ชนชั้นนำ 3,000 ปี ต้นตอความเหลื่อมล้ำ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชนชั้นนำเริ่มแรกในไทยเก่าสุดขณะนี้ราว 3,000 ปีมาแล้ว (โดยเฉลี่ย) มีฐานะทางสังคมเหนือคนทั่วไปในชุมชนเดียวกัน เป็นต้นตอความเหลื่อมล้ำสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

พบหลักฐานโบราณคดีจากพิธีกรรมหลังความตายของชนชั้นนำและโคตรตระกูล มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย

พิธีกรรมหลังความตาย เนื่องในศาสนาผี และมีความเชื่อเรื่องขวัญ (ไม่ใช่วิญญาณ และไม่เกี่ยวกับวิญญาณ ซึ่งรับจากอินเดียและต่างกันมากกับขวัญ) ว่าคนมีขวัญสิงสู่อยู่ในร่างของทุกคน แต่ละคนมีมากกว่า 1 ขวัญ บางชาติพันธุ์เชื่อว่ามี 80 ขวัญ

ศาสนาผีเชื่อว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่ขวัญกลายเป็นผี จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ และมีวิถีชีวิตประจำวันเป็นปกติเหมือนตอนไม่ตาย

ผู้หญิง มีอำนาจในพิธีกรรม (หรือเป็นใหญ่ในพิธีกรรม) ของชุมชนเผ่าพันธุ์ ซึ่งแต่ละชุมชนเผ่าพันธุ์มีพิธีกรรมตลอดปี (12 เดือน) แต่ละพิธีมีครั้งละนานเป็นเดือน

ในพิธีกรรมมีผู้หญิงเป็นใหญ่ หรือเป็นหัวหน้าประกอบพิธี ซึ่งเรียก “แม่หมอ” (คำว่า “แม่” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่หรือหัวหน้า) เพราะเป็นผู้มีพลังแก่กล้าสื่อสารกับผีฟ้า (อยู่บนฟ้า) แล้วเชิญผีฟ้ามาบำบัดโรคภัยไข้เจ็บและกำจัดผีร้ายได้ จึงได้รับยกย่องเป็นหมอ เรียกแม่หมอ [ตรงกับภาษาเขมรว่า เมม็วต หรือ มะม็วต ไทยเรียกตามคำเขมรว่าแม่มด หมายถึงแม่หมอ (คำว่า มด กับ หมอ มีความหมายเดียวกัน คือผู้ชำนาญ หรือผู้เชี่ยวชาญ จึงมีภาษาพูดทั่วไปเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยต้องไป “หามดหาหมอ”) แต่โดยทั่วไปในไทยมักเข้าใจว่าแม่หมอ หรือแม่มด คือหมอผี (มีความหมายทางลบ)]

ผู้ชาย มีอำนาจนอกพิธีกรรม ได้แก่ ปะทะการบุกรุกปล้นสะดมจากชุมชนเผ่าพันธุ์อื่น, ปกป้องและไล่ล่าสัตว์ร้ายขนาดใหญ่ (เช่น ช้าง, เสือ ฯลฯ) เป็นต้น

ซากศพขุดพบใต้ถุนเรือนผี (เฮือนแฮ้ว) รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลุมเสาเป็นช่วงๆ
เสาไม้เหลือซากปักดินหลายพันปีมาแล้ว ซึ่งแต่เดิมเป็นเสาเรือนผี (เฮือนแฮ้ว) คร่อมหลุมศพ

หลังความตายของชนชั้นนำ มีพิธีกรรมตามลำดับ ดังนี้ (1.) เรียกขวัญคืนร่าง (2.) ส่งขวัญขึ้นฟ้าไปรวมพลังกับขวัญบรรพชนเป็น “ผีฟ้า” ส่วนหลักฐานโบราณคดีที่พบ [ภาพและข้อมูลจากหนังสือ สยามดึกดำบรรพ์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย โดย ชาร์ลส ไฮแอม และ รัชนี ทศรัตน์ (ฉบับภาษาไทย) สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ พิพม์ครั้งแรก พ.ศ. 2542] ได้แก่ พื้นที่ฝังศพ, หลุมฝังศพ, เครื่องใช้ในหลุมศพ, เฮือนแฮ้ว เป็นต้น

1. พื้นที่ฝังศพ โดยทั่วไปเป็นพื้นที่พิเศษอยู่ในชุมชน (ไม่อยู่นอกชุมชน) ที่สมัยหลังเรียก “ลานกลางบ้าน” เป็นที่ฝังศพของชนชั้นนำและโคตรตระกูลของชุมชนนั้น ซึ่งเป็นโคตรตระกูลใหญ่มีฐานะทางสังคมลดหลั่นไป ได้แก่ (1.) หัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีเครื่องใช้และเครื่องประดับคับคั่ง และ (2.) โคตรตระกูลเครือญาติทั่วไป เครื่องใช้และเครื่องประดับไม่มาก (หรือไม่มี)

แต่บางแห่งมีลักษณะเฉพาะต่างจากแหล่งทั่วไป คือ โคกพนมดี (อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี) เนินดินเนื้อที่ 30 ไร่ สูงประมาณ 12 เมตรจากพื้นราบ โดดเด่นอยู่กลางทุ่งนากว้างไกล เป็นที่ฝังศพชนชั้นนำและโคตรตระกูล มีเครือญาติหลายระดับลดหลั่นเกือบ 200 โครง

โคกพนมดีเป็นเนินดินสูง ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนากว้างใหญ่ล้อมรอบในเขต อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี [โคก แปลว่า ที่เนินสูง, พนม เป็นภาษาเขมรแปลว่าภูเขา, ดี กลายจาก ฎี ในภาษาเขมร (อ่านว่า เด็ย) แปลว่าดิน เมื่อรวมความแล้ว “โคกพนมดี” หมายถึงเขาดิน]

“เจ้าแม่โคกพนมดี” (ชื่อสมมุติของโครงกระดูกเพศหญิง) ชนชั้นนำเริ่มแรกในไทย ที่ประดับประดาด้วยลูกปัดเปลือกหอย (แบบตัว I และแบบแว่นกลมบาง) มากกว่า 100,000 เม็ด (ราวหนึ่งแสนเม็ด) นอกจากนั้นยังพบแผ่นวงกลมมีเดือย, กำไลข้อมือ, เครื่องประดับศีรษะ ฯลฯ อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว (ขุดพบที่โคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี)

เนินดินโคกพนมดีไม่ใช่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพิธีกรรมของเผ่าพันธุ์ ได้แก่ (1.) ฝังศพ เฉพาะชนชั้นนำและโคตรตระกูล (2.) พิธีกรรมเซ่นผี มีประจำทั้งปี มีคราวละหลายวัน ได้แก่ ขึ้นฤดูกาลใหม่ (เดือนอ้าย), เซ่นแม่ข้าว (แม่โพสพ), เซ่นผีเครื่องมือทำมาหากิน (เดือน 5) เป็นต้น

ที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำและโคตรตระกูลเป็นเรือนเครื่องผูกอยู่บริเวณที่ราบรอบเนินดินและปริมณฑล อยู่ปนกันกับประชากรทั่วไป

2. หลุมฝังศพ ถูกขุดดินเตรียมไว้ก่อนด้วยแรงงานคนจำนวนหนึ่งในชุมชน ซึ่งเป็นบริวาร (สมัยหลังเรียก “บ่าวไพร่”) ของชนชั้นนำ

ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปไม่ฝังศพ เมื่อมีคนตายก็ขนซากศพไปวางกลางแจ้งซึ่งเป็นสถานที่จัดไว้ให้แร้งกากิน

3. เครื่องใช้ในหลุมศพ มีหลากหลายประเภท ได้แก่ (1.) สัญลักษณ์ของอำนาจ คล้ายกำไลคล้องข้อมือหรือแขน บางแห่งพบวัสดุวงกลมเจาะกลวง ขอบหยัก เป็นตัวแทนขวัญของคนตาย (2.) เครื่องประดับจำนวนมาก ทำจากวัสดุมีค่า มาจากชุมชนห่างไกลที่มีการติดต่อถึงกัน (3.) เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทำจำลองใช้เฉพาะพิธีศพ (ส่วนมากมักไม่ใช้ในชีวิตจริง) (4.) แผ่นไม้รองรับซากศพ (5.) โปรยดินเทศ (ผงสีแดง) ทั่วซากศพ

4. เฮือนแฮ้ว หมายถึงเรือนผี คือเรือนจำลองจากเรือนจริงใช้ปลูกคร่อมหลุมฝังศพให้ผีขวัญเจ้าของโครงกระดูกที่ฝังในดินได้ใช้งานเหมือนยังไม่ตาย ซึ่งยังพบสืบเนื่องในประเพณีฝังศพของผู้ไทในเวียดนาม

นักโบราณคดีขุดค้นที่โคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี พบร่องรอยแล้วมีรายงานว่า “บริเวณที่ฝังศพมีรอยวงกลมของหลุมเสาเป็นระยะล้อมรอบอยู่ สันนิษฐานว่ามีอาคารไม้สร้างคลุมหลุมฝังศพ” (สยามดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2542 หน้า 55) •

“เฮือนแฮ้ว” คือเรือนผีปลูกคร่อมที่ฝังศพของไทดำในเวียดนาม (ภาพจากหนังสือ ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท ของ ภัททิยา ยิมเรวัต พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2544 หน้า 253)