ศึกชิงประธานสภา คือแผนล่อซื้อของเผด็จการ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ประกาศว่ามี ส.ว.พร้อมโหวตเป็นนายกฯ ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องมีคนของประยุทธ์ จันทร์โอชา มาโหวตเลือกหัวหน้ารัฐบาล ส่วนคำสัมภาษณ์ของ ส.ว.ที่บอกว่า ส.ว.คนอื่นเปลี่ยนใจไม่โหวตพิธาแล้วนั้น พิธายืนยันว่า ส.ว.ที่ไม่ได้พูดกับสื่อมีอีกเยอะมากกว่า ส.ว.ที่พูดแบบนี้ไม่กี่คน

เมื่อคำนึงถึงความแน่วแน่ของเพื่อไทยที่ยืนยันเรื่องโหวตพิธา รวมทั้งคำแถลงของ “สิริกัญญา ตันสกุล” เรื่องก้าวไกลมีการปรับเป้า ส.ว.ที่โหวตหนุนพิธาให้เพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยวันนี้ย่อมเดินหน้าสู่การมีนายกฯ ชื่อ “พิธา” ตามที่ประชาชนเลือกเป็นพรรคอันดับ 1 จนตั้งรัฐบาลบนเสียงคนกว่า 25 ล้านคน

แน่นอนว่าความมั่นใจของ “พิธา” และคำยืนยันของพรรคเพื่อไทยยังไม่มากพอให้คนส่วนใหญ่ในประเทศคลายกังวล

เพราะกระแสข่าวเรื่องเพื่อไทยมี “ดีลลับ” กลับมาแรง

 

เช่นเดียวกับข่าว “สุชาติ ตันเจริญ” พร้อมให้พลังประชารัฐส่งชิงประธานสภากับก้าวไกลโดยคุณสุชาติไม่เคยปฏิเสธข่าวเลย

ตราบใดที่คุณสุชาติไม่ปฏิเสธข่าวชิงตำแหน่งประธานสภาในโควต้าพลังประชารัฐ ทั้งที่ตัวเองอยู่เพื่อไทย

และตราบใดที่เพื่อไทยไม่ประกาศว่าไม่โหวตให้แคนดิเดตประธานสภาจากฝ่าย 3 ป. ต่อให้จะส่งคุณสุชาติจากพรรคเพื่อไทย

ตราบนั้นข่าวลือเรื่องเพื่อไทยมีดีลลับย่อมไม่มีวันหมดไป

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยบอกว่าคุณสุชาติไม่เข้าพรรคหลังเลือกตั้งเลย และวันแรกที่คุณสุชาติเข้าพรรคคือ 27 มิถุนายน ซึ่งพรรคมีการประชุมจนมีมติจะเอาตำแหน่งประธานสภา โดยบอกว่าได้ ส.ส.น้อยกว่าก้าวไกลแค่ 10 และในเมื่อก้าวไกลได้ตำแหน่งนายกฯ แล้ว เพื่อไทยก็ควรได้ตำแหน่งประธานสภา

ไม่มีใครรู้ว่าพลังประชารัฐจะยังส่งคุณสุชาติชิงประธานสภาตามที่คุณธรรมนัส พรหมเผ่า เคยบอกว่าเป็นไปได้หรือไม่ แต่ถ้าเพื่อไทยตกลงส่งคุณสุชาติชิงตำแหน่งประธานสภา พลังประชารัฐคงไม่เหลือใครเป็นตัวเลือกให้ชิงตำแหน่งนี้อีก และถึงส่งก็จะแพ้จนพลังประชารัฐต้องเทเสียงให้คุณสุชาติโดยปริยาย

หากคุณสุชาติเป็นตัวเลือกที่เพื่อไทยส่งจริงๆ คุณสุชาติจะมีเสียงโหวตอย่างต่ำจากเพื่อไทย 141 และพลังประชารัฐอีก 40 รวมเป็น 181 มากกว่าแคนดิเดตประธานสภาจากพรรคก้าวไกลคือ “หมออ๋อง” หรือ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ซึ่งมีเสียงจากพรรค 151 และต้องการอีก 100 เพื่อให้ได้เป็นประธานสภา

เดาไม่ลำบากว่าศึกชิงประธานสภาจะจบด้วยชัยชนะของใครระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล เพราะแม้ก้าวไกลจะมี ส.ส. 151 มากกว่าเพื่อไทยซึ่งมี 141 แต่โอกาสที่ก้าวไกลจะได้เสียงโหวตเพิ่มจากพรรคฝ่ายรัฐบาลประยุทธ์ 100 ยากกว่าคุณสุชาติที่ต้องหาเสียงโหวตจากฝ่ายนั้นอีกแค่ 71 เท่านั้นเอง

อาจมีคนเถียงว่า “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” มีโอกาสเป็นแคนดิเดตประธานสภาเช่นกัน

แต่ปกติหัวหน้าพรรคใหญ่ควรเป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการ ถ้า “หมอชลน่าน” เป็นประธานสภาก็แปลว่าตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นของคนอื่น ซึ่งเท่ากับมีการเมืองสกัดหมอชลน่านในพรรคอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ปัญหาประธานสภาไม่ได้อยู่ที่ใครจะเป็นฝ่ายชนะระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย แต่อยู่ที่ผลสะเทือนทางการเมืองหลังจากเพื่อไทยตัดสินใจส่งคนชิงตำแหน่งประธานสภากับพรรคก้าวไกล

 

หนึ่งในจุดอ่อนที่ทำให้เพื่อไทยแพ้หลายพื้นที่จน “ไม่ชนะแลนด์สไลด์” คือความไม่ชัดเจนเรื่องท่าทีต่อคุณประยุทธ์, คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ และเครือข่าย 3 ป. และถึงพรรคจะตอบโต้คนที่วิจารณ์แบบนี้ว่าชัดจนไม่รู้จะชัดอย่างไร แต่คุณเศรษฐา ทวีสิน ก็ยอมรับเรื่องนี้ไปแล้ว เช่นเดียวกับผู้สมัครที่แพ้เลือกตั้งหลายคน

“ดีลลับ” คือวาทกรรมที่ทำให้เพื่อไทยเป็นจำเลยสังคมหลังเลือกตั้งจนปัจจุบัน

หัวใจของ “ดีลลับ” คือความเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยเจรจากับ “ประวิตร” และพรรคอื่นๆ เพื่อชัยชนะทางการเมืองหรือการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ต่อให้ “ประวิตร”, อนุทิน ชาญวีรกูล และเพื่อไทยจะปฏิเสธเรื่องนี้ตลอดก็ตาม

ทันทีที่เพื่อไทยประกาศแย่งตำแหน่งประธานสภาจากพรรคก้าวไกล สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเพื่อไทยต้องเป็นพันธมิตรโดยปริยายกับพลังประชารัฐ, ภูมิใจไทย ฯลฯ ในแง่ระดมเสียง ส.ส.จากพรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันโหวตให้แคนดิเดตประธานสภาจากเพื่อไทยอย่างต่ำ 71 คน เพื่อเอาชนะก้าวไกล

เส้นทางสู่ตำแหน่งประธานสภา คือเส้นทางที่ทำให้เพื่อไทยเข้าใกล้พรรคฝ่ายประยุทธ์ที่สุดหลังปี 2557

ข่าวลือเรื่อง “ดีลลับ” ที่เพื่อไทยปฏิเสธมาตลอดจะเป็นข่าวที่คนเชื่อมากขึ้น เพื่อไทยจะเหนื่อยในการอธิบายหนักขึ้น

เพราะคนไม่น้อยคงตั้งคำถามว่าถ้าไม่เคยดีลกันแล้วจะทำเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

สื่อบางค่ายพูดง่ายๆ ว่าการแย่งตำแหน่งเป็นการต่อรองทางการเมืองปกติ และแม้จะจริงที่นักการเมืองบางพวกต่อรองตำแหน่งกันเป็นธรรมดา

แต่การต่อรองข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลและข้ามอุดมการณ์แบบนี้ผิดปกติ เพราะเป็นการเมืองที่ไม่ตรงไปตรงมาที่ทำให้ฝ่ายต้านประชาธิปไตยแข็งแกร่งขึ้นทันที

สำหรับคนบางกลุ่มที่อาจระแวงพรรคเพื่อไทยอยู่เดิม หากแคนดิเดตประธานสภาจากเพื่อไทยได้เสียงโหวตจากฝ่ายรัฐบาลประยุทธ์ ไม่ว่าเพื่อไทยจะชนะก้าวไกลจนได้เป็นประธานสภาตามความตั้งใจหรือไม่

คำถามที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือฝ่ายนั้นได้อะไรจากการโหวตให้เพื่อไทยเป็นการตอบแทน

คนทั้งประเทศรู้ว่าตำแหน่งประธานสภาสำคัญต่อการเสนอชื่อนายกฯ ประวัติศาสตร์ของรัฐสภาจึงไม่เคยมีพรรคอันดับ 2 อ้างว่าได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรคอันดับ 1 นิดเดียวจนต้องได้ประธานสภาหลังพรรคอันดับ 1 ได้ตำแหน่งนายกฯ โดยเฉพาะในยุคที่การเมืองปกติ ไม่มีอำนาจนอกระบบแทรกแซง

สำหรับคนธรรมดาที่ไม่ใช่คนของพรรคหรือกองเชียร์ นายกฯ คือตำแหน่งที่ประชาชนลงคะแนนให้บุคคลและพรรคการเมืองที่ไว้วางใจที่สุดเพื่อเป็นผู้นำประเทศ

ตำแหน่งนายกฯ จึงไม่ใช่และไม่ควรเป็นข้ออ้างที่พรรคอื่นจะเอาไปใช้ต่อรองเพื่อแย่งตำแหน่งกับพรรคที่ประชาชนเลือกมากที่สุดได้เลย

ยิ่งคิดถึงเงื่อนเวลาตั้งรัฐบาลก็ยิ่งเห็นความไร้เหตุผลของศึกชิงประธานสภา เพราะสภาเลือกประธานก่อนเลือกนายกฯ ข้ออ้างว่าก้าวไกลเป็นนายกฯ จนเพื่อไทยต้องได้ประธานสภาจึงผิด เพราะพิธายังไม่ถูกเสนอชื่อชิงนายกฯ ก้าวไกลยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล และผลโหวตนายกฯ ยังไม่รู้ว่าเป็นพิธาหรือไม่เป็น

สำหรับคนที่ขี้ระแวงทางการเมือง เมื่อเพื่อไทยขอแย่งตำแหน่งประธานสภาจากพรรคอันดับ 1 โดยอ้างว่าพิธาได้เป็นนายกฯ ไปแล้ว หากพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะอำนาจนอกระบบ, นักร้อง, ส.ว. ฯลฯ

เพื่อไทยจะอธิบายอย่างไรกับการเป็นนายกฯ แทนพิธาโดยคนของเพื่อไทยเป็นประธานสภาพร้อมกัน

จริงอยู่ พิธายืนยันว่าพรรคก้าวไกลได้เสียง ส.ว.รวมกับ ส.ส.ครบ 376 แต่ทันทีที่เพื่อไทยประกาศชิงประธานสภากับก้าวไกล ส.ว.ขาประจำอย่างคุณกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ก็ประกาศว่าจะมีแคนดิเดตอีกคนโผล่ชิงนายกฯ กับ “พิธา” ซึ่งแปลว่าฝ่ายคุณประยุทธ์จะแย่งตำแหน่งนายกฯ จากคนที่ประชาชนเลือกแน่นอน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พูดถูกเหมือนคุณจาตุรนต์ ฉายแสง, อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และประชาชนว่าศึกชิงประธานสภาคืออวสานของการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเสียงแตกตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล ซ้ำการเสียงแตกยังมาจากความร่วมมือกับพรรคฝ่ายต้านประชาธิปไตย

หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม มีวันที่คนไทยมีความสุขที่สุด 2 วัน วันแรกคือผลเลือกตั้งที่ก้าวไกลชนะอันดับ 1 และฝ่ายประชาธิปไตยชนะแลนด์สไลด์รวมเสียง ส.ส.ได้ 313 ส่วนวันที่สองคือวันที่ 30 พฤษภาคม ที่คุณหมอชลน่านจากเพื่อไทยโชว์หวานให้คำมั่นไม่ทิ้งก้าวไกล ไม่ใช่สภาพที่ขัดแย้งกันอย่างปัจจุบัน

ฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีปืน, กฎหมาย หรือองค์กรอิสระอยู่ข้างตัวเอง

พลังของฝ่ายประชาธิปไตยจึงมาจากการที่ประชาชนร่วมมือกันกว้างขวางที่สุดเพื่อต่อสู้กับฝ่ายต้านประชาธิปไตยให้มากที่สุด

แต่กระบวนการชิงตำแหน่งประธานสภาไม่ได้ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้แม้แต่นิดเดียว

น่าสังเกตว่าฝ่ายคุณประยุทธ์ทั้งที่เป็นพรรคและไม่ใช่พรรคล้วนหนุนเพื่อไทยเป็นนายกฯ และคุณสุชาติเป็นประธานสภา ตัวละครอย่างคุณปารีณา ไกรคุปต์, ส.ว.เสรี สุวรรณภานนท์, รัฐมนตรีคนสนิทคุณประยุทธ์ ฯลฯ วันนี้เชียร์เพื่อไทยและคุณสุชาติทั้งที่หนุนรัฐประหารและโจมตีคุณทักษิณ ชินวัตร กับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาหลายสิบปี

ล่าสุด คุณปารีณาก็ออกมาบอกว่าคุณธรรมนัสจะเสนอชื่อคุณสุชาติเป็นประธานสภา คุณเสรีบอกว่านายกฯ ต้องเป็นของเพื่อไทย ส่วนประธานสภาต้องคุณสุชาติที่เหมาะที่สุด

ความพยายามใช้ตำแหน่งประธานสภาทำลายการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยจึงชัดจนไม่มีอะไรให้เถียงได้เลย

บทความนี้ไม่ได้พูดเรื่องใครควรเป็นประธานสภา หรือพรรคไหนควรได้ตำแหน่ง

เพราะสิ่งที่น่ากังวลกว่าคือฝ่ายต้านประชาธิปไตยกำลังใช้ตำแหน่งประธานสภาทำลายพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

และยิ่งไปกว่านั้นทำลายโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน

อย่าทำให้ประชาธิปไตยถดถอยเพราะตำแหน่งซึ่งใหญ่แค่บนนามบัตรและมีอำนาจไม่เกินรั้วสภา