ประชาธิปไตย อันไม่ได้มีแต่ ‘เรา’

คำ ผกา

คำ ผกา

 

ประชาธิปไตย

อันไม่ได้มีแต่ ‘เรา’

 

กว่ามติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้วางแผง เราคงได้เห็นสภาเปิด และมีประธานสภาเป็นที่เรียบร้อย

และแม้ว่าในขณะที่ฉันเขียนต้นฉบับอยู่นี้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังหาข้อยุติเรื่องตำแหน่งประธานสภาไม่ได้ ก็ได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดีที่แปลว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลยังคงไปด้วยกันต่อได้

จะว่าไปก็น่าเห็นใจเพราะนี่คือวิบากกรรมของคณิตศาสตร์การเลือกตั้งและค่ายกลของเผด็จการที่ฝังเอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560

วิบากกรรมทางคณิตศาสตร์ในที่นี้คือ ถ้าพรรคเพื่อไทย หรือก้าวไกล หรือพรรคไหนก็ได้ ครองที่นั่ง ส.ส. ไปสัก 300 เสียง การจัดตั้งรัฐบาล การโหวตนายกฯ ประธานสภา จะไม่กลายเป็นประเด็นถึงเพียงนี้

แต่เจ้ากรรมที่ประชาชนก็ไม่อนุญาตให้พรรคเพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์ แต่หวยดันออกมาที่ 151 กับ 141

หวยออกแบบนี้ไม่เท่าไหร่หากไม่มีค่ายกลที่ฝังไว้ในรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ส.ว. 250 ที่มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ไม่เพียงแต่ค่ายกล ส.ว. ยังมีพรรคการเมืองที่จัดว่า problematic อันแปลว่า “อยู่ในจุดที่ยาก” นั่นคือ พลังประชารัฐ ประชาธิปปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติ สามพรรคนี้มีความ problematic คือเป็นพรรคที่เป็นผลผลิตของการรัฐประหารและระบอบ คสช.

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีประเด็นเรื่อง บอยคอตการเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ตั้ง ศอฉ. ที่มีส่วนในการสังหารประชาชนกลางเมืองหลวง และไปร่วมชุมนุมกับ กปปส.

ในความ problematic นี้ก็ทำให้ทั้งพรรคเพื่อไทย และก้าวไกลต้องตัดตัวเลือกของพรรคการเมืองที่จะเป็นพันธมิตรในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลออกไปถึงสามพรรค ซับซ้อนกว่านั้น จะด้วยเหตุผลอะไรฉันก็จนปัญญาจะรู้ นั่นคือ กลยุทธ์การผลัก “เพื่อไทย” ให้กลายเป็น “อื่น” ด้วยการปล่อยข่าวดีลลับ ดีลหักหลัง ดีลทิ้งก้าวไกลไปเอาประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ ไม่หยุดไม่หย่อน

และทำให้พรรคเพื่อไทยยิ่งลนลานในการปกป้องตัวเองจากการใส่ร้ายป้ายสี

และยิ่งแพนิกกับการถูกป้ายสี ก็ยิ่งทำให้ต้องออกมายืนยันเยอะ ยิ่งออกมายืนยันเยอะยิ่งกลายเป็นข้อพิรุธ และยิ่งเปิดแผลให้ฝ่าย “ตรงข้าม” ฉกฉวยโจมตีได้ตลอดเวลา

ถ้าเป็นนักมวยสภาพเพื่อไทย ณ เวลานี้คือ “เมาหมัด” อย่างน่าเห็นใจที่สุด

 

วิบากกรรมคณิตศาสตร์การเลือกตั้งในค่ายกลของรัฐธรรมนูญเผด็จการจึงทำให้กลไกการตั้งรัฐบาลผสมถูกบิดเบือนไป

นั่นคือ หากไม่ติดเงื่อนไขเรื่อง ส.ว. ไม่ติดเรื่องภารกิจของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องไปแก้ไข เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เราคงเห็นพรรคอันดับสองอย่างเพื่อไทยประกาศตัวเป็นแกนนำฝ่ายค้าน หรือไม่ก็ต้องประกาศรวมเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลแข่งกับก้าวไกลไปแล้ว เหมือนประเทศอื่นๆ ที่หลังการเลือกตั้ง พรรคอันดับสอง อาจไปรวมกับพรรคอื่นๆ ที่เหลือ ตั้งรัฐบาลและทิ้งให้พรรคอันดับหนึ่งเป็นฝ่ายค้าน เพราะการตั้งรัฐบาลหมายถึงการรวมเสียงข้างมากในสภาสำเร็จ แม้จะไม่ใช่พรรคที่ชนะอันดับหนึ่ง

มองในแง่นี้ฉันจึงบอกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจสำหรับทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยที่โดยดีเอ็นเอของพรรค สองพรรคนี้ไม่ใช่เกิดมาเพื่อเป็นพันธมิตรกันแต่เกิดมาเพื่อเป็นคู่แข่งกันทางการเมือง

และหากสองพรรคนี้เป็นคู่แข่งกันจริงๆ คนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือประชาชน

เพราะเท่ากับเราอยู่ในการเมืองประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยสองพรรคแข่งขันกันเพื่อชนะการเลือกตั้ง

ดังนั้น ในทางทฤษฎี ทั้งสองพรรคต้องทำงานแข่งกันเพื่อจะชนะใจประชาชน

ทั้งนี้ เพราะพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลนอกจากมีจุดยืนไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาเผด็จการที่มีเหมือนกันแล้ว ที่เหลือนอกจากนี้ทั้งสองพรรคไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย

พรรคเพื่อไทยเป็นเสรีนิยม ประชาธิปไตยค่อนไปในทางอนุรักษนิยม

ส่วนพรรคก้าวไกลเป็นพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมหัวก้าวหน้า

และทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่า หัวก้าวหน้าดีกว่าอนุรักษนิยม สังคมนิยมดีกว่าเสรีนิยม

ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร ขึ้นอยู่กับสังคมในห้วงเวลานั้นๆ ชอบแบบไหน อยากเลือกอะไร

ที่สำคัญคนในประเทศตั้งสี่สิบห้าสิบล้านคนย่อมชอบไม่เหมือนกัน เชื่อเหมือนกัน

การมีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ จุดยืนที่หลากหลาย จึงตอบสนองความต้องการหรือผลประโยชน์อันหลากหลายในสังคมนั่นเอง

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ฉันคิดว่าจะเป็นทางออกที่สวยที่สุดสำหรับสังคมไทยในตอนนี้คือ ทั้งพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล ควรจะคุยกันอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า การร่วมกันเป็นรัฐบาลครั้งนี้ร่วมกันเพื่อภารกิจเฉพาะกิจคือ ปิดสวิตช์ ส.ว. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

จบภารกิจนี้ต้องยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ บนกติกาใหม่ที่ไม่มีค่ายกลในรัฐธรรมนูญ 2560 คอยบิดเบือนกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล

 

ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล

บ้างบอกว่าพรรคเพื่อไทยจะสูญพันธุ์แน่ๆ พรรคก้าวไกลจะชนะแบบแลนด์สไลด์

ในทัศนะของคนเลือกเพื่อไทยอย่างฉันก็ได้แต่เลิกคิ้ว แล้วถามว่า พรรคเพื่อไทยสูญพันธุ์แล้วยังไง? ไม่มีเพื่อไทยเราก็ไปเลือกพรรคอื่น หรือต่อให้ยังมีเพื่อไทย แต่ถ้าเพื่อไทยทำงานไม่เข้าตา ไม่ถูกใจเรา เราก็ไปเลือกพรรคอื่นอยู่ดี

การมีอยู่หรือการสูญสลายไปของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมันเป็นเรื่องของพรรคการเมืองนั้นๆ ต้องไปจัดการตนเอง ไม่ใช่เรื่องของประชาชนอย่างเรา เพราะประชาชนอย่างเรามีหน้าที่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเลือกทั้งหมดที่มีอยู่และตราบใดที่ไม่มีการรัฐประหาร ตราบใดที่เรายังมีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ มันจะไม่มีวันที่ประชาชนอย่างเราจะต้องตีอกชกตัวเลย

ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศก็อยู่กับรัฐบาลที่ตนเองเลือกแล้วผิดหวังมาไม่รู้กี่ร้อยครั้ง

ก็ไม่เห็นว่าจะต้องไปตีอกชกหัวที่ไหนไม่มีใครสูญสิ้นความเป็นคน

และเราต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยว่า รัฐบาลส่วนใหญ่ของทุกประเทศมักจะประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนผิดหวังมากกว่าสมหวัง

และตรรกะของประชาธิปไตยคือ เลือกผิดก็เลือกใหม่ และโดยมากเรามักจะเลือกผิดอีกและผิดอีก และผิดอีก

แต่ในการเลือกผิดนั้นในผลงานของรัฐบาลก็มีทั้งที่ช่วยคนกลุ่มหนึ่งให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เสียผลประโยชน์เสมอ

แต่ในภาพรวมคือ องคาพยพของทั้งประเทศมันก็พอกล้อมแกล้มไปต่อได้ในระดับหนึ่ง

น้อยครั้งมากที่ประเทศไหนจะได้รัฐบาลที่ชนะการเลือก เป็นที่รักของประชาชน แล้วยังมีความสามารถในการพัฒนาประเทศได้ปังปุริเย่ outstanding หาที่ติไม่ได้

ประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็เรียกได้ว่าเผชิญกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ไม่ได้ปังปุริเย่ในการบริหารประเทศ พร้อมๆ กับมีข่าวฉาวๆ เรื่องการคอร์รัปชั่น ความไร้ผลงาน ภาวะความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏในลักษณะต่างๆ กัน

สหราชอาณาจักรไม่ต้องพูดถึง เปลี่ยนรัฐบาลเล่น นายกฯ อยู่ในตำแหน่งไม่ถึงสองอาทิตย์ก็เจอมาแล้ว

 

แต่วิบากกรรมของสังคมไทยคือ เรามองประชาธิปไตยเป็นผลไม้สุกงอมหวานหอมพร้อมกิน

ความที่สังคมไทยไม่มีโอกาสจะใช้ชีวิตกับประชาธิปไตยต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ผิดๆ เช่น

เราเข้าใจว่าประชาธิปไตยเท่ากับความสุจริต ไม่มีการโกงกินโดยปริยาย

หรือเราเข้าใจว่าประชาธิปไตยเท่ากับระบอบที่นักการเมืองทำเพื่อประชาชนมีอุดมการณ์เต็มเปี่ยม ผิดจากนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย

เหตุที่เราเข้าใจเช่นนี้เพราะเราอยู่กับเผด็จการที่ปล้นอำนาจมาจากการรัฐประหาร ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ โกงกิน เราก็เลยจับคู่ว่า เผด็จการเท่ากับโกง ประชาธิปไตยเท่ากับสุจริต

แต่เราลืมไปว่า สิ่งที่สำคัญกว่าโกงหรือไม่โกง อยู่ที่วิธีการได้มาซึ่งอำนาจ

ต่อให้เราอยู่กับเผด็จการที่ซื่อสัตย์มากๆ ไม่โกงเลยแม้แต่บาทเดียวมันก็ไม่โอเค เพราะสิ่งที่ไม่ถูกต้องคือ “ที่มาของอำนาจ” ที่ไม่ได้มาจากประชาชน

เพราะฉะนั้นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้การันตีความสุจริต แต่อย่างน้อย ที่มาแห่งอำนาจนั้นถูกต้อง

และที่สำคัญ ประชาธิปไตยการันตีการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของนักการเมือง

 

ความน่ากังวลของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยในสายตาของฉันตอนนี้คือ การเล็งผลเลิศกับ “ประชาธิปไตย” และมีแนวโน้มจะคลั่งไคล้ประชาธิปไตยแบบบริสุทธิ์

และที่น่ากลัวคือ อยู่ๆ ก็ไปสถาปนาให้พรรคก้าวไกลเป็นพรรคประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะการเป็นพรรคที่ไม่มีนายทุน เป็นพรรคที่ไม่ได้หวังผลประโยชน์ ไม่กระหายตำแหน่ง มีประชาชนเป็นเจ้าของ นักการเมืองหรือ ส.ส.ของพรรคไม่ใช่นักการเมืองบ้านใหญ่ เสียสละ ทำงานเพื่อประชาชน มาจากประชาชน พร้อมลุย พร้อมชน พร้อมตรวจสอบ พร้อมเช็กชื่อใครจะขาดประชุม มีแนวโน้มอยากกำกับให้ประชาธิปไตย “ซื่อตรง” เหมือนครูฝ่ายปกครองตรวจผม ตรวจเล็บ คุมประพฤตินักเรียน

แทนที่จะมองการเมืองเชิงสถาบันที่ทำงานถ่วงดุลกันด้วยกลไกรัฐสภาและการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม และสื่อ

การมองประชาธิปไตยบริสุทธิ์เช่นนี้ ทำให้พรรคการเมืองที่เหลือเป็นพรรคการเมือง “นอกคอกประชาธิปไตย”

เช่น การตัดสินว่าการที่กลุ่มสามมิตรย้ายกลับมาพรรคเพื่อไทย เท่ากับ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” แทนที่จะมองว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยรับกลับมาก็ให้ประชาชนตัดสินผ่าน “คะแนนเสียง” ที่ได้ แล้วคะแนนเสียงนั้นจะเป็นตัว “กำกับ” ว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร

หรือการแปะป้ายว่า เพื่อไทยเล่นการเมืองเพียงเพื่อเอาทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน

คำถามคือ การเล่นการเมืองเพื่อเอาทักษิณกลับบ้านไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน? เพราะเพื่อไทยก็ไม่ได้ไปสนับสนุนรัฐประหารเพื่อเอาทักษิณกลับบ้าน

และการกลับบ้านของทักษิณก็เป็นสิทธิของทักษิณในฐานะคนไทย

หรือหากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล แล้วใช้อำนาจโดยมิชอบเอาทักษิณกลับบ้าน ถึงเวลานั้นอย่าว่าแต่สังคมจะประณาม พรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลน่าจะโดนฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน เพราะเป็นโอกาสที่ฝ่ายค้านจะทำคะแนนเพื่อสะสมกลายเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

หรือแม้กระทั่งการพลิกขั้วพลิกข้าง ฉันเองก็อยากรู้ว่าถ้าพรรคเพื่อไทยทำอย่างนั้นจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับพรรคเพื่อไทย

และหากเพื่อไทยถูกลงโทษจากประชาชนกลายเป็นพรรคต่ำสิบ ก็ต้องถือว่านี่คือฉันทามติจากประชาชน แล้วเราในฐานะประชาชนจะเดือดร้อนอะไร

สุดท้ายทุกอย่างกลับมาที่กลไกประชาธิปไตยว่าใครจะอยู่ใครจะไป ก็ให้ประชาชนเป็นคน “เลือก”

 

สุดท้ายฉันยืนยันเป็นครั้งที่ร้อยล้านว่า คนไทยควรตั้งหลักให้ได้ว่าศัตรูของประชาธิปไตยคือการรัฐประหาร ศัตรูของประชาธิปไตยไม่ใช่ “พรรคการเมือง” จนกว่าพรรคการเมืองนั้นจะไปสนับสนุนการรัฐประหาร

ตามประวัติของพรรคเพื่อไทย ไม่เคยด่างพร้อยในฐานะพรรคที่สนับสนุนรัฐประหาร แม้จะไม่ใช่พรรคการเมือง “ในฝัน” ตาม “อุดมคติ”

เพราะฉะนั้นการทุ่มเทความเกลียดชังมาที่พรรคเพื่อไทยดูจะเป็นการทุ่มเทที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาวะของประชาธิปไตยเอาเสียเลย

ที่สำคัญเราต้องไม่เป็นประชาธิปไตยสุจริตเหนือคนอื่นจนกลายเป็นเผด็จการคุณธรรมเสียเอง เพียงเพราะต้องการประชาธิปไตยไร้มลทินพาสเจอไรซ์ปลอดเชื้อบริสุทธิ์ผุดผ่อง

หนทางของประชาธิปไตยนี้ยาวไกลและอย่าลืมว่าความหลากหลายของพรรคการเมืองคือตัวชี้วัดความเข้มแข็งของประชาธิปไตย เพราะนั่นคือสิ่งสะท้อนความหลากหลายของผู้คนในสังคม

เพราะจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยคือ “คนเท่ากัน”