มติชนทีวี ก้าวผ่านหลัก 5 ล้าน กับภาวะสังคมตื่นตัวทางการเมือง

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

มติชนทีวี ก้าวผ่านหลัก 5 ล้าน

กับภาวะสังคมตื่นตัวทางการเมือง

 

ช่อง YouTube มติชนทีวี กำลังจะข้ามอีกหนึ่งหลักหมายที่สำคัญ คือมีผู้ติดตามครบ 5 ล้านคน กับการทำหน้าที่เป็นช่องข่าวการเมือง ที่นำเสนอบทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์และข่าว เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ชมที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ติดตามและเห็นทิศทางว่า กลไกและบุคคลที่ใช้อำนาจดังกล่าวกำลังทำอะไร ตอบสนองต่อประชาชนหรือไม่

มติชนทีวี ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2555 ฐานะสื่อน้องใหม่ในเครือมติชน ที่ผลิตหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อรองรับกับการเกิดขึ้นของช่องโทรทัศน์ดาวเทียม โดยทำหน้าที่ผู้ผลิตข่าวให้กับช่องโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยม และช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับได้เปิดช่อง YouTube มติชนทีวี โดยเริ่มลงคลิปสั้นพูดคุยกับคนในข่าวในแวดวงต่างๆ

เป้าหมายแรกช่อง YouTube จึงมีสถานะเป็นเสมือนพื้นที่เสริมกับสื่อหลักคือโทรทัศน์ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งการเติบโตของเทคโนโลยี และสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เสถียรขึ้นและมีราคาถูกลง รวมทั้งการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียใหม่ๆ กระแสความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อก็เกิดการกลับข้าง จากหน้าจอโทรทัศน์ดิจิทัล รวมทั้งเคเบิลและดาวเทียมที่เป็นสื่อหลัก มาเป็นหน้าจอมือถือและไอแพด

มติชนทีวีเองก็ปรับตัวท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ จากการผลิตรายการป้อนช่องโทรทัศน์สู่การผลิตรายการเพื่อออกอากาศทางโซเชียลมีเดียอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะทาง YouTube

เช่นเดียวเรื่องเนื้อหาจากเดิมที่ผสมผสานข่าวหลากหลาย มุ่งสู่การให้น้ำหนักกับข่าวการเมืองเป็นหลัก ทั้งสรุปข่าว วิเคราะห์ข่าว รวมทั้งบทสัมภาษณ์ และงานเสวนาวิชาการ ที่เดิมสื่อหลักมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องเวลาออกอากาศ และพื้นที่นำเสนอ จึงทำให้เนื้อหาถูกตัดตอนเหลือเพียงบางส่วนเพื่อให้พอดีกับพื้นที่และเวลาออกอากาศ ขณะที่สีหน้า น้ำเสียง ภาษากาย ซึ่งล้วนเป็นนัยยะสำคัญทางการเมืองหายไป

แต่เมื่อเป็นพื้นที่บน YouTube ข้อจำกัดทั้งความยาวและเวลาในรายการรับชม ก็ถูกแก้ปัญหาได้ทั้งหมด รวมทั้งยังสามารถค้นหาเพื่อมาอ้างอิงได้ในภายหลัง

เนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงสุดต่อเนื่องในช่อง YouTube มติชนทีวี คือ การสัมภาษณ์ทั้งในรายการประจำวัน The Politics ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 18.30 น. รายการช่วงสุดสัปดาห์ เอ็กซ์-อ๊อก Talk ทุกเรื่อง วันเสาร์ 20.00 น. และ เอื้อย Talk วันอาทิตย์ 20.00 น.

จากการเชิญทั้งนักวิชาการและบุคคลสำคัญ ที่หลายท่านไม่ได้ปรากฏตัวให้สัมภาษณ์บ่อยครั้ง ควบคู่ไปการตอบคำถามเรื่องที่อยู่ในกระแส ทั้งด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการที่มาวิเคราะห์ทำความเข้าใจ โดยการใช้ชุดคำถามเพื่อให้ผู้สัมภาษณ์ตอบเชิงลึก มีเวลาในการอธิบายแนวความคิด โดยไม่ถูกตัดบท จากสถิติระบุว่า แม้เนื้อหาบางตอนจะยาวแต่ผู้ชมให้ความสนใจและใช้เวลาในการรับชมเพื่อให้เข้าถึงประเด็นนั้นๆ

ขณะที่อัตราเติบโตจากจังหวะก้าวอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดกระแสความผู้คนตื่นตัวทางการเมือง ความสนใจการเสพเนื้อหาการเมืองก็เพิ่มขึ้น นำไปสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามความต้องการของผู้ชมด้วย

 

ในโอกาสจะก้าวไปสู่หลักหมายใหม่ 5 ล้านผู้ติดตาม ช่อง YouTube มติชนทีวี ได้เสนอรายการใหม่ มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์ ดำเนินรายการโดย อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ผู้ดำเนินรายการและคอลัมนิสต์ ซึ่งมีผลงานประจำใน “มติชนสุดสัปดาห์” เพื่อให้เป็นรายการวิเคราะห์ข่าวผ่านมุมมองของนักวิชาการ และการสัมภาษณ์แขกรับเชิญที่เข้มข้นในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยออกอากาศทุกวันเสาร์ 18.00 น.

อ.ศิโรตม์พูดถึงแนวคิดของรายการ มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์ ว่า

“เราเป็นคนทำสื่อ เราต้องการทำสื่อที่มันตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นความตรงไปตรงมาที่วางอยู่บนหลักการประชาธิปไตยด้วย และอีกแง่ เราต้องการให้เป็นประโยชน์กับสังคมได้ด้วย ให้ความรู้ได้ด้วย ให้คนเห็นข้อมูลด้านต่างๆ ที่เขาอาจจะยังไม่เห็นมากพอได้ด้วย มากกว่าการทำรายการเพื่อให้ความเห็นชี้นำตามรสนิยมของเรา”

“เรากลับไปสู่พื้นฐานการทำสื่อ คือ เรื่อง information ส่วนเมื่อคนมี information แล้ว เขาจะมี opinion ของเขาอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

สำหรับความสนใจการเมืองที่มากขึ้น อ.ศิโรตม์มองว่าเพราะคนอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไม่ใช่เฉพาะเปลี่ยนรัฐบาล คนอยากเปลี่ยนระบบ ทั้งระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างสังคมที่ไม่โอเค

โดยช่องทาง YouTube จะเป็นข้อดีสำหรับผู้ชม เพราะ YouTube เป็นสถานีโทรทัศน์ของโลกไปแล้ว เป็นสถานีที่ทำงาน 24 ชั่วโมง ต่างจากโทรทัศน์ที่ทำงานตามเวลา ขณะเดียวกันก็มีคู่แข่งที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งกับสถานีโทรทัศน์แบบเดิม และแข่งกับคนทำสื่อใหม่อื่นๆ หรือแข่งกับผู้ชมที่มีความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การทำงานบน YouTube หรือสื่อใหม่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งจะนำไปสู่ทั้งการแข่งขันกันพัฒนาเนื้อหาและคุณภาพ

“คนทำงานสื่อเดิมก็ยังอยู่ ผู้ชมที่ดูเราก็สามารถดูสื่ออื่นได้อย่างรวดเร็ว สามารถเปรียบเทียบได้ว่าสิ่งที่เราพูดมันมั่วไหม มันดูโง่ไหมเมื่อเทียบกับคนอื่น ผมคิดว่า มันคือ สถานีโทรทัศน์ที่เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก สำหรับคนทำงาน”

“การมีช่องทางและรายการที่หลากหลาย ผู้ชมจะได้มีตัวเลือกมาเปรียบเทียบสื่อที่มีคุณภาพกับไม่มี อันไหนเป็นความเห็นที่ผ่านการคิดมาอย่างดี อันไหนคือการแสดงความเห็นชุ่ยๆ เรื่อยเปื่อย หรือรายการที่นำเสนอข้อมูลแม่นยำ กับรายการที่มีข้อมูลไม่อัพเดต ด้านเดียว นี่คือสิ่งที่คนดูจะได้”