สังคม วรรณกรรม ห้วงยาม สุจิตต์ วงษ์เทศ นำเสนอ ‘ขุนเดช’

บทความพิเศษ

 

สังคม วรรณกรรม

ห้วงยาม สุจิตต์ วงษ์เทศ

นำเสนอ ‘ขุนเดช’

 

สภาพการณ์ในทางวรรณกรรมที่ “ยุวชนสยาม” ซึ่งเริ่มแตกเนื้อหนุ่มหลังการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

หลังรัฐประหาร 2500 หลังรัฐประหาร 2501

มิได้เป็น “สภาพ” อันเกิดขึ้นอย่างลอยๆ ไร้รากฐานความเป็นมา หาแต่มีความสัมพันธ์และเป็นผลสะเทือน

จากสภาพการณ์ทางสังคมและการเมืองในขณะนั้น

นี่ย่อมเป็น “สภาพ” อันเกิดขึ้นขณะที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับกุม คุมขัง ณ คุกลาดยาว

นี่ย่อมเป็น “สภาพ” ที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เริ่มเติบใหญ่

สังคมไทย

ใต้เงา รัฐประหาร

การรัฐประหาร “ซ้ำ” ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ไม่เพียงแต่ส่งผลให้

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 ถูกฉีกทิ้ง

สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2500 ถูกยุบ พรรคการเมืองอันจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2498 ถูกยกเลิก

หากแต่ยังมีนักเขียน นักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่ง ถูกจับกุมคุมขังพร้อมกับนักการเมือง

หนังสือพิมพ์และนิตยสารทางการเมืองถูกสั่งปิด

ขณะเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 หรือที่รู้จักกันในนาม “ปว.17” ควบคุมและคุกคามหนังสือพิมพ์และสิ่งตีพิมพ์โดยทั่วไปอีกด้วย

ผลสะเทือนต่อหนังสือ นิตยสาร คนเขียนหนังสือเป็นอย่างไร

บรรยากาศ เข้มงวด

เซ็นเซอร์ ตัวเอง

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ครังที่เป็นบรรณาธิการ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” เขียนบทความ “แนวคิดของนักเขียนวรรณกรรมไทยตังแต่ พ.ศ.2475-2488 และปัจจุบัน”

เสนอในการสัมมนาทางวิชาการ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2515

สรุปอย่างรวบรัดว่าเนื้อหาของประกาศคณปฏิวัติฉบับที่ 17 (ปว.17) “มีผลเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตทางความคิดของนักเขียนในยุคนั้น”

เท่ากับเป็นการส่งแรงสะเทือนในด้าน “ปราม” นักเขียน

อย่างที่ เฮอร์เบิร์ต ฟิลลิปส์ ประเมินจากสภาพความเป็นจริงว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปลูกฝังสำนึกในการเซ็นเซอร์ตนเองของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ไทย”

สภาพที่ติดตามมาในทางวรรณกรรมก็คือ หนังสือพิมพ์และนิตยสารส่วนใหญ่ไม่กล้าเสนอเรื่องราวทางการเมืองและทางสังคมอย่างจริงจัง

ถามว่า “ภาพกว้าง” ของ “หนังสือพิมพ์” และ “วรรณกรรม” เป็นอย่างไร

 

ข่าวคาว ประโคม

การเมือง หลบใน

หน้าแรกของหนังสือพิมพ์รายวันเต็มไปด้วยข่าวอาชญากรรม บทบรรณาธิการและบทความทางการเมืองเป็นสิ่งที่แทบไม่มีความหมาย

มีฐานะเสมอเพียงแค่เครื่องประดับ เพื่อแสดงว่ายังมีอยู่เท่านั้น

คอลัมน์ข่าวซุบซิบในวงสังคม และเรื่องคาวๆ ของดาราและสาวสังคมกลายเป็นด้านหลักของหนังสือพิมพ์

ยิ่งเมื่อมีคำสั่ง “ลับ” เป็นนโยบายมัดตราสังวิชาชีพหนังสือพิมพ์โดยไม่ยอมให้มีการออกหนังสือพิมพ์ใหม่ (ยกเว้นของทางราชการและของสมาคมอันไม่เกี่ยวกับการเมือง)

หนังสือพิมพ์ที่ยังไม่ถูกยึดใบอนุญาตก็ทำในลักษณะ “ตัวลีบ”

ขณะเดียวกัน “หัวหนังสือ” กลายเป็นสินค้าราคาสูงลิ่ว ทะยานทะลุเลขระดับ 6 หลัก

 

ยุคแห่ง พาฝัน

รักโศก จุ๋มจิ๋ม

จากปัจจัยทางสังคมและทางการเมืองเช่นนี้เองนำไปสู่การอุบัติขึ้นของวรรณกรรม ในความเห็นของนักวิจารณ์ เช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี เห็นว่า

“เต็มไปด้วยเรื่องราวพาฝัน”

และนักวิชาการอย่าง นิตยา มาศะวิสุทธ์ สรุปผ่านบทความ “แนวโน้มของวรรณ กรรมไทยปัจจุบัน พ.ศ.2515” ว่า

วรรณกรรมไทยพูดกันแต่เฉพาะเรื่องรักโศก จุ๋มจิ๋ม

หรือมิฉะนั้น ก็เป็นเรื่องครอบครัว เมียน้อย เมียหลวง เป็นเรื่องที่ “เร้าอารมณ์” แต่ไม่ “เร้าสมอง”

ดังที่ ชีรณ คุปตะวัฒนะ มองย้อนหลังกลับไปในในวันวานของวรรณกรรมสะท้อนให้เห็นบรรยากาศแห่ง “กลอนรักหวานที่กล่าวถึงสายลมแสงแดด ดวงดาว อารมณ์เหงาอ้างว้างและการผิดหวังในความรักของคนหนุ่มสาว”

เป็นไปดังที่ ขรรค์ชัย บุนปาน ทุบโต๊ะเมื่อปี 2511 ว่าเป็นงานในประเภท “กลอนหาผัวหาเมีย”

 

มอง มหาวิทยาลัย

ยังไม่มี “คำตอบ”

กล่าวสำหรับสภาพในมหาวิทยาลัย เนื่องจากในห้วงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนถึงปี 2500

นิสิตนักศึกษาได้ตื่นตัวและแสดงบทบาทที่จริงจังในทางการเมืองอย่างสูง

โดยเฉพาะในการคัดค้านและเปิดโปงการเลือตั้งสกปรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 อันกลายเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500

ดังนั้น ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 เป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่งของคณะปฏิวัติก็คือ การทำลายและแยกสลายพลังของนิสิตนักศึกษามิให้ดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็น “ขบวนการ”

จะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองตนเองของนิสิตนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัย

องค์กรนักศึกษาหากไม่ถูกทำลายก็ตกอยู่ในการควบคุมอย่างเข้มงวด

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงกับกำหนดให้อาจารย์เป็นนายกสโมสรและดำรงตำแหน่งประธานชุมนุมต่างๆ

กิจกรรมอันเกี่ยวกับ “การเมือง” และ “สังคม” ถูกห้ามอย่างสิ้นเชิง

 

 

จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ไหน

สุจิตต์ วงษ์เทศ ทำอะไร

ความเป็นจริงก็คือ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับกุมคุมขังทันทีที่รัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501

จากนั้นก็ถูกส่งไปอยู่ “ลาดยาว”

ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เรียนอยู่วัดมกุฏกษัตริยาราม แล้วจรไปยังวัดนวลนรดิศ แล้วจรไปยังผดุงศิษย์พิทยา

เข้าเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

บนพื้นฐานทางสังคมและการศึกษาเช่นนี้เองที่เป็นรากฐานให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน “นิราศเมืองนนท์” เขียนเรื่องสั้น “คนบาป” นำเสนอภาพและบทบาทของ “ขุนเดช” เข้ามา

ส่วน จิตร ภูมิศักดิ์ เวลาของเขาส่วนหนึ่งเขียน “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานคร” และต่อมาก็รจนา “หิรันตยักษ์ม้วนแผ่นดิน”

ในนามของ กวี ศรีสยาม