครูฝึกสั่งให้ขึ้นมากลิ้งบนถนนลูกรังต่อ แล้วขบวนแถวก็ผ่านเข้าไปในตลาด ซึ่งสภาพตลาดก็เหมือนกับตลาดสามพราน จากนั้นจึงวิ่งตรงไปตามถนนมุ่งหน้าเข้าค่าย อากาศยิ่งร้อนจัด ความร้อนบนพื้นผิวถนนยิ่งทวีขึ้นอีกหลายเท่า และยิ่งทำให้ครูฝึกชอบสั่งให้หมอบ เพื่อให้ผิวกายได้สัมผัสกับยางมะตอยร้อนๆ

มันทรมาน แต่ครูฝึกสนุก

บ่ายโมงผ่านไปแล้วจึงมาถึงหน้าค่ายนเรศวร ด้วยสภาพกะปลกกะเปลี้ย ความร้อนได้ดูดเอาพลังออกไปแทบจะหมด เพราะตั้งแต่เช้ามาไม่มีน้ำสักหยดตกลงในปากเลย มันทั้งกระหายน้ำสุดๆ มีรถบรรทุกน้ำมาฉีดน้ำรู้สึกกระชุ่มกระชวยดีขึ้น

ครูฝึกยืนปิดปากประตู นรต.ทศเทพ นิวาศะบุตร ตัวแทนรุ่น ได้กล่าวคำขออนุญาตเข้าค่าย ประตูจึงเปิดออก

ทั้งเสียงปืนและพลุสะดุด จึงดังขึ้น พลุมีทั้งสีเหลืองและชมภู แล้วก็แถกเหงือกเข้าค่าย โดยการคลานลอดใต้ปืน นอนแถกหลังลอดใต้ลวดหนาม จากนั้นตั้งแถว มีวงดุริยางค์ของค่าย ครูฝึกและตำรวจพลร่มหญิงตั้งแถวปรบมือต้อนรับ

จากนั้น พ.ต.ต.ถนอม จันทร์เปล่ง ผู้บังคับกองร้อยที่ 5 กล่าวรายงาน พ.ต.ท.สาโรช ปัญญา รองผู้กำกับการ กล่าวต้อนรับ

หมวดนัทที ศรีวิชัย นำไปเคารพอนุสาวรีย์ผู้กล้าหาญของค่ายนเรศวร เคารพศาล และเคารพพระบรมรูปของพระนเรศวรมหาราช

 

ค่ายนเรศวร ตั้งอยู่ห่างจากตลาดหัวหิน 2-3 กิโลเมตร ส่วนค่ายมฤคทายวัน ซึ่งใช้เป็นที่พัก อยู่ห่างจากค่ายนเรศวร 4 กิโลเมตร

ค่ายมฤคทายวัน อยู่ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และอยู่ติดกับชายทะเล มองออกจากที่พักไปก็เห็นชายหาด สำหรับค่ายนี้ ในอดีต คือพระราชนิเวศของรัชกาลที่ 6 ต่อมาทางรัฐบาลมอบให้เป็นที่ตั้งของกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ ตำรวจตระเวนชายแดน พ.ต.อ.ไกรศุข สินสุข ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ

สภาพอากาศแดดร้อนจัด แต่มีลมพัดเย็นสบายตลอดเวลาเมื่อเวลาเลิกฝึก ผมกับเพื่อนๆ จะใช้เวลามาเดินเล่นที่ชายหาด บางครั้งก็เล่นน้ำทะเล

การฝึก จะฝึกทั้งวัน แบ่งเป็นหมวดๆ ตอนเช้าฝึก 3 ชั่วโมง กายบริหาร 1 ชั่วโมง ตอนบ่ายฝึกอีก 3 ชั่วโมง แล้วฝึกกายบริหารอีก 1 ชั่วโมง

ขณะที่ฝึกกายบริหาร ต้องถอดเสื้อ ทั้งวิ่ง นอน กับพื้นทรายเป็นเช่นนี้ทุกวัน บางคนผิวไหม้เกรียม จนผิวหนังลอกเป็นแผ่นๆ เลย

การฝึกที่นี่เหมือนกับการฝึกที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกประการ แต่เพิ่มการฝึก การกระโดดจากหอสูงอีก 1 สถานี ฝึกการล้มตัว เมื่อเวลาที่ร่มถึงพื้น ถ้าล้มตัวไม่ดีพอ ศีรษะอาจฟาดพื้น จนเกิดการน็อกขึ้นมาได้ สถานีฝึกบังคับร่ม คือสถานีฝึกให้เกิดความชำนาญเพื่อให้ร่มลงตรงเป้าหมาย ให้รู้จักการใช้สายบังคับร่มอย่างถูกต้องและถูกวิธี ถ้าดึงคู่ผิด ร่มอาจจะนำไปลงทะเล หรือโชคร้ายลงบนต้นไม้

สถานีเครื่องบินจำลอง เป็นการฝึกกระโดดออกจากเครื่องบิน ขั้นตอนในการปฏิบัติเวลาอยู่บนเครื่องบิน เวลากระโดดออกจากเครื่อง ต้องฝึกให้มีท่าทางที่ถูกต้อง ถ้าใครกระโดดไม่ดี ท่าทางไม่ถูกต้อง ร่มอาจจะแกว่ง หมุนเป็นเกลียว หรือเกิดเหตุร่มแฝดได้

ดังนั้น ในระหว่างที่ทำการฝึก จะต้องมีความตั้งใจในการฝึกจึงจะทำให้ไม่เกิดปัญหา เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยของชีวิต

สำหรับสถานีกระโดดหอสูง เป็นหอที่มีขนาดความสูง 34 ฟุต เป็นหอที่มีความสูงตรงตามมาตรฐาน เป็นความสูงถ้าหากต่ำกว่านี้ คนจะไม่กลัว หรือสูงกว่านี้คนก็จะไม่กลัว ได้มีการทดสอบแล้วพบว่า ความสูงเท่านี้เป็นความสูงที่มนุษย์เกิดความกลัวมากที่สุดและกิริยาท่าทางจะบังคับได้ยากที่สุด

 

วันแรกที่ผมฝึก ก็ทำการกระโดดหอสูงเป็นพวกแรกเลย ขึ้นไปตอนแรกๆ ยังไม่คุ้นก็เสียวๆ พอสักพักก็รู้สึกเฉยๆ ท่าทางที่กระโดดไม่ต้องแก้ไขมาก

เพื่อนบางคนกระโดดไม่ดี ต้องทำการกระโดดใหม่หลายครั้ง เพราะเมื่อกระโดดออกมาแล้วขาถ่าง หลับตาบ้าง ไม่ยอมออกเสียงนับบ้าง ก็ต้องไปทำการกระโดดใหม่

ถ้าหลายๆ ครั้งเข้าก็กลายสภาพเป็นปู่หอ ถ้าในชั่วโมงนั้นยังแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องฝึกต่อในชั่วโมงต่อไป เป็นนักเรียนทุนฝากเรียน เพราะเพื่อนๆ หมวดเดียวกัน ไปฝึกสถานีอื่นหมดแล้ว

นอกจากนั้นแล้ว ท่าทางขณะที่กระโดดลงมา ก็ยังมีท่าทางแปลกๆ ให้เห็นทุกวัน บางคนกลัวความสูง แทนที่จะกระโดดไปข้างหน้ากลับกระโดดถอยหลังอยู่บนหอ บางคนเวลากระโดดกลับชะงัก ไม่กล้ากระโดดลงมา แต่ค่อยๆ เอาขาหย่อนลงมา

พวกนี้จะถูกครูฝึกทำโทษอย่างหนัก

แต่พวกกระโดดไม่ดีมีน้อย แต่ละหมวดจะมีประมาณ 2-3 คนเท่านั้น

เมื่อขึ้นไปบนหอสูง ผมรู้สึกว่าเหมือนเมื่อครั้งผมขึ้นต้นหมากที่บ้านผม ความสูงของต้นหมากอาจจะเตี้ยกว่านิดหน่อย ผมจึงรู้สึกคุ้นเคยกับความสูง ไม่เกิดอาการเหมือนกับเพื่อนบางคน

สถานีหอสูงจะฝึกให้กระโดดทั้งประตูซ้ายและประตูขวา เหมือนออกจากเครื่องบิน

 

ชีวิตความเป็นอยู่ขณะอยู่ที่นี่ รู้สึกเป็นอิสระและสบายกว่าสามพรานหลายเท่าเลย

ในชั่วโมงกายบริหาร เป็นการทดสอบร่างกาย ด้วยการวิ่งภายในภูมิประเทศ ระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางที่ค่อนข้างวิบาก ทุกคนต้องวิ่ง ผมสามารถวิ่งเข้า 15 คนแรก เวลาประมาณ 21 นาที 10 วินาที คนแรกคือ นรต.จุฑา จารุบุณย์ นักกีฬาฟุตบอล เข้าที่ 1 ด้วยเวลา 19 นาทีกว่า

วันต่อมามีการทดสอบร่างกาย 7 สถานี คือ สถานีที่ 1 กระโดดพุ่งเท้า ทำได้ 43 ครั้งใน 2 นาที สถานีที่ 2 ดันพื้นได้ 60 ครั้ง สถานีที่ 3 ไต่เชือกได้ 17 ฟุต สถานีที่ 4 ดึงราวได้ 15 ครั้ง สถานีที่ 5 ลุกนั่งใน 2 นาที ได้ 79 ครั้ง สถานีที่ 6 วิ่ง 1 ไมล์ ทำเวลาได้ 6.10 นาที สถานีที่ 7 ว่ายน้ำในทะเล 50 เมตร ไม่ทราบเวลา และมีการทดสอบร่างกายหลายครั้ง เช่นครั้งต่อมา ไต่เชือกได้ 18 ฟุต, ดึงราวได้ 16 ครั้ง, ลุกนั่ง 71 ครั้ง, ดันพื้น 54 ครั้ง, พุ่งเท้าหลังได้ 46 ครั้งใน 2 นาที และผมวิ่ง 1 ไมล์ ได้ 6.01 นาที แต่งดการว่ายน้ำในทะเล

ต้นเดือนพฤศจิกายน ร.ต.ท.สันติ เพ็ญสูตร ผู้บังคับหมวดจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งมาฝึกการกระโดดร่มแบบดิ่งพสุธา ได้จ่ายเงินเดือนนักเรียน ผมได้รับเดือนละ 370 บาทแล้ว

ครูฝึกที่สถานีหอสูง จะจ้ำจี้จ้ำไชนักเรียนมากเป็นพิเศษ เวลากระโดดลงมา ถ้าก้มศีรษะไม่ดี สายร่มจะตีแถวๆ ก้านคอ จนเป็นรอยถลอก บางคนโดนมาก จนถึงกับเป็นแผลเลือดไหลก็มี สำหรับการฝึกของผมผ่านมาหลายเที่ยวแล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้น บางคนก้มศีรษะน้อย สายร่มอาจจะตีเบาๆ จนเป็นผื่นแดงๆ เหงื่อออกจะแสบนิดหน่อย

เมื่อฝึกซ้อมตามสถานีต่างๆ จนครบ 3 สัปดาห์ สัปดาห์สุดท้ายจะเป็นการกระโดดร่มจากเครื่องบินจริงๆ เครื่องบินที่ใช้โดดร่ม เป็นเครื่องบินคาริบู โดยเป็นเครื่องบินจากกองบินตำรวจ รามอินทรา ซึ่งอยู่แถวๆ บางเขน กรุงเทพฯ การกระโดดร่ม จะทำการกระโดดทั้งหมด 6 ครั้ง จะทำการกระโดดทุกวัน

วันไหนที่ใครไม่ได้กระโดด ต้องไปฝึกซ้อมยิงปืน