“ขอบชะนางนั่ง” สมุนไพรชื่อแปลกแห่งภาคใต้ มีเรื่องเล่าว่าให้ “ทหาร” ในอดีตกิน

พัทลุง เป็นพื้นที่ป่าสมุนไพรที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง ซึ่งมีกิจกรรมเดินสำรวจสมุนไพร ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้เดินไปในป่าเขาลำเนาไพรตามธรรมชาติ แต่เดินสำรวจในพื้นที่ของประชาชน หรือป่าสมุนไพรของชาวบ้านที่ปลูกและอนุรักษ์พันธุ์สมุนไพรไว้นั่นเอง

ในขณะที่เดินสำรวจพบพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งผลสวย สีส้มสดใส ซึ่งหมอพื้นบ้านเรียกว่า เถาขอบชะนางนั่ง ทำให้รู้สึกแปลกใจมาก เพราะต้นขอบชะนางนั่งที่รู้จักจะเป็นไม้พุ่ม ลักษณะใบและผลก็แตกต่างกัน

เมื่อนำตัวอย่างพืชกลับมาจัดจำแนกในเบื้องต้น จึงคาดว่าน่าจะเป็นพืชที่เรียกชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Salacia macrophylla Blume มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Gogo มีชื่อพื้นเมืองของไทยว่า กระดอหด สะเดาเย็น (ตราด) กระดอหด (จันทบุรี) ขอบดง ขอบนาง (ปัตตานี) ไข่กระจง (นราธิวาส) เดาเย็น (สงขลา) มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ในแถบอินเดียตะวันตก หมู่เกาะต่างๆ ในทะเลอัดามัน เมียนมา ไทย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย

แม้เอกสารทางวิชาการจะกล่าวว่า ขอบชะนางนั่งหรือสะเดาเย็น เป็นไม้พุ่ม แต่ที่พบในธรรมชาติเห็นต้นจริงจำนวนมากที่เป็นไม้รอเลื้อยเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะผลสดรูปทรงกลม คล้ายผลส้มขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร หรือบางครั้งพบขนาดใหญ่ถึง 8 เซนติเมตร ผิวหยาบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีส้มแดง

จัดว่าเป็นผลไม้ที่หายาก มีรสชาติคล้ายน้ำตาลกวน และน้ำคั้นจากผลมีกลิ่นคล้ายวานิลลา มีเมล็ดแข็ง 3-4 เมล็ด ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ติดผลราวเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ขยายพันธุ์โดยเมล็ด

ในประเทศไทยพบมากทางแถบตะวันออกและภาคใต้

 

หมอยาพื้นบ้านนิยมนำมาใช้เป็นยาสำหรับผู้หญิงโดยนำรากมาต้มดื่มหลังคลอด ใบนำมาตำพอกผิวเป็นยาแก้ปวดท้อง และใช้รักษาโรคเรื้อนกวาง

แต่จากการสอบถามเครือข่ายหมอยาพื้นบ้านมีการนำมาใช้เข้ายากระษัย รักษากล้ามเนื้อ ปวดข้อ และหมอพื้นบ้านในจังหวัดกระบี่ใช้รากต้มดื่ม แก้กำหนัด ขับลม แก้ไส้เลื่อน ช่วยให้มดลูกเข้าอู่

หมอยาพื้นบ้านในภาคตะวันออกใช้เป็นยาแก้กระษัยไตพิการ คลายเส้นเอ็น ใช้ลำต้นผสมกับยาอื่น เป็นยาระบาย และเกี่ยวกับโรคน้ำเหลืองเสีย

หมอยาพื้นบ้านในภาคตะวันออกยังเล่าว่าสมัยก่อนนิยมใช้กัน แต่ปัจจุบันก็ยังมีใช้กันอยู่บ้างแต่ไม่มากเหมือนแต่ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อเห็นชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันในหลายพื้นที่ว่า “กระดอหด” จึงสงสัยว่ามีสรรพคุณดังชื่อหรือไม่?

เมื่อค้นหาข้อมูลก็พบว่ามีการกล่าวถึงสรรพคุณว่า หลังจากที่ได้กินผลไม้นี้เข้าไปจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งความเป็นชายแบบชั่วคราว ซึ่งมีผลหรือฤทธิ์ในการลดฮอร์โมนเพศชายไปชั่วขณะ

สรรพคุณนี้ออกฤทธิ์ทั้งการกินสดแล้ว ยังใช้ผสมในของหวานได้ด้วย

จึงมีเรื่องเล่าในอดีตว่า ในค่ายทหารจะให้ทหารกินผลขอบชะนางนั่งเพื่อยับยั้งฮอร์โมนเพศชาย ไม่ให้หนุ่มๆ ในค่ายเกิดอาการคึกเพราะนึกถึงแฟน ทำให้เสียสมาธิในการฝึกฝนวิชาทหาร

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ขอบชะนางนั่งหรือสะเดาเย็น มีสรรพคุณที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับฮอร์โมนในร่างกายอย่างแน่นอน จึงทำให้มีการใช้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

โดยเฉพาะทำเป็นยาต้มดื่มหลังคลอด เพราะให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

และเหมาะกับท่านชายที่มีความต้องการทางเพศมากเกินไป

แต่ก็มีข้อแนะนำว่าถ้ากินผลขอบชะนางนั่งแล้วนกเขาไม่ขัน สามารถแก้ได้จากคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน โดยหาต้นโด่ไม่รู้ล้มทั้ง 5 มาตากแห้ง นำไปต้มน้ำดื่ม หรือผสมกับเหล้าขาวเป็นยาดองดื่ม ความเป็นชายก็จะกลับฟื้นคืนชีพมาเหมือนเดิม

การใช้ประโยชน์อย่างอื่นของขอบชะนางนั่ง สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้สวยงามมากและส่วนของกิ่งนำมาถักใช้เป็นเชือกได้ด้วย

สําหรับต้นขอบชะนางที่รู้จักกันทั่วไปนั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gonostegia pentandra (Roxb.) Miq. เป็นพืชพวกหญ้าเลื่อยแผ่ไปตามดิน ยอดตั้งขึ้นสูงประมาณ 1-2 ฟุต ลำต้นเท่าธูป มี 2 ชนิด คือ ขอบชะนางแดงและขอบชะนางขาว ใบเดี่ยวออกสลับกันคนละข้าง มีชื่อสามัญอื่นๆ คือ ขอบชะนางแดง ขอบชะนางขาว หนอนตายขาว หนอนตายแดง หญ้าหนอนตาย หญ้ามูกมาย ตาสียาเก้อ ตอสีเพาะเกล

ขอบชะนางนี้มีสรรพคุณสมุนไพรที่น่าสนใจเช่นกัน ต้นมีรสเมาเบื่อ ร้อน ใช้ขับโลหิตระดู ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ แก้โรคหนองใน ขับเลือดลม กระจายโลหิต แก้ริดสีดวงผอมแห้ง ฆ่าหนอน ฆ่าแมลง แก้โรคผิวหนัง

ส่วนของใบมีรสเมาเบื่อ ร้อน ตำทาแก้กลาก ต้มน้ำอาบหลังคลอด แก้ปวดเมื่อยและเปลือกต้นรสเมาเบื่อร้อน ดับพิษในกระดูก ดับพิษในเส้นเอ็น ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน

การค้นพบขอบชะนางนั่งแห่งภาคใต้ครั้งนี้ทำให้ตระหนักว่า ความรู้จากการเรียกชื่อพื้นบ้านอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะอาจทำให้เกิดการใช้สมุนไพรผิดชนิดได้ ความรู้ในเรื่องชื่อวิทยาศาสตร์จึงมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นในการจำแนกแยกแยะให้ใช้ได้ถูกชนิดถูกต้น

และงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ สมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไท ที่กำลังขับเคลื่อนงานส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในพื้นที่ส่วนบุคคลหรือบ้านหมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางยาสมุนไพรของไทย จะนำเรื่องดีๆ มาเล่าสู่กันฟังต่อไป •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org