คณะทหารหนุ่ม (47) | กองทัพภาคที่ 1 : แหล่งกำเนิดและสืบทอดอำนาจ และจุดเปลี่ยนหลัง14 ตุลาฯ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

กองทัพภาคที่ 1 : แหล่งกำเนิดและสืบทอดอำนาจ

ประวัติศาสตร์การเมืองการทหารของไทยนับตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ผู้บัญชาการทหารบกล้วนกำเนิดและเติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 1

นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร อีกทั้งยังเข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะที่ยังเหลืออายุราชการไม่ต่ำกว่า 10 ปีด้วยกันทั้งสิ้น

การรับราชการอันยาวนานในกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งควบคุมหน่วยรบใน กทม.และใกล้เคียงอันเป็นกำลังหลักของการปฏิวัติรัฐประหาร

ทั้ง 3 ท่านจึงสามารถสร้างสมอำนาจบารมีและเครือข่ายโครงสร้างอำนาจที่แน่นแฟ้นในกองบัญชาการกองทัพบกสะพานสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจะยิ่งมั่นคงขึ้นไปอีกกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ยาวนาน

แม้โครงสร้างอำนาจที่แข็งแกร่งซึ่งมีผู้นำ 2 คนสุดท้ายคือ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร จะถูกทำลายลงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 แต่ผู้เข้ามาแทนคือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ก็มีพื้นฐานมาจากกองทัพภาคที่ 1 และยังคงมีความพยายามที่จะรักษาโครงสร้างตามธรรมเนียมนี้ไว้

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งแม้จะเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้ว แต่ก็ยังเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ดังนั้น หากไม่ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อนก็น่าจะสามารถอาศัยฐานการสนับสนุนทางทหารที่มีอยู่เดิมมาประคับประคองให้รัฐบาลประชาธิปัตย์อยู่ในอำนาจต่อไปได้ และหากสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้อีกสัก 1-2 ปี ก็น่าจะสนับสนุนทหารที่ใกล้ชิดจากกองทัพภาคที่ 1 ให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญสืบสานตำนานฐานแห่งอำนาจของกองทัพภาคที่ 1 ได้ต่อไป

นอกจากนั้น การถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหันของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ยังทำให้โครงสร้างอำนาจในหมู่ผู้นำกองทัพบกซึ่งยังไม่ลงตัวมีปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก ดังสะท้อนจากการที่คณะทหารได้ทำการปฏิวัติล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2520 แต่กลับต้องให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งปราศจากฐานสนับสนุนในกองทัพบกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

ปรากฏการณ์นี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าในระยะนั้นไม่มีผู้นำในระดับสูงของกองทัพบกคนใดที่มีฐานอำนาจทางทหารแน่นหนาอย่างแท้จริง เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติของการยึดอำนาจ ผู้บัญชาการทหารบกย่อมจะต้องได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

ผู้บัญชาการทหารบกที่เข้าดำรงตำแหน่งต่อจาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ได้แก่ พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ และต่อมาคือ พล.อ.เสริม ณ นคร ซึ่งทั้งสองมิได้เติบโตมาในเส้นทางกองทัพภาคที่ 1 และจะไม่สามารถสร้างเครือข่ายอำนาจที่มีลักษณะมั่นคงเบ็ดเสร็จดังเช่นในสมัยสฤษดิ์-ถนอม ขึ้นมาอีก

นอกจากนั้น เมื่อเทียบกับผู้นำทางทหารหลังปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่างอยู่ในวัยใกล้เกษียณอายุราชการด้วยกันทั้งสิ้น

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่ออายุ 58 ปี จึงอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียง 2 ปี (ตุลาคม พ.ศ.2516 ถึงกันยายน พ.ศ.2518)

พล.อ.บุญชัย บํารุงพงศ์ ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่ออายุ 59 ปี จึงอยู่ในตำแหน่งนี้ได้เพียงปีเดียว (ตุลาคม พ.ศ.2518 ถึงกันยายน พ.ศ.2519)

พล.อ.เสริม ณ นคร แม้ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่ออายุ 55 ปี และยังเหลือเวลาอีกถึง 5 ปีก่อนเกษียณอายุราชการ แต่ก็ถูกย้ายไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดหลังจากที่เป็นผู้บัญชาการทหารบกได้เพียง 2 ปี (ตุลาคม พ.ศ.2519 ถึงกันยายน พ.ศ.2521)

เมื่อพิจารณาจากฐานอำนาจทางการทหารก่อนหน้าการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของบุคคลเหล่านี้แล้วมีเพียง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา แต่เพียงผู้เดียวที่มีประวัติการดำรงตำแหน่งทางทหารแบบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร รวมทั้งจอมพลประภาส จารุเสถียร

กล่าวคือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 1 เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ.2496 ถึง พ.ศ.2500 เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ.2500 ถึง พ.ศ.2505 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ.2506-2509 แต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียง 2 ปี

เมื่อเทียบกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนี้เกือบ 9 ปี และจอมพลประภาส จารุเสถียร 9 ปี

พล.อ.บุญชัย บํารุงพงศ์ และ พล.อ.เสริม ณ นคร ที่รับไม้ต่อมามิได้เติบโตจากกองทัพภาคที่ 1

ดังนั้น ฐานกำลังอำนาจทางทหารจึงไม่แน่นแฟ้นเท่ากับ 3 จอมพล “สฤษดิ์ ถนอม และประภาส”

 

การที่กองทัพบกขาดผู้นำระดับสูงที่มีอำนาจและบารมีจนเป็นที่ยอมรับในหมู่ทหารระดับสูงและระดับกลางหลังเหตุการณ์ 14 ตุลคม พ.ศ.2516 มีผลให้อำนาจที่แท้จริงเริ่มแปรเปลี่ยนไปอยู่ในกลุ่มทหารที่คุมกำลังระดับกรมและกองพัน

ประสิทธิภาพของคณะทหารระดับสูงในการเข้าแทรกแซงและรักษาอำนาจทางการเมืองไว้จึงลดต่ำลง นำไปสู่ความแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่าย

เอกภาพในการบังคับบัญชาทางทหารอาจมีอยู่ในเฉพาะสายการบังคับบัญชา แต่ในการนำกำลังทหารมาใช้ทางการเมืองนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดไม่อาจสั่งการได้โดยที่นายทหารระดับกลางไม่ให้ความร่วมมือ

การปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 นั้น การที่หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิใช่ผู้บัญชาการทหารบกเหมือนดังที่เคยเป็นมาในอดีตชี้ให้เห็นว่า นายทหารระดับกลางของกองทัพบกไม่มีความผูกพันเป็นพิเศษกับผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นแต่อย่างใด

การล่มสลายของโครงสร้างอำนาจการบังคับบัญชาในกองทัพบก ซึ่งทำให้เกิดสุญญากาศของอำนาจในกองทัพบก จึงเป็นโอกาสให้นายทหารระดับกลางซึ่งก็คือ “คณะทหารหนุ่ม” ของ จปร.7 สามารถก่อกำเนิดและสร้างบทบาทที่เข้มแข็งขึ้นยิ่งขึ้นตามลำดับ

สถานภาพของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ “นายทหารภูธร” ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรี จึงไม่แตกต่างจาก พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ และ พล.อ.เสริม ณ นคร

เรียกกันในหมู่ทหารว่า “ตีนลอย”

พ.ศ.2523 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีเวลาเหลือเพียงปีเดียวในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งจะต้องเกษียณอายุราชการใน 30 กันยายน พ.ศ.2523

ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช จึงสรุปความเป็นไปได้ที่คณะทหารหนุ่มจะถอนการสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะผู้นำทางการเมืองได้เหมือนดังที่เคยถอนการสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาแล้ว